ท้องผูก กับยาระบาย ใช้มาก ระวังจะถ่ายเองไม่ได้อีก

ท้องผูก กับยาระบาย ใช้มาก ระวังจะถ่ายเองไม่ได้อีก



เชื่อว่าคงยกมือกันเป็นแถว เพราะปัญหาท้องผูกสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ หญิงหรือชายก็ไม่เว้น 

หลายคนจึงมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาและไม่ให้ความสนใจที่จะแก้ปัญหาภาวะท้องผูกอย่างจริงจัง ซึ่งการปล่อยให้เกิดภาวะท้องผูกเรื้อรังนั้น อาจทำให้เกิดโรคตามมาได้ เช่น โรคริดสีดวงทวาร เป็นต้น 


สาเหตุภาวะท้องผูกอาจเกิดจากความปิดปกติทางกายหรือโรคทางสำไส้ เช่น รูทวาร ไขสันหลัง มีความผิดปกติของเส้นประสาทที่ควบคุมการถ่าย การอุดตันของสำไส้ มะเร็งลำไส้ หรือการใช้ยาบางชนิด เช่น ยากล่อมประสาท ยาคลายความกังวล ยารักษาโรคจิตและอาการซึมเศร้า เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ภาวะท้องผูกเกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุทางกาย พบบ่อยในผู้ที่รับประทานอาหารที่มีกากใยอาหารน้อย หรือไม่ชอบรับประทานผัก ผลไม้ หรือดื่มน้ำน้อยเกินไป รวมถึงผู้ที่ชอบกลั้นอุจจาระบ่อยๆ


ารรักษาอาการท้องผูกทำได้ 2 วิธี คือ การรักษาโดยการใช้ยา และ การรักษาโดยไม่ใช้ยา  แต่วิธีที่ดีกว่า คือ การไม่ใช้ยา แต่อาจจะใช้ได้เฉพาะในกรณีที่ภาวะท้องผูกไม่รุนแรง ข้อแนะนำคือหันมารับประทานอาหารที่มีเส้นใยมากๆ ได้แก่ ผัก ผลไม้ ตัวอย่างเช่น ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ผักโขม ข้าวกล้อง พรุน ส้ม มะละกอ เป็นต้น ควรดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และควรฝึกนิสัยการขับถ่ายให้เป็นเวลา โดยอาจเป็นช่วงเช้า หรือช่วงเย็นก็ได้ เพื่อให้ลำไส้เกิดความเคยชินกับการขับถ่ายเป็นเวลา


ท้องผูก กับยาระบาย ใช้มาก ระวังจะถ่ายเองไม่ได้อีก


ส่วนการรักษาอาการท้องผูกโดยการใช้ยาระบายนั้น มีข้อมูลที่น่าสนใจจากสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย)  ระบุว่า ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ยังมีพฤติกรรมการใช้ยาระบายมากเกินความจำเป็น อย่างบางคนเมื่อเกิดภาวะท้องผูกทีไรก็จะกินยาระบายทันที หรือผู้หญิงบางคนก็กินเป็นยาระบายเพื่อลดน้ำหนัก  ซึ่งเป็นพฤติกรรมการใช้ยาที่ไม่ถูกต้องและอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้  ควรใช้ยาระบายควรใช้เป็นการชั่วคราวเท่านั้น ไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 1 สัปดาห์ โดยเฉพาะยากลุ่มที่กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ เพื่อหลีกเลี่ยงการติดยาและการเกิดกลุ่มอาการท้องผูกสลับท้องเสีย ซึ่งจะทำให้การทำงานของลำไส้ใหญ่ ลดลงมากกว่าปกติ ระบบขับถ่ายทำงานผิดปกติ ทางที่ดีเมื่อเกิดภาวะท้องผูกและมีความจำเป็นต้องใช้ยาระบาย ควรเลือกชนิดของยาระบายให้เหมาะสม ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ


รูปแบบของยาระบาย มีอยู่หลายรูปแบบ ได้แก่


•  ยารับประทาน อาจเป็นยาเม็ด เช่น ยาเม็ดไบซาโคดิล ยาเม็ดมะขามแขก ก็ต้องกลืนยาทั้งเม็ด ห้ามบดหรือเคี้ยวก่อนกลืน อาจเป็นยาชง เช่น ยาชงมะขามแขก ซึ่งต้องชงกับน้ำก่อนดื่ม หรืออาจเป็นยาน้ำแขวนตะกอน เช่น ยามิลค์ออฟแมกนีเซีย หรือยาน้ำแขวนละออง เช่น ยาระบายอิมัลชันของน้ำมันแร่และแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ ซึ่งยาน้ำทั้งสองรูปแบบนี้ต้องเขย่าขวดทุกครั้งก่อนรับประทานยา ส่วนใหญ่แล้วให้รับประทานยาวันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน


•  ยาเหน็บทวาร ยาจะเป็นลักษณะแท่งใช้สอดในทวารหนัก วันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน เช่น ยาเหน็บไบซาโคดิล ยาเหน็บกลีเซอร์รีน ซึ่งจะมีทั้งขนาดยาสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ ยาเหน็บทวารนี้จะหลอมละลายเมื่อโดนความร้อน จึงต้องเก็ยาเหน็บทวารที่ยังไม่ใช้ไว้ในที่เย็น ไม่ให้โดนความร้อนหรือแสงโดยตรง หากในฉลากยาหรือเอกสารกำกับยามีข้อความระบุว่า ให้เก็บยาเหน็บในตู้เย็น ช่องธรรมดา ไม่เก็บในช่องแช่แข็ง


•  ยาสวนทวาร เช่น ยาสวนโซเดียมคลอไรด์ ซึ่งมีทั้งขนาดยาสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ ยาจะอยู่ในรูปแบบน้ำและถูกบรรจุไว้ในภาชนะพลาสติกทรงลูกบอลที่ด้านหนึ่งมีคอยื่นออกมาเป็นหลอดปลายแหลม เมื่อจะใช้ก็เปิดฝาที่ปลายคอออก แล้วสอดเข้ารูทวารหนัก บีบลูกบอลดันน้ำยาออกจนหมดแล้วดึงออกลูกบอล กลั้นไว้สักพัก จะรู้สึกปวดและอยากถ่ายอุจจาระ


ท้องผูก กับยาระบาย ใช้มาก ระวังจะถ่ายเองไม่ได้อีก


สรุปก็คือ ถ้าไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาระบาย ด้วยการรับประทานผัก ผลไม้ อาหารที่มีกากใยอาหารสูง ดื่มน้ำให้มากขึ้น และออกกำลังกายสม่ำเสมอ   แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาระบาย ควรขอคำปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน และที่สำคัญการใช้ยาระบายทุกชนิด ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้ลำไส้ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ส่งผลให้ต้องใช้ยาระบายตลอด ไม่สามารถขับถ่ายอุจจาระได้เองตามปกติ

** ข้อมูลจากฝ่ายวิชาการ สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) 


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์