ธนบัตร รู้ใช้เพิ่มค่า ขาด-ชำรุดอย่าทิ้ง !?!

ธนบัตร รู้ใช้เพิ่มค่า ขาด-ชำรุดอย่าทิ้ง !?!



แม้ปัจจุบันจะมีเครื่องมือชำระเงินประเภท  ต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทสำคัญ แต่ภาคธุรกิจและประชาชนยังคงใช้ ธนบัตร เป็นสื่อกลางการชำระเงินอย่างต่อเนื่อง และเมื่อธนบัตรถูกใช้เปลี่ยนมือหลายครั้งย่อมมีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทั้งอาจเปรอะเปื้อนเปื่อยขาด ฯลฯ หรือบางครั้งเก็บรักษาธนบัตรไม่เหมาะสมอาจถูกแมลงกัดแทะ จนธนบัตรเสียหายกลายเป็นธนบัตรชำรุดไม่สามารถนำมาใช้ได้ตามปกติ 

 
จากหน้าที่ผลิตธนบัตร บริหารจัดการธนบัตรหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้มีปริมาณเพียงพอ มีคุณภาพดีเป็นที่พึงพอใจของประชาชนและประชาชนมีความมั่นใจในธนบัตรไทย สาย  ออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รับหน้าที่ดังกล่าวตลอดมาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจการ เงิน ในปี พ.ศ. 2547 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับเปลี่ยนนโยบายและแนวทางการบริหารจัดการธนบัตรมาเป็นระบบการจัดการตามบทบาทหน้าที่ของธนาคารกลางที่เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ในระบบการบริหารจัดการธนบัตรทุกกลุ่ม ภายใต้ระบบบริหารจัดการธนบัตรแนวใหม่นี้ สถาบันการเงินจึงมีส่วนร่วมและมีบทบาทในการดำเนินธุรกรรมด้านธนบัตรร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยมากขึ้น
 
ในการดำเนินงานด้าน การบริหารจัดการธนบัตร สถาบันการเงินจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนกระจายธนบัตรสู่ประชาชน จ่ายธนบัตรใหม่และรับแลกธนบัตรชำรุดจากประชาชน

รวมทั้งมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการธนบัตรที่หมุนเวียนในระบบให้มีคุณภาพดี โดยศูนย์เงินสดกลางของธนาคารพาณิชย์จะเป็นผู้นับคัดธนบัตร เพื่อนำธนบัตรที่ยังคงมีสภาพดีออกใช้หมุนเวียนใหม่และนำธนบัตรที่คุณภาพ ต่ำส่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทำลาย
 
จากที่ผ่านมาเพื่อสนับสนุนการดำเนินการบริหารจัดการธนบัตร สร้างแรงจูงใจให้สถาบันการเงินได้พัฒนางานด้านธนบัตร  ให้มีประสิทธิภาพขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยได้จัดประเมิน คุณภาพการบริหารจัดการธนบัตรของสถาบันการเงินพร้อมมอบรางวัลเป็นครั้งแรก จิตติมา ดุริยะประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายจัดการธนบัตร สายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความรู้บอกเล่าถึง การบริหารจัดการธนบัตรซึ่งไม่เพียงส่งผลให้ประชาชนมีธนบัตรสภาพดี หมุนเวียนใช้ตลอดแล้วยังช่วยลดปัญหาธนบัตรปลอม ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศว่า การบริหารจัดการธนบัตรแนวใหม่ที่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจมีส่วนร่วมบริหารจัดการธนบัตรทำให้เกิดการกระจายธนบัตรอย่างทั่วถึงผ่านสาขาธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจส่งผลให้ภาคธุรกิจเอกชนและประชาชนมีความคล่องตัวในการใช้เงินสด
 
อีกทั้งยังทำให้ระบบเศรษฐกิจมีธนบัตรสภาพดีหมุนเวียนเพียงพอมีการพัฒนาและ นำเทคโนโลยีเกี่ยวกับการบริหารจัดการธนบัตรที่ทันสมัยมาใช้

ในการจัดการให้ธนบัตรมีประสิทธิภาพพร้อมบริการแก่ประชาชน ซึ่งธนาคารพาณิชย์ ก็ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์มาตรฐานของธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ 
 
“จากที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีทั้งในเรื่องการกระจายธนบัตรนับคัดธนบัตรเป็นตัวแทนแบงก์ชาติในการจ่ายธนบัตรใหม่ แลกธนบัตรชำรุด แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องมีการพัฒนามาตรฐานการทำงานให้เป็นมาตรฐานสากล ให้ประชาชนได้รับความ สะดวกมากขึ้น การมอบรางวัลจึงเป็นการให้กำลังใจสร้างแรงจูงใจ
 
ช่วงที่ผ่านมาสิ่งที่ได้รับร้องเรียนจากประชาชนคือ ความไม่สะดวกในการรับแลกธนบัตรชำรุด

อย่างไรก็ตามเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่กำหนดช่วงเวลาให้บริการด้านธนบัตรแก่ประชาชนในวันพุธ ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกขึ้น แบงก์ชาติได้ทำความตกลงกับธนาคารออมสินให้บริการรับแลกธนบัตรชำรุด ธนบัตรใหม่เสริมจากที่ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการอยู่ ธนาคารออมสินจะรับแลก ธนบัตรใหม่และชำรุดทุกวันทำการ ประชาชนก็จะได้รับบริการที่สะดวกมากขึ้น”

ธนบัตร รู้ใช้เพิ่มค่า ขาด-ชำรุดอย่าทิ้ง !?!



ในผลที่เกิดขึ้นมีประชาชนมาแลกธนบัตรชำรุดเพิ่มขึ้น ได้รับความสะดวกมากขึ้น 9 พันกว่าราย

ธนบัตรทุกชนิดหากเป็นธนบัตรจริงนั้นมีค่า ธนบัตรชำรุดตามหลักเกณฑ์หากเป็นธนบัตรจริงมีพื้นที่เหลืออยู่ 3 ใน 5 ของตัวธนบัตรสามารถนำมาแลกได้
 
“ธนบัตรชำรุดไม่ว่าจะฉีกขาดไปเสี้ยวหนึ่ง ไฟไหม้ มอดปลวกแทะ ฯลฯ หากมีพื้นที่เหลืออยู่ดังกล่าว เป็นธนบัตรจริงสามารถนำมาแลกได้ทั้งที่ ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารออมสินซึ่งจะได้ธนบัตรใบใหม่ตามราคาจริง
 
แต่หากเหลืออยู่ไม่ถึง 3 ใน 5 หรือมีประเด็นสงสัยทางธนาคารจะขอให้ลูกค้า เขียนใบคำร้องขอแลกธนบัตรยื่นไว้โดยธนาคารจะรวบรวมส่งแบงก์ชาติเพื่อตรวจพิสูจน์ว่าใช่ธนบัตรจริงหรือไม่

อย่างในกรณีไฟไหม้ธนบัตรสามารถนำมาแลกเปลี่ยนได้เช่นกัน แต่ต้องนำสิ่งที่ไหม้มาทั้งหมดหรือถ้าธนบัตรทั้งมัดถูกไหม้ก็ต้องนำมาทั้งหมด ต้องไม่พยายามให้มัดธนบัตรนั้นกระทบกระเทือน เป็นต้น”
 
นอกจากธนบัตรชำรุด ธนบัตรที่มีคุณภาพไม่เหมาะสม อย่างธนบัตรเปื่อยยุ่ย มีเชื้อรา รอยขีดเขียน รอยเจาะ ฯลฯ

ในการบริหารจัดการนี้ต้องจ่ายธนบัตรใหม่และรับธนบัตรเก่ามาทำลาย ทางแบงก์ชาติจะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ ทั้งนี้ก็เพื่อนำธนบัตรที่มีคุณภาพดีออกมาหมุนเวียนใช้
 
การจัดการธนบัตรจะดูแลปริมาณธนบัตรให้มีปริมาณเพียงพอ มีคุณภาพอยู่ในสภาพ  ดีให้ประชาชนได้พึงพอใจมี ความเชื่อมั่นในธนบัตรไทย

นอกจากการดำเนินการภาครัฐ ประชาชนมีส่วนช่วยดูแลรักษาธนบัตรได้ด้วยโดยใช้อย่างถูก วิธี “ธนบัตรแต่ละชนิดมีอายุการใช้งานต่างกันทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับคุณภาพกระดาษ การใช้อย่างถูกวิธีไม่ว่าจะเป็นการไม่พับ ไม่ขยำซึ่งก่อเกิดรอยยับย่น ไม่ขีดเขียนธนบัตร ฯลฯ ซึ่งไม่เพียงช่วยยืดอายุการใช้งานแล้วยังเป็นการลดค่าใช้จ่าย การพิมพ์ช่วยประหยัดเงินของประเทศชาติได้อีกด้วย”
 
ทั้งนี้เพราะการผลิตธนบัตรแต่ละชนิดมีต้นทุน กระดาษที่ใช้ผลิตธนบัตรเป็น  กระดาษเฉพาะ การใช้อย่างรู้ค่า ใช้ถูกวิธีนอกจากจะทำให้ธนบัตรมีอายุใช้งานนานขึ้นแล้วยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการพิมพ์ธนบัตรใหม่ ลดค่าใช้จ่ายในการทำลายธนบัตร ประหยัดงบประมาณอีกทางหนึ่ง ขณะเดียวกันธนบัตรที่ขาดคุณภาพยับย่นมีกลิ่นเป็นเชื้อรา ธนบัตรลักษณะนี้เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค ส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้ใช้ การบริหารจัดการธนบัตรอย่างมีประสิทธิภาพจึงมีความสำคัญ
 

ได้ชื่อว่าธนบัตรไม่ว่าจะเป็นธนบัตรใหม่ ธนบัตรเก่า ขาด ชำรุดอย่างไรยังคงมีค่า แต่หากให้ดีการรู้ใช้รักษาธนบัตรอยู่ในสภาพสมบูรณ์ นอกจากช่วยประหยัดงบประมาณการผลิตธนบัตรแล้วยังสร้างความน่าเชื่อถือ น่าใช้จ่ายหรือไม่ก็อยากเก็บไว้ในกระเป๋าสตางค์นาน ๆ

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์