นิทานชาดก ธรรมะสอนใจ ให้แง่คิดดี ๆ ผ่านเรื่องเล่า


 สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาในเรื่องธรรมะ หรือต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับการบำเพ็ญเพียรอย่างอุตส่าห์ของพระพุทธเจ้าใน ชาติก่อน ๆ เพื่อให้เข้าใจหลักธรรม คำสอน หรือการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ อย่างท่องแท้ เพื่อให้เข้าใจถึงการใช้ชีวิตที่เหมาะควรให้มากขึ้น การอ่านนิทานชาดก ย่อมส่งผลดีต่อแนวคิด และจิตใจของผู้นั้นได้เป็นอย่างดี แต่สำหรับใครที่ยังไม่ทราบว่านิทานชาดกคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร และจะมีประโยชน์อะไรต่อผู้อ่านบ้าง วันนี้กระปุกดอทคอมได้รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับนิทานชาดกมาฝากแล้วค่ะ

ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้ให้ ความหมายของ นิทาน ว่า เป็นเรื่องที่เล่ากันมา ขณะที่ ชาดก หมายถึง เรื่องพระพุทธเจ้าที่มีมาในชาติก่อน ๆ ตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ ทว่า พระมหาสุทร สุนฺทรธมฺโม (เสนาซุย) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับนิทานชาดกเพิ่มเติม โดยส่วนหนึ่งมีเนื้อความว่า
ชาดก เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ แสดงถึงความเป็นมาในพระชาติต่าง ๆ ที่ได้เกิดมาสร้างบารมีเอาไว้เพื่อการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เราเรียกว่าพระเจ้า 500 ชาติ ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎก เล่มที่ 27 , 28 มีทั้งหมด 548 เรื่อง อาจมีทั้งเรื่องที่ซ้ำกันบ้าง แต่คาถาจะต่างกัน หรือบางเรื่องที่ยกมาเพียงคาถาเดียวจากเรื่องที่มีหลาย ๆ คาถา

ทั้ง นี้ ชาดกเป็นเรื่องเล่าคล้ายนิทาน บางครั้งจึงเรียกว่า นิทานชาดก แต่มีความหมายแตกต่างจากนิทานที่เล่ากันทั่วไป คือ ชาดกเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง แต่นิทานเป็นเรื่องที่แต่งขึ้น สำหรับผู้อ่านนิทานชาดก หรือนิทานธรรมะ ควรอ่านเนื้อหาอย่างพิจารณา และนำหลักธรรมไปใช้ให้เกิดคุณประโยชน์ ส่วนความเพลิดเพลินนั้น ให้ถือเป็นเพียงผลพลอยได้ที่เกิดจากการอ่าน เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากนิทานชาดก หรือนิทานธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้อย่างแท้จริง

นิทานชาดกนั้นประกอบด้วยคัมภีร์หลักอยู่ 2 ส่วน คือ คัมภีร์พระสุตตันตปิฏก และคัมภีร์อรรถกถา ขยายความเรื่องอีก 10 เล่ม นอกนั้นอาจปรากฏในพระวินัยปิฏกและพระสูตรส่วนอื่น ๆ หรือมีปรากฏในคัมภีร์อรรถกภาธรรมบทบ้าง ส่วนเนื้อหานิทานชาดกในอรรถกถามีโครงสร้างประกอบด้วย 5 ส่วนคือ

1. ปัจจุบันนิทาน กล่าวถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ประทับอยู่ที่ไหน ทรงปรารภใคร

2. อดีตนิทาน เป็นเรื่องชาดกโดยตรง เรื่องที่เคยมีมาในอดีต บางเรื่องเป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์ของชนชาติต่าง ๆ ในชมพูทวีป บางเรื่องเป็นนิทานท้องถิ่น บางเรื่องเป็นนิทานเทียบสุภาษิต เช่น คนพูดกับสัตว์ สัตว์พูดกับสัตว์ เป็นต้น

3. คาถา เป็นพุทธพจน์ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก บางเรื่องเป็นพุทธพจน์โดยตรง บางเรื่องเป็นฤาษีภาษิต บางเรื่องเป็นเทวดาภาษิต แต่ถือเป็นพุทธพจน์เพราะเป็นคำที่นำมาตรัสเล่าใหม่

4. เวยยากรณภาษิต เป็นการอธิบายธรรมที่ปรากฏในชาดกนั้น ๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น

5. สโมธาน เป็นการสรุปชาดกให้เห็นว่าผู้ปรากฏในชาดกนั้น ๆ เป็นใคร เคยทำอะไรไว้



แต่ในที่นี้ ได้มีการกำหนดโครงสร้างนิทานชาดกไว้เพียง 4 ตอน คือ

ตอนที่หนึ่ง เป็นบทนำเรื่องทำให้ทราบว่าพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ใด ปรารภใครถึงได้ตรัสนิทานเรื่องนี้

ตอนที่สอง เป็นอดีตนิทานชาดกที่พระพุทธองค์ทรงนำมาสาธก

ตอนที่สาม เป็นคาถาประจำเรื่องนั้น ๆ ซึ่งมีทั้งเป็นคาถาของพระพุทธเจ้า เทวดา บัณฑิต พระโพธิสัตว์ และสัตว์ในเรื่อง และ

ตอนที่สี่ ตอนสุดท้าย เป็นคติประจำใจที่ไม่มีในอรรถกถาที่ผู้เขียนได้จัดทำขึ้นใหม่ เพื่อให้ครบองค์ของนิทานที่เรามักจะหยอดคำลงท้ายด้วยคำว่า นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอะไรเสมอ

อย่างไรก็ตาม นิทานชาดกนั้นมีนับพันเรื่องนื่อ งจากพระพุทธเจ้าได้เสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์นับพันชาติ โดยทรงเกิดเป็นมนุษย์บ้าง เป็นสัตว์บ้าง แต่ที่รู้จักกันโดยทั่วไป คือ 10 ชาติสุดท้ายที่เรียกว่า ทศชาติชาดก และชาติสุดท้ายที่สุดนี้ทรงเกิดเป็นพระเวสสันดร จึงเรียกเรื่องพระเวสสันดรนี้ว่า เวสสันดรชาดก

นอกจากนี้ ดร.สมิทธิพล เนตรนิมิตร ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ชาดก ไว้ว่า ชาดก มีความหมายที่ใช้กันทั่วไป 2 อย่าง
1. หมายถึง เกิด เช่น "ปรับอาบัติทุกกฎภิกษุผู้แสวงหามีดและขวานเพื่อจะตัดต้นไม้และเถาวัลย์ที่ เกิด ณ ที่นั้น" (ตตฺถ ชาตกกฏฺฐลตาเฉทนตฺถํ วาสิผรสํ) หรือ “ที่ขึ้นอยู่ที่นั้น ได้แก่ ที่เกิดบนหม้อดินที่ฝังไว้นาน” (ตตฺถ ชาตกนฺติ จิรนิหิตาย กุมฺภิยา อุปริ ชาตกํ)

2. หมายถึง การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติของพระโพธิสัตว์ก่อนตรัสรู้ (ชาตํ ภูตํ อตีตํ ภควโต จริยํ, ตํ กียติ กถียติ เอเตนาติ ชาตกํ) ชาดกเป็นพระพุทธพจน์ประเภทที่ไม่ใช่พระสูตร เป็นคำสอนที่มีอิทธิพลต่อวิธีสอนธรรมในยุคต่อมา เป็นการสอนอย่างเล่านิทาน เหมาะกับผู้ฟังทุกระดับ เป็นเทคนิคที่คงประสิทธิผลต่อผู้ฟังมาทุกยุคสมัย เพราะผู้สอนมีความรู้หลายด้าน รู้วิธีนำเสนอ มีวาทศิลป์ เชื่อมโยงให้คนฟังมองเห็นภาพลักษณ์ชวนให้น่าติดตาม

ทั้งนี้ ดร.สมิทธิพล ยังให้ข้อมูลว่า ชาดก มี 2 ประเภทคือ

1. ชาดกในนิบาต หรือที่เรียกว่า นิบาตชาดก หมายถึงชาดกทั้ง 547 เรื่องที่มีอยู่ในคัมภีร์ขุททกนิกาย ของพระสุตตันตปิฎก หนึ่งในพระไตรปิฎก นิบาตชาดกแต่งเป็นคาถา คือ คำฉันท์ ล้วน ๆ โดยจะมีการแต่งขยายความเป็นร้อยแก้ว เป็นอรรถกถาชาดก เหตุที่เรียกว่า นิบาตชาดก ก็เพราะว่า ชาดกในพระไตรปิฎกนี้ จะถูกจัดหมวดหมู่ตามจำนวนคาถา มีทั้งหมด 22 หมวด หรือ 22 นิบาต นิบาตสุดท้าย คือ นิบาตที่ 22 ประกอบด้วยชาดก 10 เรื่อง หรือที่เรียกว่า ทศชาติชาดก

โดย พระไตรปิฎก เล่มที่ 27 สุตตันตปิฎก ที่ 19 ขุททกนิกายชาดก ภาค 1 พระไตรปิฎก เล่มที่ 27 ซึ่งเป็นภาคแรกของชาดก ได้กล่าวถึงคำสอนทางพระพุทธศาสนา อันมีลักษณะเป็นนิทานสุภาษิต แต่ในตัวพระไตรปิฎกไม่ได้เล่าเรื่องไว้ มีแต่คำสุภาษิต รวมทั้งคำโต้ตอบในนิทาน โดยเรื่องละเอียดมีเล่าไว้ในอรรถกถา ซึ่งเป็นหนังสือที่แต่งขึ้นเพื่ออธิบายพระไตรปิฎกอีกต่อหนึ่ง

อนึ่ง เป็นที่ทราบกันว่าชาดกทั้งหมดมี 550 เรื่อง แต่เท่าที่ได้ลองนับดูแล้วปรากฏว่า ในเล่มที่ 27 มี 525 เรื่อง ในเล่มที่ 28 มี 22 เรื่อง รวมทั้งสิ้น 547 เรื่อง ขาดไป 3 เรื่อง แต่สาเหตุที่ขาดไป อาจเป็นเพราะบางเรื่องมีนิทานซ้อนนิทาน และไม่ได้นับเรื่องซ้อนแยกออกไปก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม จำนวนที่นับได้ จัดว่าใกล้เคียงมาก พระไตรปิฎกเล่มที่ 28 สุตตันตปิฎกที่ 20 ขุททกนิกายชาดก ภาค 2 ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 27 เป็นเล่มที่รวมเรื่องชาดกที่เล็ก ๆ น้อย ๆ รวมกันถึง 525 เรื่อง แต่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 28 นี้ มีเพียง 22 เรื่อง เพราะเป็นเรื่องยาว ๆ ทั้งนั้น โดย 12 เรื่องแรกเป็นเรื่องที่มีคำฉันท์ ส่วน 10 เรื่องหลัง คือ เรื่องที่เรียกว่า มหานิบาตชาดก แปลว่า ชาดกที่ชุมนุมเรื่องใหญ่ หรือที่โบราณเรียกว่า ทศชาติ

2. ชาดกนอกนิบาต หมายถึง ชาดกที่ไม่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎก เป็นชาดกที่ภิกษุชาวเชียงใหม่ได้รวบรวมเรื่องราวมาจากนิทานพื้นบ้านไทยมา แต่งเป็นชาดก ขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2000-2200 ชาดกนี้เรียกอีกชื่อว่า ปัญญาสชาดก แปลว่า ชาดก 50 เรื่อง และรวมกับเรื่องในปัจฉิมภาคอีก 11 เรื่อง รวมเป็น 61 เรื่อง

อย่าง ไรก็ตาม สำหรับรายชื่อของนิทานชาดกนั้น ขอหยิบยกเฉพาะ ทศชาติชาดก ซึ่งเป็นชาดกที่สำคัญ และเป็นที่รู้จักกันดี โดยกล่าวถึง 10 ชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ ก่อนจะเสวยพระชาติมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า หรือเจ้าชายสิทธัตถะแห่งศากยวงศ์ สำหรับชาดกทั้ง 10 เรื่องนี้ เพื่อให้จำง่าย จึงมักนิยมท่องโดยใช้พยางค์แรกของแต่ละชาติ คือ เต ช สุ เน ม ภู จ นา วิ เว โดยชาดกในเรื่องต่าง ๆ จะมีเรื่องย่อพอสังเขป ดังนี้

ชาติที่ 1 เตมียชาดก (เต)

ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญเนกขัมมบารมี คือ การออกบวช หรือ ออกจากกาม โดยเล่าเรื่องของเตมียราชกุมาร ซึ่งเกรงการที่จะได้ครองราชสมบัติ เพราะทรงสลดพระหฤทัยที่เห็นราชบุรุษลงโทษโจรตามพระราชดำรัสของพระราชา เช่น เฆี่ยนพันครั้งบ้าง เอาหอกแทงบ้าง เอาหลาวเสียบบ้าง จึงใช้วิธีแสร้งทำเป็นง่อยเปลี้ย หูหนวก เป็นใบ้ไม่พูดจากับใคร แม้จะถูกทดลองต่าง ๆ ก็ไม่ยอมแสดงอาการพิรุธให้ปรากฏ เพื่อจะเลี่ยงการครองราชสมบัติ

จาก นั้นเมื่อพระราชาปรึกษาพวกพราหมณ์ ก็ได้รับคำแนะนำว่า ให้นำราชกุมารไปฝังเสีย ด้านพระราชมารดาที่ทรงคัดค้านไม่สำเร็จ ก็ทูลขอให้พระราชกุมารครองราชสัก 7 วัน แต่พระราชกุมารก็ไม่ยอมพูด ต่อเมื่อ 7 วันแล้ว สารถีนำราชกุมารขึ้นสู่รถเพื่อนำไปฝังตามรับสั่งพระราชา ขณะที่ขุดหลุมอยู่พระราชกุมารก็เสด็จลงจากรถ ตรัสปราศรัยกับนายสารถี แจ้งความจริงให้ทราบว่า มีพระประสงค์จะออกบวช สารถีเลื่อมใสในคำสอนขอออกบวชด้วย จึงตรัสให้นำรถกลับไปคืนก่อน สารถีนำความไปเล่าถวายพระราชมารดา พระราชบิดาให้ทรงทราบ

ทั้งสองพระองค์พร้อมด้วยอำมาตย์ราชบริพารจึงได้เสด็จออกไปหา เชิญให้พระราชกุมารเสด็จกลับไปครองราชสมบัติ แต่พระราชกุมารกลับถวายหลักธรรมให้ยินดีในเนกขัมมะ คือ การออกจากกาม พระชนกชนนีพร้อมด้วยบริวารทรงเลื่อมใสในคำสอน ก็เสด็จออกผนวชและบวชตาม กระทั่งมีพระราชาอื่นอีกเป็นอันมาก ที่ได้สดับพระราชโอวาทและขอออกผนวชตามเช่นกัน

ชาติที่ 2 มหาชนกชาดก (ช)

ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญวิริยบารมี คือ ความพากเพียร ใจ ความสำคัญ คือ พระชนกกุมาร โอรสพระเจ้าอริฏฐชนก กษัตริย์เมืองมิถิลา ขณะที่เสด็จลงสำเภาไปค้าขาย เกิดพายุใหญ่เรือแตกกลางมหาสมุทร พระมหาชนกทรงว่ายน้ำโต้คลื่นอยู่ในมหาสมุทรถึง 7 วัน นางเมขลาเห็นจึงพูดลองใจว่า ให้พระองค์ยอมตายเสียตามบุญตามกรรม แต่พระองค์ก็ไม่ทรงฟัง ยังพยายามว่ายน้ำโต้คลื่นอยู่ตามเดิม เมื่อนางเมขลาเห็นดังนั้น จึงเกิดเลื่อมใสในความพยายาม จึงอุ้มพระองค์เหาะไปส่งที่ฝั่ง ก่อนที่พระองค์จะกลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองมิถิลา กระทั่งได้ครองราชสมบัติในที่สุด

ชาติที่ 3 สุวรรณสามชาดก (สุ)

ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญเมตตาบารมี คือ การแผ่ไมตรีจิต คิดจะให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขทั่วหน้า มีเรื่องเล่าว่า สุวรรณสามเลี้ยงมารดาบิดาของตนซึ่งเสียจักษุในป่า และเนื่องจากเป็นผู้เมตตาปรารถนาดีต่อผู้อื่น ทำให้มีบรรดาสัตว์มากมายแวดล้อมไปในที่ต่าง ๆ วันหนึ่งพระเจ้ากรุงพาราณสีชื่อปิลยักษ์ ยิงสุวรรณสามด้วยธนู เนื่องจากเข้าพระทัยผิด จนเป็นเหตุให้สุวรรณสามถูกพิษที่ธนูจนสิ้นสติ ภายหลังเมื่อทราบว่า สุวรรณสามเป็นมาณพผู้เลี้ยงมารดาบิดา ก็สลดพระทัย จึงไปนำมารดาบิดาของสุวรรณสามมา

จาก นั้น เมื่อมารดาบิดาของสุวรรณสามตั้งสัจจกิริยา อ้างคุณความดีของสุวรรณสาม ขอให้พิษของศรหมดไป กระทั่งสุวรรณสามฟื้นขึ้นมา และได้สอนพระราชา แสดงคติธรรมว่า ผู้ใดเลี้ยงมารดาบิดาโดยธรรม แม้เทวดาก็ย่อมรักษาผู้นั้น ย่อมมีคนสรรเสริญในโลกนี้ เมื่อละโลกนี้ไปแล้วก็ บันเทิงในสวรรค์ เมื่อพระราชาขอให้สั่งสอนต่อไปอีก ก็สอนให้ทรงปฏิบัติธรรมปฏิบัติชอบในบุคคลทั้งปวง

ชาติที่ 4 เนมิราชชาดก (เน)

ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญอธิฏฐานบารมี คือ ความตั้งใจมั่นคง มีเรื่องเล่าว่า เนมิราชกุมารได้ขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์ต่อจากพระราชบิดา ทรงบำเพ็ญคุณงามความดี เป็นที่รักของมหาชน และในที่สุดเมื่อทรงพระชราก็ทรงมอบราชสมบัติแก่พระราชโอรส พระองค์ก็เสด็จออกผนวชเช่นเดียวกับที่พระราชบิดาของพระองค์เคยทรงบำเพ็ญมา

ชาติที่ 5 มโหสถชาดก (ม)

ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญปัญญาบารมี คือ ความรู้ทั่วถึงสิ่งที่ควรรู้ มีเรื่องเล่าว่า มโหสธบัณฑิตเป็นที่ปรึกษาหนุ่มของพระเจ้าวิเทหะแห่งกรุงมิถิลา ท่านมีความฉลาดรู้สามารถแนะนำในปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องรอบคอบ จนสามารถเอาชนะที่ปรึกษาอื่น ๆ ที่ริษยาใส่ความได้ และด้วยความดีที่ไม่พยาบาทอาฆาต มโหสธบัณฑิตจึงสามารถใช้อุบายป้องกันพระราชาจากราชศัตรู และจับราชศัตรูซึ่งเป็นกษัตริย์พระนครอื่นได้

ชาติที่ 6 ภูริทัตชาดก (ภู)

ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญศีลบารมี คือ การรักษาศีล มีเรื่องเล่าว่า ภูริทัตนาคราชไปจำศีลอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา ยอมอดทนให้หมองูจับไปทรมานต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่สามารถจะทำลายหมองูได้ด้วยฤทธิ์ ทว่า ภูริทัตตนาคราชยังคงยึดมั่นต่อศีลของตน จนในที่สุดภูริทัตตนาคราชก็ได้อิสรภาพดังที่ปรารถนา

ชาติที่ 7 จันทชาดก (จ)

ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญขันติบารมี คือ ความอดทน มีเรื่องเล่าว่า จันทกุมารเป็นโอรสของพระเจ้าเอกราช เคยช่วยประชาชนให้พ้นจากคดี ซึ่งกัณฑหาลพราหมณ์ ราชปุโรหิดาจารย์รับสินบนตัดสินไม่เป็นธรรม ประชาชนก็พากันเลื่อมใสเปล่งสาธุการ ทำให้กัณฑหาลพราหมณ์ผูกอาฆาตในพระราชกุมาร

ในเวลาต่อมา พระเจ้าเอกราชทรงพระราชสุบินเห็นดาวดึงเทวโลก เมื่อตื่นบรรทมทรงใคร่จะทราบทางไปสู่เทวโลก จึงตรัสถามกัณฑหาลพราหมณ์ เป็นโอกาสให้พราหมณ์แก้แค้นด้วยการกราบทูลแนะให้ตัดพระเศียรพระโอรสธิดา เป็นต้นบูชายัญ พระเจ้าเอกราชที่เป็นคนเขลา ก็สั่งจับพระราชโอรส 4 พระองค์ และคนอื่น ๆ เพื่อเตรียมประหารเช่นกัน แม้ใครจะทัดทานขอร้องก็ไม่ได้ผล ร้อนถึงท้าวสักกะ (พระอินทร์) ต้องมาข่มขู่ และชี้แจงให้หายเข้าใจผิดว่า วิธีนี้ไม่ใช่ทางไปสวรรค์ มหาชนจึงรุมฆ่าพราหมณ์ประโรหิตนั้น และเนรเทศพระเจ้าเอกราช แล้วกราบทูลเชิญจันทกุมารขึ้นครองราชย์แทน

ชาติที่ 8 นารทชาดก (นา)

ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญอุเบกขาบารมี คือ การวางเฉย มีเรื่องเล่าว่า พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นท้าวมหาพรหม นามว่า พระนารทะ ได้จำแลงกายเป็นนักบวชมาแสดงธรรมเทศนาสั่งสอนพระเจ้าอังคติ กษัตริย์นครมิถิลา ที่เคยปกครองบ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข ทรงศีลอุโบสถตลอดมา จนวันหนึ่งได้สนทนาธรรมกับนักบวชชีเปลือยคุณาชีวกะ ทำให้เกิดหลงผิด ละเว้นการรักษาศีลทำทานเสียสิ้น หันมาโปรดปรานมหรสพรื่นเริง ไม่สนใจกิจการของบ้านเมือง และเมื่อพระเจ้าอังคติได้ฟังคำสั่งสอนของพระนารทะมหาพรหม ว่าการกระทำสิ่งใดควรมีอุเบกขา คือ การวางใจเป็นกลาง ใช้ปัญญาพิจารณาให้รอบคอบ เมื่อเห็นว่าสิ่งใดดีมีประโยชน์จึงเชื่อ และปฏิบัติตาม กระทั่งพระเจ้าอังคติสามารถกลับมาตั้งมั่นในทศพิธราชธรรมได้ดังเดิม

ชาติที่ 9 วิทูรชาดก (วิ)

ชาดกเรื่องนี้เสดงถึงการบำเพ็ญสัจจบารมี คือ ความสัตย์ มี เรื่องเล่าถึงวิทูรบัณฑิต ซึ่งเป็นผู้ถวายคำแนะนำประจำราชสำนัก พระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะเป็นผู้ที่พระราชาและประชาชนรักใคร่เคารพนับถือมาก ครั้งหนึ่ง ปุณณกยักษ์มาท้าพระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะเล่นสกา ถ้าตนแพ้จักถวายมณีรัตนะอันวิเศษ ถ้าพระราชาแพ้ก็จะพระราชทานทุกสิ่งที่ต้อง ยกเว้นแต่พระกายของพระองค์ ราชสมบัติ และพระมเหสี ในที่สุดพระราชาแพ้ ปุณณกยักษ์จึงทูลขอตัววิทูรบัณฑิต ซึ่ง พระราชาจะไม่พระราชทานก็เกรงเสียสัตย์ พระองค์ตีราคาวิธรบัณฑิตยิ่งกว่าทรัพย์สินเงินทองใด ๆ ทรงหน่วงเหนี่ยวด้วยประการต่าง ๆ ก่อนไต่ถามให้วิธรบัณฑิตตัดสิน

ทางด้านวิธรบันฑิต เมื่อได้ฟังเรื่องราวต่าง ๆ ก็ได้ตัดสินให้พระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะรักษาสัตย์ คือ ตนเองยอมไปกับยักษ์ ทั้งที่ความจริงแล้วยักษ์ต้องการเพียงเพื่อจะนำหัวใจของวิทูรบัณฑิตไปแลกกับ ธิดาพญานาค ซึ่งเป็นอุบายของภริยาพญานาคผู้ใคร่จะได้สดับธรรมของวิทูรบัณฑิต จึงตกลงกับสามีว่า ถ้าปุณณกยักษ์ต้องการธิดาของตน ก็ขอให้นำหัวใจของวิทูรบัณฑิตมา ทว่า แม้ยักษ์จะทำอย่างไร ก็ไม่สามารถทำให้วิทูรบัณฑิตตายได้ ต่อมาวิทูรบัณฑิตได้แสดงสาธุนรธรรม (ธรรมของคนดี) ให้ยักษ์เลื่อมใส และได้แสดงธรรมแก่พญานาค และในที่สุดวิทูรบัณฑิตจึงได้กลับมาสู่กรุงอินทปัตถ์ดังเดิม

ชาติที่ 10 เวสสันดรชาดก (เว)

ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญทานบารมี คือ การบริจาคทาน มีเรื่องเล่าถึงพระเวสสันดรผู้ใจดีบริจาคทุกอย่างที่มีคนขอ ครั้งหนึ่งพระเวสสันดรได้ประทานช้างเผือกคู่บ้านคู่เมืองแก่พราหมณ์ ชาวกาลิงคะ ซึ่งมาขอช้างไปเพื่อให้หายฝนแล้ง แต่ประชาชนโกรธแค้นและขอให้เนรเทศพระเวสสันดรออกจากเมือง ดังนั้นพระราชบิดาจึงจำพระทัยต้องสั่งเนรเทศ ซึ่งพระนางมัทรีพร้อมด้วยพระโอรสธิดาได้ตามเสด็จพระเวสสันดรไปด้วย

ในเวลาต่อมา เมื่อชูชกไปของสองกุมาร พระเวสสันดรก็ยังประทานอีก ภายหลังพระเจ้าสญชัยพระราชบิดาของพระเวสสันดรจึงทรงตามไปไถ่สองกุมาร และเสด็จไปรับกลับกรุง ซึ่งเรื่องนี้แสดงถึงการเสียสละส่วนน้อยเพื่อมุ่งไปสู่ประโยชน์ส่วนใหญ่ คือ การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า อันจะเป็นทางให้ได้บำเพ็ญประโยชน์ส่วนรวมได้ดียิ่ง มิใช่เสียสละโดยไม่มีจุดมุ่งหมายหรือเหตุผล


 


นิทานชาดก ธรรมะสอนใจ ให้แง่คิดดี ๆ ผ่านเรื่องเล่า

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์