ฟันธง! ‘ฟันคุด’ ผ่าออกหรือเก็บไว้?

ฟันธง! ‘ฟันคุด’ ผ่าออกหรือเก็บไว้?



เรื่องที่หลายคนกังขาอย่าง ‘ฟันคุด’ ฟันซี่ที่โผล่ขึ้นมาจากเหงือกเพียงบางส่วน หากปัญหานั้นเกิดขึ้นแล้วจำเป็นต้องถอดหรือผ่าออกหรือไม่ 

ก่อนอื่น เมื่อสังเกตพบฟันต้องสงสัย ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อเข้ารับการเอกซเรย์ หากมีฟันคุดจะทำให้ทราบว่าฟันคุดนั้นมีลักษณะเป็นแบบตั้งตรง เอียง หรือฝังอยู่ใต้เหงือกในแนวนอน ทั้งยังเป็นการบ่งบอกถึงความยาก-ง่ายของการถอนหรือผ่าออก

จากนั้นคำแนะนำของทันตแพทย์ คือ ควรผ่าฟันคุดออก เพื่อป้องกันปัญหาหลายหลากที่จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศษอาหารที่อาจเข้าไปติดค้างในซอกเหงือก จนไม่สามารถทำความสะอาดได้อย่างทั่วถึง เกิดการสะสมของแบคทีเรีย นานวันเหงือกจะเกิดอาการอักเสบ ปวด บวม เป็นหนอง อาจลุกลามไปยังแก้ม ใต้คาง ใต้ลิ้น และส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย บางรายมีอาการอักเสบแบบเป็น ๆ หาย ๆ โดยเชื้อแบคทีเรียมีโอกาสก่อตัวเป็นเนื้อร้ายได้!

ปัญหาที่พบตามมาคือ กลิ่นปากที่มีอยู่ตลอดเวลาจากเศษอาหารและเชื้อโรคที่สะสม นอกจากนั้นแล้วยังสี่ยงต่อการเกิดฟันผุที่ลุกลามไปจากฟันคุดสู่ซี่ที่อยู่ติดกัน ดังนั้นการไม่ถอนหรือผ่าฟันคุดออก อาจทำให้ต้องเสียฟันมากกว่าซี่ที่เป็นฟันคุด

อีกทั้งแรงดันเพื่อพยายามดันตัวให้โผล่พ้นเหงือกของฟันคุด พาลทำให้รู้สึกปวดศีรษะแบบไม่รู้สาเหตุ หรือเกิดอาการปวดตึงช่วงฟันกรามตลอดเวลาโดยไม่ทราบว่าต้นตออยู่ที่ฟันซี่ใด รวมถึงการดันตัวจนเกิดฟันซ้อนเกที่ฟันหน้าด้านล่าง

ทั้งยังเสี่ยงให้เนื้อเยื่อที่หุ้มรอบฟันคุดขยายใหญ่กลายเป็นถุงน้ำแบบไม่แสดงอาการ โดยจะส่งผลให้ฟันซี่ข้าง ๆ และกระดูกรอบบริเวณถูกทำลาย

กระดูกขากรรไกรจะบางและหักได้ง่าย เนื่องจากตำแหน่งที่ฟันคุดฝังตัวอยู่นั้น กระดูกขากรรไกรจะบางกว่าตำแหน่งอื่น กลายเป็นจุดอ่อนกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ เกิดการกระแทกอาจหักได้

อย่างไรก็ตาม ทันตแพทย์สามารถแก้ไขปัญหาฟันคุดในช่วงอายุระหว่าง 18-25 ปี ได้ง่าย แผลจะหายเร็ว และอาการแทรกซ้อนหลังผ่าตัดเกิดขึ้นน้อย.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์