พบดาวเคราะห์คล้ายโลก มีน้ำ-เอื้อต่อสิ่งมีชีวิต

พบดาวเคราะห์คล้ายโลก มีน้ำ-เอื้อต่อสิ่งมีชีวิต


นักวิทยาศาสตร์จากองค์การบริหารการบินอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา

ตรวจสอบพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีคุณลักษณะหลายประการคล้ายคลึงกับโลกจนแทบเป็นฝาแฝด จนทำให้เชื่อว่าน่าจะมีน้ำในสภาพของเหลวปรากฏอยู่บนพื้นผิวของดวงดาว ที่ทำให้มีสภาวะแวดล้อมเอื้อต่อการมีสิ่งมีชีวิตด้วย


 ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดังกล่าวถูกกำหนดชื่อรหัสว่า "เคปเลอร์ 186เอฟ"

ถูกค้นพบด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศ เคปเลอร์โคจรอยู่โดยรอบดาวฤกษ์ชนิด "ดาวแคระแดง" อยู่ห่างจากโลกออกไปราว 490 ปีแสง ทีมนักวิทยาศาสตร์ของนาซาระบุว่า นับเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบดาวเคราะห์ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับโลกเช่นนี้ จนทำให้ ทอม บาร์เคลย์ นักวิทยาศาสตร์ผู้เขียนรายงานการค้นพบดาวเคราะห์ดวงนี้ ระบุว่า ถึงแม้จะไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นดาวฝาแฝดของโลก แต่ก็สามารถเรียกได้ว่าเป็นญาติใกล้ชิดกับโลกได้เลยทีเดียว


 ระบบดาวแคระแดง เคปเลอร์ 186 มีดาวเคราะห์โคจรอยู่โดยรอบ 5 ดวง (เท่าที่มีการตรวจสอบพบในขณะนี้)
 
"เคปเลอร์186เอฟ" เป็นดาวเคราะห์ดวงนอกสุดของระบบดาวดังกล่าว โคจรอยู่ห่างจากดาวฤกษ์ของระบบคือดาวเคปเลอร์186 เป็นระยะทางเฉลี่ย 32.5 ล้านไมล์ หรือราว 1 ใน 3 ของระยะห่างโดยเฉลี่ยของวงโคจรของโลกกับดวงอาทิตย์ที่เป็นดาวฤกษ์ของระบบสุริยะของเรา แต่ในทางทฤษฎียังถือว่า "เคปเลอร์186เอฟ" ยังคงอยู่ในระยะของเขตที่เอื้อต่อการมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ หรือที่เรียกว่า "ฮาบิแทต โซน" ของระบบดาวฤกษ์ดังกล่าว เนื่องจากดวงอาทิตย์ของเรานอกจากจะมีขนาดใหญ่กว่า มีมวลมากกว่าดาวฤกษ์เคปเลอร์ 186 ทำให้ "ฮาบิแทต โซน" ของระบบสุริยะ ขยับออกมาไกลกว่าของระบบดาวเคปเลอร์186 นั่นเอง


ก่อนหน้านี้ แม้จะมีการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะมาแล้วเป็นจำนวนมาก

แต่ดาวเคราะห์เหล่านั้นมีขนาดแตกต่างจากโลกมาก "เคปเลอร์186เอฟ"ถือเป็นดาวเคราะห์ดวงแรกนอกระบบสุริยะที่มีขนาดใกล้เคียงกับโลกมากที่สุดที่อยู่ในฮาบิแทต โซน ทำให้นักดาราศาสตร์บางคนถือว่า นี่เป็นการค้นพบครั้งประวัติศาสตร์เลยทีเดียว


รัศมีของดาวเคราะห์ "เคปเลอร์186เอฟ" เทียบกับของโลกแล้วเท่ากับ 1.1 ซึ่งหมายความว่า "เคปเลอร์186เอฟ"มีขนาดใหญ่กว่าโลกอยู่เล็กน้อย

แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า สภาพของดาวเคราห์ดวงนี้คงเป็นหินเช่นเดียวกับโลก แม้ว่าทีมวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงนี้ยังไม่แน่ใจเกี่ยวกับบรรยากาศของ"เคปเลอร์186เอฟ" ว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง แต่จากการที่รัศมีการหมุนรอบตัวเองของมันคิดเป็น 1.5 หรือ 2 เมื่อเทียบกับของโลกมากทำให้เชื่อว่ามันมีมวลมากพอที่จะทำให้เกิดแรงโน้มถ่วงยึดเหนี่ยวให้เกิดชั้นบรรยากาศหนาที่เต็มไปด้วยไฮโดรเจนและฮีเลียมได้


 สตีเฟน เคน หนึ่งในทีมนักดาราศาสตร์ของนาซา
 
พบว่า "เคปเลอร์186เอฟ" อยู่ในพื้นที่ที่เป็นริมนอกสุดของ "ฮาบิแทต โซน" ของดาวฤกษ์เคปเลอร์186 ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ว่าหากมีน้ำบนดาวดวงนี้ น้ำดังกล่าวอาจอยู่ในสภาพจับตัวแข็งเพราะความหนาวเย็น แต่ขณะเดียวกัน ขนาดใหญ่ของมันอาจทำให้ชั้นบรรยากาศมีความหนามากพอที่จะทำหน้าที่เป็นฉนวนเก็บความร้อนและช่วยให้น้ำคงสภาพเป็นของเหลวอยู่ได้เช่นเดียวกัน


 "เคปเลอร์186เอฟ"โคจรรอบดาวฤกษ์ของระบบใช้เวลาเพียง 130 วัน ทั้งนี้เนื่องจาก เคปเลอร์186 มีมวลน้อยกว่าดวงอาทิตย์มาก

ทำให้วงโคจรของ "เคปเลอร์186เอฟ" ถือว่าใกล้เคียงกับวงโคจรของดาวพุธที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ของเรา แต่เพราะดาวฤกษ์ของระบบดาวดังกล่าวมีพลังงานต่ำ "เคปเลอร์186เอฟ" จึงได้รับพลังงานน้อยกว่าที่โลกได้รับจากดวงอาทิตย์ และทำให้ถ้าหากเราขึ้นไปอยู่บน"เคปเลอร์186เอฟ"จริง เราจะพบว่ามีความสว่างน้อยกว่าบนโลก


 ที่น่าเสียดายสำหรับทีมนักวิทยาศาสตร์ของนาซาก็คือ โอกาสที่จะศึกษา"เคปเลอร์186เอฟ"ให้ลึกซึ้งกว่านี้

โดยเฉพาะในแง่ของบรรยากาศของดาวเคราะห์ดวงนี้นั้น ยังเป็นไปไม่ได้ เพราะ"เคปเลอร์186เอฟ" อยู่ห่างเกินไป จนแม้กระทั่ง เจมส์ เว็บบ์ เทเลสโคป กล้องโทรทรรศน์อวกาศที่จะส่งขึ้นไปแทนที่ "ฮับเบิลสเปซ" ในปี 2018 ก็ยังไม่สามารถศึกษาไปถึงได้


 ต้องปล่อยให้ชั้นบรรยากาศของ"เคปเลอร์186เอฟ"เป็นปริศนาต่อไป


พบดาวเคราะห์คล้ายโลก มีน้ำ-เอื้อต่อสิ่งมีชีวิต

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์