มหาวาตภัยที่แหลมตะลุมพุก



มหาวาตภัยที่แหลมตะลุมพุก
  





ข้อมูลจริงจาก เหตุการณ์ "มหาวาตภัยที่แหลมตะลุมพุก"







ข้อมูลจริงจาก เหตุการณ์ "มหาวาตภัยที่แหลมตะลุมพุก"

1. เส้นผ่าศูนย์กลางของพายุ มีขนาด 300 กิโลเมตร หรือใหญ่เท่ากับจังหวัดนครศรีธรรมราช

2. ความเร็วลม 180 - 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

3. ความเร็วในการเคลื่อนที่ 92.622 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

4. เสียงดังเหมือนเครื่องบินไอพ่น, น้ำทะเลม้วนตัวสูงขึ้นเป็นทรงกระบอก สูงกว่าต้นตาลหลายสิบเท่า

5. พายุลูกนี้ชื่อ แฮเรียต เป็นพายุระดับโซนร้อน

6. ระดับความรุนแรงของพายุแบ่งออกเป็น
- ดีเปรสชั่น ความเร็ว 60 - 85 กม./ชม
- พายุโซนร้อน ความเร็ว 86 - 110 กม./ชม.
- พายุไต้ฝุ่น ความเร็ว 111 - 125 กม./ชม.

7. วันที่เกิดเหตุการณ์ 25 ตุลาคม พ.ศ.2505 เวลาประมาณ 19.00-22.30 น.

8. ท้องฟ้าแดงฉาน คลื่นสูงเทียมยอดสน (20 เมตร) ถล่มใส่แหลมตะลุมพุกลูกเดียว กินเวลา 3 ชั่วโมง บ้านเรือนก็เริ่มพัง และขณะที่ฝนตกลงมาเป็นบ้าเป็นหลัง ทั้งเด็กเล็กและผู้ใหญ่วัยชรา เริ่มร้องไห้กระจองอแง ไฟดับมืดไปทั้งตะลุมพุก

9. พอ 4 ทุ่ม คลื่นลมหยุดนิ่งเป็นปลิดทิ้ง จนชาวบ้านเข้าใจว่าพายุสงบแล้ว ผู้คนเริ่มออกมาสำรวจความเสียหาย

10. แต่อีกครึ่งชั่วโมงต่อมา พายุอีกลูกก็พัดสวนทางกับลูกแรก คราวนี้บ้านเรือนและผู้คน ถูกกวาดลงทะเลเหี้ยนเตียน พายุลูกหลังนี้ ทำให้ชาวบ้านล้มตายเป็นจำนวนมาก

(คำอธิบาย - รูปแบบของพายุ เป็นรูปวงกลม ตรงกลางเป็นช่องว่างเหมือนโดนัท เมื่อพายุลูกแรกซัดเข้าแหลม ก็จะนำน้ำทะเลปริมาณมหาศาล ขึ้นมาบนฝั่ง เมื่อเข้าสู่ศูนย์กลางของพายุ ลมจะสงบนิ่ง และเมื่อพายุเคลื่อนตัวออก ปีกของพายุด้านท้าย จะกวาดต้อนสิ่งของและผู้คนบนแผ่นดิน ลงไปสู่ทะเล)

11. ลักษณะพื้นที่ของแหลมตะลุมพุก คือแผ่นดินเล็กๆ ที่ยื่นออกไปในทะเล เมื่อถูกพายุซัดเข้าใส่ จะมีความรุนแรง มากกว่าพื้นแผ่นดินริมทะเลทั่วๆ ไปหลายเท่าตัว

12. ก่อนเกิดเหตุการณ์ น้ำทะเลบริเวณแหลมหดแห้ง หายไปในทะเลยาวนับกิโลเมตร มีหอยกาบปูขึ้นมาตายเต็มความยาวของหาด

13. ตำบลแหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง เป็นจุดที่ได้รับความเสียหายมากใน จ.นครฯ เป็นตำบลที่ถูกคลื่นยักษ์ กวาดบ้านเรือนและราษฎร ลงทะเลไปเกือบทั้งตำบล มีเหลือรอดอยู่เพียง 10 หลังคาเรือน มีผู้เสียชีวิตในตำบลนี้เกือบพันคน ที่เหลือตกอยู่ในสภาพสิ้นเนื้อประดาตัว ไร้ที่อยู่อาศัยและหิวโหย หลังพายุร้ายผ่านไป แหลมตะลุมพุกกลายเป็นสุสาน กลางคืนจะร้างผู้คน มีแต่ซากบ้านเรือนกับเศษสิ่งของ ที่ยืนยันได้ว่า ที่นี่เคยเป็นที่อยู่อาศัย ของคนหลายพันคนมาก่อน สุนัขเที่ยวขุดคุ้ยซากศพที่ถูกฝังไว้ ขึ้นมาด้วยความหิวโหย

14. พื้นที่บริเวณแหลมตะลุมพุก เป็นที่รวมของความหลากหลายทางวัฒนธรรม และศาสนา ที่สามารถอยู่กันได้อย่างกลมกลืน มีทั้งชาวไทยพุทธ, ชาวจีน, ชาวมุสลิม ที่เป็นชนส่วนใหญ่บนพื้นที่นั้น อาชีพหลักคือการทำประมง แต่หลังจากเหตุการณ์มหาวาตภัยครั้งนั้น เหลือแต่ชาวมุสลิมที่ทำนากุ้งเท่านั้น และลดจำนวนลงเป็นอย่างมาก ปัจจุบันถ้าไปยืนที่ปลายแหลม บางครั้งจะได้ยินเสียงลม ที่เคลื่อนที่เป็นวงกลมอยู่รอบๆ ตัว
15. ความเสียหายครั้งนั้น มูลค่ากว่า 377 ล้านบาท เป็นจุดเริ่มต้นของ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ

สรุปเหตุการณ์ "มหาวาตภัยถล่มภาคใต้" ปี พ.ศ. 2505

เมื่อวันที่ 25-26 ตุลาคม พ.ศ.2505 ได้เกิดมหาวาตภัยขึ้น ในภาคใต้ของประเทศไทย โดยที่แหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีการสูญเสียอย่างหนักกว่าที่ใด คลื่นใหญ่มหึมาม้วนตัวจากทะเลขึ้นบนบก กวาดสรรพสิ่งที่กีดขวาง ไม่ว่าจะเป็นเรือแพที่จอดอยู่ หรือบ้านเรือนริมทะเล ต้นไม้ ชีวิตคน สัตว์เลี้ยง ล้วนถูกคลื่นยักษ์ม้วนหายลงไปในทะเล โดยไม่มีโอกาสได้รู้ตัวล่วงหน้า ที่อยู่ห่างชายฝั่งลึกเข้าไปในแผ่นดิน ก็ถูกพายุโถมกระหน่ำโครมเดียว ปลิวว่อนบาดเจ็บล้มตายนับไม่ถ้วน คลื่นยักษ์กวาดบ้านเรือนและราษฎร ลงไปในทะเลเกือบทั้งตำบล เรียกว่าวาตภัยในครั้งนี้ มีความร้ายแรงที่สุด ในรอบศตวรรษเลยทีเดียว ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชที่มีอายุ 70-80 ปี บอกว่า เกิดมาก็เพิ่งเคยเห็น ความร้ายแรงของธรรมชาติ และเคยเห็นความเสียหายอย่างมากครั้งนี้เอง
จังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่ในสภาพเหมือนถูกปล่อยเกาะ เส้นทางที่จะติดต่อกับจังหวัดอื่น ถูกทำลายพินาศหมด ทั่วทุกหัวระแหงในจังหวัด อยู่ในสภาพขาดแคลนทั้งเสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย อาหาร ยารักษาโรค ไฟฟ้าในจังหวัดก็ดับหมด

9 จังหวัดในภาคใต้ ได้รับความเสียหายอย่างมาก สถานที่ราชการ อาคารบ้านเรือน โรงเรียน วัด ถูกพายุพัดพังระเนระนาด การไฟฟ้าและสถานีวิทยุตำรวจเสียหายหนัก ไม่สามารถติดต่อกันได้ เรือที่ออกทะเลเสียหายมากมาย ต้นยาง ต้นมะพร้าว และต้นไม้อื่นๆ ล้มพินาศมหาศาล สวนยางนับแสนๆ ต้นโค่นล้มขวางเป็นสิบๆ กิโลเมตร หลายร้อยคนหาทางออกไม่ได้ คนภายนอกจะเข้าไปช่วยเหลือก็ไม่ได้ การช่วยเหลือต้องส่งเครื่องบินไปทิ้งอาหารให้

กองทัพเรือออกปฏิบัติการ ช่วยเหลือค้นหาเรือประมง ในหลายจังหวัดทางภาคใต้ ที่สูญหายไปเป็นจำนวนมาก และได้ค้นพบศพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในทะเลและบนบก

รองอธิบดีกรมตำรวจสั่งการไปยังหน่วยบิน และหน่วยปฏิบัติการใต้น้ำ แห่งกองบังคับการตำรวจน้ำ ออกค้นหา แต่ต้องเผชิญกับอุปสรรคคลื่นลมพายุ จนหมดความสามารถ ที่จะค้นหาผู้รอดชีวิตในทะเลได้

การรถไฟแห่งประเทศไทย ประกาศงดเดินขบวนรถด่วนสายใต้ เพราะภูเขาดินพังทลาย ทับรางระหว่างสถานีช่องเขา กับสถานีร่อนพิบูลย์ ในทะเลศพเริ่มลอยเกลื่อน ไม่เหลือผู้รอดชีวิตให้ช่วยเหลือ จากเครื่องบินหรือเรือรบเลย และผู้ที่เหลือรอด เผชิญกับปัญหาความอดอยาก และพบซากเรือแตกทั่วท้องทะเล จังหวัดนครศรีธรรมราชเวลากลางคืน มืดทึบไปหมดทั้งเมือง เพราะไฟฟ้าใช้การไม่ได้

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ปราศรัยถึงผู้ประสบวาตภัยว่า รู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้ง คนไทยทั้งชาติ รวมทั้งต่างชาติ อาทิ อังกฤษ, อิตาลี, เวียดนาม, สวีเดน, สหรัฐ ฯลฯ ตกตะลึงต่อข่าวมหาวิปโยค ต่างก็เข้ามาช่วยเหลือ และบริจาคให้กับผู้ประสบภัย ที่รอดชีวิตในครั้งนั้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ด้วยความโทมนัสพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วิทยุ อ.ส.พระราชวังดุสิต กระจายข่าวอย่างละเอียด เชิญชวนให้ประชาชน ร่วมบริจาคกับในหลวง รวบรวมสิ่งของ เครื่องใช้ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และเงินตามศรัทธา เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบวาตภัยดังกล่าว เพียงเวลาไม่นานนัก ประชาชนที่รับฟังข่าวจากวิทยุ อ.ส.พระราชวังดุสิต ต่างก็หอบหิ้วสิ่งของ ตามที่มีอยู่และซื้อหามาได้ ทั้งถุงข้าว เสื้อผ้า จอบ เสียม หม้อ กระทะ เข้าสู่พระราชตำหนักจิตรลดารโหฐานเป็นทิวแถว ได้ข้าวของมากมายกองเต็มไปหมด

ทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ร.ส.พ. รถไฟ เครื่องบินของกองทัพอากาศ เรือของกองทัพเรือ รถยนต์ของหน่วยราชการ ทั้งหมดที่มีที่ช่วยได้ ก็ระดมกันมาช่วยเหลือผู้เคราะห์ร้ายเป็นการด่วน

และเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้เกิด มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้พระราชทานเงินบริจาค ให้นำไปบรรเทาทุกข์อย่างทั่วถึง แล้วยังมีเงินเหลืออยู่ จึงทรงพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ ขอจดทะเบียนตั้งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2506 โดยได้พระราชทานเงินจำนวน 3 ล้านบาท ให้เป็นทุนประเดิม ของมูลนิธิฯ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันท่วงที

มีการบริจาคเงิน ช่วยเหลือผู้ประสบวาตภัยอย่างคึกคัก ทั้งทางสถานีวิทยุ และสภากาชาดไทย

สรุปยอดความเสียหาย ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคใต้ จากเหตุการณ์แหลมตะลุมพุก พ.ศ. 2505

  • เสียชีวิต 911 คน
  • สูญหาย 142 คน
  • บาดเจ็บสาหัส 252 คน
  • ไม่มีที่อยู่อาศัย 10,314 คน
  • บ้านเสียหาย 42,409 หลังคาเรือน
  • โรงเรียน 435 หลัง
รวมมูลค่าความเสียหาย 377 ล้านบาท


เกร็ดจากเหตุการณ์ "ตะลุมพุก"

  • ตำบลตะลุมพุก ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 18 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 29.14 ตารางกิโลเมตร หรือ 10,212.50 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไป เป็นที่ราบชายฝั่งทะเล สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประมาณ 1-5 เมตร สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ ใช้ประโยชน์ในการปลูกมะพร้าว และเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ตำบลแหลมตะลุมพุก อันเป็นแหลม ที่ยื่นออกไปในทะเลอย่างโดดเดี่ยว ปราศจากภูเขาบัง และเป็นเส้นทางที่พายุโซนร้อน พาดผ่านไปพอดี
  • มหาวาตภัยครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งเกิดจากพายุโซนร้อนที่ชื่อ แฮเรียต พัดผ่านเข้ามาทางตอนใต้ของไทย นำความเสียหายให้แก่ จ.นครศรีธรรมราชมากที่สุด รวมทั้งจังหวัดอื่นๆ ที่ใกล้เคียงอีก 12 จังหวัด เครื่องมือสื่อสารถูกทำลายหมด ทางรถไฟขาด น้ำท่วมทาง เพราะพายุพัดแรงจัด ข่าวต่างๆ กว่าจะเข้าถึงกรุงเทพฯ ได้ ต้องใช้เวลาถึง 2 วัน
  • 24 ตุลาคม 2505 วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ออกประกาศว่า ได้เกิดพายุโซนร้อน อยู่ห่างจากฝั่งประมาณ 200 กิโลเมตร มีความเร็วลม 180-200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อยู่นอกฝั่งของจังหวัดสงขลา ประกาศเตือนให้ประชาชนระวัง เพราะพายุนี้จะขึ้นฝั่ง ประมาณวันที่ 25 ตุลาคม 2505
  • นายแจ้ง ฤทธิเดช นายอำเภอปากพนังในเวลานั้น พูดถึงความไม่รู้จักคำว่า "พายุโซนร้อน" ของประชาชนว่า "ประชาชนฟังประกาศ ของกรมอุตุนิยมไม่รู้เรื่อง การที่ราษฎรชาว จ.นครฯ ต้องสูญเสียอย่างมากมายครั้งนั้น เพราะเป็นเส้นทางของพายุ ผ่านตลอดทั้งจังหวัด วิทยุประกาศพวกเขาก็รู้แต่ฟังไม่เข้าใจ ถ้าใช้คำชาวบ้านเตือนกันก็จะเข้าใจมากกว่า พวกเขาจะได้รู้ว่า พายุเหล่านั้นมีความร้ายแรงแค่ไหน..."
  • คำสารภาพของทางราชการ "ทางราชการไม่รู้ว่า จะบอกให้ราษฎรรู้ตัวก่อน เพื่อป้องกันพายุได้อย่างไร เพราะไม่รู้แน่ว่า พายุจะมาหรือไม่ ถ้าพายุไม่มาจริง ราษฎรก็จะสวดเอา ถ้ามาจริง ก็ไม่รู้ว่าจะให้อพยพไปอยู่ที่ไหน เรื่องนี้เป็นเรื่องของเคราะห์กรรม ทางราชการก็ไม่รู้ว่า จะช่วยให้ความเสียหาย เบาบางลงได้อย่างไร"
  • สภาพแหลมตะลุมพุกหลังพายุนั้น ไม่มีบ้านเรือนราษฎรเหลืออยู่เลย ศพลอยเกลื่อนน้ำมากมาย แทบจะหาผืนดินฝังศพไม่ได้ หลุมศพ 1 หลุ่มต้องฝังศพประมาณ 6-7 ศพ โดยมีการฝังรวมกัน ที่ปลายแหลมชั่วระยะหนึ่ง ก่อนจะขุดศพเหล่านั้น ขึ้นมาทำพิธีทางศาสนาอีกครั้งในภายหลัง 

  •  ชาวบ้านเล่าถึงสภาพหมู่บ้านหมู่ที่ 4 ของแหลมตะลุมพุก ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ปลายแหลมสุดว่า ที่หมู่บ้านนี้ถูกคลื่นกวาดลงทะเลทางด้านอ่าวไทย เรียบไม่มีเหลือ ที่บ้านนี้มีบ้านประมาณ 40 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่เป็นบ้านที่ไม่ค่อยจะแข็งแรงเท่าใดนัก ดังนั้นผู้คนส่วนมาก จึงมารวมกันที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน สง่า วงศ์เจียสัจ ซึ่งเป็นบ้านที่แข็งแรง กว่าทุกบ้านในหมู่บ้านนี้ แต่แล้วพอคลื่นมาระลอกแรก ก็ซัดเอาบ้านทั้งหลัง และชาวบ้านที่มารวมตัวกันกว่า 200 คน หายไปในพริบตา สุดท้ายหมู่บ้านแห่งนี้ ก็เหลือผู้รอดชีวิตเพียงแค่ 2 คนเท่านั้น

  • เรือ "บ้านดอน" ที่มีระวางขับน้ำ 245 ตัน ราคา 3 ล้านบาท ของบริษัทเดินเรือไทย ซึ่งอับปางลง โดยมีลูกเรือคือ นายปาน สมรรถ กับ นายโมห์ วาฮับ ลอยคอเกาะเศษไม้อยู่ในทะเลถึง 4 วัน จนได้รับความช่วยเหลือ จากชาวประมงมลายูที่กัวลาลัมเปอร์
  • นายแพทย์สง่า รามณรงค์ กลายเป็นนายแพทย์ตัวอย่าง ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในเหตุการณ์ครั้งนี้ ด้วยการรับรักษาผู้บาดเจ็บ ในสถานพยาบาลส่วนตัวของตนเอง โดยไม่คิดค่ารักษาแต่อย่างใด ซึ่งคนไข้โดยส่วนใหญ่ เป็นคนจากตะลุมพุก จนได้รับคำยกย่องว่าเป็น "หมอใจพระ"

พายุหมุนเขตร้อน

พายุหมุนเขตร้อน (Tropical cyclone) เป็นชื่อที่ใช้เรียกพายุหมุนที่เกิดขึ้นเหนือทะเลหรือมหาสมุทรในเขตร้อนที่ระบบการหมุนเวียนของลมเข้าหาศูนย์กลางโดยมีทิศทางทวนเข็มนาฬิกาในซีกโลกหนือ และมีทิศทางตามเข็มนาฬิกาในซีกโลกใต้ พายุหมุนเขตร้อนมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันตามบริเวณที่เกิด เช่น

  • มหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตก ทางตะวันตกของลองจิจูด 170 ํ ตะวันออก เมื่อมีกำลังแรงสูงสุด เรียกว่า “ไต้ฝุ่น” เกิดมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม สิงหาคม กันยายน และตุลาคม
  • มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือแถวทะเลแคริบเบียนและอ่าวเม็กซิโก เรียกว่า “เฮอร์ริเคน” เกิดมากในเดือนสิงหาคม กันยายน และตุลาคม
  • มหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ ฝั่งตะวันตกของประเทศเม็กซิโก เรียกว่า “เฮอร์ริเคน”
  • บริเวณมหาสมุทรอินเดียเหนือ อ่าวเบงกอล เรียกว่า “ไซโคลน”
  • บริเวณมหาสมุทรอินเดียเหนือ ทะเลอาระเบีย เรียกว่า “ไซโคลน”
  • มหาสมุทรอินเดียใต้ ตะวันตกของลองจิจูด 90 ํ ตะวันออก เรียกว่า “ไซโคลน”
  • มหาสมุทรอินเดียใต้ ตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปออสเตรเลีย เรียกว่า “วิลลี่วิลลี่”
ตามข้อตกลงระหว่างชาติได้จัดชั้นของพายุหมุนเขตร้อนตามความรุนแรงของพายุไว้ดังนี้

1. พายุดีเปรสชั่น (Tropical depression) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง 33 นอตหรือ 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

2. พายุโซนร้อน (Tropical storm) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางระหว่าง 34-63 นอตหรือ 63-117 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

3. พายุใต้ฝุ่น (Typhoon) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 64 นอตขึ้นไปหรือ 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และถ้าเกิน 130 นอต เรียกว่า Super Typhoon

ประเทศไทยตั้งอยู่ระหว่างบริเวณที่เกิดพายุหมุนเขตร้อน 2 แห่ง คือบริเวณรมหาสมุทรแปวิฟิกและทะเลจีนใต้ และอีกแห่งคืออ่าวเบงกอล ในระหว่างกลางเดือนมิถุนายน ไปจนถึงวกลางเดือนตุลาคม พายุไต้ฝุ่นจากมหาสมุทรแปซิฟิกสามารถเข้ามาถึงทางตอนเหนือของประเทศไทย ได้บ้างเป็นบางโอกาส แต่พายุเหล่านี้จะมีกำลังอ่อนลงเพราะขณะที่เคลื่อนที่ผ่านเทือกเขาในประเทศเวียดนามและลาวจะกลายเป็นพายุโซนร้อนหรือพายุดีเปรสชั่นแทนดังนั้น อันตรายจากลมแรงจึงมักไม่ค่อยปรากฏ เพียงแต่ทำให้เกิดฝนตกหนังและมีลมขนาดปานกลางได้ จำนวนพายุหมุนเขตร้อนที่พัดเข้าสู่ประเทศไทยปีหนึ่ง ๆ โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 3-4 ลูก

ส่วนในระหว่างเดือนตุลาคมจนถึงเดือนธันวาคม ทางเดินของพายุที่เข้าสู่ประเทศไทยจะเข้าทางด้านปลายแหลมอินโดจีน เข้าสู่ประเทศไทยทางอ่าวไทยและปะทะฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย ซึ่งไม่มีภูเขาสูงกำบังพายุเหล่านี้เลย พายุที่มีทางเดินเช่นนี้ย่อมมีอันตรายมากเพราะกำลังแรงของพายุยังมีอยู่มาก พายุเหล่านี้ทำให้เกิดฝนตกหนัก และน้ำท่วมฉับพลันกำลังแรงของลมและคลื่นในทะเลจะทำอันตรายแก่เรือต่าง ๆ และอาคารบ้านเรือนที่อยู่ตามชายฝั่งทะเลได้ แต่พายุดังกล่าวนี้ก็จะไม่ปรากฏบ่อยนัก นาน ๆ จะมีสักครั้งหนึ่ง

จากสถิติพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยในรอบ 48 ปี จำนวนทั้งหมด 164 ลูก เมื่อนำมาหาความถี่ที่พายุแต่ละลูกเคลื่อนผ่านในแต่ละพื้นที่ 1 grid (1 lat 5 1 long) แล้วคำนวณเปอร์เซนต์ความถี่ของแต่ละgridนั้นแล้วจึงนำค่าเปอร์เซนต์ความถี่มาวิเคราะห์แผนที่เส้นเท่า
ซึ่งจากการวิเคราะห์สถิติพายุโดยรวมตลอดทั้งปีปรากฏว่าบริเวณที่ศูนย์กลางพายุเคลื่อนผ่านมากที่สุดคือ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยเฉพาะจังหวัดนครพนมมีพายุเคลื่อนผ่าน 20 - 25 เปอร์เซนต์ของพายุทั้งหมดจำนวน 164 ลูก รองลงไปได้แก่พื้นที่บริเวณจังหวัดมุกดาหาร สกลนคร หนองคาย อุดรธานี กาฬสินธุ์ หนองบัวลำภูและเลย มีพายุเคลื่อนผ่าน 15 - 20 เปอร์เซนต์ของจำนวนพายุทั้งหมด จากการวิเคราะห์สถิติพายุที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยในแต่ละเดือนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปปรากฏผลดังนี้

เดือนพฤษภาคม พายุส่วนใหญ่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยทางด้านตะวันตกของประเทศ บริเวณที่ศูนย์กลางพายุเคลื่อนผ่านมากที่สุดคือมากกว่า 25 เปอร์เซนต์ของพายุทั้งหมดที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยในเดือนพฤษภาคมจำนวน 6 ลูก ได้แก่ พื้นที่ของภาคเหนือตอนบนในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และลำพูน และพื้นที่ของภาคกลางในเขตจังหวัดกาญจนบุรี ต่อเนื่องกับจังหวัดตากและอุทัยธานี

เดือนมิถุนายน ตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไปพายุเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยทางด้านตะวันออกของประเทศซึ่งในเดือนนี้บริเวณที่ศูนย์กลางพายุเคลื่อนผ่านมากที่สุด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณจังหวัดนครพนม หนองคายและตอนบนของสกลนครมีพายุเคลื่อนผ่านมากกว่า 50 เปอร์เซนต์ของพายุทั้งหมดที่เข้ามาในเดือนนี้จำนวน 6 ลูก

เดือนกรกฎาคม พายุเคลื่อนผ่านเข้ามาในภาคเหนือตอนบนมากที่สุด โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณจังหวัดน่านและพะเยาต่อเนื่องมาทางตะวันตกครอบคลุมพื้นที่บริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดลำปาง เชียงรายและเชียงใหม่มีพายุเคลื่อนผ่านเข้ามามากกว่า 50 เปอร์เซนต์ของพายุทั้งหมดที่เข้ามาในเดือนนี้จำนวน 11 ลูก

เดือนสิงหาคม บริเวณที่ศูนย์กลางพายุเคลื่อนผ่านมากที่สุดคือพื้นที่ทางด้านตะวันออกของภาคเหนือตอนบนบริเวณจังหวัดน่าน พะเยา แพร่ ลำปาง เชียงรายและเชียงใหม่ และพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนบริเวณจังหวัดนครพนม สกลนคร หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภูและเลย โดยมีพายุเคลื่อนผ่านเข้ามามากกว่า 25 เปอร์เซนต์ของพายุทั้งหมด ที่เข้ามาในเดือนนี้จำนวน 18 ลูก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์