พระบิดาแห่งรถไฟไทย




พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินทรงเป็น พระราชโอรส องค์ที่ 35 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับเจ้าจอมมารดาวาด พระองค์ประสูติ เมื่อ วัน จันทร์ เดือน 3 ขึ้น 4 ค่ำ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 23 มกราคม พ.ศ.2424 ทรงมีพระนามเดิมว่า " พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร "

เมื่อทรงพระเยาว์ทรงศึกษาที่โรงเรียน พระตำหนักสวนกุหลาบในพระบรมมหาราชวัง โดยมีพระยาโอวาทวรกิจ (แก่น ) เป็นผู้ถวายพระอักษร เมื่อ พ.ศ.2536 เสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศฝรั่งเศส แล้วไปศึกษาโรงเรียนแฮร์โรว์ในประเทศอังกฤษ ซึ่งอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนแห่งนี้ได้ชมเชยว่า พระองค์มีความสามารถ และพรวิริยะ อุตสาหะเป็นอย่างยิ่ง ต่อมาได้ทรงเข้าศึกษาวิชาวิศวกรรมที่ตรินิตี้คอลเลจ แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริช ตามที่สมเด็จพระบรมชนกนาถกำหนดไว้สำหรับพระองค์ เพื่อให้กลับมารับราชการสนองคุณประเทศชาติในสาขานี้ แล้วทรงศึกษาวิชาทหาร ช่างที่ ชัทแทม

หลังสำเร็จการศึกษาทรงได้รับพระราชทานยศเป็น ร้อยตรีในเหล่าทหารช่างเมื่อ วันที่ 6พฤศจิกายน พ.ศ.2444 แล้ว เสด็จไปทรงศึกษาวิชาวิศวกรรมชั้นสูงจากประเทศฝรั่งเศส เมื่อสำเร็จการศึกษาได้ประทับทอดพระเนตรงาน และทรงศึกษาหาความชำนาญอยู่ในประเทศอังกฤษ กับได้เป็น สมาชิกสถาบันวิศวกรรมช่างโยธาแห่งประเทศอังกฤษ M.I.C.E. ( Member of the Institute of Civil Engineers ) นับว่าพระองค์ทรงเป็นคนไทยคนแรกที่เป็นสมาชิกของสถาบันนี้ ในปี พ.ศ.2447 พระองค์ก็เสด็จกลับประเทศไทย ทรงได้รับพระราชทานยศเป็น "นายพันตรีเหล่าทหารช่าง"

ในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2448 ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อภิเษกสมรสกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงประภาวสิทธินฤมล ในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงษ์ ทรงเป็นต้นราชตระกูล "ฉัตรไชย" และทรงมีพระโอรสและธิดารวม 11 พระองค์ คือ

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิง มยุรฉัตร*
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า เปรมบุรฉัตร*
หม่อมเจ้าหญิง ฉัตรสุดา ฉัตรไชย
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิง วิมลฉัตร*
หม่อมเจ้าหญิง กาณจนฉัตร ฉัตรไชย
หม่อมเจ้าหญิง ภัทรลดา ฉัตรไชย
หม่อมเจ้าชาย สุรฉัตร ฉัตรไชย
หม่อมเจ้าหญิง เฟื่องฉัตร ฉัตรไชย
หม่อมเจ้าหญิง หิรัญฉัตร ฉัตรไชย
หม่อมเจ้าชาย ทิพยฉัตร ฉัตรไชย
หม่อมเจ้าหญิง พิบูลฉัตร ฉัตรไชย





เสด็จในกรมฯ และพระชายา
พระองค์เจ้าชายบุรฉัตรไชยากร นอกจากจะทรงรับราชการทหารแล้ว ยังทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณ และทรงวางฐานในกิจการด้านอื่นๆ เป็นต้นว่า การส่งวิทยุกระจายเสียง การออมสิน การโรงแรม การสหกรณ์ การพาณิชย์ การท่องเที่ยวการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ การบินทหารบก และการคมนาคมโดยเฉพาะกิจการรถไฟที่พระองค์ทรงริเริ่มขยาย ปรับปรุงให้มีีความเจริญรุดหน้าทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ อันเป็นผลให้พระองค์ได้รับเลื่อนพระอิสริยยศมาโดยลำดับ

พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร มีพระนามเต็มว่า " นายพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินประชาธิบดินทรเจษฎภาดา ปิยมหาราชวงศ์วิศิษฏ์ อเนกยนตรวิจิตรกฤตยโกศล วิมลรัตนมหาโยธาธิบดี ราชธุรันธรีมโหฬาร พาณิชยการคมนาคม อุดมรัตนตรัยสรณธาดามัททวเมตตาชวาศรัย ฉัตร์ชัยดิลกบพิตร "

พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน กับ กิจการรถไฟ



พุทธศักราช 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้รวมกรมรถไฟสายเหนือกับสายใต้เข้าเป็นกรมเดียวกัน เรียกว่า กรมรถไฟหลวง โดยให้กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน เป็นผู้บัญชาการรถไฟอีก ตำแหน่งหนึ่ง นอกเหนือจากหน้าที่ทางราชการทหารในระหว่างที่ทรงบังคับบัญชา กิจการรถไฟนั้นพระองค์ได้บริหารงานด้วยพระปรีชาสามารถทรงนำวิชาการสมัยใหม่เข้ามใช้ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่กิจการรถไฟอย่างมาก จนได้รับการขนานพระนามว่า " พระบิดาแห่งกิจการรถไฟสมัยใหม่ "

เนื่องจากเมื่อพระองค์ท่านเสด็จมาเป็นผู้บัญชาการรถไฟใหม่ ๆ กิจการรถไฟมีคนไทยอยู่น้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศมีชาวเยอรมัน อังกฤษ อิตาเลียน และชาวเอเชียชาติต่างๆ เช่น ชาวอินเดีย ชาวซีลอน และชาวพม่า พระองค์จึงทรงระดมคนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากทหารช่าง กรมแผนที่ และคนไทยที่พูดภาษาอังกฤษได้ จากห้างร้านต่าง ๆ ให้เข้ามาทำงานรถไฟ ทรงฝึกฝนคนไทยให้มีอย่างยิ่งจากทหารช่าง กรมแผนที่ และคนไทยที่พูดภาษาอังกฤษได้ จากห้างร้านต่าง ๆ ให้เข้ามาทำงานรถไฟ

ทรงฝึกฝนคนไทยให้มีความสามารถในกิจการรถไฟด้วยการแนะนำสั่งสอนด้วยพระองค์เอง ในที่สุดพระองค์ท่านก็ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ส่งนักเรียนไทยไปศึกษาในต่างประเทศ เพื่อศึกษาวิชาการรถไฟและการพาณิชย์ รุ่นแรก ๆ ได้ส่งไปสหรัฐอมริกา เพราะในยุโรปเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่อมาจึงส่งไปยุโรป เพราะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า เมื่อนักเรียนเหล่านี้สำเร็จการศึกษาแล้วได้กลับมารับราชการในกรมรถไฟหลวง ทำให้กิจการรถไฟเจริญก้านหน้ามาจนทุกวันนี้

พ.ศ.2471 นายพลเอก กรมหลวงกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงสั่งซื้อรถจักรดีเซลมีกำลัง 180 แรงม้า ส่งผ่านกำลังด้วยการกลจำนวน 2 คัน เข้ามาใช้การเป็นรุ่นแรกในประเทศไทย และเป็นรายแรกในทวีปเอเชีย โดยใช้เป็นรถจักรสำหรับสับเปลี่ยนและลากจูงขบวนรถท้องถิ่นรอบกรุงเทพฯ รถจักรรุ่นนี้สร้างโดยบริษัทสวิสส์โลโคโมติฟ แอนด์ แมชินเวอร์ค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์





เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นผู้ให้กำเนิดรถจักรดีเซลขึ้นในเมืองไทย รถจักรดีเซลทุกคันที่ใช้การอยู่ในการรถไฟฯ ขณะนี้จึงได้ประดับเครื่องหมาย " บุรฉัตร " อันเป็นพระนามของพระองค์ ติดที่ด้านข้างของรถจักรดีเซลทุกคันที่สั่งเข้ามา เพื่อเป็นการรำลึก และเทิดพระเกียรติแห่งพระองค์ท่านสืบไป



พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ได้ทรงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาพัฒนากิจการรถไฟให้บังเกิดผลดี รวดเร็ว และสะดวกในการปฏิบัติงาน ทรงปรับปรุงสัญญาณประแจกลและโทรคมนาคมของกรมรถไฟหลวงใหม่หมด โดยเริ่มใช้โทรศัพท์ทางไกล โทรศัพท์อัตโนมัติ และเครื่องตราทางสะดวกแทนการขอทางด้วยเครื่องโทรเลข ทรงวางแผนและดำเนินนำรถจักร ดีเซลมาใช้แทนรถจักรไอน้ำ โดยมุ่งเน้นการนำรถจักรดีเซลไฟฟ้ามาใช้การ เพราะได้ทรงวางแผนและศึกษาต่อไปถึงความเป็นไปได้ถึง การนำรถจักรดีเซลทำการลากจูงขบวนรถหมดแล้ว นับว่าพระดำริของพระองค์ในเรื่องนี้ก่อให้เกิดคุณประโยชน์อย่างมหาศาลในกาลต่อมา พระกรณียกิจและพระดำริของพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ได้ก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าแก่กิจการรถไฟและบังเกิดคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ และประชาชนไทยอย่างมหาศาล


การจัดให้มีพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟให้เป็นมาตรฐานสากล

กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงขอพระบรมราชานุญาตในการออกพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟ และทางหลวง พุทธศักราช 2465 อันเป็นพระราชบัญญัติควบคุมคุ้มครองของการรถไฟ ทางหลวง รถไฟเอกชนที่ได้รับอนุญาตดำเนินการและรถไฟอุตสาหกรรม ให้มาขึ้นอยู่กับสภากรรมการรถไฟ เพื่อเป็นการวางหลักการบริหารกิจการรถไฟของประเทศให้มีระเบียบยิ่งขึ้น


การขยายเส้นทางเดินรถไฟสายเหนือ

การเดินรถไฟในสายเหนือ ก่อนที่กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน จะมารับตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงมีการเปิดเส้นทาง เดินรถไฟถึงสถานีปากพง และกำลังดำเนินการตรงช่วงถ้ำขุนตาน พระองค์มาดำเนินการต่อ โดยทรงซื้อที่ดินสำหรับสร้างสถานีลำพูน และสถานีเชียงใหม่ ทรงควบคุมการวางรางสร้างทางรถไฟจากถ้ำขุนตานไปจนถึงสถานีเชียงใหม่ และเปิดการเดินรถตลอดทางสาย เหนือ จากกรุงเทพฯ ถึง เชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2464





อุโมงค์ขุนตาน

อุโมงค์ขุนตานแห่งนี้เริ่มสร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งมีเสด็จในกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เป็นผู้บัญชาการรถไฟหลวงแห่งกรุงสยาม โดยเริ่มดำเนินการสร้างปี พ.ศ. 2461 ใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 11 ปี ค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้นประมาณ1,362,050.00 บาท โดยนายช่างเยอรมัน ชื่อ นายเอมิลไอเซน โฮเฟอร์ เป็นวิศวกรควบคุมงานนี้ตั้งแต่ต้นจนจบอุโมงค์นี้ขนาดกว้าง 5.20 เมตร สูง 5.40 เมตร และยาว 1,352.10 เมตร เป็นแบบเพดานผนังอุโมงค์โค้งรัศมี 2.50 เมตร ชนิดคอนกรีตเสริมเหล็กตลอด แต่เดิมใช้ กับทางขนาด 1.435 เมตร ต่อมาทางการรถไฟได้เปลี่ยนมาใช้ทางขนาด 1.00 เมตร เพื่อให้สอดคล้องกับทางรถไฟของมาเลเซีย มีความลาดชัน 12 เปอร์มิลระดับปาก อุโมงค์ด้านเหนือสูงกว่าด้านใต้ประมาณ 14 เมตร





สะพานทาชมภู

สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2462 เป็นสะพานโค้งทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ตั้งอยู่ที่กม.690 / 340.60 ในเส้นทางสายเหนือ ระหว่างสถานีขุนตานกับสถานีทาชมภู ในเขตอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูนการสร้างสะพานทาชมภูแห่งนี้ เป็นงานที่ท้าทายความเป็นวิศวกรของนายพลเอก กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน (พระยศในขณะนั้น) เป็นอย่างยิ่ง เนื่องด้วยปกติสะพานรถไฟจะสร้างขึ้นจากเหล็กเท่านั้น เพราะต้องรับแรงสั่นสะเทือนมากคอนกรีตจะไม่สามารถอ่อนตัวได้เท่า แต่เนื่องจากสภาวะสงครามทำให้ไม่สามารถสั่ง เหล็กจากยุโรปเข้ามาได้ จึงเป็นที่ถกเถียงกันมากกว่า เมื่อสร้างเสร็จแล้วสะพานก็คงจะพังใน 3 - 6 เดือน แต่ด้วยการคำนวณและควบคุมงานอย่างยอดเยี่ยมของพระองค์สะพานทาชมพู จึงยังคงยืนหยัดอวดความสง่างามมาได้ตราบเท่าทุกวันนี้



การขยายเส้นทางเดินรถไฟสายใต้

กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงเจรจากับผู้จัดการรถไฟของสหพันธรัฐมลายูด้วยเรื่องที่จะเดินรถไฟติดต่อกัน ต่อมาเมื่อสร้าง ทางแยกจากชุมทางหาดใหญ่ไปยังสถานีปาดังเบซาร์เสร็จเรียบร้อย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ออกประกาศเปิดทางรถไฟหลวงสายใต้ ให้เดินรถไฟติดต่อกับรถไฟมลายู โดยให้ปาดังเบซาร์เป็นสถานีร่วมตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2461 สร้างสะพานพระราม 6 เพื่อเชื่อมทางรถไฟสายเหนือกับสายใต้เข้าด้วยกันทำให้ใช้รถจักรและล้อเลื่อนรวมถึงอะไหล่ต่าง ๆ ด้วย กันได้ทั่วราชอาณาจักร เมื่อ ธ.ค.2469 สะพานพระราม 6 เสร็จสมบูรณ์ ค่าก่อสร้างรวมทั้งทางรถไฟ 6,008,939 บาท เฉพาะตัว สะพานประมาณ 3 ล้านบาท





การขยายเส้นทางเดินรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ

การเดินรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือในระยะแรกทำการเดินรถจากสถานีกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา เท่านั้น เมื่อกรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง พระองค์ได้ขยายเส้นทางเดินรถไฟจากนครราชสีมาไปถึงอุบลราชธานี ทรงเริ่มดำเนินการในพุทธศักราช 2462 โดยทำการวางรางเป็นระยะ ๆ และเปิดทำการเดินรถเป็นช่วง ๆ เส้นทางเดินรถไฟนี้เสร็จ สมบูรณ์สามารถเดินทางไปถึงอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2473


การขยายเส้นทางเดินรถไฟสายตะวันออก


เส้นทางเดินรถไฟสายตะวันออกในระยะแรก สามารถเดินทางจากสถานีกรุงเทพฯ ถึงฉะเชิงเทรา กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงทำการขยายเส้นทางเดินรถสายนี้จากฉะเชิงเทราถึงอรัญประเทศ โดยเริ่มสร้างทางรถไฟต่อจากตอนที่ทำมาแล้วถึงจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเปิดทำการตั้งแต่ พ.ศ.2462 และเสร็จสมบูรณ์สามารถเดินรถถึงอรัญประเทศได้ใน พ.ศ.2469





พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงสิ้นพระชนม์ ด้วยโรคพระทัยวาย ณ โรงพยาบาลในเมืองสิงค์โปร์เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2479 รวมพระชันษาได้ 54 ปี 7 เดือน 22 วัน แม้ว่าพระองค์จะทรงสิ้นพระชนม์ไปแล้ว แต่พระกรณียกิจ และพระดำริที่ทรงสร้างสรรค์ไว้ยังคงเป็นอนุสรณ์แห่งพระปรีชาสามารถและพระวิริยะอุตสาหะที่ยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือนได้ ทาง ราชการได้ตระหนักถึงพระกรุณาธิคุณอันเหลือคณานับของพระองค์ท่าน จึงกำหนดให้วันที่ 14 กันยายน เป็น " วันบุรฉัตร " และการรถไฟฯ ได้จัดกิจกรรมเพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ และพระกรณียกิจของพระองค์ที่มีต่อประชาชน และประเทศไทยสืบไป

ข้อขอบคุณข้อมูลจาก

การรถไฟแห่งประเทศไทย
การศึกษาไทยดอทคอม
พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศไทย

นำมาจาก คลังปัญญาไทย




 

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์