บางรักในวันที่เรา...(ไม่)รักกัน


บางรักในวันที่เรา...(ไม่)รักกัน


“เขตบางรักจัดงานวาเลนไทน์แจกทะเบียนสมรสทองคำ 12 ฉบับ”

“วาเลนไทน์คึกคัก บางรักแน่น ตั้งเป้าคู่รักจดทะเบียนพันคู่” 

พาดหัวข่าวข้างต้นจะหมุนเวียนมาทุกครั้งเมื่อถึงวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ วันที่ดอกกุหลาบ ตุ๊กตา หรือของขวัญรูปหัวใจ จะขายดีเป็นพิเศษตั้งแต่รุ่งสางเพื่อมอบถึงมือคู่รักตั้งแต่ยังไม่เคารพธงชาติ

ส่วนคู่ไหนถือฤกษ์แต่งงานหรือจดทะเบียนสมรสในวันนี้พวกเขามีจุดหมายเดียวกัน...ที่นี่

“บางรัก”ชื่อนามอันเป็นมงคล เปิดบ้านต้อนรับทุกสองหัวใจจากทุกสารทิศตั้งแต่คืนวันที่ 13 กุมภาพันธ์

ว่ากันว่าบางคู่มารอต่อคิวจดทะเบียนตั้งแต่ 5 ทุ่ม!!!

ชื่อเขตบางรักนั้น ว่ากันว่ามีหลากหลายที่มา อาทิ เรื่องเล่าที่บอกว่า เดิมเขตบางรักในอดีตเรียกว่า คลองบางขวางล่างใต้ เป็นย่านที่มีคนมากมายหลากหลายอาชีพทั้งกะลาสี ลูกเรือฝรั่งต่างชาติอยู่รวมกัน เป็นแหล่งกินแหล่งเที่ยวที่มีการทะเลาะวิวาทถึงขั้นฆ่ากันตายบ่อยครั้ง ชาวบ้านในแถบนั้นจึงขอให้ใช้ชื่อที่เป็นมงคลเรียกย่านนี้ว่า “บางรัก” แทนชื่อเดิม

ยามรักน้ำต้มผักก็ว่าหวาน

“ไปจดทะเบียนกันที่เขตบางรักกันเถอะ” ภรรยาหมาดๆ เอ่ยปากขอสามี ว่ากันว่า ถ้าจดทะเบียนที่บางรัก ความรักจะยืนยาว ครองรักกันไปอีกนานเท่านาน  



กระแสการจดทะเบียนสมรสในวันวาเลนไทน์ ณ เขตบางรัก เริ่มสร้างเป็นพิธีกรรมใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพราะนอกจากชื่อเขตที่ฟังดูเข้ากับบรรยากาศและเป็นมงคลแล้ว ยังเป็นการจับมือกันขนานใหญ่ของหน่วยงานต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์องค์กร เช่น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ สำนักงานเขตบางรักร่วมกับกสท.โทรคมนาคม จัดงาน “เคียงคู่ สู่ฝัน ในวันใหม่” ซึ่งมีบ่าวสาวจูงมือกันมาจดทะเบียนกว่า 190 คู่ แจกของกำนัลกันอย่างมโหฬาร อาทิ ทะเบียนสมรสทองคำทุกชั่วโมง รวม 11 ใบ บัตรรับประทานอาหารจากโรงแรมในเขตบางรัก กรมธรรม์ประกันชีวิตบางปี (2555) ถึงขั้นแจกคอนโด ก็มีมาแล้ว!!

แต่ก็ใช่ว่าวันธรรมดา สำนักงานเขตบางรักจะไม่ได้รับความนิยมในการเปิดฉากชีวิตคู่ตามกฎหมาย

เจ้าหน้าที่เขตรายหนึ่งบอกมาว่าวันอื่นๆจะมีคู่รักมาจดทะเบียนกันมากถึงวันละ30-40คู่นอกจากนี้ยังมีคู่ที่จดทะเบียนสมรสกันที่ต่างประเทศมาก่อน กลับมาขอจดทะเบียนที่เขตบางรัก แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นการจดทะเบียนซ้ำซ้อน เล่นเอาคู่รักจากแดนไกลเซ็งไปตามๆ กัน

ยามชังน้ำตาลยังว่าขม

แต่บางรักก็ใช่ว่าจะมีแต่คู่รักมาจดทะเบียนกันอย่างเดียวหลายคู่ก็มาที่นี่เพื่อจดทะเบียนหย่าแถมบางคู่ก็เคยมาจดทะเบียนสมรสกันที่นี่ด้วยซ้ำ!!

ข้อมูลสถิติจากสำนักงานปกครองและทะเบียนสำนักปลัดกรุงเทพมหานครพบว่าในปี2556 ในจำนวน 50 เขต เขตที่มีการจดทะเบียนหย่ามากที่สุดคือ เขตสายไหมมีจำนวน 409 คู่ รองลงมา คือเขตหนองจอก จำนวน 365 คู่ ตามด้วยเขตบางขุนเทียน และเขตบางเขน

ส่วน “บางรัก” จดทะเบียนหย่า 235 คู่ แม้เทียบกับเขตอื่นๆ อาจจะดูน้อยกว่า แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มี

บางรักในวันที่เรา...(ไม่)รักกัน


บางรักในวันที่เรา...(ไม่)รักกัน


หากที่นี่ไม่ได้มีชื่อว่า “บางรัก” การจดทะเบียนสมรสในวันวาเลนไทน์ของเขตนี้อาจกลายเป็นเรื่องธรรมดาเสียด้วยซ้ำ

“เป็นเรื่องปกติ สังคมไทยไม่ค่อยชอบเรื่องเศร้าๆ เท่าไหร่ ชื่อเขตเองก็พ้องกับเรื่องรักๆ ใคร่ๆ คนก็เลยแห่กันมาจดทะเบียน เห็นว่าชื่อดี เป็นมงคล ทางเขตเองก็เห็นเป็นเรื่องดี เพราะสื่อมวลชนให้ความสนใจ ก็เลยจัดเป็นกิจกรรมขึ้นมา” อำนาจ ฤทธิ์อิ่ม หัวหน้าฝ่ายทะเบียน สำนักงานเขตบางรัก แสดงทัศนะ   

เขาบอกว่า ทุกๆ เทศกาลวันแห่งความรัก สำนักงานเขตจะขอความร่วมมือห้างร้านต่างๆ มาช่วยสนับสนุน โดยผู้อำนวยการเขตก็เคยให้นโยบายไว้ว่า กิจกรรมที่จะทำควรส่งเสริมใน 3 ด้านคือ สถาบันครอบครัว ประเพณีที่ดีงาม

“และที่สำคัญคือพะยี่ห้อเลยว่า ช่วงวาเลนไทน์ให้มาจะทะเบียนที่เขตนี้ ชาวต่างชาติก็มาได้ ถ้าไม่ได้จดทะเบียนมาก่อน” อำนาจเล่า

ส่วนเรื่องความเชื่อที่ว่าชื่อบางรักเป็นชื่อมงคลนั้น อำนาจกลับมองว่า เป็นเรื่องปกติสำหรับเขา เพราะบางครั้งก็ไม่ได้ช่วยให้คน 2 คน ไปกันได้ตลอดรอดฝั่ง

“คู่ที่มาจดทะเบียนหย่าบางคู่ถึงขั้นตบตีกันก็มี ทั้งๆ ที่สองสามปีก่อนเดินจับมือกันมาจดทะเบียนสมรส ดังนั้นเรื่องชีวิตคู่จึงเป็นเรื่องของคนสองคนมากกว่า แต่ถ้ามาจดแล้วสบายใจ เป็นความทรงจำครั้งหนึ่งในชีวิต ทางเขตเองก็ไม่ขัด มาจากทั่วประเทศนั่นแหละ บางคู่ก็ชักภาพโดยมีป้ายเขตเป็นสักขีพยาน”
 หัวหน้าฝ่ายทะเบียนเขตบางรักให้ข้อคิด

หันไปดูเขตที่มีชื่อเป็นคู่ตรงข้ามกับบางรักอย่างเขต “บางพลัด” เขตนี้ไม่มีสื่อใดให้ความสนใจนำเสนอข่าวในทำนองว่า ผู้คนนิยมไปจดทะเบียนหย่าที่นี่ เพราะชื่อพ้องกับคำว่า “พลัดพราก”

ที่สำคัญเขตบางพลัด ก็ไม่ได้เป็นเขตที่มีการจดทะเบียนหย่ามากที่สุดฉะนั้นชื่อจึงไม่เกี่ยว!

อำนาจ เล่าเสริมว่า แต่ละคู่ที่มาขอจดทะเบียนหย่า ตนหรือนายทะเบียนที่จะลงนามในเอกสาร และเป็นสักขีพยานจะถามก่อนว่า ‘แน่ใจหรือไม่’ ‘ไตร่ตรองมารอบคอบแล้วหรือเปล่า’ ‘ให้คิดถึงครอบครัวนะ’

เขาบอกอีกว่า บางคู่ต้องช่วยกันพูดจนยอมคืนดีขอโทษขอโพยทั้งน้ำตากลับไป  ถ้าดึงดันที่จะหย่าเขตก็จะจัดการให้ แต่จะกลับมารักกันอีกก็ต้องรอให้เกิน 310 วัน ตามข้อกำหนดของกฎหมาย

ถึงบางรัก ก็อาจรักร้าง     
แม้บางพลัด อาจมิพลัดพราก  


ชื่อในการประกอบพิธีมงคล ไม่ว่าจะเป็นสถานที่หรือเทศกาล อาจเป็นเพียงแค่องค์ประกอบหนึ่งของการเริ่มต้นชีวิตคู่

แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ความเข้าใจซึ่งกันและกัน และความอดทนอดกลั้น อันจะเป็นสิ่งที่ประคับประคองวันชื่นคืนสุขให้ยืนยาวจนถึงปลายทาง


เมื่อรักก็จด รักหมดก็หย่า



บางรักในวันที่เรา...(ไม่)รักกัน

สถิติการจดทะเบียนสมรสในวันวาเลนไทน์  (จำนวนทั้งสิ้น 50 เขต) ปี 2556 จำนวน 2,184 คู่

5 อันดับเขตที่มีการจดทะเบียนสมรสมากสุด ได้แก่ 1.เขตบางรัก 548 คู่ 2.เขตบางซื่อ 114 คู่ 3.เขตสายไหม 63 คู่ 4.เขตจอมทอง 61 คู่ และ 5.เขตลาดกระบัง 60 คู่

เขตสาทร ครองตำแหน่งจดทะเบียนน้อยที่สุดคือ 9 คู่

ในปี 2556 มีคู่สมรสเดินทางจดทะเบียนหย่าในกทม. จำนวน 8,405 คู่

4 อันดับเขตที่มีการจดทะเบียนหย่ามากสุด ได้แก่ 1.เขตสายไหม 409 คู่ 2.เขตหนองจอก จำนวน 365 คู่  3.เขตบางขุนเทียน จำนวน 348 คู่  4.เขตบางเขน จำนวน 345 คู่ 



รายงานโดย 
วรรณพรรณ หวังซะ 
ทรงวุฒิ กลางนุรักษ์ 
ชีวาพร โกศลสุวิวัฒน์

นักศึกษาเอกวารสารและหนังสือพิมพ์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร

ประชาชาติธุรกิจ
ภาพประกอบ : 
อินเตอร์เน็ต


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์