นานาความเชื่อ เรื่อง หมูๆ..!

"ปีจอ" หมาดุ ผ่านพ้นไปแล้ว ได้เวลาของ "ปีกุน" หมูอ้วนกันเสียที

นานาความเชื่อ เรื่อง หมูๆ..!


เชื่อแน่ว่าใครๆ ก็อยากให้ปีนี้เป็นปีสมบูรณ์พูนสุข สมสัญลักษณ์ความอ้วนพีของน้องหมูกันเป็นแน่แท้ ทั้งที่ความจริงแล้ว สัญลักษณ์ตามปีนักษัตรคือความเชื่ออย่างหนึ่งที่เป็นตำนานสืบทอดกันมาอย่างช้านาน

และในโลกใบนี้ ยังมี "ความเชื่อ" เกี่ยวกับหมูอีกมากมาย ทั้งความเชื่อแนว "สร้างสรรค์" เชิดชูหมู และ "ทำลาย" ให้หมูกลายเป็นอาหารอร่อยๆ ครองใจใครๆ เขาไปทั่ว


เรื่องหมูๆ แบบไม่หมูจะมีอะไรบ้างนั้น เชิญทัศนากันได้เลย

นานาความเชื่อ เรื่อง หมูๆ..!


"หมู" แบบไทยๆ

ถ้าหากใครผ่านไปบริเวณริมคลองหลอด ด้านหลังวัดราชประดิษฐ์ หรือแถวกระทรวงมหาดไทย ก็จะได้เห็น "อนุสาวรีย์หมู" ยืนเด่นเป็นสง่า ที่ผู้คนมักไปบูชากราบไหว้อยู่เสมอๆ

อนุสาวรีย์ดังกล่าวสร้างขึ้นในโอกาสที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมายุ 50 พรรษา ปี 2456

และเพื่อเป็นการระลึกถึงผู้สร้างคือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ พระยาพิพัฒน์ (เซเลสติโน ซาเวียร์) และพระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) ที่เกิดปีเดียวกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ คือปีกุน 2406 โดยสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ทรงเป็นผู้ออกแบบอนุสาวรีย์นี้

ภาษิต คำพังเพย และสำนวนเกี่ยวกับหมูในบ้านเราก็มีให้เปรียบเปรยกันมากมาย เช่น "หมูเขาจะหามเอาคานเข้าไปสอด" "หมูเขี้ยวตัน" "หมูในเล้า" "หมูในอวย" "หมูไปไก่มา" "หมูสนาม" "ดินพอกหางหมู" "หมูไม่กลัวน้ำร้อน" ฯลฯ และยิ่งได้เห็นหมูประหลาดมี 2 หัว 3 หาง 6 ขา ฯลฯ เมื่อไร รับรองว่านักเสี่ยงโชคไทยเราไม่อยู่เฉยแน่ๆ


"หัวหมู" ขวัญใจชาวจีน

นานาความเชื่อ เรื่อง หมูๆ..!


ต้นตอตำนาน 12 นักษัตร ซึ่งมีหมูเข้าไปร่วมด้วยช่วยกันนั้น ก็มีที่มาที่ไปจากชาวจีนนี่เอง

แสดงให้เห็นถึงความแนบแน่นระหว่างชาวจีนกับหมูที่มีมาอย่างช้านาน โดย จิตรา ก่อนันทเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมจีนเล่าว่าเหตุที่ต้องมีการใช้ "หัวหมู" ไหว้ขอบคุณขอพรเทพเจ้า

เพราะมีตำนานเล่าขานว่าคนจีนกินหมูมาตั้งแต่เมื่อ 4 พันปีก่อน และในการไว้บวงสรวงเทพเจ้าแต่โบราณก็จะใช้สัตว์สามอย่างที่เลี้ยงในบ้าน คือ วัว แพะ และ หมู

ต่อมาก็มีการปรับเปลี่ยนจากไหว้ด้วยหมูทั้งตัวมาเหลือแต่หัว ทั้งยังเพิ่มไก่ เป็ด ปลา ตามความสะดวก แต่หมูก็ยังคงยืนพื้นอยู่ดี

"ในความเป็นปีนักษัตรหมู ถ้าดูว่าหมูเป็นสัตว์อ้วนพี ชอบนอนสบาย รักสงบก็น่าจะดี แต่อย่าลืมว่าเรายังมีทั้งหมูป่า หมูเขี้ยวตัน ซึ่งถือว่าเป็นหมูดุ แต่เรายังมีกำลังใจที่ดียิ่งคือ การจะได้เฉลิมฉลองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงครองราชย์ 61 ปี และทรงมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา ซึ่งคนจีนเรียกว่าเป็นวันเกิดใหญ่" จิตรา บอกเล่า

แม้แต่จังหวัดตรัง ซึ่งมีบรรพบุรุษเป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ก็ยังมี "หมูย่าง" เป็นที่ขึ้นชื่อลือชา ฉะนั้น ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า "หมู" เป็นขวัญใจในจานจีนขนาดไหน


"หมูน้อย" สุดที่รักของฝรั่ง

นานาความเชื่อ เรื่อง หมูๆ..!


ถ้าจะพูดถึงหมูในมุมน่ารักๆ หลายคนคงนึกถึง "หมูน้อยหัวใจเทวดา" หรือ "เบ๊บ" เจ้าหมูที่อยากเป็นหมาเลี้ยงแกะ ในภาพยนตร์ดังจากออสเตรเลีย

แต่ความรักในเผ่าพันธุ์หมูไม่ได้มีแค่ในหนังเท่านั้น สำหรับที่สหรัฐอเมริกา วันที่ 1 มีนาคมของทุกๆ ปี ถูกกำหนดให้เป็น "วันหมูระดับชาติ"

ซึ่งจะมีการเฉลิมฉลองให้หมูอย่างใหญ่โต ยิ่งกว่างานโต๊ะจีนลิงบ้านเราหลายสิบเท่า เพราะสวนสัตว์ทั่วสหรัฐต่างพร้อมอกพร้อมใจเลี้ยงดูปูเสื่อทำอาหารดีๆ ให้หมูกินโดยเฉพาะ พร้อมมีกิจกรรมสนุกๆ ให้เด็กๆ ร่วมฉลอง และยังเป็นวันที่ต้องแต่งกายสีชมพูตามสีประจำตัวของน้องหมู

ที่มาของวันชาติหมู เริ่มต้นเมื่อปี 2515 โดย เอลเลน สแตนลีย์ ครูสอนศิลปะจากเท็กซัส ที่เห็นถึงความน่ารักของหมูซึ่งดูไปดูมาก็ไม่ต่างจากคนเรานี่เอง ทั้งความเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ความชอบเข้าสังคม แถมยังเป็นสัตว์อารมณ์ดีอีกต่างหาก จึงควรมีสักวันที่รำลึกถึงคุณค่าของเพื่อนร่วมโลกเผ่าพันธุ์นี้

ยังมีสารพันความเชื่อเกี่ยวกับหมูอีกมากมาย รวมถึงในแง่ศาสนาด้วย และไม่ว่าใครจะมีความเชื่อแบบไหน การเคารพความต่างทางความศรัทธาของกันและกัน น่าจะยิ่งทำให้ปีหมูปีนี้ มีความหมายที่ "เต็มอิ่ม" ที่สุด

ขอขอบคุณ :

หนังสือพิมพ์คมชัดลึกหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข้อมูลที่มีคุณภาพ
จากหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์