นักวิทย์ชี้ มนุษย์จมูกดีกว่าที่คิด


นักวิทย์ชี้ มนุษย์จมูกดีกว่าที่คิด


นักวิทย์ชี้ มนุษย์จมูกดีกว่าที่คิด

ผลการศึกษาวิจัยของทีมนักวิทยาศาสตร์สหรัฐอเมริกา ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารไซน์สระบุว่า จมูกคนเราสามารถแยกแยะกลิ่นที่แตกต่างกันได้อย่างน้อย 1 ล้านล้านกลิ่น ซึ่งเป็นจำนวนมากกว่าที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้หลายล้านกลิ่น โดยนับเป็นเวลาหลายทศวรรษมาแล้วที่นักวิทยาศาสตร์ยอมรับว่ามนุษย์เราสามารถ รับกลิ่นได้เพียงแค่ 10,000 กลิ่นเท่านั้น ซึ่งทำให้สัมผัสของการรับกลิ่นอยู่ต่ำกว่าความสามารถของการมองเห็นและการได้ยินมาก

ทว่า เลสลี วอสฮอลล์ ผู้อำนวยการของสถาบันวิจัยด้านพันธุกรรมระบบประสาทและพฤติกรรม ของมหาวิทยาลัยร็อกกีเฟลเลอร์ในสหรัฐอเมริกา ผู้ร่วมเขียนรายงานการศึกษาฉบับนี้บอกว่า "การวิเคราะห์ของเราแสดงให้เห็นว่าความสามารถของมนุษย์ในการแยกแยะกลิ่นนั้น ดีมากกว่าที่ทุกคนจะคาดคิดถึง" โดยการประเมินความสามารถของจมูกที่มีเซลล์ประสาทรับกลิ่น 400 ชุด ก่อนหน้านี้ มีขึ้นครั้งล่าสุดต้องย้อนไปถึงการศึกษาวิจัยในช่วงทศวรรษที่ 1920 

นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า ตาของมนุษย์ที่มีเซลล์ประสาทเพียง 3 ชุด สามารถแยกแยะสีได้หลายล้านสี และหูสามารถแยกแยะเสียงได้ 340,000 เสียง แต่วอสฮอลล์บอกว่า "สำหรับเรื่องกลิ่นแล้ว ไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจในการทดลองมากนัก" 

ในการทดลอง ทีมนักวิทยาศาสตร์ให้กลุ่มตัวอย่าง 26 คน ทดลองดมส่วนผสมของกลิ่นที่แตกต่างกัน 128 กลิ่น ที่โดยปกติแล้วจะทำให้ผู้ดมนึกถึงกลิ่นหญ้า กลิ่นส้ม หรือสารเคมีชนิดต่างๆ ทว่ากลิ่นเหล่านี้ถูกนำมาผสมรวมกันเป็นกลุ่มหลายๆ กลิ่น โดยมากที่สุดถึงกลุ่มละ 30 กลิ่น ที่วอสฮอลล์บอกว่า "เราไม่ต้องการให้พวกเขารู้แน่ชัดว่าเป็นกลิ่นของอะไร ส่วนผสมของเราจึงค่อนข้างสุดโต่งและแปลกประหลาดมาก โดยเราต้องการให้กลุ่มตัวอย่างให้ความสนใจว่านี่เป็นสิ่งที่ซับซ้อนมาก และเราจะสามารถแยกแยะความแตกต่างของกลิ่นที่ซับซ้อนนี้ออกหรือไม่" 

และแม้ว่าความสามารถของอาสาสมัครที่เป็นกลุ่มตัวอย่างจะแตกต่างกันไปอย่างมาก แต่โดยเฉลี่ยแล้วพวกเขาสามารถแยกแยะความแตกต่างของกลิ่นได้มากถึง 51 เปอร์เซ็นต์ ทำให้นักวิจัยสันนิษฐานได้ว่าคนทั่วไปจะสามารถแยกแยะกลิ่นได้มากเพียงใดหากมีการทดสอบด้วยส่วนผสมที่เป็นไปได้ทั้งหมดของทั้ง 128 กลิ่น ซึ่งนำมาสู่ข้อสรุปที่ประเมินได้ว่า มนุษย์เราสามารถแยกแยะกลิ่นที่แตกต่างกันได้อย่างน้อย 1 ล้านล้านกลิ่น 

อันเดรียส เคลเลอร์ แห่งมหาวิทยาลัยร็อกกีเฟลเลอร์ บอกว่า ตัวเลขดังกล่าวยังถือว่าต่ำเกินไปเมื่อดูจากว่ามีจำนวนกลิ่นที่สามารถผสมผสานกันได้นับไม่ถ้วนในโลกของความเป็นจริง โดยบรรพบุรุษของเราพึ่งพาสัมผัสในการดมกลิ่นมากกว่านี้ ทว่าการแช่แข็งและพัฒนาการด้านสุขอนามัยได้จำกัดชนิดของกลิ่นในโลกยุคสมัยใหม่ให้เกิดขึ้นน้อยลง 

"นี่เป็นสิ่งที่สามารถอธิบายได้ถึงทัศนคติของเราว่าทำไมการดมกลิ่นถึงไม่สำคัญเมื่อเทียบกับการได้ยินและการมองเห็น" เคลเลอร์กล่าว และว่า พัฒนาการของร่างกายในแนวดิ่งที่ทำให้จมูกอยู่ห่างไกลจากพื้น ซึ่งทำให้กลิ่นที่ส่งออกมามักจะระเหยไปมากแล้วก็มีส่วนด้วยเช่นกัน



เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์