ภควัทคีตา คัมภีร์ในศาสนาฮินดู

ภควัทคีตา คัมภีร์ในศาสนาฮินดู


"ภควัทคีตา" แปลว่า บทเพลงแห่งพระผู้เป็นเจ้า

เป็นชื่อคัมภีร์สำคัญหนึ่งของศาสนาฮินดูนิกายไวษณพที่ยกย่องพระวิษณุ (พระนารายณ์) เป็นพระเจ้าสูงสุด เชื่อกันว่าผู้รจนาคัมภีร์นี้คือ "ฤาษีเวทวยาส" หรือเรียกอีกชื่อว่า "กฤษณะ ไทวปายนวยาส" ผู้รจนามหากาพย์ "มหาภารตะ" และคัมภีร์นี้ก็เป็นบรรพหนึ่งของมหากาพย์นั้น เรียกชื่อว่า "ภีษมพรรพ"

ได้แก่บรรพที่ "ศรี กฤษณะ" (ถือกันว่าเป็นนารายณ์อวตารปางกฤษณาวตาร) ผู้เป็นทั้งพระสหายและสารถีรถศึกของ "เจ้าชายอรชุน" ตอบปัญหาและอธิบายความถวายเจ้าชายอรชุน เจ้าชายฝ่ายปาณฑพแห่งจันทรวงศ์ ขณะทรงหดหู่และท้อถอยพระทัยที่ต้องนำทัพออกทำสงครามชิงเมืองกับเจ้าชายทุรโยชน์ เจ้าชายฝ่ายเการพ แห่งจันทรวงศ์เช่นกัน เพราะทรงเห็นว่าล้วนเป็นพระญาติกันทั้งสิ้น

ภควัทคีตา มี 18 อัธยายะ

หรือบท 1.อรชุนวิษาทโยคะ (ความท้อถอยของอรชุน) 2.สางขยโยคะ (หลักทฤษฎี) 3.กรรมโยคะ (หลักปฏิบัติ) 4.ชญาณกรรมสันยาสโยคะ (หลักจำแนกญาณ) 5.กรรมสันยาสโยคะ (หลักว่าด้วยการสละกรรมและการประกอบกรรม) 6.ธยานโยคะ (หลักการเข้าฌาน) 7.ชญาณโยคะ (หลักญาณ) 8.อักษรพรหมโยคะ (หลักว่าด้วยพรหมไม่เสื่อมเสีย) 9.ราชวิทยาราชคุยหโยคะ (หลักว่าด้วยเจ้าแห่งวิทยาและเจ้าแห่งความลึกลับ) 10.วิภูติโยคะ (หลักทิพยศักดิ์) 11.วิศวรูปทรรศนโยคะ (หลักว่าด้วยการเห็นธรรมกาย)


12.ภักติโยคะ (หลักความภักดี) 13.เกษตรชญวิภาคโยคะ (หลักจำแนกร่างกายและผู้รู้ร่างกาย) 14.คุณตรัยวิภาคโยคะ (หลักจำแนกคุณ 3) 15.ปุรุโษตตมโยคะ (หลักว่าด้วยบุรุษประเสริฐ) 16.ไทวาสุรสัมปทวิภาคโยคะ (หลักว่าด้วยการจำแนกเทวสมบัติและอสูรสมบัติ) 17.ศรัทธาตรัยวิภาคโยคะ (หลักจำแนกศรัทธา 3) 18.โมกษสันยาสโยคะ (หลักว่าด้วยการสละที่เป็นปฏิปทาแห่งโมกษะ)

คัมภีร์ภควัทคีตาว่าด้วยหลักธรรม 2 ประการ

คือ หลักอภิปรัชญา ว่าด้วยเรื่องอาตมันว่ามีสภาพเป็นสัตว์ที่เที่ยงแท้ถาวร ไม่มีใครฆ่าหรือทำลายได้ และหลักจริยศาสตร์ ว่าด้วยธรรมะหรือหน้าที่ของกษัตริย์ คือหน้าที่รบเพื่อทำลายล้างอธรรม และผดุงศีลธรรมโดยไม่หวังผลตอบแทน


บทสนทนาโต้ตอบระหว่างศรี กฤษณะกับเจ้าชายอรชุน ถ่ายทอดโดย "สญชัย" เสวกามาตย์ของพระเจ้าธฤตราษฎร์ พระราชาพระเนตรบอดแห่งเมืองหัสตินาปุระ โดยมหาฤษีเวทวยาสเป็นผู้ให้ตาทิพย์แก่สญชัย เพื่อแลเห็นเหตุการณ์รบพุ่งในมหาสงครามอย่างแจ่มแจ้งทั้งๆ ที่นั่งอยู่ในพระราชวัง และคอยกราบทูลพระเจ้าธฤตราษฎร์ให้ทราบการเคลื่อนไหวทุกขณะในสมรภูมิ ถ้อยคำที่สญชัยเรียบเรียงทูลดังกล่าว ให้ชื่อกันภายหลังว่า ภควัทคีตา





แหล่งที่มา : มติชน

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์