ภูมิแพ้อาหารแฝง ภัยเงียบที่เป็นโดยไม่รู้ตัว

ภูมิแพ้อาหารแฝง ภัยเงียบที่เป็นโดยไม่รู้ตัว


“อาหาร” เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้คนเราสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่เชื่อหรือไม่คะว่า? อาหารที่เรารับประทาน เพื่อหวังที่จะต้องการพลังงานและสารอาหารจากมันนั้น มันกลับก่อให้เกิดโรคร้ายแก่เราอย่างเงียบ ๆ และโรคที่ว่านี้ก็คือ “โรคภูมิแพ้อาหารแฝง” ค่ะ

ด้วยสิ่งแวดล้อมและภาวะที่เร่งรีบของชีวิตคนในยุคปัจจุบัน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้เราวนเวียนกับการรับประทานอาหารแบบเดิม ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเช่นนี้ ซึ่งการรับประทานอาหารซ้ำ ๆ แบบเดิมต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ๆ นั้นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้อาหารแฝงนั่นเองค่ะ



โรคภูมิแพ้อาหารแฝงนี้แตกต่างจากโรคภูมิแพ้อาหารอย่างที่เราคุ้นชินกันนะคะ การแพ้อาหารนั้น เป็นการตอบสนองของร่างกายกับสารบางชนิดในอาหาร ทั้ง ๆ ที่สารนั้นไม่ได้เป็นสารพิษแต่อย่างใดค่ะ ซึ่งการแพ้อาหารโดยทั่วไปมักเกิดอย่างฉับพลันทันที หรือเว้นระยะเพียงเล็กน้อยหลังรับประทาน ต่างจากโรคภูมิแพ้อาหารแฝง ที่ไม่มีการแสดงออกถึงอาการแพ้แต่อย่างใด

โดยทั่วไปแล้ว ร่างกายของคนเรานั้นจะมีระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีโปรตีนตัวหนึ่งที่เรียกว่า แอนติบอดี (Antibody) หรือ อิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin ; Ig) ซึ่งจะพบได้ในสารคัดหลั่งและเนื้อเยื่อ มีอยู่ด้วยกัน 5 ชนิด คือ IgG, IgA, IgM, IgD และ IgE อิมมูโนโกลบูลินแต่ละชนิดจะมีบทบาทหน้าที่การทำงานที่แตกต่างกันออกไป ซึ่ง รคภูมิแพ้อาหารปกตินั้นเกิดจาก อิมมูโนโกลบูลินชนิด อี (Ig E) และเซลล์ที่สำคัญ ได้แก่ มาสต์เซลล์ ที่อยู่ในเนื้อเยื่อ โดยอาหารจะไปกระตุ้นให้เกิดการสร้าง Ig E ที่มีความจำเพาะกับมาสต์เซลล์นั้น จนทำให้มาสต์เซลล์หลั่งสารเคมีที่เรียกว่า ฮิสตามีน (Histamine) ไปตามเนื้อเยื่อบริเวณต่าง ๆ สารฮีสตามีนนี้จะทำให้เกิดอาการคัน บวม หรือผื่นแดงขึ้น ยิ่งถ้ามีอาการแพ้มาก ก็จะตรวจพบ Ig E สูงมากเช่นกัน



ส่วนโรคภูมิแพ้อาหารแฝงนั้น ไม่ได้แสดงอาการเฉียบพลันทันทีทันใด แต่จะค่อย ๆ สะสมเป็นภัยคุกคามอย่างเงียบ ๆ โดยอาหารจะไปกระตุ้น อิมมูโนโกลบูลินชนิด จี (Ig G) แต่จะไม่ได้ไปกระตุ้นมาสต์เซลล์อย่างการแพ้อาหารปกติ ทำให้ไม่แสดงอาการแพ้ แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ เมื่อเรารับประทานอาหารวนเวียนซ้ำ ๆ ในแบบเดิมอยู่เรื่อย ๆ ร่างกายเราก็จะได้รับสารอาหารชนิดเดิม ๆ ซึ่งจะเป็นการไปกระตุ้น Ig G ให้มีการสร้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมากเกินกว่าที่ร่างกายจะกำจัดให้หมดออกไปได้ จนกลายมาเป็นสารภูมิต้านทานอิสระ และค่อย ๆ กระตุ้นให้เกิดโรคเรื้อรังในที่สุด

ผลกระทบจากโรคแพ้อาหารแฝงนี้ มักขึ้นอยู่กับปริมาณอาหารที่ได้รับ ซึ่งมักมีอาการหลากหลาย ตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาใหญ่ เช่น บางคนแพ้เครื่องสำอางค์ที่ใช้มาเป็นระยะเวลานานแล้ว หรือเป็นสิวเรื้อรัง แม้อายุจะผ่านพ้นช่วงมีประจำเดือนแล้วก็ตาม หรือลุกลามกลายเป็นโรคเรื้อรัง เช่น หวัดเรื้อรัง ข้ออักเสบเรื้อรัง และอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจ เช่น ภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง หรือออทิสติก เป็นต้น



ส่วนการทดสอบโรคภูมิแพ้อาหารแฝงนี้ ไม่สามารถทำได้ด้วยการทดสอบทางผิวหนังนะคะ แต่เราต้องทำการเจาะเลือด และนำเลือดไปตรวจหาปฏิกิริยาของเม็ดเลือดขาวกับอาหารชนิดนนั้น ๆ ซึ่งถ้าหากรู้ว่าตนเองแพ้อาหารชนิดใด ก็ควรหลีกเลี่ยงรับประทานอาหารชนิดนั้นไประซักระยะหนึ่ง อาจประมาณ 1-6 เดือน และหลังจากนั้นก็จะสามารถกลับมาทานอาหารได้ตามปกติอีกครั้งหนึ่ง โดยไม่เกิดอาการใด ๆ ค่ะ

ทุกสิ่งอย่าง...หากตั้งอยู่บนความสมดุล มักเกิดคุณค่าและประโยชน์แก่ตนเองอย่างยิ่ง ในการรับประทานอาหารก็เช่นกัน หากรู้จักเลือกรับประทานอาหาร โดยไม่รับประทานอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไป หรือน้อยเกินไป แต่ควรรับประทานอาหารให้พอดี ซึ่งคำว่า "พอดี" ในที่นี้ ก็คือพอดีทั้งด้านชนิดและปริมาณของอาหาร โดยให้เกิดความหลายหลาย ไม่ซ้ำซากจำเจ เพราะสุขภาพหาซื้อไม่ได้ด้วยเงินนะคะ


วิชาการ.คอม


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์