นักวิทย์ฯ เตือนคนไทยเตรียมรับมือภัยพิบัติ


นักวิทยาศาสตร์ เตือนคนไทยเตรียมรับมือภัยพิบัติ ทั้งน้ำท่วม พายุ และแผ่นดินไหว ขณะที่เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา แนะศึกษาโครงการพระราชดำริ เพื่อเป็นบทเรียนในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน


ในการประชุมภัยพิบัติประจำปี เรื่อง "ถอดรหัสภัยพิบัติ พลิกวิกฤติให้เป็นคำเตือน" ที่คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา นักวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมไฟฟ้า ซึ่งเคยทำงานร่วมกับองค์การนาซ่าของสหรัฐฯ ได้แสดงความเป็นห่วง 2 เรื่อง คือการตรวจพบก๊าซมีเทนซึ่งมีพลังงานความร้อนสูงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 21 เท่า ผุดขึ้นมาจากใต้พื้นโลก บริเวณไซบีเรีย ใกล้ขั้วโลกเหนือ ก๊าซมีเทนนี้จะเป็นตัวเร่งปฏิกริยาภาวะโลกร้อนให้เร็วและรุนแรงมากขึ้น ผลที่ตามมา คือ น้ำแข็งขั้วโลกจะละลายลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิค พอมวลน้ำในมหาสมุทรให้มีน้ำหนักมากขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการหมุนของแกนโลกที่ขาดสมดุล และทำให้แกนโลกสลับขั้วเพื่อรักษาสร้างสมดุลใหม่ เกิดยุคน้ำแข็งฉับพลัน เหมือนที่เคยเกิดในสมัยดึกดำบรรพ์ ซึ่งประเด็นเรื่องแกนโลกสลับขั้วมีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะแค่แผนดินไหวที่ญี่ปุ่นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้แกนโลกเบี่ยงเบนออกจากแนวเดิมไปแล้ว 23 องศา


นอกจากเรื่องก๊าซมีแทนจากใต้พื้นโลกแล้ว อีกเรื่องที่น่าเป็นห่วง คือ เรื่องการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกใต้อินโดนีเซีย และใต้แปซิฟิกที่เคลื่อนมาชนกับแผ่นเปลือกโลกใต้ทวีปเอเชีย-ยุโรป ส่งผลให้ฝั่งตะวันออกของทวีปเอเชียเกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง มีโอกาสที่ญี่ปุ่นจะหายไปจากแผนที่โลก และมีโอกาสที่จะเกิดสึนามิที่ฟิลิปปินส์และอ่าวไทย ขณะเดียวกันแผ่นเปลือกโลกใต้อินเดียและออสเตรเลียเริ่มเคลื่อนตัวมาทางฝั่งอันดามันเช่นกัน


อย่างไรก็ตามอาจารย์อาจอง เปิดเผยว่า เคยมีโอกาสไปพูดคุยกับชนเผ่ามายาในเม็กซิโกเรื่องการสิ้นสุดของปฏิทิน 5,200 ปีของชนเผ่ามายาในวันที่ 21 ธันวาคมนี้ ซึ่งก็ได้รับการยืนยันว่า ไม่ใช่วันสิ้นโลก แต่กลียุคจะจบสิ้น และโลกจะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคใหม่ เป็นยุคแห่งความสุข แต่ปัญหา คือ กลียุคจะจบลงอย่างไร จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้


ขณะที่ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ยืนยันข้อมูลตรงกับอาจารย์อาจองว่า แนวโน้มภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คือ น้ำท่วม พายุ และ แผ่นดินไหว ซึ่ง
จากการรวบรวมข้อมูลทางสถิติพบว่า แผ่นดินไหวขนาด 9 ริกเตอร์ขึ้นไป และสึนามิขนาดใหญ่ มักจะเกิดในช่วงพายุสุริยะรุนแรงในทุกๆ 11 ปี โดยในช่วงเดือนธันวาคมนี้ไปจนถึงเดือนมกราคมปีหน้า ก็จะครบรอบ 11 ปีของวงจรการเกิดพายุสุริยะรุนแรงพอดี พื้นที่ที่มีการคำนวณว่าจะเกิดแผ่นดินไหว หรือสึนามิขนาดใหญ่ คือ พื้นที่รอบมหาสมุทรแปซิฟิก


ในส่วนของประเทศไทยนั้น จะเข้าสู่ภาวะแล้งอย่างหนักจนถึงกลางปีหน้า จากนั้นในช่วงครึ่งปีหลังจะมีพายุผ่านเข้ามา 31 ลูก แต่จะกระทบประเทศไทยโดยตรงแค่ 2-4% เท่านั้น ที่เหลือจะผ่านเลยไป แต่อย่าประมาท เพราะประเทศไทยมีการพัฒนาที่บิดเบือน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างนิคมอุตสาหกรรม ในที่ลุ่มที่เคยเป็นท้องนาซึ่งเป็นแก้มลิงรับน้ำในฤดูฝน , สร้างคอนโดริมแม่น้ำ และสร้างหมู่บ้านจัดสรรขวางทางน้ำไหล จึงมีความเป็นไปได้ว่า ภายในปี 2563 จะมีโอกาสเกิดน้ำท่วมใหญ่อีกรอบ และในระยะ 100 ปีข้างหน้า ระดับน้ำในทะเลจะเพิ่มสูงขึ้น 0.25-0.5 เซนติเมตร ขณะที่แผ่นดินทรุดลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ที่มีอัตราการทรุดตัวอยู่ที่ 1.3 เซนติเมตรต่อปี จึงเป็นไปได้ที่น้ำทะเลจะหนุนขึ้นมาท่วมพื้นที่ลุ่มรอบอ่าวไทย ทั้งกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคกลางตอนล่างบางจังหวัด


ทั้งนี้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้เล่าให้ฟังถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็นต้นแบบของการจัดการภัยพิบัติว่า พระองค์ท่านมีหลักการทรงงาน 7 ข้อ คือ

1. การพึ่งพาตนเอง

2. การคิดให้ครบถ้วนเชื่อมโยงกันเป็นองค์รวม

3. ใช้ธรรมชาติแก้ธรรมชาติ

4. ทุกอย่างมีค่า ไม่มีของเสีย ทำแล้วต้องไม่มีคนเสียประโยชน์

5. เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่

6. มีความยั่งยืน

7. ต้องไปสัมผัสในพื้นที่จริงแล้วลงมือทำ


ซึ่งโครงการพระราชดำริต่างๆ 3,000-4,000 โครงการ ล้วนเป็นบทเรียนที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการรับมือกับภัยพิบัติอย่างยั่งยืน อยู่ที่ว่านักวิชาการ ภาคส่วนต่างๆ และประชาชนจะเดินตามรอยพระบาทกันอย่างไร เพื่อให้คนไทยปรับตัวและพร้อมที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติให้ได้



เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์