ปาย ดินแดนสวรรค์ ในฝันของใคร?

ปาย ดินแดนสวรรค์ ในฝันของใคร?



เอ่ยถึงอำเภอ "ปาย" จังหวัดแม่ฮ่องสอน ณ เวลานี้คงไม่ต้องสาธยายความใดๆให้มาก เพราะเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ เป็นเมืองเล็กๆที่ตั้งอยู่ในแอ่งกระทะ เป็นสถานที่ในฝันอันเงียบสงบแสนโรแมนติกของใครหลายๆคน ที่อยากสัมผัสเข้าถึงความเป็นปาย
       
       ทว่าในความเป็นจริง ปาย ทุกวันนี้จะยังเหลือความงดงามชวนฝันอีกสักเท่าไหร่กัน จากเมืองเล็กๆซ่อนตัวในขุนเขา ปายกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของภาคเหนือ
       
       แน่นอนว่าเม็ดเงินที่ฟูฟ่องย่อมทำให้ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวพอใจ ทำให้ความเจริญทางวัตถุจากการท่องเที่ยวถาโถมเข้ามาอย่างรวดเร็ว ปายจึงเต็มไปด้วยโรงแรม เกตเฮาส์ และคนแปลกหน้าจากต่างถิ่น ที่เดินทางเข้ามาปายมากขึ้นทุกที จนบดบังวิถีของคนปายเสียสิ้น
       
       สำหรับเจ้าของแผ่นดินเดิมอย่างคนปายแท้ๆ ที่เกิดและโตบนผืนแผ่นดินแห่งนี้ พวกเขามีความคิดเห็นต่อปายยุคใหม่อย่างไร นี่เป็นส่วนหนึ่งของความเห็นจากคนปายแท้ๆที่มองเมืองปายด้วยสายตาเป็นห่วงต่อบ้านเมืองของพวกเขา


ปาย ดินแดนสวรรค์ ในฝันของใคร?



 อดีตที่ค่อยๆเลือนหาย
       
       หากอยากจะฟังเรื่องของปายก็ต้องถามจากคนปาย อ.เกรียงศักดิ์ คำหอม เป็นหนึ่งในคนปายโดยกำเนิด ปัจจุบันเขาทำงานในตำแหน่งของ คณะกรรมการเสริมสร้างศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชน อ.เกรียงศักดิ์เล่าถึงปายก่อนกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างในปัจจุบันให้ฟังว่า
       
       แต่เดิมคนปายอยู่กันอย่างเงียบสงบมาก ตื่นเช้าจับ จอม เสียม ไปทำไร่ ไถนา ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง เกื้อกูลกันแก่กัน คนที่อยู่ในปายมีด้วยกัน 7 ชนเผ่า เช้ามาที่ตลาดในตัวเมืองปาย เราจะเห็นชนเผ่าต่างๆใส่ชุดประจำเผ่านำข้าวของมาขาย เป็นภาพที่งดงามเย็นตา เห็นวัฒนธรรมประเพณีสะท้อนออกมาจากการแต่งกาย การพูดจา
       
       เช่นเดียวกับอีกหนึ่งความคิดของคนที่มีถิ่นเกิดและอยู่ปายมาแต่กำเนิด อย่าง เสงี่ยม วงค์หล้า ผู้ใหญ่บ้านน้ำฮู ที่มีความเห็นสอดคล้อดกับ อ.เกรียงศักดิ์ ว่า ปายในอดีตเคยงดงามสงบอย่างไร
       
       "ปายก่อนจะเจริญแบบนี้ เราเคยอยู่กันอย่างพอมีพอกินไม่ต้องดิ้นรนต่อสู้ ธรรมชาติงดงามไม่มีมลภาวะเป็นพิษชาวบ้านมีน้ำใจ ชุมชนของผมเป็นชาวไทใหญ่ก็นุ่งผ้าถุงไทใหญ่ ใส่เสื้อผ้าไทใหญ่ มีการทำนาลงแขกเกี่ยวข้าวก็ช่วยกัน คนปายใจเย็นไม่ต่างจากแม่น้ำปายเลย"ผู้ใหญ่เสงี่ยมเล่าถึงปายในอดีต


ปาย ดินแดนสวรรค์ ในฝันของใคร?


  
เมื่อปายแปรแปลี่ยน
       
       ในฐานะคนเกิดเมืองปาย อย่างบุญหล่อ อริยะวัตน์ ผู้นำชาวจีนยูนนานแห่งหมู่บ้านสันติชนลูกหลานของชาวกองพล 93 (ทหารจีนคณะชาติ) ที่ถอยร่นการสู้รบวางปืนและเลือกสร้างถิ่นฐานที่หมู่บ้านสันติชนในปาย เล่าว่า เขาเกิดที่นี่หมู่บ้านของเขาตั้งอยู่ห่างจาก เมืองปาย 4 กิโลเมตร ชื่นชอบปายมากดีใจที่มีโอกาสเกิดเป็นคนปาย
       
       ที่หมูบ้านสันติชนของเขาไม่ค่อยปัญหาใหญ่อะไรนัก เพราะนักท่องเที่ยวยังควบคุมได้และมีกฎของหมู่บ้านที่เชื่อมั่นว่าเข้มแข็งพอ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือในเขตเทศบาลเมืองมากกว่า ไปทีไรใจหายทุกครั้ง ความวุ่นวายมีมากการคมนาคมไม่สะดวก รถราเยอะ น้ำใจจากชาวบ้านเริ่มหายไป มีความเห็นแก่ตัวเข้ามาแทนที่
       
       "เมื่อก่อนที่ปายไม่เคยมีขโมยโจรผู้ร้าย จอดรถทิ้งไว้ยังไงก็ไม่หาย แต่มาวันนี้ไม่แน่"ผู้นำบุญหล่อกล่าว
       
       เดี๋ยวนี้จึงไม่แปลกเมื่อเขาพบว่า คนปายดั้งเดิมที่ส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ที่อยู่ในตัวเมือง มักจะหนีความวุ่นวายขายบ้านออกมาอยู่สวนนอกเมืองกันหมด บ้านที่ขายคนซื้อก็คือนายทุนคนต่างถิ่น ที่นิยมเอาไปแปลงเป็นเกตเฮาส์ ที่ตอนนี้มีมากกว่า 400 แห่ง ในอำเภอเล็กๆโอบล้อมด้วยหุบเขาที่กว้างใหญ่ เจอแบบนี้เข้าไปจะอยู่ได้อย่างไรกัน
       
       สิ่งที่ผู้นำบุญหล่อเห็น คล้อยคลึงกับสิ่งผู้ใหญ่เสงี่ยมเห็นเช่นกัน ผู้ใหญ่เสงี่ยมบอกกล่าวถึงการรุดคืบของคนต่างถิ่นที่เข้ามาอาศัยในปายว่า มีชุมชนแห่งหนึ่งในเขตเทศบาลเมืองปาย ที่ตอนนี้คนในชุมชนจริงๆไม่มีแล้ว มีแต่คนต่างถิ่นเข้ามาอยู่ เป็นเพราะคนเฒ่าคนแก่ที่เขาเคยทำมาหากินอยู่อย่างสงบทนต่อไปไม่ไหว ต้องละทิ้งถิ่นฐานที่ ปู่ ย่าสร้างมามาแผ้วทางที่ใหม่ ด้านธรรมชาติก็ถูกคุกคาม ที่ทิ้งขยะก็ไม่มี สุดท้ายก็ต้องทิ้งใกล้ชุมชน ใกล้สนามบินเป็นปัญหาตามมาอีก
       
       ซึ่งทาง อ.เกรียงศักดิ์เองก็ได้เฝ้ามองความเปลี่ยนไปของปายไม่ต่างจากอีก 2 ท่าน อ.เกรียงศักดิ์เล่าว่า ตนเริ่มเห็นนักท่องเที่ยวเข้ามาในปายครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2534 ในปีเดียวกันเริ่มมีการสร้างเกตเฮาส์ขึ้น 2 แห่ง แต่ดูเหมือนคนปายยังไม่ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่
       
       "คงไม่มีคนปายคนไหนคิดกันหรอกว่า จะมองเห็นภาพปายเป็นดังทุกวันนี้"อ.เกรียงศักดิ์กล่าว

ปาย ดินแดนสวรรค์ ในฝันของใคร?


  
อ.เกรียงศักดิ์เล่าต่อไป ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับปายแผ่นดินเกิดของเขาว่า เมื่อความเจริญเริ่มเข้ามาแรกๆชาวบ้านก็เห็นดีเห็นงามด้วย เพราะในเชิงบวกทางเศรษฐกิจชาวบ้านมีอาชีพเสริม แต่พอนานไปคนมามากขึ้นก็เริ่มรู้สึกกันว่าค่าครองชีพสูงขึ้น
       
       การไหลบ่าของสิ่งต่างๆไม่ว่าจะเป็นโรงแรม เกตเฮาส์ เริ่มผุดขึ้น จนในที่สุดสิ่งดีๆที่เคยเป็นปายกลับเสื่อมสลายถูกแทนที่ด้วยสิ่งเร้าใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น ล่าสุดอย่าง "เร็กเก้" ดนตรีที่ไม่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่นายทุนนำเข้ามา
       
       "ดนตรีเร็กเก้ในตอนนี้ผมคิดว่าเป็นจุดเปราะบางที่ต้องเร่งแก้ไขของปาย นายทุนที่นำเข้ามาเคยถามกันสักคนคำไหมว่าคนปายต้องการหรือเปล่า มาดีดกีตาร์ตามถนนคนเดินบ้าง มาดิ้นตามถนนบ้าง มองแล้วมันทุเรศตา ปายวันนี้จึงเหมือนกับต้นไม้โดนปุ๋ยเร่งแล้วจะหยุดชะงัก จนในที่สุดปายจะสูญเสียรูปแบบวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ดั้งเดิมจนหมดสิ้น"อ.เกรียงศักดิ์กล่าว
       
       "วิถีชีวิตที่ตื่นแต่เช้านอนแต่หัวค่ำก็ไม่มีแล้ว ต้องนอนดึกดื่น เนื่องจากอารยะธรรมตะวันตกอย่างฝรั่งเข้ามาเราต้องการพักผ่อนเขาเที่ยว พอถึงตอนที่เราทำงานเขาพักผ่อน ความขัดแย้งเกิดขึ้นเมื่อเราต้องการพักผ่อนเขาก็สร้างสิ่งที่อึกทึกคึกโครมน่ารำคาญเกิดขึ้น แต่พอถึงเวลากลางวันเขาจะนอนเราทำงาน เขาก็บ่นว่าเรารบกวนเขา เขาไม่ได้พักผ่อน ทั้งที่เราเป็นคนพื้นที่บ้านเราแท้ๆยังต้องยอมเขาขนาดนี้"

ปาย ดินแดนสวรรค์ ในฝันของใคร?



   "ที่กระแสเหล่านี้ไหลเข้ามาในปายง่ายๆ เพราะคนไทยระยำบางกลุ่มเห็นแก่เงิน อย่างประเพณีเดือนสิบสองเราลอยกระทง เพราะเป็นประเพณีเราถึงทำเราจุดโคมลอยขึ้นฟ้า แต่รู้ไหมว่าเดี๋ยวนี้ถ้าฝรั่งอยากเห็นตอนไหนก็จุดให้เห็น แล้วถามว่าเป็นการทำลายประเพณีไหม"อ.เกรียงศักดิ์กล่าวด้วยความคับแค้นใจ
       
       ถึงตอนนี้ปายยังเป็นสวรรค์ในฝันของใครอยู่ไหม?
       
       แน่นอนเป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาดื่มด่ำกับกลิ่นไอแห่งปายและผู้ประกอบในท้องถิ่นที่มีรายได้อย่างงามจากการท่องเที่ยว แต่คงไม่ใช่สวรรค์ของคนปายที่แท้จริงสักเท่าไหร่
       
       นายทุน
       
       นายทุนดูเหมือนจะตกเป็นจำเลยของคนปายไปเสียแล้ว อย่างน้อยก็ในสายตาของ อ.เกรียงศักดิ์ นายทุนที่เข้ามาในปายล้วนแต่เป็นคนต่างถิ่นมาจากต่างที่ ทั้งกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ต่างชาติก็มีจำนวนไม่น้อย การเข้ามาของนายทุนต่างชาติ คือ การอาศัยแต่งงานกับสาวชาวเขาที่มีสัญชาติไทยเป็นใบเบิกทางเรื่องการลงทุนข้ามชาติ อย่างที่ อ.เกรียงศักดิ์เรียกว่า "เป็นโรคผัวฝรั่ง"
       
       "ตอนนี้เผ่าที่สาหัสกว่าเพื่อน ก็คือเผ่าที่ขึ้นต้นด้วยตัว L ลงท้ายด้วยตัว U เกือบทั้งหมู่บ้านเป็นโรคผัวฝรั่งกันหมด เรียนกันยังไม่เท่าไร ก็ออกไปแต่งงานกับฝรั่ง แล้วมาสร้างเกตเฮาส์อยู่ในปายบ้างในหมู่บ้านเขาบ้าง ตอนนี้ไปดูได้เลย เผ่าที่ว่านี้หาบ้านเรือนที่เป็นแบบดั้งเดิมของเผาไม่มีแล้ว มีแต่บ้านทรงยุโรปทันสมัย พวกนี้วันดีคืนดีผีลง ก็มากอดมาจูบกันกลางถนนคิดว่าโก้เก๋ นี่คือผลของเมืองที่เติบโตอย่างผิดรูปแบบ"อ.เกรียงศักดิ์เล่าให้ฟัง
       
       ด้านผู้ใหญ่เสงี่ยมก็เล่าถึงนายทุนที่เข้ามาในปายให้ฟังว่า ณ ตอนนี้บ้านน้ำฮูที่เคยสงบก็อาจจะกำลังถูกรุกคืบจากนายทุนเช่นกัน ปัญหาของบ้านน้ำฮูมาจากนายทุนชาวไทย ที่เริ่มเข้ามาสร้างโรงแรม เกตเฮาส์กันบ้างแล้ว
       
       "มีโรงแรมแห่งหนึ่งกำลังก่อสร้างในหมู่บ้านน้ำฮู เป็นคนไทยด้วยกันแท้ๆ แต่แค่ชาวบ้านเดินผ่านเข้าไปดู เขายังตวาดเลย คนปายจริงๆทุกวันนี้ก็เป็นได้แค่พนักงานเสิร์ฟหรือลูกจ้างเขาเท่านั้น ส่วนเจ้าของกิจการทั้งหลายเป็นใครก็ไม่รู้"ผู้ใหญ่กล่าวอย่างน้อยใจในชะตากรรมของคนปาย


ปาย ดินแดนสวรรค์ ในฝันของใคร?



 จุดอิ่มตัว
       

       สิ่งหนึ่งที่คนปายทั้ง 3 คน เห็นพ้องตรงกัน คือ อีกไม่นานปายจะถึงจุดอิ่มตัว สำหรับคนต่างถิ่นที่เข้ามาย่อมย้ายกลับไปถิ่นเดิมที่จากมาได้ แต่สำหรับคนปายแล้วพวกเขามีทางเลือกอื่นหรือ ไม่ว่าปายจะเป็นอย่างไรพวกเขาจะหนีจากแผ่นดินเกิดได้หรือ ณ วันนี้พวกเขาจึงได้เพียงแต่รักษาสิ่งที่เหลืออยู่ไม่ให้จางหายอย่างรวดเร็วเท่านั้น
       
       "อยากเห็นปายเป็นศูนย์รวมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี ผมเคยบอกหลายครั้งว่า ผู้ที่จะพาปายรอดคือผู้นำท้องถิ่นและชุมชน ไม่ใช่ผอ.ทั้งหลายที่อยู่แต่ในห้องแอร์ มวลรวมของปายเป็นภาพที่ใหญ่และกว้าง ผมทำได้แค่ปกป้องหมู่บ้านของผมเท่านั้น อย่างตอนนี้เรามีกฎของหมู่บ้านจะไม่ขายที่ดินให้ต่างชาติ"ผู้นำบุญหล่อแห่งบ้านสันติชนกล่าว
       
       ในขณะที่ผู้ใหญ่เสงี่ยมเองก็บอกว่า ทุกวันนี้ในเวทีการประชุมของหมู่บ้าน ตนก็ได้พยายามบอกทางผู้ปกครองให้ดูแลบุตรหลาน อย่าเห่อตามสิ่งที่เข้ามาเพราะสถานะ การใช้ชีวิตของเราต่างจากต่างชาติจะวิ่งตามไม่ได้ ไม่อยากเห็นภาพการย้ายบ้านเรือนเกิดขึ้นที่บ้านน้ำฮู
       
       ส่วนทาง อ.เกรียงศักดิ์ เองก็ยังคงยืนยันที่จะร่วมดูแลอนุรักษ์สิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในปายต่อไป สิ่งหนึ่งที่ อ.เรียกร้องคือความช่วยเหลือจากภาครัฐ
       
       "หน่วยงานรัฐความเร่งจัดการตั้งบทบัญญัติขึ้นมา ไม่ใช่ว่าพอโดนม่านสีม่วงม่านสีเทาก็ชะงัก ได้แต่บอกว่าทำอะไรไม่ได้ สงสารคนปายเถอะเกิดที่นี่ก็จะตายที่นี่ไม่คิดย้ายไปไหน เพียงแต่ว่าอยากให้ทรัพยากรบ้านเราลูกหลานเราได้กินได้ใช้ เรียนรู้สิ่งที่ถูกที่ควร ไม่กลายเป็นอะไรก็ไม่รู้แบบนี้ ถ้าวันที่ปายอิ่มตัวเต็มที่มาถึงคนที่เดือดร้อนก็ชาวบ้านนี่เอง" อ.เกรียงศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย
       
       และนี่คือเสียงส่วนหนึ่งจากคนปายแท้ๆที่มองเมืองปายถิ่นเกิดของพวกเขาด้วยความเป็นห่วงไปในทิศทางเดียวกัน(แน่นอนว่าย่อมมีคนเห็นแตกต่าง) ซึ่งหวังว่าเสียงเหล่านี้จะได้ยินไปถึงนายทุน ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ภาครัฐ –หน่วยงานที่ดูแลด้านการท่องเที่ยวในแม่ฮ่องสอน ให้หันกลับมามองเมืองปาย พร้อมประคองเมืองนี้ให้เดินไปบนเส้นทางสายเมืองท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและดีกว่าทุกวันนี้

เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์