ปูใช้แผนเรือดันน้ำพันลำ!!

ยิ่งลักษณ์ ระดมเรือ1,149ลำ ดันน้ำลงทะเล สู้ภัยน้ำท่วม ยันกทม.รับมือไหว ด้านกรมชลเผยน้ำก้อนใหญ่ผ่านกทม.แล้ว ยังห่วงเรื่องน้ำในทุ่งเร่งเสริมกระสอบทรายตามจุดยุทธศาสตร์

เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  เมื่อเวลา 10.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมายังบริเวณใต้สะพานพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี ก่อนลงเรือของตำรวจน้ำหมายเลขข้างเรือ “53” เพื่อเป็นประธานในพิธีปล่อยขบวนเรือ 1,149 ลำ ที่ร่วมโครงการประชาอาสา ที่จัดโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีเรือหลวงแสมสาร เรือหลวงกลึงบาดาล เรือแรด และเรือของกรมประมงอีก 5 ลำเข้าร่วมปฏิบัติการครั้งนี้ด้วย โดยมี พลเรือโททวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์ รองเสนาธิการทหารเรือ เป็นหัวหน้าคณะการทำงาน จากนั้นโดยเรือที่เข้าร่วมโครงการ จะร่วมกันดันน้ำจากแม่น้ำ 3 สาย ประกอบด้วย 1.แม่น้ำเจ้าพระยา 926 ลำ ใน 50 จุด 2.แม่น้ำบางปะกง 121 ลำใน 13 จุด และ 3.แม่น้ำท่าจีน 102 ลำใน 15 จุด เพื่อให้น้ำไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้มีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ฯ นายพิชัย นริพทพันธ์ รมว.พลังงาน และพล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร. ร่วมพิธีด้วย โดยมีการประกอบพิธีบวงสรวงพระแม่คงคาตามความเชื่อของชาวเรือ ทั้งนี้รัฐบาลเชื่อว่าจะสามารถดันน้ำเพิ่มได้อีก 50 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที

โดยการผลักดันน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาให้ออกสู่ทะเลในครั้งนี้ มีวิธีการดันน้ำให้มีประสิทธิภาพนั้น
 
1.หันหัวเรือไปทางต้นน้ำ 2.ผูกยึดเรือกับสถานที่มั่นคงเช่นท่าเทียบ หลักจอดเรือห้ามผูกกับตอม่อสะพาน 3.บังคับเรือให้พลิ้วน้ำใบจักรไหลขนานกับเส้นทางเดินของกระแสน้ำ 4.หากเรืออยู่ริมฝั่งให้หันท้ายเรือให้แนวพลิ้วน้ำ มีทิศทางไปทางร่องน้ำไหลหรือกลางลำน้ำ และอย่าให้พลิ้วน้ำมีทิศทางเข้าหาฝั่ง 5.กำหนดตำแหน่งของเรือแต่ละลำที่จะผลักดันน้ำ เพื่อให้เกิดผลในการดันน้ำร่วมกัน เรือที่มีกำลังมากกว่าต้องอยู่กลางแม่น้ำ และเรียงลำดับความแรงมายังริมฝั่ง 6.กำหนดพื้นที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพในการดันน้ำในแต่ละช่วงของลำน้ำ บริเวณที่ผลักดันน้ำควรเป็นพื้นที่แม่น้ำเป็นแนวตรงมากที่สุด หลีกเลี่ยงบริเวณคุ้งน้ำ หรือบริเวณที่มีเรื่ออื่นจอดเรือมาก 7.การผลักดันน้ำสามารถกระทำได้ตลอดเวลา เนื่องจากกระแสน้ำมีทิศทางไหลลงตลอดเวลา  

จากนั้นนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่า โครงการเรือผลักดันน้ำลงสู่ทะเลเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดีที่สุด ที่ช่วยระบายน้ำให้ลงสู่ทะเลได้เร็วขึ้น
 
ซึ่งเป็นการน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เคยดำเนินการเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ตนขอบคุณทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่ได้นำเรือมาร่วมผลักดันน้ำลงสู่ทะเล โดยเชื่อว่าจะบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ประสบอุทกภัยได้  ต่อมานายกรัฐมนตรีและคณะ ได้เดินทางไปที่วัดไทรม้าเหนือ เพื่อลงเรือตรวจดูการดันน้ำและให้กำลังใจผู้ประกอบการ ที่นำเรือมาร่วมในโครงการดังกล่าว สำหรับระดับน้ำที่ไหลผ่านจาก อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ในวันที่16 ต.ค. มีปริมาณลดลงเหลือเพียง 3,833 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากเมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมาซึ่งมีปริมาณน้ำไหลผ่าน 4,084 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนปริมาณน้ำที่ท่าน้ำปากเกร็ดมีความสูง 3.2 เมตร สำหรับที่ท่าน้ำนนทบุรี มีปริมาณน้ำสูง 2.81เมตร

ด้านนายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในขณะนี้ว่า
 
ขณะนี้น้ำก้อนใหญ่ได้ผ่านกรุงเทพไปแล้ว โดยระดับน้ำสูงสุดอยู่ที่ 2.29 เมตร โดยกรมชลประทานคาดการณ์ไว้ 2.30 เมตร ดังนั้นน้ำที่ผ่านกรุงเทพฯ จึงต่ำกว่าระดับที่กรมชลประทานคาดการณ์ไว้เพียง 1 ซม.เท่านั้น เมื่อมวลน้ำก้อนใหญ่ผ่านไปแล้ว ต่อไปจะมีน้ำทุ่งมาแทนซึ่งจะต้องเร่งระบายกันต่อไป ดังนั้นในช่วงนี้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะยังทรง ๆ สิ่งที่จะต้องดูคือคันกันน้ำที่แช่น้ำนานต้องเร่งซ่อมแซม จากนั้นช่วงปลายเดือนจะมีน้ำทะเลหนุนอีก อาจจะทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นอีกประมาณ 15 ซม.


ปูใช้แผนเรือดันน้ำพันลำ!!


อธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยต่อว่า การระบายน้ำในขณะนี้ฝั่งตะวันออก จะระบายผ่านทางคลอง 8 คลอง 9 และคลอง 10

ส่วนตะวันตกช่องทางที่ใหญ่ที่สุดคือแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนนี้กำลังดูว่าจะหาทางระบายน้ำอีก 1 ช่องทาง คือ คลองเชียงรากน้อย เพื่อระบายน้ำออกทางตะวันตกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งน้ำจะต้องผ่านคลองเปรมประชากร แต่จะมีการเสริมกระสอบทราย เพื่อกั้นน้ำบริเวณคลองเปรมประชากร ผู้สื่อข่าวรายงานว่าพล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม ได้เดินทางไปดูหน้าการผันที่บริเวณคลองเชียงรากน้อยด้วย

อธิบดีกรมชลประทานระบุว่า เมื่อน้ำก้อนใหญ่จากนครสวรรค์ผ่านกรุงเทพฯออกทะเลไปแล้ว สถานการณ์ต่อจากนี้น้ำเจ้าพระยาจะทรง ๆ

เพราะน้ำในทุ่งจะไหลลงมาสู่แม่น้ำอย่างช้า ๆ บางจุดที่ต้องเฝ้าระวังคือ น้ำที่ผ่านนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค โรจนะ ซึ่งข้ามถนนมิตรภาพ ถนนสายบางปะอิน ลงสู่คลองหกวาสายล่าง คลองระพีพัฒน์แยกตก ขอบคุณประชาชนที่ยอมให้เปิดคลอง 8-10 ทำให้สามารถระบายน้ำได้เพื่อเอาน้ำออกสู่ทางตะวันออก ขณะเดียวกันมวลน้ำก้อนใหญ่ที่ผ่านคลอง 1 ที่ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์กรมชลประทานได้ระดมใช้เครื่องสูบเต็มพื้นที่ อีกส่วนที่เราพิจารณาคือ เราจะพยายามเอาน้ำออกทางประตูเชียงรากน้อย ถ้าน้ำระดับน้ำเจ้าพระยาต่ำกว่าน้ำในคันจะเปิดประตูเชียงรากน้อยเพื่อระบายน้ำออกอีกทางหนึ่ง

นอกจากนั้นที่ประตูเชียงรายน้อยจะมีโรงสูบน้ำของกรมชลประทานอยู่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา 7 เครื่อง ๆ ละ 3 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

แต่เนื่องจากน้ำท่วม คันกั้นน้ำจมเราก็จะพยายามเข้าไปเสริมคันกั้นน้ำ ถ้าเสริมได้ก็จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะดึงน้ำบริเวณคลองระพีพัฒน์แยกตกได้อีกทาง ขณะที่น้ำทรง ๆ น้ำทะเลจะหนุนอีกทีประมาณปลายเดือนนี้ แนวคันกั้นน้ำที่เป็นกระสอบทรายก็ขอวิงวอนประชาชนอย่าทำลาย และให้เสริมความแข็งแรงของคันกั้นน้ำที่มีอยู่ก่อนไปอีกระยะหนึ่ง

นายคงศักดิ์ คงมาก ผู้แทน กทม. กล่าวว่า เมื่อคืนวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมาฝนตกมากและน้ำในถนนท่วมขัง

ขอเรียนว่าไม่ใช้น้ำเหนือเป็นน้ำฝนและกทม.ได้แก้ไขปัญหาได้เกือบหมดแล้ว สำหรับพี่น้องริมแม่น้ำเจ้าพระยานั้น กทม.มีเขื่อนสามารถรองรับน้ำเหนือและน้ำทะเลหนุนได้ 100% ส่วนกรณีคลอง 1 ที่ประชาชนไม่ยอมให้ปิดประตูน้ำ และไม่ยอมให้เปิดประตูเชียงรากน้อย ดังนั้นน้ำจึงไหลบ่ามาทิศตะวันออกมาสู่เขตสายไหม ดอนเมือง ซึ่งผู้ว่าฯกทม.ได้สั่งระดมเจ้าหน้าที่กทม.ทั้งหมดไปสร้างแนวกั้นน้ำที่คลองหกวาล่างโดยใช้แบริเออร์เพื่อกันน้ำลงมาทางสายไหม ดอนเมือง

ดังนั้นคนที่อยู่สายไหมดอนเมืองหากมีเวลาอยากให้ไปช่วยกันกับเจ้าหน้าที่กทม.เรียงกระสอบทรายและแบริเออร์ยาว 6 กิโลเมตร ดังนั้นตอนกลาง กทม.มั่นใจได้ ส่วนด้านตะวันตกซึ่งมีคลองทวีวัฒนานั้นได้มีทหารเรือได้ไปช่วยป้องกันน้ำเชื่อว่าจะสามารถป้องกันได้ 100% ดังนั้นมีจุดอ่อนของกทม.มีเพียงจุดเดียวคือ คลองหกวาตอนล่าง ซึ่งในวันนี้จะสร้างกำแพงอีกชั้นให้มีความมั่นคงแข็งแรงเพื่อป้องกันน้ำ


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์