ผลศึกษาชี้ อ่านวรรณกรรมเช็คสเปียร์ ช่วยแพทย์วิเคราะห์อาการป่วย

ผลศึกษาชี้ อ่านวรรณกรรมเช็คสเปียร์ ช่วยแพทย์วิเคราะห์อาการป่วย


แพทย์ชาวอังกฤษรายหนึ่งเปิดเผยว่า การอ่านวรรณกรรมของวิลเลียม เช็คสเปียร์

อาจทำให้นักกายวิภาคศาสตร์ได้เปิดมุมมองใหม่ๆไปสู่ความเชื่อมโยงระหว่างอารมณ์และความเจ็บป่วยของมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้น

นายแพทย์เคนเน็ธ ฮีตัน กล่าวว่า แพทย์จำนวนมากหลงลืมที่จะเชื่อมโยงปัญหาด้านจิตวิทยาเข้ากับอาการป่วย และแย้งว่าการอ่านวรรณกรรมของนักเขียนชาวอังกฤษชื่อดังจะช่วยไขข้อกระจ่างได้มากขึ้น

ขณะที่การเรียนการสอนด้านแพทยศาสตร์ยังคงยึดถือรูปแบบเดิม ซึ่งก็คือการใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์เพื่อวินิจฉัยอาการป่วยแต่เพียงอย่างเดียว แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลักสูตรวิชาการแพทย์ที่ผนวกเข้ากับความรู้ด้านศิลปวิทยา ประวัติศาสตร์ หรือวรรณกรรมเริ่มได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้นและได้รับการบรรจุเข้าในหลักสูตรการเรียนการสอนของหลายมหาวิทยาลัย

นพ.ฮีตัน อดีตแพทย์โรคทางเดินอาหาร ซึ่งเริ่มหันมาศึกษาวรรณกรรมของเช็คสเปียร์อย่างจริงจังหลังเกษียณอายุราชการ เชื่อว่าการเปิดมุมมองที่กว้างขึ้นจะทำให้เราสามารถเข้าใจมุมมองที่จำเป็นต่อการรักษาผู้ป่วยได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการรักษาโรคทั่วไป

โดยผลการวิจัยล่าสุดของเขาที่เผยแพร่ในวารสารด้านการแพทย์ Journal of Medical Humanities ได้ศึกษาผลงานวรรณกรรมหลักของเช็คสเปียร์จำนวน 42 ชิ้น และงานวรรณกรรมร่วมสมัยในลักษณะเดียวกันอีก 46 ชิ้น ที่พุ่งเป้าศึกษาไปยังอาการป่วยที่พบเห็นได้ทั่วไป อาทิ การวิงเวียนศีรษะ เป็นลม ความอ่อนล้า และความบกพร่องทางการได้ยิน อันเนื่องมาจากความเครียดทางอารมณ์ที่สะสมเป็นทุนเดิม ซึ่งบางครั้งทำให้แพทย์เกิดความสับสนเนื่องจากแทบไม่มีอาการทางร่างกายปรากฏให้เห็น

โดยอาการเวียนศีรษะ มึนงง จะปราฏในตัวละครเอกที่เป็นเพศชายในวรรณกรรม 5 เรื่อง ได้แก่ "The Taming of the Shrew" "Romeo and Juliet" "Henry VI Part 1" "Cymbeline" และ "Troilus and Cressida"

ขณะที่ตัวละครที่มีอาการหายใจไม่ออกอันเนื่องมาจากการขึ้นถึงขีดสุดของอารมณ์ พบในผลงานเรื่อง "Two Gentlemen of Verona" "The Rape of Lucrece" "Venus and Adonis" และ "Troilus and Cressida"

ส่วนตัวละครที่มีความโศกเศร้า วิตกกังวล และเศร้าซึมอย่างรุนแรง ที่แสดงออกผ่านความอิดโรยทางร่างกาย พบในวรรณกรรมเรื่อง "Hamlet" "The Merchant of Venice" "As You Like It" "Richard II" และ "Henry IV Part 2"

ส่วนอาการบกพร่องทางการได้ยิน ที่เกิดควบคู่กับความบอบช้ำทางจิตใจ จะปรากฏในผลงานเรื่อง "King Lear" "Richard II" และ "King John" ขณะเดียวกัน อาการเป็นลม อาการช็อคอย่างสุดขีด และความเย็นชา ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมเรื่อง "Romeo and Juliet" "Julius Caesar" "Richard III" และอื่นๆ

เมื่อนับรวมแล้ว นพ.ฮีตันพบว่า มีวรรณกรรมของเช็คสเปียร์ถึง 43 เรื่อง ที่สามารถโยงเข้ากับอาการป่วยด้านร่างกายที่สืบเนื่องมาจากปัญหาภายในจิตใจ ซึ่งมากกว่าผลงานของนักเขียนคนใดๆในยุคเดียวกัน และเผยว่าความไม่เต็มใจของแพทย์สมัยใหม่ที่พิจารณาว่าอาการด้านร่างกายและด้านจิตใจเป็นสิ่งเดียวกันอาจทำให้การวินิจฉัยล่าช้า อีกทั้งยังทำให้เกิดการทดสอบและรักษาอาการต่างๆโดยไม่จำเป็น

เขากล่าวว่า เช็คสเปียร์เป็นนักเขียนที่มีความสามารถพิเศษในการมองเข้าไปในจิตใจของมนุษย์ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ซึ่งครอบคลุมถึงผลกระทบด้านอารมณ์ที่มีต่อจิตใจ ขณะที่มีวิทยาลัยแพทย์เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น ที่นำวิธีการด้านมนุษยศาสตร์เขาไปประยุกต์ใช้มากกว่าที่อื่นๆ แต่ก็ยังมีแพทย์อีกหลายคนที่สามารถเรียนรู้บางอย่างได้จากงานเขียนของเช็คสเปียร์


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์