ปวดศีรษะ อาการที่เป็น ๆ หาย ๆ

ปวดศีรษะ อาการที่เป็น ๆ หาย ๆ

ทีมอายุรแพทย์ระบบประสาทวิทยาโรงพยาบาลวิภาวดี

เนื้อเยื่อสมองไม่เคยปวด เพราะเนื้อเยื่อสมองไม่มีตัวรับความเจ็บปวด ฟังดูไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะเมื่อคนเรายังรู้สึกปวด “ศีรษะ” ได้ตลอดเวลา

อาการปวดศีรษะเป็นอาการป่วยที่พบในรายงานแพทย์มากที่สุด น้อยมากที่พบว่าอาการปวดศีรษะส่อเค้าถึงการเป็นโรคร้ายแรงบางอย่าง

อาการปวดศีรษะประมาณร้อยละ 95 เป็นอาการปวดที่ไม่พบโรคอะไรผิดปกติ ลักษณะนี้เรียกว่า อาการปวดศีรษะปฐมภูมิ ซึ่งมีหลากหลายลักษณะแตกต่างกันไป นักวิจัยเองยังไม่แน่ใจว่า การปวดศีรษะเกิดจากอะไร และเรากำลังเฝ้าคอยคำตอบนั้นอยู่ การปวดศีรษะประเภทต่าง ๆ

เราสามารถแบ่งลักษณะอาการปวดศีรษะปฐมภูมิออกได้เป็น 3 ประเภท แต่หลายคนอาจปวดศีรษะหลาย ๆ ประเภทพร้อมกันได้ การปวดศีรษะเหตุจากความเครียด

• พบในผู้ที่มีอาการปวดศีรษะปฐมภูมิทั้งหมด 9 ใน 10 ราย
• พบในผู้หญิง และผู้ชายเท่าๆกัน
• มีอาการค่อย ๆ ปวด ปวดตื้อ ๆ เหมือนถูกกดหรือรัดอยู่ที่คอ หน้าผาก หรือศีรษะ

การปวดศีรษะไมเกรน
• พบในผู้มีอาการปวดปฐมภูมิประมาณร้อยละ 6
• พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายสามเท่า
• อาการมักจะเริ่มปรากฏในวัยรุ่นมากกว่าในคนที่อายุเกิน 40 ปีไปแล้ว
• อาการนำ คือ การมองเห็นที่ผิดปกติ มีอาการปวดแปลบที่ใบหน้าข้างใดข้างหนึ่ง เจ็บแปลบตามร่างกายหรือมีความอยากอาหารบางชนิดอย่างรุนแรง

การปวดศีรษะเฉพาะที่
• มีอาการปวดบริเวณรอบดวงตาข้างใดข้างหนึ่งตลอด มักจะเกิดเป็นช่วง ๆ และเป็นช่วงเวลาเดียวกันเสมอในแต่ละวัน
• ตาแดง น้ำตาไหล และมีอาการคัดจมูกข้างเดียวกัน
• เป็นอาการที่เกิดขึ้น “ตามเวลา” และสัมพันธ์กับอากาศและแสงสว่างที่เปลี่ยนไป
• พบบ่อยในผู้ชาย โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุรี่จัดและดื่มจัด
• แพทย์อาจวินิจฉัยผิดว่า เป็นการติดเชื้อในโพรงอากาศหรือเป็นโรคฟัน

ทฤษฏีปวดศีรษะแนวใหม่
นักวิจัยกำลังมุ่งความสนใจไปที่วิถีของเส้นประสาทไทรเจมินัล และสารเคมีในสมองชื่อ ซีโรโตนิน ที่พวกเขาคิดว่าเป็นสาเหตุของอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง การปวดศีรษะอาจเป็นผลมาจากการเสียสมดุลของสารเคมีในสมอง กล่าวคือ เมื่อปวดศีรษะ ระดับซีโรโตนินในสมองจะลดต่ำลง ทำให้เกิดการกระตุ้นผ่านเส้นประสาทไทรเจมินัลไปยังหลอดเลือดที่เยื่อหุ้มสมองด้านนอก ส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัวจนบวมและอักเสบ เมื่อสมองรับสัญญาณ “เจ็บปวด” ผลก็คือ อาการ “ปวดศีรษะ” นั่นเอง

การดูแลรักษาตนเอง
อาการปวดศีรษะเหตุความเครียดเป็นครั้งคราว อันดับแรก ลองใช้วิธีนวดประคบด้วยความร้อนหรือความเย็น อาบน้ำอุ่นพักผ่อนหรือใช้วิธีผ่อนคลาย ถ้ายังไม่ได้ผล ให้กินแอสไพริน (สำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น) หรืออะเซตามิโนเฟน หรือไอบูโปรเฟน การออกกำลังกายเบาๆปริมาณต่ำ อาจทำให้อาการปวดศีรษะดีขึ้น

ประคบด้วยความร้อนหรือความเย็น
อาการปวดศีรษะซ้ำซาก


บันทึกการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน โดยระบุรายละเอียดต่างๆ ดังนี้
∙ ความรุนแรง ปวดแบบทำอะไรไม่ได้เลย หรือแค่น่ารำคาญ
∙ ความถี่และระยะเวลาที่ปวด เริ่มปวดศีรษะเมื่อไร ปวดแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือปวดทันที ปวดเวลาเดียวกันทุกวัน ปวดทุกเดือนหรือเฉพาะบางฤดูเป็นอยู่นานเท่าไร และต้องทำอย่างไรถึงจะหาย
∙อาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มีอาการเตือนหรือไม่ คลื่นไส้หรือเวียนศีรษะหรือเปล่า มองเห็นภาพเป็นสีวูบวาบหรือเป็นจุดดำ หรืออยากอาหารบางอย่างก่อนปวดศีรษะหรือไม่
∙ ตำแหน่งที่ปวด ปวดศีรษะข้างเดียว ปวดที่กล้ามเนื้อคอหรือปวดรอบๆดวงตา
∙ประวัติครอบครัว สมาชิกคนอื่นปวดเหมือนๆ กันหรือเปล่า
∙สิ่งกระตุ้นเร้า ปวดศีรษะเพราะกินอาหารบางชนิด หรือทำกิจกรรมบางอย่างหรือไม่ สภาพภูมิอากาศ เวลา หรือสภาพแวดล้อมต่างๆมีผลอย่างไรหรือไม่ หามีควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นเร้าให้มากที่สุด และอาจต้องปรับวิถีการใช้ชีวิตบางอย่าง

นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและออกกำลังกายพอสมควร

    
อาการปวดศีรษะไมเกรนโดยเฉพาะ
คนที่ปวดศีรษะไมเกรน ถ้ารีบรักษาจะหายเร็ว กินยาแก้ปวด เช่น อะเซตามิโนฟน ไอบูโปรแฟน หรือแอสไพริน (สำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น) ตามขนาดที่แพทย์แนะนำ บางคนอาจบำบัดด้วยการนอนในห้องมืด หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน (กาแฟหรือโคล่า) พบแพทย์

     ถ้าใช้วิธีดูแลรักษาตนเอง 1-2 วัน แล้วอาการปวดยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ แพทย์จะตรวจวินิจฉัยได้ว่า เป็นอาการปวดศีรษะชนิดใด มีสาเหตุจากอะไร และจะพยายามตัดต้นเหตุที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป ผู้ป่วยอาจต้องตรวจร่างกายเพิ่มเติม แพทย์จะสั่งยาแก้ปวดขนาดใดขนาดหนึ่ง ให้ เพื่อระงับอาการปวดชนิดที่แพทย์วินิจฉัยได้ ซึ่งยาระงับอาการปวดแต่ละชนิดจะมีสรรพคุณระงับอาการปวดศีรษะบางอย่างโดยเฉพาะ ซึ่งไม่เหมือนกัน สำหรับผู้ที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนขั้นรุนแรง แพทย์อาจสั่งซูมาทริปแทนหรือยาตัวอื่นๆ ให้ผู้ป่วยซูมาทริปแทนจะทำหน้าที่เหมือนซีโรโตนิน สารเคมีในสมองชนิดหนึ่งถ้าเป็นไมเกรนบ่อยๆ แพทย์อาจจ่ายยาป้องกันให้กินทุกวัน

ข้อควรระวัง
อย่ามองข้ามอาการปวดศีรษะที่หาสาเหตุไม่ได้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีถ้าหากอาการปวดศีรษะ
• เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในทันที
• เกิดพร้อมอาการไข้ คอแข็ง เป็นผื่น สับสน ชัก เห็นภาพซ้อน อ่อนเพลีย ชา หรือพูดลำบาก
• เกิดจากการเจ็บคอหรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ
• รุนแรงขึ้นหลังจากได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะหกล้ม หรือถูกกระแทก
• ไม่เคยเป็นมาก่อน และผู้ป่วยอายุมากกว่า 55 ปี

ไม่อยากปวดศีรษะ
การกิน การดื่ม หรือการทำกิจกรรมบางอย่าง มีส่วนทำให้คุณปวดศีรษะหรือเปล่า คนที่ไม่อยากปวดศีรษะควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นเร้าเหล่านี้ ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละคน ที่พบบ่อยคือ
• แอลกอฮอล์ ไวน์แดง
• การสูบบุหรี่
• ความเครียด หรืออาการอ่อนเพลีย
• สายตาล้า
• การมีกิจกรรมทางเพศ หรือการออกกำลังกายต่างๆ
• การวางท่าทางของร่างกายที่ไม่ถูกต้อง
• เปลี่ยนเวลานอน หรือเปลี่ยนเวลาอาหาร
• อาหารบางชนิด เช่น
           อาหารหมักดอง
           กล้วย
           กาเฟอีน
           เนยแข็งที่ทิ้งไว้นาน
           ช็อกโกแลต
           ผลไม้ประเภทส้มและมะนาว
           สารปรุงแต่งอาหาร (โซเดียมไนไตรตในฮ็อตด็อก ไส้กรอก เนื้อวัว ผลชูรสในอาหารสำเร็จรูป )และเครื่องปรุงรสอื่นๆ
           ถั่วและเนยถั่ว
           พิซซ่า
           ลูกเกด
           ขนมปังที่ใส่เชื้อหมักให้ฟู
• สภาพภูมิอากาศ ระดับความสูงของภูมิประทศ หรือการเดินทางข้ามเขตเวลาที่ต่างกันมากๆ
• การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในรอบประจำเดือน หรือการหมดประจำเดือน การกินยาเม็ดคุมกำเนิด หรือการบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทน
• แสงจ้าหรือแสงกะพริบ
• กลิ่นจากน้ำหอม ดอกไม้ หรือน้ำมันรถ
• มลภาวะในอากาศ หรือห้องที่อยู่กันอย่างแออัด
• เสียงที่ดังมากเกินไป

การดูแลเด็ก เด็กโตและผู้ใหญ่มักปวดศีรษะซ้ำซาก แต่น้อยมากที่จะส่งเค้าถึงโรคร้ายแรงบางอย่าง การปวดศีรษะอาจสัมพันธ์กับโรคติดเชื้อไวรัสหลายชนิด แต่ถ้าเด็กปวดศีรษะบ่อยๆทั้งที่สุขภาพปกติ ควรปรึกษาแพทย์

เด็กบางคนอาจปวดศีรษะไมเกรนหรือมีแนวโน้มปวดศีรษะไมเกรน ถ้าคนในครอบครัวมีประวัติเป็นมาก่อน อาการคือ เด็กมักจะอาเจียน ตาสู้แสงไม่ได้และอยากนอนตลอดเวลา แต่จะดีขึ้นเองภายใน 2-3 ชั่วโมง เด็กอาจจะปวดศีรษะเพราะความเครียดที่โรงเรียน มีปัญหากับเพื่อนหรือครอบครัว หรือเป็นผลจากการใช้ยาบางชนิด โดยเฉพาะยาแก้คัดจมูก

ถ้าคิดว่าเป็นการปวดศีรษะเหตุความเครียด ให้ลองวิธีบำบัดโดยไม่ใช้ยา แต่ถ้าเป็นบ่อยๆคุณต้องช่วยเด็กบันทึกอาการปวดศีรษะเป็นประจำทุกวัน อาจต้องให้กินอะเซตามิโนเฟน หรือไอบูโปรเฟนบ้าง แต่ไม่ควรใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน เพราะยาอาจปกปิดสาเหตุอาการของโรคที่แท้จริง

ถ้าเด็กปวดศีรษะอยู่นานไม่ยอมหาย หรือปวดทันทีทันใดโดยไม่มีเหตุสมควรหรือปวดมากขึ้นเรื่อยๆควรปรึกษาแพทย์ รวมถึงกรณีปวดศีรษะเพราะหูติดเชื้อ ปวดฟัน เจ็บคอจากการติดเชื้อ

สเตปโตคอคคัสหรือเชื้ออื่นๆ ด้วย และที่สำคัญควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย ถ้าบุคคลในครอบครัวเคยมีประวัติปวดศีรษะไมเกรนมาก่อน เพื่อให้ตรวจวินิจฉัยง่ายขึ้น

กาแฟกับเรื่องปวดศีรษะ
ฤทธิ์กาแฟทำให้หลายคนปวดศีรษะในตอนเช้าจริง โดยเฉพาะคนที่ดื่มกาแฟมากกว่า 4 ถ้วย ต่อวันเป็นประจำ และถ้าหยุดไปหนึ่งวันจะมีอาการถอน (คือปวดศีรษะ) ทันที การปวดศีรษะบางอย่างจะทุเลาลงได้ถ้าดื่มกาแฟ เพราะฤทธิ์ของกาแฟจะทำให้หลอดเลือดที่ขยายตัวอยู่หดลงชั่วคราวเพราะฉะนั้นสำหรับผู้ใหญ่ ถ้ากินแอสไพรินหรืออะเซตามิโนเฟนแล้วยังไม่หายปวดศีรษะให้ลองกินยาที่มีส่วนผสมของกาแฟอีนแทน แต่ไม่ควรมากเกินไป การได้รับกาแฟอีนมากๆ จะทำให้กระวนกระวาย หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออก และแน่นอนจะกลับมาปวดศีรษะอีก เพราะอาการ “ถอน”นั่นเอง

ขอขอบคุณที่มา : pooyingnaka.

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์