มหิดลเตือนแชร์มั่ว! ′เม็ดมังคุดแก้โรค-ทุเรียนลดไขมัน′ ย้ำไม่จริง-ไร้ผลวิจัย

นักวิชาการชี้มังคุดไม่แก้ปวดข้อ ทุเรียนกินมากอ้วน ถ้าจะกินให้เน้นพันธุ์ชะนี น้ำตาลน้อย ป่วยเบาหวานกินได้ สถาบันโภชนาการ มหิดล เตือนอย่าหลงเชื่อแชร์ข้อมูลผลไม้รักษาโรค

หลังจากมติชนนำเสนอข้อมูลที่มีการแชร์ผ่านโลกโซเชียลถึงการกินอาหารสูตรต่างๆเพื่อดูแลสุขภาพว่าต้องมีความระมัดระวังและต้องคัดกรองให้ดีเนื่องจากบางข้อมูลบิดเบือนข้อเท็จจริงนั้นล่าสุดยังมีการแชร์ข้อมูลระบุว่า เวลากินเนื้อมังคุดให้เคี้ยวเม็ดด้วย อย่าคายทิ้ง เม็ดมีรสจืดเคี้ยวให้แหลก กินวันละกิโลติดกัน 7 วัน หายจากปวดเข่ามาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปี นอกจากนี้ยังมีการแชร์ข้อมูลว่า กินทุเรียนช่วยล้างลำไส้ ถ่ายพยาธิ กินไม่อ้วน ลดคอเลสเตอรอลได้นั้น 

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม รศ.รัชนี คงคาฉุยฉาย อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

 กล่าวถึงสรรพคุณของมังคุดว่า ที่ผ่านมาได้ทำการศึกษาสารในเนื้อมังคุด รวมทั้งบริเวณเนื้อติดเปลือกที่มีเยื่อแดงๆ ซึ่งพบว่ามีสารที่เรียกว่า โพลีฟีนอล (polyphenols) โดยสารดังกล่าวมีคุณสมบัติที่ดีต่อสุขภาพในการต้านอนุมูลอิสระ ที่เป็นสาเหตุของการก่อโรคมะเร็งได้ ส่วนเม็ดที่ระบุว่าหากเคี้ยวและกินไปด้วยจะช่วยแก้ปัญหาโรคปวดข้อเข่า เรื่องนี้ไม่คิดว่าจริง เพราะยังไม่มีการศึกษาวิจัยที่สามารถนำมากล่าว

อ้างหรือสนับสนุนข้อมูลดังกล่าว และจากการศึกษาไม่พบว่ามีสารใดในมังคุดสามารถบรรเทาอาการดังกล่าวได้ มีแต่เพียงรสขมของเม็ดมังคุดซึ่งคือ สารโพลีฟีนอลและสารแทนนินที่อยู่เม็ดค่อนข้างสูง เมื่อกินจะทำให้รู้สึกว่าขมมาก

รศ.รัชนีกล่าวว่า ในแง่ของคุณสมบัติของสารที่พบในมังคุด จากหลายรายงานวิจัยพบว่า สารแทนนินและสารประกอบโพลีฟีนอลมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งและป้องกันการเติบโตของเซลล์มะเร็ง และช่วยลดภาวะการอักเสบได้ดี 

อย่างไรก็ตาม การศึกษาเหล่านี้อยู่ในระดับเซลล์ที่ทดลองในห้องปฏิบัติการทดลองเท่านั้น 

ยังไม่มีการศึกษาลงลึกไปถึงสัตว์ทดลองหรือในคน นอกจากนี้ ในมังคุดยังมีวิตามินซี โฟเลต มีน้ำตาลธรรมชาติประมาณ 13-14 กรัม ต่อ 100 กรัม หมายถึงส่วนที่กินได้ โดยภาพรวมคือ มังคุดเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ในแง่การป้องกันโรคและบรรเทาภาวะการอักเสบได้ แต่ไม่ได้หมายถึงจะไปรักษาโรคมะเร็งหรือรักษาโรคต่างๆ ได้ทั้งหมด อาจเพียงทำให้อาการบางอย่างทุเลาลงได้บ้างเท่านั้น 

"ดังนั้น หากจะกินต้องระมัดระวัง ไม่ควรกินมากจนเกินไป เพราะในผลไม้ทุกชนิดมีน้ำตาลและแป้งเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย ถ้ากินไม่ระวัง อาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มได้

เหมือนกัน โดยคำแนะนำคือ ควรกินผลไม้ให้หลากหลาย ใน 1 วัน ควรกินผลไม้ประมาณ 3-4 ส่วน ขึ้นอยู่กับพลังงานที่ต้องการ เช่นผู้หญิงที่ต้องการพลังงานวันละ 1,600 กิโลแคลอรี ควรกินผลไม้ประมาณ 3 ส่วน โดย 1 ส่วนของผลไม้จะให้พลังงาน 60 กิโลแคลอรี เช่น มังคุด 1 ส่วน เท่ากับ 4 ผลขนาดกลาง เป็นต้น และไม่ควรกินผลไม้ซ้ำๆ ชนิดเดียวกันทุกวัน ควรกินให้หลากหลาย เพื่อป้องกันการได้รับสารเคมีตกค้างหรือสารปนเปื้อนจากยากำจัดศัตรูพืชในผลไม้ชนิดนั้นๆ ที่อาจเกิดการสะสมในร่างกาย" รศ.รัชนีกล่าว

นอกจากนี้ รศ.รัชนียังกล่าวอีกว่า นอกจากล้างให้สะอาดแล้ว ควรทิ้งระยะห่างในการกินผลไม้ชนิดเดียว 

โดยอย่างน้อยสัปดาห์หนึ่งอาจกินแค่ 3 วัน จากนั้น ก็กินผลไม้ชนิดอื่น เพื่อให้ร่างกายมีเวลาในการขับสารตกค้างเหล่านั้นออกไป และการกินผลไม้ให้หลากหลาย จะทำให้ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายได้หลากหลายเช่นกัน และจากรายงานวิจัยพบว่าสารอาหารต่างๆ โดยเฉพาะสารต้านอนุมูลอิสระจะทำหน้าที่ได้ดีที่สุดคือ มีการทำงานร่วมกันระหว่างสารอาหารเหล่านั้น พูดง่ายๆ ว่าช่วยเสริมฤทธิ์ซึ่งกันและกัน

ด้าน รศ.ครรชิต จุดประสงค์ อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการเผยแพร่ข้อมูลผ่านโซเชียลถึงคุณค่าอาหารของทุเรียนที่ว่าสามารถลดไขมันในเลือด ช่วยถ่ายพยาธิ รวมทั้งลดความอ้วนว่า ข้อมูลนี้ไม่เป็นความจริง จากผลการศึกษาถึงคุณค่าทางโภชนาการ และสารที่เป็นประโยชน์ต่างๆ ในทุเรียน พบว่าทุเรียนแต่ละสายพันธุ์มีประโยชน์และโทษแตกต่างกันไป 

แต่ที่ชัดเจนคือ ทุเรียนให้ความหวาน มีน้ำตาลสูงใกล้เคียงกันในทุกสายพันธุ์ ตั้งแต่ 15-20 กรัม ต่อ 100 กรัม 

ซึ่งยืนยันได้จากผลการศึกษาของ ผศ.สมศรี เจริญเกียรติกุล และคณะ ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำตาลในอาสาสมัครหลังจากกินทุเรียนไปแล้ว พบว่าหลังการกินทุเรียนหมอนทอง ทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับน้ำตาลกลูโคส หรือเรียกง่ายๆ ว่า จะทำให้น้ำตาลในเลือดสูงมาก ที่สำคัญคือ หลังจากผ่านไป 2 ชั่วโมง น้ำตาลในเลือดยังคงเหลือมากกว่าทุเรียนสายพันธุ์อื่นๆ

"ในขณะที่ทุเรียนชะนีทำให้น้ำตาลเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ26เท่านั้นและเมื่อกินไปแล้วประมาณ 2 ชั่วโมง ร่างกายสามารถกำจัดน้ำตาลดังกล่าวออกมาได้หมดเหมือนก่อนการกิน จะเห็นได้ว่าทุเรียนชะนีมีค่าดัชนีน้ำตาลน้อยกว่าทุเรียนหมอนทองมากๆ ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจากทุเรียนชะนีมีปริมาณใยอาหาร แร่ธาตุโพแทสเซียม แคโรทีนอยด์ และสารที่เป็นประโยชน์ในพืชที่มากกว่า 

นอกจากนี้ ยังมีชนิดของกรดไขมันที่เป็นแบบไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวที่มากกว่า ซึ่งไขมันชนิดนี้เป็นชนิดเดียวกับที่พบในน้ำมันมะกอกนั่นเองเพียงแต่พบในปริมาณต่ำกว่า ขณะที่ทุเรียนหมอนทองพบว่ามีกรดไขมันอิ่มตัวเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้น ทุเรียนพันธุ์พื้นบ้าน เช่น กระดุม และกบชนิดต่างๆ ก็พบว่ามีของดีเช่นเดียวกับทุเรียนชะนี เพียงแต่คนทั่วไปอาจไม่คุ้นกับชื่อสายพันธุ์เหล่านี้" รศ.ครรชิตกล่าว 

และว่า การกินทุเรียนนั้น ต้องกินในปริมาณที่พอดี ไม่ควรกินทุกวัน หรือกินครั้งละมากๆ แต่ไม่ได้หมายความว่า

 ผู้ป่วยเบาหวานจะไม่สามารถกินได้ เพียงแต่ควรเปลี่ยนไปกินทุเรียนพันธุ์ชะนีแทนหมอนทอง และควรกินในปริมาณน้อย เช่น ครั้งละ 1 เม็ด เป็นต้น สำหรับคนที่ไม่มีปัญหาสุขภาพหากต้องการกินควรเลือกพันธุ์ชะนี หรือพันธุ์พื้นบ้าน โดยสามารถกินได้ 3-5 เม็ด แต่ถ้าหากเป็นพันธุ์หมอนทองไม่ควรเกิน 2 เม็ด 

รศ.ครรชิตกล่าวถึงประเด็นที่ว่ากินทุเรียนแล้วช่วยถ่ายพยาธิว่า ไม่เกี่ยวข้องกัน 

ส่วนประเด็นที่ว่าช่วยลดความอ้วนได้นั้น ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการรองรับ เพียงแต่ส่วนน้ำหนักที่หายไปนั้น น่าจะเกิดจากส่วนที่เป็นน้ำในร่างกาย ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจากทุเรียนมีกำมะถันสูง เมื่อกินไปแล้วเกิดความร้อนขึ้น ทำให้ร่างกายต้องมีการปรับตัวด้วยการดึงน้ำในร่างกายออกมากเพื่อระบายความร้อน แต่น้ำหนักที่ลดลงไปเล็กน้อยนั้น ไม่ใช่ส่วนที่เป็นไขมันแต่อย่างใด ดังนั้น ไม่ควรหลงเชื่อข้อมูลที่ส่งผ่านทางโลกโซเชียล แต่ควรยึดหลักของการบริโภคอาหารที่หลากหลาย และบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม

ขณะที่ นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า 

กินทุเรียนได้ แต่ต้องไม่มาก และไม่ควรกินร่วมกับดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะทุเรียนเป็นอาหารที่มีไขมันและคาร์โบไฮเดรตสูง ส่วนเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก็ให้พลังงานสูง เมื่อกินทุเรียนร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เสี่ยงอันตรายได้ 

"เรายังมีผลไม้ทางเลือกที่น่าสนใจ คือ กล้วยน้ำว้า เพราะมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์มากมายต่อร่างกาย ในบรรดากล้วยทั้งหมด กล้วยน้ำว้าให้แคลเซียมสูงที่สุด มีวิตามินบี 1 บี 2 วิตามินซี และไนอะซิน (บี 6) ในปริมาณที่เท่าๆ กัน แต่ที่ทำให้กล้วยน้ำว้ามีคุณค่าสารอาหารที่พิเศษกว่ากล้วยชนิดอื่น นั่นคือโปรตีนที่อยู่ในกล้วยน้ำว้า เพราะมีกรดอะมิโน อาร์จินิน และฮีสติดิน ซึ่งมีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารก ถึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมตอนเด็กๆ ผู้ใหญ่ถึงให้กินกล้วยบด เพราะอุดมด้วยสารอาหาร และวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่การกินควรเลือกกล้วยห่ามๆ วันละ 2-4 ผล เพราะกินสุกมากๆ จะได้รับน้ำตาลสูงได้เช่นกัน" นพ.พรเทพกล่าว

มหิดลเตือนแชร์มั่ว! ′เม็ดมังคุดแก้โรค-ทุเรียนลดไขมัน′ ย้ำไม่จริง-ไร้ผลวิจัย

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์