ปีแสง แท้จริงบอกระยะทางหรือเวลา

ปีแสง แท้จริงบอกระยะทางหรือเวลา


ปีแสง แท้จริงบอกระยะทางหรือเวลา


เถียงกันบ่อยจนเราเองก็สับสนว่าแท้จริงแล้วภาพของดาวที่อยู่ไกลไปสัก 2 ล้านปีแสงนั้นคือภาพในอดีตของดาวดวงนั้นเมื่อ 2 ล้านปีที่แล้วหรือไม่ "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" จึงต้องรบกวนให้ "อ.นิพนธ์ ทรายเพชร" ราชบัณฑิตสาขาดาราศาสตร์ช่วยชี้แจงแถลงไขถึงความหมายของ "ปีแสง"

"จริงๆ ก็ไม่มีอะไรมาก ปีแสงก็คือคำซึ่งหมายถึงระยะทางยาวที่แสงเดินทางใน 1 ปีเท่านั้นเอง ส่วนจะยาวเป็นกี่กิโลเมตรก็สามารถคำนวณได้ ใน 1 วินาทีแสงเดินทางได้ 3 แสนกว่ากิโลเมตร ใน 1 ปีก็เดินทางได้ประมาณ 9.46 ล้านล้านกิโลเมตร" ราชบัณฑิตดาราศาสตร์ซึ่งเป็นวิทยากรให้ความรู้ประจำท้องฟ้าจำลอง กรุงเทพฯ ด้วยอธิบายความหมายของหน่วยวัดทางดาราศาสตร์

ส่วนกรณีที่มีนักดาราศาสตร์ออกมาระบุว่าพบดาวดวงใหม่ที่ห่างจากโลกออกไป 2 แสนปีแสงหรือเผยภาพถ่ายเนบิวลาที่อยู่ไกล 8 ล้านปีแสง อ.นิพนธ์ระบุว่าภาพที่สังเกตเห็นก็คือภาพในอดีตของดาวหรือเนบิวลานั้นเมื่อ 2 แสนปีหรือ 8 ล้านปีตามลำดับนั่นเอง

ทั้งนี้เพราะแสงสว่างที่เราใช้สังเกตอวกาศนั้นต้องอาศัยเวลาในการเดินทาง พร้อมย้ำอีกทีว่า "ปีแสง" (Light Year) คือหน่วยวัดความยาวโดยอาศัยเวลา

"ที่เห็นคือภาพอดีตแต่ตอนนี้ดาวดวงนั้นจะเป็นอย่างไรแล้วก็ไม่ทราบ เหมือนอย่างดวงอาทิตย์ที่เห็น ก็เป็นดวงอาทิตย์เมื่อ 8 นาทีที่แล้ว ถ้าเกิดอะไรขึ้นทันทีทันใดกับดวงอาทิตย์ เราไม่รู้หรอกต้องรออีก 8 นาที ซึ่งบางทีเราก็เรียก 8 นาทีแสง" อ.นิพนธ์กล่าว

เราหวังว่าคำอธิบายของ อ.นิพนธ์คงทำให้หลายคนหายข้องใจกับความหมายของหน่วยวัดระยะทางในอวกาศนี้มากขึ้น



FW

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์