นอนกรน....ภัยยามค่ำคืน อันตรายถึงชีวิต


นอนกรน....ภัยยามค่ำคืน อันตรายถึงชีวิต


การนอนกรน อาจไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อีกต่อไป เพราะปัญหาเรื่องการนอนกรนนอกจากจะสร้างความรำคาญต่อคนนอนข้างๆ แล้ว ยังส่งผลโดยตรงต่อระบบหายใจและอาจทำให้คุณเกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ จนกระทั่งส่งผลเสียให้กับอวัยวะต่างๆ ในร่างกายได้อย่างเรื้อรัง 

รศ.นพ.ประกอบเกียรติ หิรัญวิวัฒน์กุล จากภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าสาเหตุของโรคนอนกรนเกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน คือ อายุมากขึ้น เนื้อเยื่อต่างๆ จะขาดความตึงตัว ลิ้นไก่ยาว และเพดานอ่อนห้อย ต่ำลง กล้ามเนื้อต่างๆ หย่อนยาน รวมทั้งกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ขยายช่องทางเดินหายใจ บริเวณลำคอ ทำให้ลิ้นไก่และลิ้นตกไปบังทางเดินหายใจได้ง่าย     

ลักษณะโครงสร้างของกะโหลกศีรษะและกระดูกใบหน้าผิดปกติ เช่น คางเล็ก คางเลื่อนไปด้านหลัง ลักษณะคอยาว หน้าแบน ล้วนทำให้ทางเดินหายใจช่วงบนแคบลงเกิดการอุดตัน และทำให้เกิดการหยุดหายใจได้ ซึ่งโรคที่มีความผิดปกติบริเวณนี้ ได้แก่ Down's syndrome, Prader Willi syndrome ,Crouzon's syndrome เป็นต้น

กรรมพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่ไม่อ้วน แต่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ปัจจัยทางพันธุกรรมน่าจะเป็นสาเหตุหลักของผู้ป่วยกลุ่มนี้ ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการ เกิดโรคมากกว่าคนปกติ 1.5 เท่า     

อ้วน พบ ว่าประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ป่วย OSA มีน้ำหนักมากกว่าร้อยละ 20 ของน้ำหนักมาตรฐาน เมื่อลดน้ำหนักได้ 5-10 กิโลกรัมจะทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นได้ ผู้ป่วยที่อ้วนมีโอกาสเกิดการหยุดหายใจขณะหลับมากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากไขมัน ซึ่งนอกจากจะกระจายอยู่ตามเนื้อเยื่อต่างๆ ทั่วร่างกาย เช่น ที่สะโพก หน้า ท้อง น่อง ต้นขาแล้ว ยังพบว่ามีเนื้อเยื่อไขมันกระจายอยู่รอบๆทางเดินหายใจช่วงบนมากขึ้น ไขมันที่พอกบริเวณคอจะทำให้เวลาที่ผู้ป่วยนอนลง จะเกิดน้ำหนักกดทับ ทำให้ช่องคอแคบลงได้ หน้าท้องที่มีไขมันเกาะอยู่มากทำให้กระบังลมทำงานได้ไม่เต็มที่ ความจุของปอดลดลง ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้เกิดการหยุดหายใจได้โดยง่ายขึ้น

แน่นจมูก จมูกเป็นต้นทางของทาง เดินหายใจ ถ้ามีภาวะใดก็ตามที่ทำให้แน่นจมูก เช่น มีผนังกั้นจมูกคด เยื่อบุจมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ หรือเนื้องอกในจมูก ย่อมจะทำให้การหายใจลำบากขึ้น       การดื่มสุรา หรือการใช้ยาบางชนิด จะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง รวมทั้งกล้ามเนื้อที่คอยพยุงช่องทางเดินหายใจให้เปิด หมดแรง เกิดภาวะทางเดินหายใจอุดตันได้ง่ายขึ้น

การสูบบุหรี่ ทำให้ประสิทธิภาพของ ระบบทางเดินหายใจแย่ลง ทำให้คอหอยอักเสบจากการ ระคายเคือง มีการหนาบวมของเนื้อเยื่อ ทำให้ทางเดินหายใจแคบลง เกิดการอุดตันได้ง่าย และยัง ส่งผลเสียต่อหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ     

โรคต่อมไร้ท่อต่างๆ ได้แก่ Hypothyroidism, Acromegaly พบว่าทำให้เกิดทางเดินหายใจอุด ตันได้มากกว่าคนทั่วไป

นอกจากนี้ปัญหาเรื่องนอนกรน ไม่เพียงเกิดกับผู้ใหญ่เท่านั้น เพราะในเด็กก็พบปัญหานอนกรนได้เช่นเดียวกัน ซึ่ง “อาการนอนกรนในเด็ก” มักมีสาเหตุมาจาก ต่อมทอนซิล มีขนาดโตมาก เพราะมีการอักเสบเรื้อรัง ซึ่งอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการอักเสบเรื้อรังของบริเวณช่องคอ ต่อมอะดินอยด์ มีขนาดโตมาก เพราะมีการอักเสบเรื้อรัง ซึ่งอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการอักเสบเรื้อรังของบริเวณช่องจมูก รวมทั้งโพรงไซนัส ภาวะคัดจมูกเรื้อรัง เช่น โรคภูมิแพ้ เพราะเป็นเหตุให้แน่นจมูก หายใจไม่สะดวก ต้องอ้าปากช่วย ยิ่งทำให้นอนกรนได้มากขึ้น ไซนัสอักเสบ โดยเฉพาะไซนัสอักเสบเรื้อรัง จะมีน้ำมูกข้น และจมูกบวม ทำให้หายใจทางจมูกไม่สะดวก จึงนอนกรนได้ ในบางรายมีความผิดปกติแต่กำเนิด ทำให้กระดูกใบหน้าเล็ก หรือมีเนื้อเยื่อในทางเดินหายใจใหญ่ เช่น มีลิ้นโต เป็นสาเหตุให้มีภาวะอุดตันของทางเดินหายใจในขณะนอนหลับได้     

การนอนกรน แบ่งได้ 2 ชนิด คือ การนอนกรนชนิดไม่อันตราย (Simple snoring) และการนอนกรนชนิดอันตราย (Obstructive sleep apnea หรือ OSA)

ซึ่งคนที่นอนกรนชนิดไม่อันตราย มักจะมีอาการนอนกรนเป็นจังหวะสม่ำเสมอ เสียงกรนอาจดังหรือค่อยขึ้นอยู่กับว่าเกิดจากบริเวณใด

  • ถ้าเกิดเพราะมีเพดานอ่อนหย่อนหรือลิ้นไก่ยาวมักทำให้กรนเสียงดังมากโดยเฉพาะเวลานอนหงาย 
  • แต่ถ้ากรนจากการตึงแคบบริเวณโคนลิ้น เสียงมักเบาเหมือนหายใจแรงๆ ดังนั้น ความดังของเสียงกรนจึงไมได้บอกว่าอันตรายหรือไม่ 
แต่ถ้ามีอาการหายใจสะดุด หยุดหายใจเหมือนคนหายใจไม่ออก หรือสำลัก อันนี้ถือว่าเป็นสัญญาณอันตรายซึ่งมักพบในอาการนอนกรนชนิดอันตราย

ซึ่งอาการของโรคนอนกรนชนิดอันตราย นอกจากจะนอนกรนเสียงดัง มีอาการคล้ายสำลักหรือสะดุ้งตื่นกลางดึก ต้องลุกไปถ่ายปัสสาวะตอนกลางดึกแล้ว สมองจะรู้สึกตื้อ คิดอะไรไม่ออกเพราะง่วงนอน ขี้ลืม ไม่ค่อยมีสมาธิในการทำงาน ตื่นขึ้นมาด้วยอาการอ่อนล้า ไม่สดชื่น หรือปวดศีรษะ และต้องการนอนต่ออีกทั้งที่ไม่ได้นอนดึก บางคนอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย อาทิ จุกแน่นคอเหมือนมีอะไรติดคอ หูอื้อ หงุดหงิดง่าย ขี้โมโห รวมทั้งมีความรู้สึกทางเพศลดลง     

คนที่เป็นโรคนอนกรนชนิดอันตราย เมื่อยังหลับไม่สนิทอาจจะเป็นเพียงกรน ปกติ แต่เมื่อหลับสนิทจะเกิดการอุดตันของทางเดินหายใจ มีลักษณะของการกลั้นหายใจ ตามด้วยการสะดุ้งหรือสำลักน้ำลาย หรือหายใจอย่างแรงเหมือนขาดอากาศ อาจเกิดขึ้นหลายสิบหรือหลายร้อยครั้งต่อคืน

ซึ่งในขณะที่มีการหยุดหายใจ ออกซิเจนในเลือดแดงจะลดต่ำลงเรื่อยๆ ทำให้เกิดความผิดปกติในการทำงานของอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะหัวใจ หลอดเลือด ปอด และสมอง ต่อมาเมื่อออกซิเจนในเลือดแดงลดต่ำลงมากจนถึงจุดอันตราย ร่วมกับมีการหายใจที่แรงมาก จนต้องใช้กล้ามเนื้อช่วยในการหายใจเพื่อพยายามให้ลมหายใจสามารถผ่านตำแหน่ง ที่ตีบตันไปให้ได้ ภาวะนี้จะกระตุ้นให้สมองที่กำลังหลับสนิทอยู่ต้องตื่นขึ้นมา ทางเดินหายใจจะถูกเปิดขึ้น และทำให้ออกซิเจนสามารถผ่านเข้าไปในปอดได้อีก ตอนนี้เองออกซิเจนในเลือดแดงจะกลับมาสูงขึ้น แต่หลังจากนั้นไม่นาน สมองจะเริ่มหลับอีก การหายใจก็จะเริ่มขัดข้องอีกครั้ง วนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่าเช่นนี้ไปตลอดคืน ทุกคืน ส่งผลให้สมรรถภาพการนอนหลับเสียไป เนื่องจากมีช่วงเวลาของการนอนหลับสนิทน้อยเกินไป ผลเสียต่ออวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะหัวใจ ระบบไหลเวียนเลือด สมอง และปอด จนทำให้สุขภาพเสื่อมโทรม     

การรักษาโรคการนอนกรน ในปัจจุบันมีหลายวิธีด้วยกัน คือ 

  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาทิ ลดความอ้วน เพราะจากการสำรวจพบว่า เมื่อน้ำหนักลดลง 10% อัตราการหยุดหายใจก็จะลดลงด้วย ช่วยให้การหายใจดีขึ้น การแลกเปลี่ยนออกซิเจนสะดวกขึ้น ซึ่งการลดความอ้วนนั้น ไม่ควรรับประทานยาลดความอ้วน เพราะจะมีผลมากมาย เช่น ทำให้ใจสั่น และเมื่อหยุดยาก็จะกลับมาอ้วนใหม่ แต่ควรปรับเรื่องพฤติกรรมการกินและออกกำลังกายอย่างเป็นกิจวัติ จะส่งผลดีที่สุด
  • หลีกเลี่ยงการนอนหงาย โดยให้นอนท่าตะแคง เพราะจะช่วยให้หลับดีขึ้น เนื่องจากการนอนหงายจะทำให้ลิ้นตกไปด้านหลังชิดกับผนังช่องคอด้านหลัง ทำให้เกิดการอุดตันได้มาก ส่วนการนอนตะแคงจะทำให้ลิ้นไม่ตกไปที่คอด้านหลังมากเกินไป และสามารถช่วยลดอาการกรนได้บ้าง   
  • งดการดื่มสุรา เพราะการดื่มสุราจะยิ่งทำให้มีอาการกรนและหยุดหายใจมากยิ่งขึ้น เนื่องจากแอลกอฮอล์ทำให้เกิดการการยุบตัวของทางเดินหายใจได้ง่ายขึ้นและกด สมอง ทำให้ร่างกายตอบสนองต่อออกซิเจนในเลือดช้ากว่าเดิม นอกจากนี้ยังต้อง งดสูบบุหรี่ หรือทำงานหนัก รวมทั้งงดยาบางประเภท เช่น ยากล่อมประสาท ยานอนหลับ เพราะยากลุ่มนี้มีผลต่อการหายใจขณะหลับ
  • ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคกรนชนิดอันตรายไม่รุนแรง มักนิยมใช้ อุปกรณ์ทางทันตกรรม ซึ่งมีลักษณะเป็นที่ครอบฟันบนและล่าง ทำหน้าที่ยึดขากรรไกรอันล่างให้เลื่อนไปด้านหน้า อุปกรณ์ชนิดนี้จะช่วยให้การหายใจดีขึ้น และมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด     
  • การใช้เครื่องช่วยหายใจ (CPAP) จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการนอนกรนชนิดรุนแรงมาก เครื่องชนิดนี้จะปล่อยแรงดันบวกและทำให้ช่องทางเดินหายใจกว้างขึ้น ช่วยให้ผู้ป่วยหลับสบาย ซึ่งปัจจุบันการรักษาด้วยเครื่อง CPAP นับว่าได้ผลดี แต่ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถใช้เครื่อง CPAP ได้ แพทย์อาจแนะนำให้แก้ไข
  • การรักษาโดยการผ่าตัด จะช่วยแก้ไขปัญหาทางเดินหายใจที่อุดตันขณะหลับ ซึ่งก่อนนอนหลับ ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจการนอนหลับ เพื่อยืนยันว่าเป็นอันตรายมากน้อยแค่ไหน ซึ่งการผ่าตัดก็จะแบ่งออกเป็นหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับความผิดปกติของผู้ป่วย เช่น การผ่าตัดบริเวณเพดานอ่อน การผ่าตัดเอาต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์ออก การผ่าตัดเพดานอ่อนโดยเลเซอร์ การผ่าตัดฝังพิลลาร์ การใช้คลื่นวิทยุ การผ่าตัดโพรงจมูก การผ่าตัดเลื่อนคางเพื่อดึงกล้ามเนื้อลิ้นมาด้านหน้า การผ่าตัดเลื่อนขากรรไกรบนและล่างมาด้านหน้า เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการตรวจด้วยกล้อง ส่องตรวจในขณะนอนหลับ จะช่วยระบุตำแหน่งที่ผิดปกติ เพื่อให้การผ่าตัดแก้ไขมีประสิทธิภาพและยังช่วยลดการผ่าตัดที่ไม่จำเป็นได้ อีกด้วย     

ปัญหาการนอนกรน หากรู้จักแก้ไขปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยลดภาวะทางเดินหายใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยก็จะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องการหายใจที่ติดขัดขณะนอนหลับ ส่วนคนรอบข้างก็จะลดความน่ารำคาญของเสียงกรนไปได้

นอนกรน....ภัยยามค่ำคืน อันตรายถึงชีวิต

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์