ปัจจัยก่อ โรคอ้วน

ปัจจัยก่อ โรคอ้วน



โรคอ้วน (
Obesity)หมายถึง ความผิดปกติจากการมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน เนื่องจากร่างกายมีภาวะไขมันสะสมตามอวัยวะส่วนต่างๆ มากเกินกว่าปกติ

โรคอ้วนแบ่งได้เป็น 3 ชนิด คือ
1. อ้วนแบบลูกแอปเปิ้ล (appl- obesity) หรืออ้วนลงพุง (central obesity) คือคนอ้วนที่มีรอบเอวใหญ่กว่ารอบสะโพก เกิดจากมีไขมันสะสมมากในช่องท้องและอวัยวะภายในไขมันที่อยู่ในอวัยวะภายในนี้จะเป็นตัวการที่ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคความดันโลหิตสูง

2. อ้วนแบบลูกแพร์ (pear-shape obesity) หรืออ้วนชนิดสะโพกใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นลักษณะที่พบในเพศหญิง โดยจะมีไขมันสะสมอยู่มากบริเวณสะโพกและน่อง อ้วนลักษณะนี้ยากต่อการลดน้ำหนักแต่โอกาสที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ จะน้อยกว่าชนิดแรก

3. อ้วนทั้งตัว (generalized obesity) ได้แก่ คนอ้วนที่มีไขมันทั้งตัวมากกว่าปกติกระจายตัวอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายโดยรอบ มีทั้งลงพุงและสะโพกใหญ่ รวมถึงมีโรคแทรกซ้อนทุกอย่างดังกล่าว และโรคที่เกิดจากน้ำหนักตัวมากโดยตรง เช่น โรคทางไขข้อ ปวดข้อ ข้อเสื่อม ปวดหลัง เหนื่อยง่าย หายใจลำบากเพราะไขมันสะสม ทำให้ระบบหายใจทำงานติดขัด

สาเหตุสำคัญของโรคอ้วน
เกิดจากการที่คนเราใช้พลังงานน้อยกว่าที่ได้รับจากการรับประทานอาหาร พลังงานที่ได้จึงมากเกินความต้องการในแต่ละวัน ทำให้ร่างกายเก็บสะสมพลังงานส่วนเกินไว้ในรูปไขมันตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดความอ้วน ดังนี้
1. กรรมพันธุ์ ถ้าพ่อและแม่อ้วนทั้งคู่ ลูกจะมีโอกาสอ้วนถึงร้อยละ 80 แต่ถ้าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งอ้วน ลูกจะมีโอกาสอ้วนร้อยละ 40

2. นิสัยจากการรับประทานอาหาร คนที่มีนิสัยการรับประทานอาหารไม่ดี หรือที่เรียกกันว่ากินจุบจิบ ไม่เป็นเวลา ก็ทำให้อ้วนขึ้นได้

3. การไม่ออกกำลังกาย 
ถ้ารับประทานอาหารมากเกินพอดี แต่ออกกำลังกายบ้าง ก็อาจทำให้ยืดเวลาความอ้วน แต่ถ้ารับประทานอาหารที่มากเกินพอดีแล้วนั่งๆ นอนๆ โดยไร้ซึ่งการยืดเส้นยืดสายในไม่ช้าก็จะเกิดการสะสมไขมันในร่างกาย

4. อารมณ์และจิตใจ 
มีบางคนที่รับประทานอาหารตามอารมณ์และจิตใจ เช่น กินเพื่อดับความโกรธแค้น กลุ้มใจ กังวลใจ คนเหล่านี้จะรู้สึกว่าอาหารทำให้ใจสงบ จึงยึดอาหารไว้เป็นสิ่งสร้างความสบายใจ แต่ในทางกลับกัน คนที่รู้สึกเสียใจ กลุ้มใจ กินอาหารไม่ได้ ถ้าในระยะเวลานานๆ ก็มีผลทำให้เกิดการขาดอาหารได้

5. ความไม่สมดุลกับความรู้สึกอิ่ม ความหิว ความอยากอาหาร เมื่อใดที่ความอยากกินเพิ่มขึ้น การบริโภคก็จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจถึงขั้นกินจุ และในที่สุดก็จะทำให้เกิดความอ้วน

6. เพศ ผู้หญิงอ้วนได้ง่ายกว่าผู้ชาย เพราะโดยธรรมชาติมักสรรหาอาหารมากินได้ตลอดเวลา อีกทั้งผู้หญิงจะต้องตั้งครรภ์ ทำให้น้ำหนักตัวมากขึ้น เพราะต้องกินอาหารมากขึ้นเพื่อบำรุงร่างกายและทารกในครรภ์ และหลังคลอดบุตรแล้วก็ไม่สามารถลดน้ำหนักลงให้เท่ากับเมื่อก่อนตั้งครรภ์ได้

7. อายุ เมื่ออายุมากขึ้น โอกาสที่จะอ้วนก็เพิ่มขึ้นทั้งผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งอาจเกิดจากการใช้พลังงานน้อยลง

8. กระบวนการทางเคมีที่เกิดกับร่างกาย

9. ยา 
ผู้ป่วยบางโรคจะได้รับสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ทำให้อ้วนได้ และในผู้หญิงที่ฉีดยาหรือใช้ยาคุมกำเนิดก็ทำให้อ้วนได้เหมือนกัน

วิธีการลดความอ้วนที่ดีที่สุดคือ การควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม เพียงเท่านี้สุขภาพดีก็ไม่หายไปไหน


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์