พ่อแม่ยุคใหม่กับ 7 เทคนิค พิชิต วัยว้าวุ่น


ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

คอลัมน์ สรรหามาขยาย

เคยได้ยินหลายคนพูดว่า ′เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อยแต่ใครเลยจะรู้ว่าเป็นพ่อแม่วัยรุ่นนั้นเหนื่อยกว่า (มากก) เพราะเด็กวัยรุ่นสมัยนี้โตเร็วแถมยังมีสิ่งเร้ามากมาย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือเรื่องราวในซีรีย์สุดฮอท Hormones วัยว้าวุ่น ที่ตีแผ่ชีวิตวัยรุ่นแบบหมดเปลือก ทั้งยังถ่ายทอดปัญหาวัยรุ่นอย่างตรงไปตรงมา ตั้งแต่เรื่องเพศสัมพันธ์ การทะเลาะวิวาท ไปจนถึงปมด้อยทางร่างกาย ชนิดที่ว่าจริงจนผู้ใหญ่อย่างเราจุก! แล้วแบบนี้พ่อแม่ยุคใหม่ควรตั้งรับอย่างไร? ลองตามไปฟัง ผู้เชี่ยวชาญด้านครอบครัวให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องนี้


พ่อแม่ยุคใหม่กับ 7 เทคนิค พิชิต วัยว้าวุ่น


รศ.ดร.สุธรรม นันทมงคลชัย หัวหน้าภาควิชาอนามัยครอบครัว คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า วัยรุ่นไทยยุคใหม่คือเด็ก Gen Y ที่ใจร้อนและความอดทนต่ำ ซึ่งมักจะมีปัญหาเรื่องการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมทั้งที่บ้าน โรงเรียนรวมถึงในที่สาธารณะ สาเหตุหลักของปัญหาเหล่านี้เกิดจากโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นพ่อแม่ยุคใหม่จึงต้องปรับตัวให้ทัน โดยมีเทคนิคง่ายๆ 7 ข้อ

1. เข้าใจพัฒนาการ พ่อแม่ควรทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกายและสังคม ในส่วนของพัฒนาการทางร่างกายของวัยรุ่นจะเป็นไปตามช่วงวัย ทำให้หลายคนมีปัญหากับการเปลี่ยนแปลงนั้น เช่น เด็กผู้หญิงที่เข้าสู่วัยรุ่นตอนต้นจะเริ่มมีประจำเดือน รวมถึงเด็กชายที่มีความเปลี่ยนแปลงทางเพศ ฯลฯ คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ส่วนพัฒนาการทางด้านสังคมและจิตใจก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน โดยเด็กๆ จะให้ความสำคัญกับกลุ่มเพื่อนและมักต้องการใช้เวลาอยู่กับเพื่อนมากกว่าครอบครัว บางครั้งการให้คำแนะนำผิดๆ รวมถึงความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเพื่อนวัยเดียวกัน อาจเป็นบ่อเกิดของปัญหาต่างๆ ทั้งการทะเลาะวิวาท ยาเสพติด รวมถึงปัญหาชู้สาว ฯลฯ พ่อแม่ทั้งหลายจึงควรเข้าใจพฤติกรรมเหล่านี้และต้องพยายามเข้าถึงกลุ่มเพื่อนของลูก เพื่อดูแลให้พวกเขามีวิธีคิดและพฤติกรรมที่เหมาะสม ในขณะเดียวกันก็ยังได้รับความสนุกสนานร่วมกับกลุ่มเพื่อนได้

2. ให้เวลา การให้เวลาเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ทั้งหลายควรทำ โดยหากเป็นคุณพ่อคุณแม่ที่ทำงานทั้งคู่อาจใช้เวลาช่วงเย็นหลังเลิกงานเพื่อนั่งรับประทานอาหารร่วมกันหรือหากมีโอกาสนั่งดูโทรทัศน์ด้วยกันพ่อแม่อาจใช้สื่อโทรทัศน์เป็นเครื่องมือชี้แนะ พร้อมชักชวนให้เด็กๆ ร่วมพูดคุย แสดงความเห็นและวิเคราะห์สิ่งต่างๆ โดยพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ ′คำสั่ง′ หรือ ′การห้าม′ แต่ควรสร้างความเข้าใจที่เห็นตัวอย่างชัดเจน

3. แสดงความรัก (สัมผัสทางกายและใจ) ในสังคมไทยเมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่นพ่อแม่จะเริ่มมีสัมผัสทางกายและพูดคุยกับลูกน้อยลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดีนักเพราะการสัมผัสทางกาย โอบกอด พูดคุย และการให้กำลังใจ จะก่อให้เกิดความผูกพันธ์และความอบอุ่นแก่ลูก หากลูกมีปัญหาหรือไม่สบายใจทั้งในเรื่องเรียนหรือเรื่องเพื่อนการแสดงความรักจะช่วยให้เขารู้สึกอุ่นใจและหันมาปรึกษาพ่อแม่ แทนที่การเที่ยวเตร่ ดื่มสุรา หรือเสพยาเสพติด ฯลฯ

4. เป็นแบบอย่างที่ดี 
พ่อแม่ไม่ควรบอกหรือสอนเพียงอย่างเดียว แต่ควรแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมให้ลูกเห็นว่าเป็นอย่างไร เช่น พ่อแม่อยากให้ลูกรักการอ่านก็ต้องอ่านหนังสือให้ลูกเห็น หรือในเรื่องพฤติกรรมสุขภาพ หากต้องการสอนไม่ให้ลูกสูบบุหรี่ กินเหล้า พ่อแม่ก็ต้องไม่ทำสิ่งเหล่านี้ให้ลูกๆเห็น เพราะหากพ่อแม่ทำในสิ่งที่ขัดแย้งกับคำสอนของตัวเอง เด็กๆจะเกิดความรู้สึกไม่เชื่อมั่นและอาจแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมเพื่อต่อต้าน เนื่องจากสิ่งที่เด็กในวัยนี้ต้องการเห็นมากที่สุดก็คือโมเดลหรือรูปแบบให้เขาเอาเยี่ยงอย่าง

5. ชมเชยเมื่อทำดี หลายครั้งที่เราเห็นว่าพ่อแม่ไม่ชื่นชมหรือเพิกเฉยต่อสิ่งดีๆ ที่ลูกทำ อาจเป็นเพราะความเขินอาย หรือความเชื่อผิดๆ ที่คิดว่าจะทำให้ลูกเหลิง ทั้งที่จริงแล้วพ่อแม่ควรแสดงความชื่นชมลูกอยู่เสมอ แม้ในยามที่เขาทำความดีเล็กๆ น้อยๆ อย่าง การได้รับเลือกเป็นหัวหน้าห้องหรือการกลับบ้านตรงเวลาก็ตาม การชื่นชมจะทำให้เด็กๆ รู้สึกมีคุณค่าและเชื่อมั่นในการทำความดี ทั้งยังช่วยให้เขาเป็นผู้ใหญ่ที่มีความมั่นคงทางจิตใจและเติบโตเป็นคนดีของสังคม 

6. ขอโทษเมื่อทำผิด
 คนไทยมักมีข้อยกเว้นให้ผู้ใหญ่อยู่เสมอ โดยมองว่าผู้ใหญ่คือผู้ที่สามารถทำอะไรก็ได้โดยไม่ผิด สิ่งเหล่านี้จะสร้างปมให้เด็กๆ เกิดการตั้งคำถามและต่อต้านการกระทำของผู้ใหญ่ ทั้งยังอาจลุกลามกลายเป็นการแสดงความก้าวร้าวรุนแรง หรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอื่นๆ ดังนั้นพ่อแม่ทั้งหลายจึงควรแสดงความรู้สึกผิดด้วยการกล่าวคำ ′ขอโทษ′ พร้อมอธิบายเหตุผลในยามที่ทำผิดพลาดหรือผิดคำสัญญาแม้เป็นเรื่องเล็กน้อยอย่าง การผิดนัดหรือลืมวันเกิดของลูกก็ตาม

7. ชักชวนให้ทำดี
 หลายคนมองว่าเด็กสมัยนี้เห็นแก่ตัวมากขึ้นอาจเป็นเพราะสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ทุกคนต่างเร่งรีบและมุ่งเอาตัวรอดเพื่อประโยชน์ของตนเอง ส่งผลให้คนไทยช่วยเหลือเกื้อกูลกันน้อยลง เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เด็กๆ มีจิตใจที่ดีงาม พ่อแม่จึงควรชักชวนให้ลูกทำความดีอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีผ่านเรื่องเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การคืนเงินทอนที่พ่อค้าแม่ค้าทอนผิด การคืนกระเป๋าสตางค์หรือสิ่งของที่เก็บได้ การตักบาตรทำบูญ นอกจากนี้หากเป็นลูกชาย พ่อแม่ยังควรสอนให้รู้จักให้เกียรติเพศหญิง ซึ่งเป็นพื้นฐานของสุภาพบุรุษที่ดี

พ่อแม่คนไหนทำได้ตามนี้ รับรองว่าการรับมือกับวัยรุ่นยุคใหม่จะไม่ใช่เรื่องบีบหัวใจอีกต่อไป




ที่มา : หน้าพิเศษ Hospital Healthcare นสพ.มติชน


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์