ยีนตัวการ ทำให้เกิดมะเร็งเต้านม

PARIS (AFP)-พบยีนตัวการสำคัญที่ทำให้มะเร็งเต้านมแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นทั่วร่างกาย (metastasis) ทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตาย


งานนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร British journal Nature โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันเจ้าของงานทดลองอธิบายว่า ยีน SATB1 ที่ค้นพบนี้เป็น ตัวการหลักเปลี่ยนแปลงการแสดงออกของยีนชนิดอื่นในเซลล์มะเร็งนับพันชนิด


ผลการศึกษาพบว่าเมื่อยีนตัวนี้ได้รับการกระตุ้นจะทำให้เซลล์มะเร็งเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่หากยีนตัวนี้ไม่ได้รับการกระตุ้นเซลล์มะเร็งจะหยุดการแบ่งตัวและหยุดการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น


Termumi Kohwi-Shigematsu จาก Lawrence Berkeley National Laboratory แคลิฟอร์เนีย เล่าให้สำนักข่าว AFP ฟังว่า ยีน SATB1 อาจกลายเป็นเป้าหมายในการรักษาโรคมะเร็งที่สำคัญในอนาคต


Termumi กล่าวว่า การค้นพบนี้นอกจากจะสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือวินิจฉัยมะเร็งในระยะแพร่กระจายแล้ว ยังสามารถนำไปประยุกต์ออกแบบยาต้านหรือยับยั้งมะเร็งเต้านมในระยะที่กำลังแพร่กระจายได้


ปัจจุบันวงการแพทย์ไม่สามารถทำนายได้ว่า เซลล์มะเร็งในก้อนเนื้อที่ตรวจพบ ได้สั่งการตนเองให้ไปรุกรานเนื้อเยื้อข้างเคียงแล้วหรือยัง


โปรตีน SATB1 นี้จึงเปรียบเสมือนเครื่องหมาย (marker) บอกว่ามะเร็งจะแพร่กระจายหรือเปล่า หากตรวจแล้วพบว่าโปรตีนตัวนี้ถูกกระตุ้น ก็เชื่อได้แน่ว่าเซลล์มะเร็งในเนื้องอกก้อนนั้นกำลังแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นครับ


(เห็นคำว่า โปรตีน SATB1 บ้าง/ ยีน SATB1 บ้าง อย่าเพิ่งงงนะครับ เนื่องจากผลิตผลของยีนก็คือโปรตีนนั่นเอง


หากใช้คำว่า โปรตีน SATB1 แสดงว่านักวิทยาศาสตร์ต้องการตรวจในระดับโปรตีน แต่หากใช้คำว่า ยีน SATB1 ก็แสดงว่านักวิทยาศาสตร์กำลังสนใจทดลองในระดับยีนนั่นเองครับ)
Metastasis หรือการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปยังอวัยวะอื่นหรือทั่วร่างกายจัดได้ว่าเป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งทั้งหลายต้องเสียชีวิตลง พบว่าในรอบสิบปีที่ผ่านมานี้จำนวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในระยะ Metastasis ที่รอดชีวิตมีน้อยกว่า 10% ครับ

ประโยชน์ของ SATB1 ด้านดีของมันที่รู้จักกันนั้นคือ ช่วยควบคุมการแสดงออกของยีนชนิดอื่น ควบคุมการทำงานของ T-cell หรือเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งในระบบภูมิคุ้มกันร่างกายซึ่งทำหน้าที่เหมือนทหารที่คอยตรวจตราและทำลายผู้บุกรุกนั่นแหละครับ


แต่จากการค้นพบใหม่กลับแสดงให้เห็นว่ายีนชนิดนี้แสดงออกในเซลล์มะเร็งเต้านม ดังนั้น SATB1 จึงมีบทบาทสำคัญทำให้มะเร็งแพร่กระจายได้โดยไม่ต้องพึ่งพายีนชนิดอื่น นับได้ว่าเป็น ด้านมืด ของยีนนี้เลยก็ว่าได้ครับ

Kohwi-Shigematsu และคณะทำการทดลองโดย "knocked down" หรือทำให้ยีนแสดงออกน้อยลง กล่าวคือทำให้ยีน SATB1 สูญเสียสภาพการทำงานไป อาจแสดงออกได้แต่อยู่ในปริมาณน้อยครับ โดยการไปลดปริมาณ RNAs ในเซลล์มะเร็ง ทำให้โปรตีนที่ได้น้อยลง และผลสุดท้ายก็จะไม่มีโปรตีนตัวการที่กำหนดให้เซลล์มะเร็งแบ่งตัวและไปรุกรานเซลล์ข้างเคียงครับ


RNAs (อาร์เอนเอ) ที่กล่าวถึงเมื่อครู่นี้คือ Messenger RNAs (mRNA) เป็นนิวคลีโอไทด์ต่อกันเป็นสายเดียว ส่วนนิวคลีโอไทด์นั้นเป็นส่วนประกอบย่อยของดีเอนเอหรืออาร์เอ็นเอ กล่าวคือ ดีเอนเอคือนิวคลีโอไทด์หลายตัวที่ต่อกันเข้าเป็นสาย แล้วสายสองสายก็มาประกอบกัน เจ้า RNAs นี้เป็นโมเลกุลที่ถ่ายทอดภาษาดีเอนเอให้กลายเป็นโปรตีน โดยมีไรโบโซมเป็นโรงงานช่วยในการสังเคราะห์โปรตีนครับ


และเมื่อทดลองเช่นเดียวกันนี้กับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย ผลการทดลองที่ได้ยิ่งน่าทึ่งครับ


แต่เมื่อทดลองกระตุ้นยีน พบว่าเซลล์มะเร็งเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วและออกอาละวาดครับ


ผลการศึกษาทั้งหมดนี้จึงสรุปได้ว่าการรักษามะเร็งให้มีประสิทธิภาพควรมุ่งเป้าการรักษาไปที่ก้อนเนื้อที่มีระดับของยีน SATB1 ที่แสดงออกมากเกิน


ยาที่ยับยั้งยีนนี้ทั่วร่างกายอาจยับยั้งทั้งด้านร้าย และด้านดีของมันในแง่กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันครับ


Kohwi-Shigematsu จึงพยายามคิดค้นหาวิธีส่งยาหรือตัวยับยั้งยีนนี้เข้าไปใน แคปซูลจิ๋วระดับนาโน (nanocapsule)” โดยคาดว่าอีก 2-3 ปีข้างหน้าน่าจะมีการทดลองทำในคนครับ


งานวิจัยของ  Kohwi-Shigematsu นี้จัดได้ว่าเป็นเป็นงานวิจัยมะเร็งแนวใหม่ เนื่องจากศึกษาถึงต้นตอความผิดปกติของโรคด้านพันธุศาสตร์ครับ


นักวิทยาศาสตร์ทราบดีว่ารูปแบบการแสดงออกของยีนหลายชนิดใช้เป็นสัญญาณบ่งบอกได้ว่ามะเร็งระยะแรกจะแพร่กระจายหรือไม่


และขณะนี้ Kohwi-Shigematsu ก็พบแล้วว่าโปรตีนชนิดใดเป็นตัวการสำคัญทำให้มะเร็งแพร่กระจายครับ


แต่สิ่งที่ยังเป็นคำถามอยู่สำหรับ Kohwi-Shigematsu ในตอนนี้ก็คือ อะไรไปกระตุ้นยีนตัวนี้ขณะเกิดมะเร็งเต้านม


ข้อมูลจาก American Cancer Society รายงานว่า ในแต่ละปี ผู้หญิงประมาณ 1.3 ล้านคนทั่วโลกตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านม และเกือบครึ่งล้านชีวิตที่ต้องสังเวยชีวิตให้กับ มะเร็งเต้านม
 
 

ภาพกราฟฟิกแสดงมะเร็งเต้านมซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยในสตรี โดยมีงานวิจัยว่าพบยีนที่ควบคุมการกระจายตัวของมะเร็งแล้ว (AFP/Graphic)
 ภาพด้านซ้าย (ล่าง)เปรียบเทียบลักษณะของ benign tumor คือไม่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ส่วนภาพบนแสดงลักษณะของ cancer หรือมะเร็งว่ามีการลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ภาพด้านขวาแสดงก้อนเนื้อหรือ tumor ในเต้านม ด้านล่างเป็นวิธีการผ่าตัดมะเร็งเต้านม (ลองอ่านรายละเอียดดูนะครับ)
  

อ้างอิง: http://en.wikipedia.org/wiki/Breast_cancer


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์