นางสงกรานต์ ตำนาน การพยากรณ์

นางสงกรานต์ ตำนาน การพยากรณ์


ใกล้เข้ามาแล้วสำหรับเทศกาลสงกรานต์ประเพณีงดงามของไทยที่เปี่ยมด้วยสาระความหมาย

ทุกปีเมื่อวันสงกรานต์ซึ่งมีช่วงวันหยุดยาวต่อเนื่องมาถึง นอกจากบรรยากาศการเดินทางกลับบ้านคืนภูมิลำเนา รดน้ำเยี่ยมเยือนญาติผู้ใหญ่ รวมถึงสีสันการเล่นน้ำเปียกปอนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ยังมีการกล่าวถึง นางสงกรานต์ ซึ่งเป็นคติความเชื่อในตำนานสงกรานต์รวมอยู่ด้วย
 
สำหรับปีนี้ วันสงกรานต์ วันขึ้นปีใหม่ไทยตรงกับวันอาทิตย์ที่ 13 เมษายน นางสงกรานต์จึงทรงนาม ทุงสะเทวี ทรงพาหุรัด ทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราค ภักษา หารอุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จนั่งมาเหนือหลังครุฑ เป็นพาหนะ

นางสงกรานต์ เป็นคติความเชื่ออยู่ในตำนานสงกรานต์
 
ซึ่งรัชกาลที่ 3 ให้จารึกลงในแผ่นศิลาติดไว้ที่วัดพระเชตุพน วิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) เป็นเรื่องเล่าถึงความเป็นมาของประเพณีเป็นอุบายเพื่อให้ผู้   ไม่รู้หนังสือได้รู้ว่า วันมหาสงกรานต์ ตรงกับวันเวลาใด โดยในวันนี้จะเป็นวันที่พระอาทิตย์เข้าสู่ราศีเมษ ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามสุริยคติ ซึ่งสมมุติผ่านนางสงกรานต์ทั้งเจ็ดเทียบกับแต่ละวันในสัปดาห์
 
ตามตำนานนางสงกรานต์

เป็นธิดาทั้ง 7 ของท้าวกบิลพรหมและจากที่เล่าขานต่อกันมาเป็นที่ทราบกันถึงเรื่องการตอบปริศนาสามข้อที่ว่าเช้า เที่ยง ค่ำ ราศีอยู่ที่ใดของมานพหนุ่มกับท้าวกบิลพรหม ซึ่งผู้ที่พ่ายแพ้จะต้องถูกตัดศีรษะ เมื่อธรรมบาลกุมารสามารถตอบปริศนาได้ ท้าวกบิลพรหมจึง ถูกตัดศีรษะและจากตำนานเล่าว่าหากศีรษะตั้งไว้ในแผ่นดินไฟจะไหม้ ทิ้งในอากาศฝนก็จะแล้งและหากทิ้งในมหาสมุทรน้ำจะแห้ง ธิดาทั้งเจ็ดจึงนำพานมารองอัญเชิญประดิษฐานไว้ที่มณฑปถ้ำคันธุลีเขาไกรลาส ครั้นถึง 365 วัน ซึ่งโลกสมมุติเป็นปีหนึ่งเวียนมาถึง ในวันมหาสงกรานต์ เทพธิดาทั้งเจ็ดจะทรงพาหนะต่าง ๆ ผลัดกันเชิญพระเศียรบิดาออกแห่ เทพธิดาที่ปรากฏในวันมหาสงกรานต์จึงได้ชื่อว่า นางสงกรานต์

นางสงกรานต์ ตำนาน การพยากรณ์


นางสงกรานต์แต่ละวันจะมีนาม มีอาหาร อาวุธและสัตว์ที่เป็นพาหนะต่างกัน
 
อ.สุจริต บัวพิมพ์ นักวัฒนธรรมอาวุโส  อดีตผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการถ่ายทอดวัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติบอกเล่าพร้อมให้ความรู้ถึงความ เกี่ยวเนื่องกับประเพณีสงกรานต์ว่า การประกอบอาชีพ เกษตรกรรมที่ต้องอาศัยฝน ตำนานสงกรานต์เป็นคติความเชื่อเป็นโบราณอุบายที่มีความหมาย อีกทั้งการพยากรณ์ยังเป็นเสมือนคำเตือนให้ดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท
 
“ตำนานสงกรานต์แฝงไว้ด้วยกุศโลบายแยบยลเป็น โบราณอุบายที่น่าศึกษา อย่างในเรื่องความกตัญญูแสดงให้เห็นชัดเจนและจากตำนานความเชื่อนางสงกรานต์ได้ถ่ายโอนมายังโลกมนุษย์ ซึ่งในแก่นแท้ของประเพณีสงกรานต์นั้นมีความงดงาม เอื้ออาทรเต็มไปด้วยบรรยากาศความกตัญญู ระลึกนึกถึงญาติผู้ใหญ่ การให้ ทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลแก่ ญาติผู้ล่วงลับ บรรยากาศความอบอุ่นของครอบครัว อีกทั้งความสนุกสนานสะท้อนถึงความเป็นไทยโดยมีน้ำเป็นสื่อเชื่อมสัมพันธไมตรี”
 
จากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมซึ่งพอปีหนึ่งเมื่อสงกรานต์มาถึงก็จะมีการรอประกาศสงกรานต์ รอดูฤกษ์งามยามดี ซึ่งในประกาศสงกรานต์จะบอกถึงวันมงคล วันที่ไม่ควรปฏิบัติและจากตำนานความเชื่อเกี่ยวกับนางสงกรานต์ อย่างที่กล่าวนางสงกรานต์ประจำแต่ละวันจะมีนาม อาหาร อาวุธ พาหนะรวมทั้งมีอิริยาบถที่ต่าง กันไป อย่างเชื่อกันว่าหากอิริยาบถของนางสงกรานต์   ยืนมา จะเกิดความเดือดร้อนเจ็บไข้ นั่งมา จะเกิดความเจ็บไข้ผู้คนล้มตาย เกิดเหตุเภทภัยต่าง ๆ หาก นอนลืมตา ประชาชนจะอยู่เย็นเป็นสุข นอนหลับตา พระมหากษัตริย์จะรุ่งเรืองดี นอกจากนี้ยังมีคำทำนายเกี่ยวกับวันมหาสง กรานต์ วันเนาและวันเถลิงศก อย่างถ้าวันอาทิตย์ เป็นวันมหาสงกรานต์ ปีนั้นพืชพันธุ์ธัญญา หารไม่สู้จะงอกงาม แต่หากวันศุกร์เป็นวันมหาสงกรานต์ พืชพันธุ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์ ฝนชุก พายุพัดแรงผู้คนจะเป็นโรคตา เจ็บไข้มาก เป็นต้น
 
“การพยากรณ์ถือได้ว่าเป็นการช่วยเตือนเป็นการคำนวณทางโหราศาสตร์ที่เป็นสถิติอย่างหนึ่งซึ่งอาจจะเกิดหรือไม่เกิดขึ้น ก็ได้ แต่การฟังโบราณไว้ก็ไม่เสียหลาย อย่างปีนี้ที่กล่าวถึงอิริยาบถของนางสงกรานต์ ซึ่งการเสด็จนั่งมาเหนือหลังครุฑในการพยากรณ์เชื่อว่าจะนำความเจ็บไข้ เกิดเภทภัย ฯลฯ ซึ่งก็คงจะต้องเพิ่มความระมัดระวังไม่ประมาท นอกจากนี้การเตือนล่วงหน้า ยังเป็นเหมือนการป้องกัน  รู้หาหนทางแก้ไขระวังตนเอง” นักวัฒนธรรมอาวุโสกล่าว

จากตำนานนางสงกรานต์ความเชื่อที่มีต่อกันมายาวนาน
 
สิ่งนี้ยังเป็นอุบายแยบยลเตือนสติเตือนตนให้รู้หลักตั้งมั่นดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาทและขณะที่ประเพณีสงกรานต์ครบพร้อมด้วยความงดงามประเพณีนี้จึงไม่ใช่เพียงแค่ความสนุกสนานไปกับการเล่นน้ำเปียกปอน
 
หากแต่สาระสำคัญของวันสงกรานต์ยังมีความหมายต่อการแสดงความเคารพกตัญญู ความเอื้ออาทรต่อกันและกันซึ่งไม่ควรละเลยลืมเลือน.

นางสงกรานต์ ตำนาน การพยากรณ์


ประกาศสงกรานต์ 2551


ในสมัยโบราณสื่อที่จะบอกแจ้งวัน เวลาขึ้นศักราชใหม่ เกณฑ์น้ำฝนสำหรับการประกอบกสิกรรม ฯลฯ อาจมีไม่มาก ประกาศสงกรานด์ เป็นสื่อ ที่บอกถึงสิ่งดังกล่าว ให้ทราบทั่วถึงกัน ประกาศสงกรานต์ เป็นประกาศพระราช กฤษฎีกาเรื่องหนึ่งตามประเพณีราชการแต่สมัยโบราณ ซึ่งเมื่อสิ้นสุดปีหนึ่ง ๆ จะเปลี่ยนปีนักษัตรเริ่มศักราชใหม่ ทางราชการจะประกาศเกี่ยวกับวัน เดือน ข้างขึ้น ข้างแรมในปีต่อไป และจากหนังสือประเพณีสงกรานต์ที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เผยแพร่ให้ความรู้กล่าวถึง ประกาศสงกรานต์ ปี 2551 ปีชวด เทวดาผู้ชาย ธาตุน้ำ สัมฤทธิศก จุลศักราช 1370 ทางจันทรคติ เป็นปกติมาสวาร ทางสุริยคติ เป็นอธิกสุรทิน (อธิกสุรทิน ปีที่เดือนกุมภาพันธ์มี   29 วัน สัมฤทธิศก คือ ปีที่จุลศักราชลงท้ายด้วย 0 ศูนย์ )
 
วันมหาสงกรานต์ ตรงกับวันอาทิตย์ที่  13 เมษายน ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 5 เวลา 18 นาฬิกา 24 นาที วันที่ 15 เมษายน เวลา 22 นาฬิกา 53 นาที 24 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่ เป็น 1370 ปีนี้ วันพุธเป็นธงชัย วันอังคารเป็นอธิบดี วันอังคารเป็นอุบาทว์ วันพฤหัสบดีเป็นโลกาวินาศ
 
วันอาทิตย์เป็นอธิบดีฝนบันดาลให้ฝนตก 400 ห่า

ตกในโลกมนุษย์ 40 ห่า ตกในมหาสมุทร 80 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 120 ห่า ตกในเขาจักรวาล 160 ห่า นาคให้น้ำ 4 ตัว เกณฑ์ธัญญาหารได้เศษ 2 ชื่อวิบัติ  ข้าวกล้าในภูมินา  จะได้ผลกึ่ง เสียกึ่ง เกณฑ์ธาราธิคุณตกราศีวาโย (ลม) น้ำน้อย
 
**ประกาศสงกรานต์ที่วันอังคารเป็นทั้งวันอธิบดี และวันอุบาทว์ คือเป็นทั้งวันดีและไม่ดีในวันเดียวกันนั้น หมายถึง หากจะประกอบกิจการใด ๆ ในวันนี้ควรดูยามฤกษ์ ราศีและดิถี ที่เรียกกาลโยค ตามปฏิทินโหรประกอบด้วยเพราะในวันเดียวกันหากช่วงเวลาหรือวันขึ้นวันแรมต่างกันจะไม่เหมือนกัน


นางสงกรานต์ ตำนาน การพยากรณ์


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์