ปัญหาการนอนของคนยุคใหม่


จากการคำนวณพบว่า มนุษย์ส่วนใหญ่ใช้เวลาไปกับการนอนหลับกว่า 1 ใน 3 ของชีวิต นั่นแปลว่า ถ้าเรามีอายุ 60 ปี เราได้เสียเวลาไปกับการนอนแล้วมากกว่า 20 ปี ดังนั้น การนอนที่มีคุณภาพจึงเท่ากับเป็นการใช้เวลาช่วงหนึ่งของชีวิตที่คุ้มค่า ทว่าคนจำนวนไม่น้อยกลับมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนจนส่งผลเสียต่อสุขภาพ

ฉะนั้น การใช้ชีวิตและการทำความเข้าใจธรรมชาติของการนอนจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้กิจวัตรที่แสนธรรมดากลายร่างเป็นปัญหาใหญ่ในชีวิต โดยเฉพาะในคนยุคใหม่ที่อยู่ในวิถีชีวิตที่เร่งรีบ แข่งกับเวลา และไม่เข้าใจว่าทำไมวันๆ หนึ่งต้องนอนมากถึง 6 - 8 ชั่วโมง

การนอน เรื่องสำคัญของคนทุกวัย

อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูชีวจิต กล่าวถึงความสำคัญของการนอนไว้ในหนังสือชีวจิต : การใช้ชีวิตอย่างเข้าใจธรรมชาติ ว่า การนอนมีความสำคัญต่อมนุษย์มาก ไม่เช่นนั้นร่างกายจะทำงานตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่มีการหยุดพัก การนอนหลับเป็นการผ่อนคลายสมองอย่างแท้จริง นอกจากนี้ การนอนยังช่วยฟื้นฟูและซ่อมแซมอวัยวะทุกระบบ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้และจดจำ เพราะขณะหลับ สมองจะเรียบเรียงข้อมูลที่ได้รับในช่วงกลางวันไปประมวลเป็นความจำระยะยาว

 ยานอนหลับ ตัวช่วยการนอนแสนอันตราย

การนอนไม่หลับเป็นปัญหาจนบางครั้งต้องไปหาหมอหรือพึ่งพายานอนหลับ โดยไม่ทราบว่าการกินยานอนหลับจะส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างไรบ้าง ทั้งๆ ที่ยานอนหลับไม่ได้รักษาอาการนอนไม่หลับ เพียงแค่ทำให้อาการทุเลาเท่านั้น การใช้ยานอนหลับบางชนิดเป็นเวลานานหรือในผู้สูงอายุที่ร่างกายไม่แข็งแรงอาจทำให้มียาสะสมในร่างกาย เป็นสาเหตุของอาการง่วงนอนหรือมึนงงหลังตื่นนอน หากใช้ยานอนหลับต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจเกิดผลเสียต่อร่างกาย เช่น การดื้อยา ติดยา และความจำเสื่อม ผู้ที่กินยานอนหลับจึงต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ ยานอนหลับบางชนิดยังออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางส่งผลให้ศูนย์ควบคุมการหายใจถูกกดไปด้วย ผู้ป่วยโรคปอดและผู้ที่นอนกรนจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานอนหลับประเภทนี้ เพราะอาจทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจได้

 นอนสะดุดเมื่อตื่นกลางดึก

สิ่งที่หลายคนกลัวมากกว่าการข่มตาให้หลับคือ การตื่นขึ้นกลางดึกแล้วไม่สามารถนอนหลับต่อได้ ปัญหาการนอนไม่หลับหลังตื่นกลางดึกนี้เป็นหนึ่งในภาวะการนอนไม่หลับ ซึ่งเป็นการตื่นนอนก่อนเวลาที่ต้องการ และทำให้ร่างกายอ่อนเพลียในวันรุ่งขึ้น

แล้วทำอย่างไรไม่ให้ตื่นกลางดึก มีหลายวิธี อาทิ ผ่อนคลายความเครียดก่อนเข้านอน เข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลาใกล้เคียงกันทุกวัน หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้หลับยาก เช่น ดื่มชา กาแฟ หรือเล่นกีฬาก่อนเข้านอน 3 - 4 ชั่วโมง ควรจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการนอน คือ เป็นที่ที่มีอากาศถ่ายเท ไม่มีเสียงรบกวน และมีความมืดมากพอ สิ่งสำคัญ คือ ไม่วิตกถึงอาการนอนไม่หลับ เพราะยิ่งเป็นการตอกย้ำจิตใต้สำนึก และเกิดความกลัวว่าจะนอนไม่หลับไปก่อน

 นอนหลับโดยไม่รู้ตัวอันตรายไหม

ขณะที่หลายคนค้นหาวิธีทำให้นอนหลับ คนอีกกลุ่มกลับประสบปัญหานอนหลับโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ต้องรีบทำงานส่งให้ทัน จึงทำงานที่ออฟฟิศจนดึกและเผลอหลับที่โต๊ะทำงาน มารู้สึกตัวอีกทีก็ตอนเช้าแล้ว อาการอย่างนื้ทางการแพทย์เรียกว่า ‘การหลับใน’ เป็นการนอนหลับโดยไม่รู้ตัวขณะทำกิจกรรมต่างๆ พบได้บ่อยในคนรุ่นใหม่ และเป็นสัญญาณเตือนว่าร่างกายอยู่ในสภาวะไม่ปกติ

สาเหตุของการหลับในเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น กินยานอนหลับ ยาแก้ภูมิแพ้ ดื่มแอลกอฮอล์ ร่างกายเหนื่อยล้า ความเครียด ยังทำกิจกรรมอยู่ในช่วงเวลาที่ต้องนอน คือ 24.00 น. - 7.00 น. และช่วงบ่ายหลังอาหาร

นอกจากนี้อาจเกิดจากการอดนอนเป็นเวลานานหรือนอนไม่พอ คือ นอนน้อยกว่าสองชั่วโมงในวันก่อนหน้า ทำให้เกิดหนี้การนอน (Sleep Debt) ซึ่งร่างกายจะมีการทวงหนี้เป็นพักๆ เริ่มจากทำให้สมรรถภาพสมองต่ำลงและทำงานช้าลง วูบหลับช่วงสั้นๆ และหลับในในที่สุด ซึ่งการจัดสรรเวลาทำงานและพักผ่อนให้สมดุล คือหนทางป้องกันการหลับโดยไม่รู้ตัวและอันตรายจากการหลับในค่ะ

 นอนกลางวันดีไหม

ง่วงนอนตอนบ่ายเป็นประจำจนต้องงีบระหว่างวันไม่ทราบว่ามีผลเสียต่อร่างกายไหม?

ปกติการนอนหลับช่วงกลางวันหรืองีบสั้น ๆ ไม่เกินครึ่งชั่วโมงในคนที่ไม่มีปัญหาการนอน จะช่วยให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า แต่หากนอนเกินหนึ่งชั่วโมงจะทำให้เกิดความเฉื่อย และส่งผลต่อระบบสมดุลการนอนหลับ ทำให้นอนไม่หลับในตอนกลางคืน
ซึ่งหากไม่อยากง่วงเหงาหาวนอนระหว่างวัน ต้องนอนหลับตอนกลางคืนให้เพียงพอ และไม่กินอาหารรสหวาน รับรองได้ผลชะงัดค่ะ

 เปิดไฟนอน เสี่ยงหลับยาก

หลายคนเผลอหลับโดยเปิดไฟทิ้งไว้ รู้ไหมว่ายิ่งกระตุ้นให้นอนหลับยากขึ้น เพราะหนึ่งในปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อวงจรการนอนหลับที่มีการกล่าวถึงมากที่สุด คือ แสงสว่าง ข้อมูลจาก National Sleep Foundation สหรัฐอเมริกา ระบุว่าแสงสว่างทำให้คนเราตื่นตัวและกระปรี้กระเปร่าระหว่างวัน แต่จะรบกวนการหลับในเวลากลางคืน

ดังนั้นเพื่อให้หลับง่ายขึ้น จึงควรจัดห้องนอนให้มีความมืดเพียงพอ โดยปิดไฟ หรือดึงผ้าม่านลง เนื่องจากความมืดช่วยปรับสภาพแวดล้อมตามวงจรการนอนหลับ จึงเอื้อให้หลับง่ายและสบายขึ้น นอกจากนี้ หากจำเป็นต้องเข้าห้องน้ำกลางดึก ควรเปิดไฟที่ให้แสงสว่างไม่จ้าจนเกินไป เพราะแสงสว่างจะกระตุ้นให้ตื่นนอนอีกครั้ง การปิดไฟไม่เพียงแต่ดีต่อการนอนเท่านั้น ยังช่วยลดโลกร้อนได้ด้วยนะคะ


 หลับคาหูฟัง ระวังหูพัง
แม้เสียงเพลงจะเป็นหนึ่งตัวช่วยสำคัญสำหรับคนนอนยาก หลายคนจึงนิยมเปิดเพลงฟังก่อนนอน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่นิยมเปิดเพลงโดยใส่หูฟังคาไว้ที่หูจนหลับไป ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียตามมา

การฟังเพลงก่อนนอนโดยใส่หูฟังทิ้งไว้ทั้งคืน ทำให้สมองได้รับการกระตุ้นจากเสียงที่ดังอยู่ตลอดเวลา สมองจึงไม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ส่งผลให้คุณภาพการนอนแย่ลง เมื่อตื่นขึ้นมาก็จะรู้สึกหงุดหงิดและไม่มีสมาธิ ในบางคนพบว่ามีอาการก้าวร้าวหลังตื่นนอนร่วมด้วย นอกจากนี้ยังทำให้เซลล์ประสาทหูเสื่อมอีกด้วย เพื่อสร้างบรรยากาศการนอนที่เหมาะสม ควรเปิดเพลงจากเครื่องเล่นวิทยุด้วยความดังที่พอดี เพื่อค่ำคืนที่แสนสุขค่ะ


 อย่ามองข้ามอาการปวดศีรษะหลังตื่นนอน
อาการปวดศีรษะหลังตื่นนอนถือเป็นอาการยอดฮิตของคนรุ่นใหม่ ซึ่งมาจากสาเหตุหลายประการ เช่น เกิดจากพฤติกรรมที่ผิดปกติระหว่างการนอน เช่นนอนกรน นอนกัดฟัน นอนผิดท่า หรือความสูงของหมอนไม่รับกับสรีระบริเวณต้นคอการดื่มสุราก่อนนอน การถูกพัดลมหรือแอร์เป่าหน้าขณะนอน ทำให้โพรงจมูกแห้งและอักเสบ หรืออาจเกิดจากปัญหาสุขภาพส่วนตัว เช่น มีภาวะความดันโลหิตต่ำ หากมีอาการปวดหัวหลังตื่นนอนบ่อยและเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและวิธีรักษาที่ถูกต้อง

แม้การนอนจะเป็นเรื่องปกติเหมือนที่เราต้องหายใจตลอดเวลา แต่แค่หมั่นตรวจสอบอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เพื่อป้องกันปัญหาลุกลามเกินแก้ และสร้างสุขภาพการนอนที่ดีได้ค่ะ เมื่อได้นอนพักอย่างมีคุณภาพ ก็ทำให้เราสดชื่นและตื่นมาอย่างแจ่มใสในทุก ๆ เช้าค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก ธนาคารกสิกรไทย



ปัญหาการนอนของคนยุคใหม่

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์