มะเร็งรังไข่

มะเร็งรังไข่



     มะเร็งรังไข่ เป็นมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรีที่พบบ่อยเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่มีปัญหาในด้านการรักษาค่อนข้างยากทีเดียว เนื่องจากว่าผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์เมื่อมีอาการของโรคอยู่ในระยะมาก ๆ แล้ว นั่นก็ทำให้ผลการรักษาได้ไม่ดีเท่าที่ควร อีกทั้งตัวผู้ป่วยเองก็จะเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก และผู้ป่วยก็ยังมีอัตราการเสียชีวิตได้มาก
   
มะเร็งรังไข่มีหลายชนิดขึ้นอยู่กับเซลล์ต้นกำเนิดของมะเร็ง ในที่นี้จะเน้นถึงมะเร็งรังไข่ที่เกิดจากเซลล์เยื่อบุผิว ซึ่งพบได้บ่อยที่สุด ถึงกระนั้น ในปัจจุบันก็ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคนี้ แต่ภาวะปัจจัยเสี่ยง เช่น ญาติพี่น้อง หรือมารดา มีประวัติการเป็นมะเร็งรังไข่ สตรีไม่มีบุตรหรือมีบุตรยาก สตรีสูงอายุ สตรีที่มีประจำเดือนตั้งแต่อายุน้อยหรือหมดประจำเดือนช้า ก็อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งรังไข่ได้
   
หากถามถึงอาการของโรคแล้ว ในระยะแรก ๆ มักไม่ค่อยมีอาการหรืออาจมีอาการเพียงแน่นท้อง ท้องอืด ปวดท้องน้อย แต่เมื่อเป็นมากขึ้น มักจะเริ่มมีท้องโตขึ้น ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยสุดของผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ และอาจมีเลือดออกทางช่องคลอดหรือประจำเดือนมาผิดปกติ อ่อนเพลีย หอบเหนื่อย เนื่องจากมะเร็งกระจายไปยังปอด อาจคลำก้อนได้บริเวณ ต่าง ๆ ที่มะเร็งกระจายไป เช่น ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ
   
          ในทางการแพทย์สามารถทำการวินิจฉัยได้เมื่อมีอาการมากแล้ว เนื่องจากในระยะแรกของโรคผู้ป่วยมักไม่ค่อยมีอาการใด ๆ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่องท้องก็มีไม่มาก แพทย์จึงอาจตรวจพบเพียงรังไข่โตขึ้นเล็กน้อย การซักประวัติถึงปัจจัยเสี่ยง ต่าง ๆ รวมถึงการตรวจเพิ่มเติม เช่น อัลตราซาวด์ในอุ้งเชิงกราน และการตรวจเลือดหาค่า CA 125 ซึ่งเป็นสารในเลือดที่อาจจะมีค่าสูงผิดปกติหากเป็นมะเร็งรังไข่ (โดยทั่วไปค่าปกติจะไม่เกิน 35 ยูนิตต่อมิลลิลิตร) คงช่วยในการวินิจฉัยโรคได้เร็วขึ้น  ส่วนผู้ป่วยที่อยู่ในระยะท้าย ๆ ของโรค แพทย์ตรวจพบว่าผู้ป่วยมีท้องบวมโต  มีน้ำในท้องปริมาณมาก รังไข่โตชัดเจน ตรวจพบมีน้ำในช่องปอด ขาบวม เป็นต้น การวินิจฉัยโรคมะเร็งรังไข่อาจทำได้โดยเจาะน้ำในท้องหรือช่องปอดแล้วพบเซลล์มะเร็ง แต่การวินิจฉัยโรคตามมาตรฐานคือ การผ่าตัดเข้าไปในช่องท้องแล้วนำเนื้อเยื่อรังไข่มาตรวจหาเซลล์มะเร็งทางพยาธิวิทยา และประเมินระยะของโรคจากการผ่าตัด
   
      ด้านการรักษาโดยทั่วไปถ้าผู้ป่วยอยู่ในภาวะที่แข็งแรงเพียงพอ และแพทย์ประเมินแล้วว่า สามารถผ่าตัดเอาเนื้อมะเร็งออกได้ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด แพทย์จะทำการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง ตรวจอวัยวะภายในช่องท้อง ผ่าตัดมดลูก รังไข่ทั้ง 2 ข้าง เลาะต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานร่วมกับต่อมน้ำเหลืองบริเวณเส้นเลือดใหญ่ เอออร์ต้า (Aorta) เลาะไขมันที่ต่อกับลำไส้ใหญ่ ตรวจน้ำในช่องท้อง และบางครั้งอาจต้องตัดอวัยวะส่วนอื่น ๆ ที่มีมะเร็งกระจายไปด้วย เช่น ลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ และท่อไต
   
การรักษาอาจจะดูยุ่งยาก แต่เพื่อให้การวินิจฉัยและรักษาให้ได้ผลดีที่สุด จึงจำเป็นต้องเข้าถึงตัวรังไข่ให้มากที่สุด รวมทั้งต้องตรวจบริเวณอวัยวะอื่น ๆ ที่มีโอกาสเสี่ยงของการกระจายของมะเร็งได้มาก
   
หลังจากผ่าตัดแล้วแพทย์จะนำข้อมูลที่ได้จากการผ่าตัดมาประเมินระยะของโรค หากเป็นมะเร็งระยะต้น ๆ การรักษาโดยการผ่าตัดก็จะถือว่าเพียงพอ แต่หากเป็นในระยะที่มากขึ้น แพทย์ก็จะทำการรักษาต่อด้วยยาเคมีบำบัด โดยให้ประมาณ 4-6 ครั้ง (ประมาณ      6 เดือน) แล้วจึงประเมินผู้ป่วยว่าจำเป็นต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติมหรือไม่
   
คำถามต่อมาคือ ผลการรักษาโรคจะเป็นอย่างไร โดยทั่วไปมีหลายปัจจัยที่มีผลต่อการรักษาของโรค เช่น ระยะของโรค การกระจายของโรค รวมทั้งการตอบสนองต่อยาเคมีบำบัด  
   
แต่ปัจจัยที่สำคัญมากคือ การผ่าตัดครั้งแรก หากสามารถผ่าตัดเอาเนื้อมะเร็งออกได้มากจนเกือบหมดหรือทั้งหมด การรักษาจะได้ผลค่อนข้างดีมาก ดังนั้น หากตรวจพบโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ   แล้วแพทย์สามารถผ่าตัดได้หมดก็จะเป็นผลดีกับผู้ป่วยมากทีเดียว อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีอาการต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว จึงควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ
   
บทสรุปในเรื่องมะเร็งรังไข่ ส่วนมากจะเป็นเรื่องการป้องกัน   ว่ามีหลากหลายวิธี แต่ในทางการแพทย์แล้วต้องบอกว่า ณ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันโรคมะเร็งรังไข่ นอกจากการตัดรังไข่ก่อนเป็นโรคในราย  ที่มีญาติสายตรง ส่วนผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติการเป็นโรคมะเร็งรังไข่หลายคน จากข้อมูลสามารถบ่งชี้ได้ว่า พันธุกรรมสามารถส่งต่อ   กันได้
   
อีกทั้งแพทย์อาจตรวจพบโรคได้ในระยะเริ่มแรก หากผู้ป่วย  ไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย ตรวจภายใน รวมทั้งกรณีที่แพทย์สงสัยว่ามีความผิดปกติควรตรวจพิเศษเพิ่มเติม ดังนั้น คุณผู้หญิงควรได้รับการตรวจร่างกายและตรวจภายในเป็นระยะ ๆ บ้าง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวมา

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์