มาดูกันเถอะว่า!! ทำไม? ถึงต้องปฏิรูปประกันสังคม สู่ความเป็นอิสระ

1.พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่บังคับอยู่ไม่ครอบคลุมคนทำงานที่มีรายได้ทุกคน ซึ่งเป็นบุคคลที่มีรายได้กว่า 40 ล้านคน (คนทำงานในสถานประกอบการหรือแรงงานในระบบประมาณ 11 ล้านคน ประกอบอาชีพอิสระหรือแรงงานนอกระบบประมาณ 22 ล้านคน และคนทำงานจากประเทศเพื่อนบ้านหรือแรงงานข้ามชาติประมาณ 4 ล้านคน) ที่ควรจะมีหลักประกันสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรม ทั้งจากระบบภาษีและการร่วมจ่ายสมทบในอัตราที่เหมาะสมกับฐานรายได้ เพื่อเป็นหลักประกันการดำรงชีพเวลาเกษียณอายุจากการทำงานยามชราภาพ และครอบคลุมคนทำงานที่มีรายได้ทุกกลุ่ม เนื่องจาก พ.ร.บ.ปัจจุบันมีข้อยกเว้นเอาไว้ เช่น คนทำงานบ้าน และผู้รับงานไปทำที่บ้าน อาชีพอิสระที่มีรายได้ เป็นต้น

2.ปัจจุบันกองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนที่มีเงินเป็นจำนวนมากและเป็นกองทุนที่มีเงินมากที่สุดในประเทศ และเป็นกองทุนที่ไม่ได้มาจากงบประมาณภาครัฐ ระบบภาษีฝ่ายเดียว มีผู้ประกันมากกว่า 13 ล้านคน และนายจ้างมากกว่า 500,000 รายเป็นผู้ร่วมจ่าย มีเงินรวมประมาณ 1,390,000 ล้านล้านบาท แต่ยังบริหารจัดการระบบราชการขาด การมีส่วนร่วม และกระจายอำนาจตามหลักการธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการแบบมืออาชีพ

3.รูปแบบการบริหารจัดการด้านสิทธิประโยชน์ การบริการ และการลงทุน ยังมีข้อจำกัดหลายประการที่ต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ สังคม และความต้องการของผู้ประกันตน เช่น ระบบสุขภาพยังมีมาตรฐานการให้บริการทางการแพทย์ การพัฒนาส่งเสริมสิทธิประโยชน์และการเข้าถึงบริการยังด้อยกว่าระบบประกันสุขภาพอื่นๆ เช่น กองทุนระบบสุขภาพข้าราชการ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การปรับปรุงอัตราการจ่ายเงินสมทบและสิทธิประโยชน์ยังจำกัดเพดานที่เป็นเงื่อนไขต่อการเพิ่มอัตราการจ่ายเงินสมทบให้สอดคล้องกับฐานรายได้ของผู้ประกันตน เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์และการสะสมเงินออมเพื่อเป็นหลักประกันรายได้เมื่อพ้นเกษียณอายุทำงาน และยังไม่มีระบบการตรวจสอบและการลงทุนแบบมีส่วนร่วมเพื่อแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสและความมั่นคงของกองทุนในระยะยาว ด้านบริหารจัดการดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมสำหรับผู้ประกันตน และอาจไปสู่การทุจริตคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายในรูปแบบต่างๆ

4.เสถียรภาพและความยั่งยืนของการบริหารจัดการกองทุนบำนาญชราภาพซึ่งเป็นกองทุนของผู้ประกันตนที่รัฐไม่ได้จ่ายเงินสมทบ อีกทั้งประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปี พ.ศ.2558 โดยกองทุนประกันสังคมได้เริ่มจ่ายเงินบำนาญชราภาพสำหรับผู้ที่เกษียณอายุการทำงานครบ 55 ปีตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 เป็นต้นมา ประกันสังคมจะต้องจ่ายเงินกรณีชราภาพทั้งบำเหน็จและบำนาญเพิ่มขึ้นตามลำดับ ในขณะที่อัตราคนเข้าสู่ตลาดแรงงานที่จะส่งผลต่อการเพิ่มกองทุนมีสัดส่วนน้อยลง หากไม่มีการปฏิรูปปรับปรุงเงื่อนไขและรูปแบบการบริหารจัดการกองทุนในอนาคต เงินสะสมของกองทุนบำนาญชราภาพของผู้ประกันตนจะหมดไปภายใน 30 ปี และอาจจะกลายเป็นภาระอันหนักหน่วงของประเทศต่อไป 

และนอกจากนี้ยังพบว่าแนวทางการปฏิบัติที่ผ่านมามีข้อจำกัดที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นผู้ประกันตนส่วนใหญ่ได้ยื่นข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และผู้บริหารประกันสังคมอย่างต่อเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติทุกปี ดังนี้

1.ขาดการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนและนายจ้างในการตัดสินใจและบริหารจัดการ ขาดระบบการตรวจสอบการบริหารจัดการทั้งด้านการลงทุนและการใช้จ่ายงบประมาณในการพัฒนาระบบ และรวมถึงที่มาของคณะกรรมการ

2.ขาดบุคลากรที่ทำงานแบบมืออาชีพที่จะบริหารกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่กองทุนเติบโตและมีเงินมากที่สุดของประเทศ รวมถึงการบริหารการลงทุนและความยั่งยืนของกองทุนในอนาคตที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่กองทุนจะต้องจ่ายเงินบำนาญเพิ่มขึ้นทุกปี

3.การพัฒนาสิทธิประโยชน์ การให้บริการยังไม่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการกำหนดอัตราการจ่ายเงินสมทบยังไม่สอดคล้องกับสภาพการจ้างงานและสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป

4.มีข้อมูลแสดงถึงความไม่โปร่งใสในการบริหารจัดการกองทุนและปรากฏผ่านสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่องที่ยังไม่สามารถตรวจสอบได้

5.เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิและมาตรฐานการบริการระหว่างระบบสุขภาพและระบบบำนาญที่ผู้ประกันตนควรได้รับสิทธิและมาตรฐานการบริการที่ใกล้เคียงกันและมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันถึงแม้ว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 ที่มีผลบังคับเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2558 การปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์และกลไกการบริหารจัดการยังอยู่ภายใต้กรอบคิด หลักการและเหตุผลของกฎหมายประกันสังคมฉบับแรก เป็นส่วนใหญ่ที่ยังไม่สามารถไปถึงกรอบคิดเรื่องการปฏิรูปสู่ความเป็นอิสระได้ด้วยเหตุผลหลายประการ ดังนี้

1.การกำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนผู้ประกันตนและนายจ้างโดยตรงเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ และเพิ่มองค์ประกอบของคณะกรรมการในส่วนของผู้ประกันตน แต่อำนาจการตัดสินใจยังขึ้นกับเลขาธิการประกันสังคม ซึ่งรัฐมนตรีเป็นคนแต่งตั้ง และมีโอกาสที่การเมืองจะเข้ามาแทรกแซงได้ง่าย อำนาจหน้าที่ของกรรมการกองทุนฯ เปรียบเสมือนที่ปรึกษาที่จะพิจารณาข้อเสนอและมีมติร่วมกัน แต่อำนาจการตัดสินใจในเชิงนโยบายยังอยู่ที่รัฐมนตรี และอำนาจการบริหารจัดการยังอยู่ที่เลขาธิการประกันสังคมเหมือนเดิม

2.การบริหารจัดการยังอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคมที่ยังยึดระเบียบบริหารแบบราชการ ในขณะที่การบริหารจัดการกองทุนขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศต้องการมืออาชีพในการบริหารกองทุน โดยเฉพาะกองทุนชราภาพ กองทุนการว่างงาน และกองทุนอื่นๆ ที่ต้องการเอาเงินไปลงทุนเพื่อผลประโยชน์เพิ่มขึ้นสำหรับการพัฒนารูปแบบการคุ้มครองด้านสิทธิประโยชน์ และการเพิ่มประโยชน์ทดแทน ที่จะต้องสอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงจากเมื่อ 25 ปีที่ผ่านมา

3.การขยายอัตราเงินสมทบเพื่อสร้างวินัยการออมและการขยายสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการของผู้ประกันตนยังใช้ฐานอัตราเงินสมทบเดิมเมื่อ 25 ปีก่อน ในขณะที่นโยบายรัฐบาลก็เน้นย้ำให้ประชาชนสร้างวินัยการออมให้เพิ่มขึ้น ซึ่งสวนกระแสกับนโยบายรัฐบาลและการปฏิรูป

4.อำนาจการตัดสินใจการใช้จ่ายงบประมาณกองทุนฯ ยังอยู่ภายใต้อำนาจบริหารและอำนาจทางการเมือง

5.ยังมีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิและบริการทั้งในกลุ่มผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 และ 40 ที่ขัดต่อหลักการการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขของกองทุนประกันสังคม และเมื่อเปรียบเทียบกับกองทุนอื่นๆ ที่เป็นระบบสวัสดิการของคนไทย

สิทธิและบริการของประกันสังคมยังมีประสิทธิภาพน้อยกว่าระบบบริการภาครัฐที่ไม่ต้องจ่าย เช่น ระบบบริการสุขภาพ การสงเคราะห์บุตร ทันตกรรม และกรณีชราภาพ ที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบเองร่วมกับนายจ้าง โดยที่รัฐบาลไม่ได้ร่วมสมทบด้วย

และยังตัดสิทธิการเข้าร่วมกองทุนบำนาญชราภาพอื่น เช่น กอช. กำลังบังคับใช้อยู่ ณ ปัจจุบัน

ดังนั้น สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย (สพท.) และเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบายปฏิรูปประกันสังคมไทย เพื่อให้รัฐบาลภายใต้การนำของท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ได้พิจารณาให้ความสำคัญต่อการกำหนดแนวทางการปฏิรูปประกันสังคมให้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศไทย

และเป็นนโยบายเร่งด่วนเพื่อให้ระบบประกันสังคมไทยเป็นประกันสังคมถ้วนหน้าที่เกิดจากการมีส่วนร่วมทั้งรัฐบาล ผู้ประกันตน และนายจ้าง ตามความต้องการของผู้ประกันตนและนายจ้างในปัจจุบัน สอดคล้องกับสภาวะทางสังคม เศรษฐกิจ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี พ.ศ.2559


มาดูกันเถอะว่า!! ทำไม? ถึงต้องปฏิรูปประกันสังคม สู่ความเป็นอิสระ

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์