นั่งผิงไฟ กินข้าวจี่ร้อนๆ

นั่งผิงไฟ กินข้าวจี่ร้อนๆ


"ข้าวจี่" คือข้าวเหนียวปั้นขนาดเท่ากำมือ โรยเกลือนำมาปิ้งบนถ่านไฟ ชุบไข่ไก่ แล้วนำไปย่างอีกรอบรับรองว่าแซบอีหลี.. หนาวๆ แบบนี้ได้ข้าวจี่ร้อนๆ กลิ่นหอมๆ สีเหลืองน่ารับประทานสักก้อนก็น่าจะดีทีเดียว ข้าวจี่เป็นอาหารที่นิยมกินในฤดูหนาว เพราะคนสมัยก่อนจะนิยมนั่งผิงไฟคุยกัน แล้วก็ทำข้าวจี่กินแก้หนาวไปด้วย อีกอย่างช่วงนี้เป็นฤดูหลังเก็บเกี่ยวข้าว ข้าวใหม่จะมีกลิ่นหอมและนุ่ม จึงเหมาะที่จะนำมาทำข้าวจี่กินกันเป็นอย่างมาก

แต่บ้างก็ว่า เป็นเพราะชาวอีสานชอบเดินทางไกลหลังฤดูทำนา จึงต้องเตรียมอาหารเก็บไว้กินนานๆ ซึ่งนั่นก็คือข้าวจี่ และเมื่อทำมากพอสมควรก็จะนำไปถวายพระ จนกลายเป็นประเพณีทำบุญข้าวจี่

"เดือนสามค้อย เจ้าหัวคอยปั้นข้าวจี่
ข้าวจี่บ่ใส่น้ำอ้อย จัวน้อยเช็ดน้ำตา"


( ปลายเดือนสาม พระสงฆ์จะคอยชาวบ้านทำบุญถวายข้าวจี่ถ้าข้าวจี่ไม่ทาน้ำอ้อย สามเณรน้อยจะร้องไห้ )

เป็น คำผญาที่บ่งบอกว่า ในสมัยโบราณข้าวจี่ถือเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำหรับคนอีสานมาก ดังจะเห็นได้จากพิธี "บุญเดือนสาม" ใน"ฮีตสิบสอง" ซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวอีสานจะทำข้าวจี่ไปถวายพระที่วัด หรือที่เรียกว่า "บุญข้าวจี่" ซึ่งเป็นประเพณีงานบุญเดือนสามของชาวอีสานที่ทำร่วมกันในชุมชน การทำข้าวจี่ของคนสมัยก่อนนี้ชาวบ้านจะปั้นข้าวเหนียวนึ่งสุกให้มีขนาดเท่า ไข่ห่านหรือเท่ากำมือ โรยเกลือ แล้วใช้ไม้ไผ่เสียบเป็นแถวประมาณ 5-8 ก้อนต่อไม้ จากนั้นนำไปปิ้งบนเตาถ่านพร้อมพลิกกลับไปกลับมาจนข้าวเหนียวสุกเหลืองเสมอ กัน แล้วนำไข่ไก่ที่ตีแล้วมาทาให้ทั่วก้อนข้าวหลายๆ ครั้งเพื่อให้ไข่ติดข้าว แล้วนำไปปิ้งบนเตาถ่านจนไข่สุกเหลืองส่งกลิ่นหอม นำข้าวที่สุกแล้วมาถอดออกจากไม้เสียบ นำก้อนน้ำอ้อยมายัดใส่ในรูไม้เสียบ เป็นอันเสร็จ ซึ่งจะเห็นว่าแตกต่างจากข้าวจี่ในปัจจุบัน ซึ่งเรามักจะเห็นแต่ข้าวจี่ทาไข่, ข้าวจี่โรยเกลือ

นั่งผิงไฟ กินข้าวจี่ร้อนๆ


ในการทำบุญข้าวจี่นี้ชาวบ้านจะทำเป็น จำนวนมาก ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำเพื่อใส่บาตรเท่านั้น แต่จะทำเพื่อแจกจ่ายผู้คนหรือแลกเปลี่ยนกัน เมื่อได้ข้าวจี่แล้ว ชาวบ้านจะนำมารวมกันที่วัดพร้อมกับนิมนต์พระภิกษุสามเณรมารับบิณฑบาต ชาวบ้านจะนำข้าวจี่มาใส่บาตรพร้อมกัน เมื่อถวายภัตตาหารและข้าวจี่เรียบร้อยแล้ว พระภิกษุจะเทศน์ อานิสงส์บุญข้าวจี่ 1 กัณฑ์เพื่อเป็นการอธิบายให้เห็นว่า การทำบุญด้วยข้าวจี่นั้นได้อานิสงส์มากเช่นเดียวกับการทำบุญด้วยวิธีอื่น ส่วนตอนบ่ายจะมีการเทศน์นิทานชาดก โดยส่วนใหญ่จะเป็นนิทานพื้นบ้านทางภาคอีสาน เช่น ท้าวก่ำกาดำ, จำปาสี่ต้น ฯลฯ


อานิสงส์ถวายข้าวจี่

มีเรื่องเล่าความเชื่อเกี่ยวกับ “อานิสงส์ถวายข้าวจี่” ในหนังสือธรรมบทซึ่งกล่าวเอาไว้ว่า... ครั้งเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับอยู่ที่กรุงราชคฤห์นั้น มีนางผู้หนึ่งชื่อ นางปุณณา นางมีหน้าที่ต้องไปตักน้ำซึ่งอยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านทุกวัน นางจึงต้องเตรียมอาหารเช้าไปกินระหว่างทางด้วย โดยนางจะนำข้าวผสมรำอ่อนมาปั้นเป็นก้อนแล้วนำไปย่างไฟจนสุกเกรียม

เช้า วันหนึ่งขณะที่นางปุณณากำลังเดินทางเพื่อไปตักน้ำตามปกติ นางเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จพร้อมพระอานนท์ผ่านมา นางจึงเกิดศรัทธาอยากที่จะถวายสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า “เราตกทุกข์ได้ยากลำบากทั้งกายใจ มีชีวิตอยู่ไปวันๆ เท่านั้นก็เพราะเราไม่ได้ให้ทานรักษาศีลทำบุญไว้ในชาติก่อนและชาตินี้เป็น แน่ ในตอนนี้เราได้มีโอกาสพบกับพระพุทธเจ้าแต่ไม่มีของที่จะถวาย จะมีก็แต่ข้าวจี่ปั้นนี้ซึ่งเป็นอาหารที่ไม่ได้ทำด้วยความประณีต พระพุทธเจ้าจะทรงอนุเคราะห์ฉันหรือ แต่พระพุทธเจ้าท่านย่อมมีพระเมตตามหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ย่อมไม่รังเกียจ ว่าเป็นของเลวหรือของประณีต”

เมื่อนางคิดได้ดังนั้น นางจึงตัดสินใจที่จะเดินไปหาพระพุทธเจ้าพร้อมอาราธนา... “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงรับข้าวจี่ของหม่อมฉันผู้ยากจนเถิด...” พระพุทธเจ้าจึงทรงเปิดฝาบาตรรับข้าวจี่ของนาง แล้วพระองค์จึงเสด็จต่อไปยังบ้านเศรษฐี แต่นางปุณณายังคงมองพระองค์พร้อมอดคิดในใจไม่ได้ว่า ที่เรือนเศรษฐีล้วนมีแต่ภัตตาหารของดีๆ รสชาติโอชาและประณีตซึ่งเทียบกับข้าวจี่ของนางไม่ได้เลย คงไม่พ้นที่พระพุทธเจ้าจะโยนข้าวจี่ของนางทิ้งให้สุนัขกินเป็นแน่

แต่ ปรากฏว่าพระพุทธองค์ทรงเสวยข้าวจี่จนหมด เพราะพระพุทธเจ้าทรงทราบดีว่า การทำบุญนั้นขึ้นอยู่กับศรัทธา มิได้อยู่ที่ราคาสิ่งของที่นำมาทำบุญ จากนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงเทศน์โปรดนางปุณณา เมื่อนางได้ฟังแล้วเกิดซาบซึ้งในพระธรรมจนเกิดบรรลุโสดาปัตติผล

ปัจจุบัน เราจะเห็นข้าวจี่ที่แม่ค้าเขาทำขายเป็นลักษณะก้อนกลม เป็นข้าวจี่โรยเกลือและทาไข่เพราะทำง่ายและวัตถุดิบก็น้อย บางเจ้าอาจจะมีแจ่วแถมมาให้จิ้มเพื่อช่วยเพิ่มรสชาติ บางเจ้าอาจจะมูลข้าวเหนียวกับกะทิเพื่อให้ข้าวเหนียวนุ่มอร่อยขึ้น ก็แล้วแต่เคล็ดลับของใครของมัน แล้วแต่ว่าใครจะชอบแบบไหน

ว่าแล้ว หนาวนี้ไปหาซื้อข้าวจี่ร้อนๆ กลิ่นหอมฉุยมากินก็น่าจะดี หรือไม่...ถ้ามีเวลาก็ลองทำข้าวจี่กินกันเอง นั่งล้อมรอบกองไฟเพื่อคลายหนาว พร้อมกับพูดคุยกันไปแบบไทบ้าน ก็ได้บรรยากาศอีกแบบ...

ขอขอบคุณ : หนังสือสารานุกรมวัฒนธรรม ภาคอีสาน, www.84000.org

นั่งผิงไฟ กินข้าวจี่ร้อนๆ


นั่งผิงไฟ กินข้าวจี่ร้อนๆ


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์