มนุษย์ป้า กับพฤติกรรมไม่ควรนำเป็นแบบอย่าง


มนุษย์ป้า กับพฤติกรรมไม่ควรนำเป็นแบบอย่าง


หากเอ่ยถึง “มนุษย์ป้า” หลายคนอาจจะนึกถึงคนที่ทำอะไรตามใจตนเองโดยไม่สนใจคนรอบข้าง ไม่คำนึงถึงกฎเกณฑ์ ไม่มีระเบียบวินัย แต่กลับแสดงพฤติกรรมที่เห็นแก่ตัว จนน่ารังเกียจ

          พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รอง ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า มนุษย์ป้าเป็นคนเอาตัวรอดเก่ง ไปก่อนได้ก่อน ใครเผลอก็เสียบแทน ไม่มีระเบียบ เพราะอยู่ในสังคมที่เอาตัวรอด มิฉะนั้นจะถูกเอาเปรียบ อย่างการขับรถยนต์ คนอื่นขับรถไปตามเลน แต่เจอคนที่ขับปาดขวาปาดซ้ายก็สามารถไปได้ก่อนเป็นการเอาตัวรอด แต่การเอาตัวรอดของมนุษย์ป้าแบบสุด ๆ คือ น่าเกลียดเกิน ถามว่าคนที่ขับรถถูกกฎจราจรรู้สึกไหมก็รู้สึก แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เช่นกัน ถ้าไปอยู่ตรงที่ไม่มีระเบียบ แย่งกันซื้อของ ถ้าทำตัวแบบผู้ดีคงยากที่จะได้ของ ต้องเป็นมนุษย์ป้าเท่านั้น ซึ่งบางทีก็มีประโยชน์ถ้าใช้ในการวางแผนชีวิต ไม่ให้คนอื่นมาเอาเปรียบ แต่ไม่เหมาะสมที่จะไปเอาเปรียบคนอื่น

          มนุษย์ป้าจะหมดไป ต้องทำให้ประเทศชาติมีระเบียบวินัย ถ้าเราไปประเทศที่มีระเบียบวินัย มนุษย์ป้าก็น้อย เช่น ประเทศญี่ปุ่น แทบไม่มีเลย แต่บางประเทศ รวมถึงประเทศไทยอาจจะมีมาก ดังนั้น ต้องสอนลูกหลานให้มีระเบียบวินัย รู้จักสิทธิตัวเอง สิทธิผู้อื่น อย่าละเมิดสิทธิคนอื่น ต้องรู้จักรอคอย ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่เด็ก แต่ถ้าสังคมเรียนรู้ว่าเป็นคนดีแล้วถูกลัดคิว เป็นคนดีแล้วสุดท้ายก็ช้า อย่าเป็นดีกว่า เพราะลัดคิวแล้วก็ไม่เห็นจะมีอะไรเกิดขึ้น ดีด้วยซ้ำ ได้นั่งแถวหน้า ได้ของก่อน ได้กลับบ้านก่อน ถามว่าแก้ได้หรือไม่ ตอบว่าแก้ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นพฤติกรรม

          ขณะเดียวกันสังคมต้องมีกฎระเบียบ และเคารพกฎระเบียบ มนุษย์ป้าก็จะกลายเป็นตัวประหลาด ถูกด่าถูกว่า ถ้าต่างคนต่างแย่งกันแซงคิว เห็นแก่ตัว ก็คงไม่มีระเบียบวินัย

          กรณีที่มนุษย์ป้าแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม ก็ต้องบอกไปตรง ๆ แม้มนุษย์ป้าบางคนบอกไปแล้วไม่สนใจ ก็ต้องบอก คือ ไม่ได้ด่า แต่เป็นการพิทักษ์สิทธิของเรา โดยใช้คำสุภาพ เช่น ถ้ามีการแซงคิว ต้องบอกว่า เรามาก่อน แถวอยู่ตรงนี้นะ บอกข้อเท็จจริงไป ไม่ใช่ไปพูดว่าทำไมนิสัยแบบนี้ ซึ่งเป็นการบอกด้วยความรู้สึก ด้วยการด่ากัน อาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้

          ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเสริมว่า พฤติกรรมตรงนี้เป็นประเด็นที่มีการพูดคุยกันมาตลอดเรื่องความเป็นพลเมืองของเรา คือ ทุกคนมีความต้องการและจัดการไปสู่ความต้องการของตัวเอง แต่สิ่งที่ครอบอยู่บนความต้องการต้องสอดคล้องและไปสนับสนุนสิ่งที่เป็นส่วนรวม เป็นกติกาที่ทุกคนยอมรับ

ต้องบอกว่าไม่ใช่ผู้หญิง และคนอายุมากเท่านั้นที่เป็นมนุษย์ป้า แต่ทุกเพศทุกวัยมีพฤติกรรมแบบนี้ได้

          การแก้ไขปัญหามนุษย์ป้า คือ ต้องปลูกฝังเด็กให้มีระเบียบวินัย ขณะเดียวกันสังคมต้องสร้างกฎและกติกาด้วย โดยร่วมมือกัน เพราะถ้าไม่มีใครเริ่มตั้งหัวขบวน ก็จะไม่มีคนต่อคิว ดังนั้นต้องมีคนยืนหยัดสร้างสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น คือต้องช่วยกันทำให้คนอื่นค่อย ๆ เข้ามาสู่กติกา


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์