ปวดยอดอก เจ็บกระเพาะ อาจไม่ใช่โรคกระเพาะ


อาการปวดยอดอก (ลิ้นปี่) บางครั้งเรียกว่า "อาการอาหารไม่ย่อย (dyspepsia)" เป็นอาการที่พบบ่อยในคนทั่วไป และมักมีสาเหตุจากโรคที่เกี่ยวข้องกับกระเพาะอาหาร (นิยมเรียกว่า "โรคกระเพาะอาหาร" หรือ "โรคกระเพาะ") เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ โรคแผลกระเพาะอาหาร/ลำไส้เล็กส่วนต้น โรคกรดไหลย้อน เป็นต้น

สาเหตุเหล่านี้มักจะทำให้ทุเลาได้ด้วยยาลดกรด หรือยารักษาโรคกระเพาะที่ช่วยลดปริมาณน้ำย่อยซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดในกระเพาะอาหาร ยากลุ่มนี้จึงจัดว่าเป็นยายอดนิยมชนิดหนึ่งที่ประชาชนทั่วไปสามารถหาซื้อมาใช้เอง แต่พึงต้องตระหนักไว้เสมอว่า อาการปวดยอดอกหรือเจ็บกระเพาะนั้นอาจเกิดจากสาเหตุอื่นก็ได้ ถ้ากินยารักษาโรคกระเพาะแล้วไม่ทุเลา หรือเคยทุเลาแต่กลับมาไม่ได้ผล (ดื้อยา) หรือเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ก็ควรจะปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัดจะดีกว่า

ปวดบิดเกร็ง... คนละอาการกับโรคกระเพาะ

คุณสมหญิง อายุ 35 ปี กินยาคุมกำเนิดมา 10 กว่าปี เคยมีประวัติเป็นโรคกระเพาะ เป็น ๆ หาย ๆ มา 2 ปี คราวนี้มีอาการปวดยอดอกและชายโครงขวามานานกว่าครึ่งชั่วโมง จึงกินยาลดกรดที่เคยใช้มาก่อน แต่ครั้งนี้กินไปแล้วไม่ได้ผล มีอาการปวดรุนแรงกว่าที่เคยเป็น จึงไปหาหมอที่โรงพยาบาล หมอซักถามอาการได้ความว่า คราวนี้มีอาการปวดแปลกกว่าที่เคย เมื่อก่อนจะปวดจุกแน่นท้องตอนหลังกินข้าว แต่ครั้งนี้ปวดแบบบิดเกร็งเป็นพัก ๆ คล้ายปวดแบบท้องเดิน หลังจากไปกินข้าวมันไก่เจ้าอร่อยมา คุณหมอส่งตรวจอัลตราซาวนด์ ก็พบว่าเป็นนิ่วในถุงน้ำดีตามที่สงสัย

โรคแต่ละอย่างแม้จะมีอาการปวดที่ตำแหน่งเดียวกัน แต่จะมีลักษณะอากาปวดแตกต่างกันตามกลไกของการเกิดโรค จึงควรสังเกตลักษณะอาการที่แตกต่างกันนี้ให้ดี จะมีประโยชน์ต่อการวินิจฉัยโรคอย่างมาก

มัวแต่กินยากระเพาะ จนเมื่อน้ำหนักลด...ก็เสียเสียแล้ว

คุณสมศรี อายุ 45 ปีเป็นพยาบาลทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลอำเภอหนึ่ง มีอาการปวดแสบลิ้นปี่ตอนก่อนกินข้าวทุกมื้อ และมักจะทุเลาหลังกินข้าวหรือดื่มนม หรือกินยาลดกรด (น้ำขาว ๆ) ปรึกษาหมอที่ใกล้ชิดก็เห็นตรงกันว่าเป็นโรคกระเพาะอยู่นาน 2 เดือนตามสูตร ก็รู้สึกว่าหายดี แต่หลังจากหยุดยาได้ไม่ถึงสัปดาห์ อาการก็กลับมาอีก จึงกินยาต่อไปเรื่อย ๆ อีก เกือบปีต่อมา คุณสมศรีสังเกตว่ายาไม่ค่อยได้ผล และน้ำหนักลดไป 2-3 กิโลกรัม จึงได้ไปปรึกษาหมอที่โรงพยาบาลจังหวัด หมอทำการส่องกล้องตรวจกระเพาะ ก็พบว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารระยะท้ายเสียแล้ว รักษาตัวอยู่ได้ไม่นานก็เสียชีวิต

มะเร็งในบริเวณช่องท้อง (เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ) ในระยะแรกอาจมีอาการคล้ายโรคกระเพาะอย่างแยกไม่ออก บางรายหมอทำการตรวจเบื้องต้น ก็ไม่พบรอยโรค และอาจให้การรักษาแบบโรคกระเพาะนานเกือบปี จนกระทั่งก้อนมะเร็งโตขึ้นชัดเจน หรือทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) จึงค่อยพบเข้า ซึ่งก็มักจะเป็นมะเร็งในระยะท้าย ๆ

ดังนั้น ทางการแพทย์จึงวางแนวทางไว้ว่า เมื่อมีอาการปวดลิ้นปี่ในลักษณะใด หรือถึงเวลาใดควรจะต้องทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม

มาห้องฉุกเฉินได้ยาโรคกระเพาะ...กลับไปตายกลางทาง

คุณลุงสมศักดิ์ อายุ 65 ปี เป็นโรคเบาหวานมา 10 กว่าปี คุมน้ำตาลได้ไม่ดีมาตลอด น้ำหนัก 75 กก. สูบบุหรี่วันละเกือบซอง ไมได้ออกกำลังกาย ตอนหลังยังตรวจพบระดับไขมันในเลือดสูง

ค่ำวันหนึ่งหลังกินอาหารเย็น คุณลุงรู้สึกจุกแน่นลิ้นปี่ ลองกินยาหอมก็ไม่ดีขึ้น เป็นอยู่นานร่วม 2 ชั่วโมง จึงเหมารถไปตรวจที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลประจำอำเภอ หมอตรวจดูเบื้องต้นก็วินิจฉัยว่าเป็นโรคกระเพาะ จ่ายยารักษาโรคกระเพาะให้กลับไปบ้านระหว่างเดินทางกลับ คุณลุงก็เสียชีวิตอย่างกะทันหัน

ที่แท้คุณลุงเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หากตรวจไม่ถี่ถ้วนก็จะคิดว่าเป็นเพียงโรคกระเพาะ ดังนั้น โรงพยาบาลส่วนใหญ่จึงได้วางแนวทางในการรักษาอาการปวดลิ้นปี่/เจ็บหน้าอกไว้ว่า ควรตรวจหาโรคหัวใจในกรณีใดบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น กรณีคุณลุงสมศักดิ์มีปัจจัยเสี่ยงถึง 6 อย่าง ได้แก่ อายุมากกว่า 55 ปี น้ำหนักตัวเกิน โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ และขาดการออกกำลังกาย

โทร.ทางไกลปรึกษาเรื่องโรคกระเพาะ...ลงเอยด้วยการทำบอลลูนหัวใจ

ค่ำวันหนึ่งเมื่อเกือบ 10 ปีมาแล้ว ผมได้รับโทรศัพท์จากคุณสมชัย เพื่อนรุ่นพี่ที่ไปทำงานอยู่ที่พัทยา คุณสมชัย (อายุ 58 ปีในตอนนั้น) รักษาโรคความดันมาเกือบ 20 ปี สูบบุหรี่วันละครึ่งซอง เขาบอกว่า 2-3 วันมานี้รู้สึกมีอาการจุกแน่นตรงลิ้นปี่เป็นบางครั้ง มักเป็นหลังกินอาหารอิ่ม ๆ แต่ละครั้งจะเป็นอยู่นานชั่วครู่เดียว ก็ทุเลาไปเอง ผมถามย้ำว่ามีอาการปวดร้าวขึ้นไปที่คอ หัวไหล่ ขากรรไกรร่วมด้วยหรือไม่ เขาก็ยืนยันว่าไม่มี

เมื่อดูถึงปัจจัยเสี่ยง (อายุเกิน 55 ปี เป็นโรคความดันสูง สูบบุหรี่ รวมทั้งไม่ค่อยได้ออกกำลังและน้ำหนักมากตามที่ผมทราบอยู่แล้ว) แม้อาการโรคหัวใจมีไม่ครบเครื่อง คือ ไม่มีอาการปวดร้าวขึ้นข้างบน (ซึ่งอาจพบในผู้ป่วยบางรายได้) ผมก็ยังไม่วางใจ จึงแนะนำให้เขาไปตรวจหัวใจที่โรงพยาบาล จากการตรวจคลื่นหัวใจและทดสอบด้วยการวิ่งสายพาน ก็พบว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือด และได้ทำบอลลูนหลอดเลือดหัวใจ 2 เส้น พร้อมกับใส่สะเตนต์ (stent-หลอดลวดตาข่ายถ่างอยู่ภายในหลอดเลือด) 2 เส้น ราคาเส้นละ 1 แสนบาท

หลังจากนั้นเพื่อนรุ่นพี่คนนี้ของผมก็เลิกบุหรี่ ออกกำลัง และรักษาตัวอย่างจริงจัง มีสุขภาพแข็งแรงมาจนทุกวันนี้

เมื่อไรควรคิดถึงเหตุอื่นมากกว่าโรคกระเพาะ

ผู้ที่มีอาการปวดยอดอก (ลิ้นปี่) ควรคิดถึงโรคอื่นมากกว่าโรคกระเพาะ เมื่อมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้

มีอาการปวดต่อเนื่องนานเป็นชั่วโมง ๆ หรือเป็นวัน ๆ ไม่ยอมหาย
มีอาการปวดรุนแรง
มีอาการปวดร้าวขึ้นไปที่คอ หัวไหล่ หรือขากรรไกร
รู้สึกใจหวิว ใจสั่น หน้ามืด เป็นลม
อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
น้ำหนักลด
อาเจียนเป็นเลือด หรือ ถ่ายอุจจาระดำ
คลำได้ก้อนในท้อง
มีลักษณะปวดบิดเกร็งเป็นพัก ๆ
กินยารักษากระเพาะไม่ได้ผล หรือได้ผลตอนแรกแต่ตอนหลังไม่ได้ผล

เมื่อไรควรส่องกล้องตรวจกระเพาะ

ทางการแพทย์ได้วางแนวทางไว้ว่า ผู้ที่มีอาการของโรคกระเพาะ (แสบท้องเวลาหิว หรือจุกแน่นท้องเวลาอิ่ม เกือบทุกมื้อ) ควรปรึกษาแพทย์เพื่อส่องกล้องตรวจกระเพาะ เมื่อมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้

อายุมากกว่า 40 ปี (เพราะมีโอกาสเสี่ยงต่อเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร)
กินยารักษาโรคกระเพาะ 1-2 วันแล้วไม่ได้ผลเลย
กินยารักษาโรคกระเพาะ 2 สัปดาห์แล้วยังไม่หายดี ขาดยาเพียง 1-2 มื้อกลับกำเริบอีก
กินยารักษาโรคกระเพาะจนครบ 2 เดือน จนรู้สึกว่าหายดีแล้ว หลังจากหยุดยานานเป็นแรมเดือน หรือแรมปีกลับมามีอาการกำเริบอีก

สาเหตุของอาการปวดยอดอก (ลิ้นปี่)

กลุ่มโรคฉุกเฉินที่ต้องรีบเข้ารักษาโรงพยาบาลที่สำคัญ ได้แก่

1. โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute myocardial infarction) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเค้นหรือจุกแน่นตรงบริเวณยอดอก (ตรงกลางลิ้นปี่) มักมีอาการปวดร้าวขึ้นไปที่คอ หัวไหล่ ขากรรไกร อาการมักรุนแรงหรือปวดอย่างต่อเนื่องไม่หาย (นานเป็นชั่วโมง ๆ หรือเป็นวัน ๆ ) มีอาการอ่อนเปลี้ย หมดแรง ใจหวิว ใจสั่น และอาจมีอาการหน้ามืด เป็นลม หรือหัวใจวายกะทันหัน
2. โรคกระเพาะอาหารทะลุ (peptic perforation) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดจุกแน่นตรงลิ้นปี่ฉับพลัน และเป็นต่อเนื่องไม่หาย (นานเป็นชั่วโมง ๆ หรือเป็นวัน ๆ) มักมีอาการใจหวิว ใจสั่น หน้ามืดเป็นลม หน้าท้องเกร็งแข็ง

กลุ่มโรคไม่ฉุกเฉิน ที่พบบ่อย ได้แก่

1. โรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ (angina pectoris) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเค้นหรือจุกแน่นหน้าอกตรงบริเวณยอดอก (ลิ้นปี่) มักมีอาการปวดร้าวขึ้นไปที่คอ หัวไหล่ ขากรรไกร มักมีอาการเจ็บหน้าอกเพียงครู่เดียว นานไม่เกิน 5 นาที นั่งพักก็จะทุเลาได้เอง
2. โรคแผลกระเพาะอาหาร / ลำไส้เล็กส่วนต้น (peptic ulcer) ผู้ป่วยจะมีอาการแสบลิ้นปี่เวลาหิว จุกแน่นลิ้นปี่หลังกินอาหารนาน ประมาณ 30-60 นาที เวลากินยาลดกรด (ยารักษาโรคกระเพาะ) อาการจะทุเลา มักมีอาการเวลาก่อนหรือหลังเกือบทุกมื้อ
3. โรคกรดไหลย้อน (GERD) ผู้ป่วยจะมีอาการแสบหรือจุกแน่นลิ้นปี่ อาจมีอาการเรอเปรี้ยวขึ้นไปที่ลำคอ แสบหรือจุกแน่นที่ลำคอ มักเป็นหลังกินอาหารหรือเวลาเข้านอน เวลากินยาลดกรด (ยารักษาโรคกระเพาะ) อาการจะทุเลา
4. โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร (cancer of stomach) แรกเริ่มจะมีอาการแบบโรคกระเพาะอาหาร แต่อีกหลายเดือนต่อมาอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักลด อาจมีอาการอาเจียน อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระดำ
5. โรคนิ่วน้ำดี หรือนิ่วในถุงน้ำดี (gallstone) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตรงลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงข้างขวา มีลักษณะปวดบิดเกร็งเป็นพัก ๆ (ปวดในลักษณะคล้ายอาการปวดท้องเดินหรือปวดประจำเดือน) นาน 15-30 นาที หรือนาน 2-6 ชั่วโมง แล้วทุเลาไปได้เอง บางรายอาจมีอาการปวดร้าวขึ้นไปที่ไหล่ขวา หรือใต้สะบักขวา อาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย ผู้ป่วยจะมีอาการกำเริบเป็นบางวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังกินอาหารมัน
6. โรคตับ : ตับอักเสบ (hepatitis) ตับแข็ง (cirrhosis) มะเร็งตับ (cancer of liver/hepatoma) ผู้ป่วยมักมีอาการจุกแน่นตรงลิ้นปี่หรือใต้ชายโครง เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย อาจมีอาการตาเหลืองตัวเหลืองร่วมด้วย ถ้าเป็นมะเร็งตับมักมีอาการน้ำหนักลดฮวบฮาบ และคล้ำได้ก้อนที่ใต้ชายโครงขวา

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

ปัจจัยที่แก้ไขไม่ได้
อายุ : ชายมากกว่า 55 ปี หญิงมากกว่า 65 ปี
พันธุกรรม : มีญาติสายตรงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (ชายอายุน้อยกว่า 55 ปี หญิงอายุน้อยกว่า 65 ปี)

ปัจจัยที่แก้ไขได้
เบาหวาน
ความดันโลหิตสูง
ไขมันในเลือดสูง
ภาวะอ้วน
สูบบุหรี่
ขาดการออกกำลัง

อาการแสดงของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

ปวดเค้นหรือจุกแน่นตรงยอดอก (ตรงกลางลิ้นปี่) และมักปวดร้าวขึ้นไปที่คอ หัวไหล่ ขากรรไกร แต่บางรายอาจไม่มีอาการปวดร้าวแบบนี้ก็ได้

มักมีเหตุกำเริบ ขณะทำกิจกรรมที่ต้องออกแรง (เช่น ยกของหนัก เดินขึ้นบันไดสูงหลายชั้น ออกกำลังหนัก) มีอารมณ์เครียด ขณะสูบบุหรี่ หลังกินอาหารอิ่ม ๆ อาบน้ำเย็น หรือถูกความเย็น

ถ้าเป็นโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ

ผู้ป่วยมักมีอาการเจ็บหน้าอกเพียงครู่เดียว นานไม่เกิน 5 นาที เมื่อนั่งพักก็จะทุเลาได้เอง มักเป็น ๆ หาย ๆ เป็นครั้งคราว ขณะไม่มีอาการกำเริบ ผู้ป่วยจะรู้สึกสบายดี

ถ้าเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรงหรือปวดอย่างต่อเนื่องไม่หาย มีอาการอ่อนเปลี้ย หมดแรงใจหวิวใจสั่น และอาจหน้ามืด เป็นลม หรือหัวใจวายกะทันหันเกิน 5 นาที เป็น ๆ หาย ๆ เมื่อมีเหตุกำเริบ


ยารักษาหรือบรรเทาอาการโรคกระเพาะอาหาร





ที่มา...หมอชาวบ้าน

ปวดยอดอก เจ็บกระเพาะ อาจไม่ใช่โรคกระเพาะ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์