พระเทพฯทรงเล่าเรื่องประทับใจ พระอาจารย์คนแรกที่ทรงสอนแตรคือคนนี้

เมื่อ พ.ศ.2530 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระราชนิพนธ์บทความเรื่อง “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาดนตรี” โดยได้เผยแพร่ไว้ในสื่อต่างๆ เรื่อง ในหลวง ร.9 เป็นทรงสอนให้เป่าแตร โดยมีพระเทพฯ เป็นนักเรียนคนแรก เนื้อหาส่วนนี้เล่าไว้ว่า

“เมื่อประมาณเกือบ 2 ปีมาแล้วที่สกลนครทรงนำแตรไปด้วย และได้มีพระราชกระแสเกี่ยวกับเรื่องแตรกับคุณหมอทวีศักดิ์ ซึ่งเล่นแตรในวง อ.ส. เคยเรียนแตรมาหลายปีแล้ว ข้าพเจ้านั่งอยู่ตรงนั้นพร้อมกับคนอื่นๆ อีกหลายคน คิดอยู่ว่าน่าจะเรียนบ้าง เพราะตอนนี้ฟังท่านคุยกันไม่รู้เรื่อง ต่อมาแปรพระราชฐานไปที่จังหวัดนราธิวาส ข้าพเจ้าพยายามไปฟังพระราชกระแสเรื่องแตรนี้อีก คงจะทรงเห็นข้าพเจ้าดูอย่างสนใจ จึงยื่นแตรพระราชทานและสั่งให้ไปยืนเป่าอยู่ไกลๆ เป่าเท่าไรเสียงก็ไม่ออก จนในที่สุดเสียงออกมาดัง “ปู่” เป็นเสียงต่ำมาก ทรงพระสรวล มีรับสั่งว่าเสียงแบบนี้ไม่มีใครเขาเป่ากัน

เมื่อกลับกรุงเทพฯ แล้วข้าพเจ้าให้คนไปซื้อแตรทำในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมา (ข้าพเจ้าชอบแตรขึ้นมาก เพราะซื้อด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง) ราคา 3,000 บาท ไปแนะนำให้คนอื่นๆ ที่ตามเสด็จซื้อแตรชนิดต่างๆ มา ส่วนมากจะซื้อยี่ห้อเดียวกับข้าพเจ้า แต่ผู้ซื้อทีหลังกลับได้ราคาต่ำกว่า

เมื่อทรงเห็นมีเครื่องดนตรีกัน จึงทรงนึกสนุกสอนให้พวกเราเป่าแตรกัน เริ่มด้วยข้าพเจ้าเป็นนักเรียนหมายเลข 1 เป็นหัวหน้าชั้น ที่จริงข้าพเจ้าอยากเรียนคลาริเนต เพราะได้เห็นการเดี่ยวคลาริเนตเพลงไทย ไพเราะมาก แต่มีรับสั่งให้เรียนแตรไปก่อนเพราะเสียงดังดี (วงของเราเป็น (Brass Band) และการดูแลรักษาแตรง่ายกว่าคลาริเนต ภายหลังเมื่อเป่าแตรพอได้แล้ว จึงมีรับสั่งว่าถ้าอยากเล่นคลาริเนตเมื่อไรให้ทูลขอ ไม่ต้องไปซื้อ แต่ข้าพเจ้าก็ยังไม่อยากเป่าเห็นว่ายังเป่าแตรไม่เก่ง

ทรงสอนตั้งแต่เรื่องส่วนต่างๆ ของแตร กำพวด (mouth piece) ต่างกันเสียงก็ต่างกัน เป่าได้ยากง่ายต่างกัน เริ่มต้นเป่าเสียงต่างๆ ทีละเสียง เริ่มแต่เสียงที่ไม่ใช้นิ้วกด ต้องหัดทำปากให้แข็งๆ (ทำยากมาก) เป่าให้สูงขึ้นทุกทีๆ เช่น โด ซอล โด มี ภายหลังจึงเรียนเสียงอื่นที่ต้องใช้นิ้วเรียนเสกล บางทีก็ทรงให้หมอทวีศักดิ์สอน เมื่อเล่นเสียงต่างๆ พอจะได้ก็ให้เล่นเพลงง่ายๆ เช่น เพลง Three Blind Mice, Old Folk at Home, Home Sweet Home เวลาเล่นข้าพเจ้ามักขี้โกง ใช้นำเอาแทนที่จะดูโน้ต ทรงบังคับให้ดูโน้ตไปพลางจนอ่านโน้ตออก จากเพลงพื้นฐานก็ทรงเขียนแบบฝึกหัดให้หัดเป่า และโน้ตเพลงต่างๆ ให้เล่นประสานเสียงกัน บางทีพวกเราก็ไปหาเพลงจากข้างนอก (เรียกว่าเพลงนอกหลักสูตร) มาเล่น เช่น เพลงไทย อย่างคลื่นกระทบฝั่งลาวดวงเดือน ลาวดำเนินทราย ลาวคำหอม นกขมิ้น มาเล่น”

ไม่ใช่แต่เพียงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เท่านั้น ที่ทรงเป็นครูทางด้านดนตรี ให้แก่สมเด็จพระเทพฯ แม้แต่สมเด็จพระราชินีเอง ก็ทรงเคยสอนเปียโนแด่สมเด็จพระเทพฯ ด้วยเช่นกัน โดยสมเด็จพระเทพฯ ทรงเล่าเรื่องพระราชทานให้ฟัง ถึงความประทับใจในวิธีการสอนเปียโน ของสมเด็จฯ ไว้ว่า

"ตัวอย่างของการสอนให้รู้จักตัดสินใจด้วยตัวเอง คือ ตอนที่เรียนเปียโน ข้าพเจ้าชอบแต่เพลงเพราะๆ แต่ขี้เกียจฝึกซ้อม จึงเล่นไม่ได้สักทีต้องคอยควบคุมคอยดุกัน
วิธีที่สมเด็จแม่ทรงจัดการกับข้าพเจ้าได้ผล...คือแทนที่จะกำหนดเวลาซ้อม กลับกำหนดจำนวนบรรทัด (โน้ต) ที่จะต้องเล่นให้ได้ภายในวันหนึ่ง จะต้องใช้เวลาซ้อมนานเท่าไร ข้าพเจ้าจะต้องรู้จักแบ่งเวลาเองให้ถูกต้อง
ในภายหลังข้าพเจ้าไปทูลต่อรองว่าขอเลิกเล่นเปียโน แต่จะขอเรียนภาษาฝรั่งเศสแทน รับสั่งว่าไม่ต้องเรียนเปียโนก็ได้ แต่จะเรียนภาษาฝรั่งเศสต้องเรียนภาษาละตินก่อน ..เรื่องดนตรีนั้นท่านว่าให้เรียนเอาไว้เล่นสนุกๆ อย่าให้ลืม..."

พระเทพฯทรงเล่าเรื่องประทับใจ พระอาจารย์คนแรกที่ทรงสอนแตรคือคนนี้


พระเทพฯทรงเล่าเรื่องประทับใจ พระอาจารย์คนแรกที่ทรงสอนแตรคือคนนี้


พระเทพฯทรงเล่าเรื่องประทับใจ พระอาจารย์คนแรกที่ทรงสอนแตรคือคนนี้

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์