ฟังลูกคุยวันละ 5 - 20 นาทีแล้วจะเกิดเด็กดีที่มีความสุข











 
 

 เป็นที่ทราบกันดีว่า ช่วงปฐมวัยของเด็กนั้นเป็นช่วงที่สำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็กเล็กที่กำลังเตรียมความพร้อม หรือในเด็กที่โต
     ขึ้นมาอีกนิด และเดินเข้าโรงเรียนไปแล้ว เพราะในโลกแห่งการศึกษานั้น ยังมีอีกหลายสิ่งมากมายที่ถือได้ว่าเป็น "โลกใบใหม่" สำหรับเด็ก คุณพ่อคุณแม่จึงต้องเอาใจใส่และสนใจพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เด็กแสดงออกมา โดยเฉพาะต้องรับฟังสิ่งที่เด็ก ๆ อยากจะพูด อยากจะเล่าให้ฟัง เพราะการที่เด็กๆ มีเรื่องมาเล่าให้พ่อแม่ฟังนั้น หมายถึงว่าเขามีพัฒนาการในด้านความคิด ความรู้สึกและจินตนาการ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่จำเป็นในชีวิตของเด็กๆ ทุกคน
       
       ดร.ฉัฐวีณ์ สิทธิศิรอรรถ อาจารย์ภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) พูดถึงประเด็นที่เด็ก ๆ ไปพบสิ่งใหม่ ๆ ที่โรงเรียนว่า จะทำให้ เมื่อเด็กกลับมาถึงบ้าน พวกเขาอยากจะพูดอยากจะคุยให้ให้พ่อ แม่หรือปู่ ย่า ตายายได้ฟัง
       
       "ผู้ใหญ่ควรให้เวลากับเด็ก และรับฟังเขาอย่างตั้งใจ เพราะในจุดนี้จะทำให้เขาเกิดการพัฒนาทางภาษา เด็กจะถ่ายทอดประสบการณ์และจินตนาการของเขาออกมาทางคำพูด ยิ่งพ่อแม่สนใจและตั้งใจฟังสิ่งที่เด็กๆ เล่า รวมถึงมีการถามคำถาม จะยิ่งกระตุ้นความคิดของเด็ก และทำให้เขามีพัฒนาการที่ดีในการด้านความคิด และการหาคำตอบ เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยพ่อแม่ก็ได้เรียนรู้ว่าเด็กกำลังคิดอะไรอยู่ มีความรู้สึกอย่างไรกับโรงเรียน รู้สึกอย่างไรกับครู และเพื่อนๆ ทั้งนี้ถ้าเด็กๆ คิดอะไรอยู่เช่นกำลังคิดจะแกล้งเพื่อนหรือถูกเพื่อนแกล้ง พ่อแม่จะมีโอกาสตักเตือนและสอนลูกได้จากเรื่องเล่าประจำวันที่เกิดขึ้นเมื่อไปโรงเรียน ซึ่งแต่ละวันเด็กๆ จะเล่าเรื่องตัวเองโดยใช้เวลาอย่างมากที่สุด 5 -20 นาที ดังนั้นพ่อแม่ควรจะจัดสรรเวลาส่วนนี้ให้ลูก เนื่องจากเป็นเวลาที่มีคุณค่ากับเด็กๆ และพ่อแม่"
       
       ดร.พัฒนา ชัชพงศ์ อาจารย์ภาควิชาปฐมวัย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า
การที่พ่อแม่รับฟังเรื่องเล่าจากลูกๆ จะทำให้เด็กรู้สึกดี สบายใจและมีความสุข และการฟังเพียงอย่างเดียวก็ไม่เกิดประโยชน์ พ่อแม่หรือผู้ปกครองต้องแลกเปลี่ยนและพูดคุยกับเด็กๆ ด้วย อย่างเช่นเมื่อเด็กๆ เล่าว่าไปโรงเรียนได้เล่นสนุก มีของเล่นเยอะแยะ และได้ฟังนิทานจากคุณครู พ่อแม่ต้องถามต่อว่าแล้วหนูเล่นกับใคร มีเพื่อนชื่ออะไรบ้าง คุณครูที่เล่านิทานชื่ออะไร ไหนลองเล่าให้แม่ หรือให้พ่อฟังซิว่า นิทานเรื่องที่หนูฟังมาจากคุณครูมันสนุกอย่างไร เด็กๆ ก็จะเล่าและพูดคุยต่อ การพูดคุยจึงมีการต่อเนื่อง เด็กๆ จะเกิดพัฒนาทางภาษา เกิดความคิดและจินตนาการ การฟังเด็กๆ เล่าเรื่องราวของตัวเองที่โรงเรียนจึงเป็นการพัฒนาเด็กอย่างง่ายๆ ที่พ่อแม่สามารถช่วยลูกได้ และจะก่อให้เกิดคุณค่าต่อเด็กคนนั้นมากมาย
       

       “การฟังเรื่องราวของเด็กๆ จะทำให้พ่อแม่เห็นการพัฒนาการและการปรับตัวเพื่อเข้าสังคมของเด็กๆ ได้อย่างชัดเจน เพราะเขาจะเล่าว่าวันนี้เขารู้จักเพื่อนคนนั้นคนนี้ รู้จักและได้ช่วยคุณครูทำงาน สิ่งสำคัญพ่อแม่ต้องพูดทัศนะเชิงบวกเกี่ยวกับโรงเรียนให้เด็กๆ ฟัง ไม่ใช่สร้างทัศนะเชิงลบให้เด็กรู้สึกหวาดกลัวโรงเรียนและมีทัศนะที่ไม่ดีต่อโรงเรียน ดังนั้นการพูดคุยกับเด็กๆ เกี่ยวกับเรื่องราวในโรงเรียนจึงควรเป็นเรื่องที่ดีๆ ไม่ควรขู่เด็กเกี่ยวกับโรงเรียนเช่น ถ้าเด็กๆ ดื้อจะส่งไปให้ครูที่โรงเรียน ซึ่งเด็กๆ จะรู้สึกว่าโรงเรียนคือสถานที่ที่น่ากลัว เขาจะรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นนักโทษและมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อโรงเรียน แม้ว่าโรงเรียนแห่งนั้นจะมีการเรียนการสอนที่ดีและมีกิจกรรมที่แสนสนุกอย่างไรก็ตาม เพราะเด็กๆ ถูกประทับความรู้สึกที่ไม่ดีเกี่ยวกับโรงเรียน กว่าที่เขาจะปรับตัวเองได้เพื่อเรียกความรู้สึกดีๆ และความมั่นใจที่มีต่อโรงเรียนกลับมานั้นจึงต้องใช้เวลาเป็นการบำบัด จะเห็นว่าคำพูดหรือถ้อยคำที่พ่อแม่ส่งผ่านไปถึงลูกนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องให้ความสำคัญอย่างมาก"
       
       เป็นเวลาที่ไม่มากเลย เพียงแค่ 5 - 20 นาที แต่ประโยชน์ที่ได้ นอกจากความอบอุ่นในครอบครัวแล้ว ยังทำให้เด็กมีพัฒนาการทางภาษาที่รวดเร็วอีกด้วย คุณพ่อคุณแม่ท่านใดทราบเทคนิคดี ๆ เหล่านี้แล้วก็อย่ารอช้า หาเวลาคุยกับลูกด้วยทัศนคติเชิงบวกกันดีกว่าค่ะ

 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://board.postjung.com/topic-409427.html


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์