ย้อนวันเสด็จฯ...ทุ่งมะขามหย่อง ผืนแผ่นดินแห่งพระมหากรุณาธิคุณ

ย้อนวันเสด็จฯ...ทุ่งมะขามหย่อง ผืนแผ่นดินแห่งพระมหากรุณาธิคุณ




ย้อนวันเสด็จฯ...ทุ่งมะขามหย่อง 'ผืนแผ่นดินแห่งพระมหากรุณาธิคุณ'


ถือเป็นข่าวมหามงคลและสร้างความปลื้มปีติให้แก่พสกนิกรทั่วหล้า เมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เตรียมเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ณ ทุ่งมะขามหย่อง ต.บ้านใหม่ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้ เพื่อทรงติดตามโครงการในพระราชดำริ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโครงการในพระราชดำริซึ่งยังประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่เมื่อปี 2538

โดยเฉพาะชาวกรุงเก่าที่จะมีโอกาสได้ชื่นชมพระบารมีอย่างใกล้ชิด พื้นที่บริเวณพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย ซึ่งรองรับประชาชนได้ประมาณ 2 หมื่นคน และประชาชนสามารถเฝ้ารับเสด็จได้ในเส้นทางเสด็จฯ ขณะเดียวกัน นายดิสธร วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวัง ได้ประชุมร่วมกับ นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เตรียมการรับเสด็จ พร้อมจัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ ริ้วขบวนขับเพลงเรือ การแสดงม่านน้ำ สูจิบัตร 1 หมื่นชุด ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเกี่ยวข้าวในแปลงนา บริเวณหน้าพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย และทรงเปิดคันบังคับน้ำจากอ่างเก็บน้ำทุ่งมะขามหย่องไปยังพื้นที่การเกษตร

ย้อนภาพความทรงจำของปวงชนไทยเมื่อเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2539 เวลา 16.52 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย บริเวณทุ่งมะขามหย่อง เพื่อทอดพระเนตรการเก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง ที่ใช้น้ำเพาะปลูกจากอ่างเก็บน้ำในพื้นที่รอบพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ตามแนวพระราชดำริ

ภายหลังจากที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ได้เกิดภาวะน้ำท่วมอย่างรุนแรงเมื่อเดือนตุลาคม 2538 ทำให้บริเวณโดยรอบพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสรับสั่งให้ปล่อยน้ำเข้าพื้นที่ทั้งหมดของพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย เพื่อผ่อนคลายความเดือดร้อนแก่ราษฎรที่ถูกน้ำท่วม และเป็นการกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรในฤดูแล้งอีกทางหนึ่ง

สำหรับน้ำที่เก็บกักไว้ในอ่างเพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์ตามแนวพระราชดำริด้านเกษตรกรรมในฤดูแล้ง ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้สนองพระราชดำริส่งเสริมอาชีพแก่ราษฎรรวม 4 โครงการ คือ
โครงการส่งเสริมอาชีพปลูกข้าวนาปรัง โครงการส่งเสริมอาชีพปลูกพืชอายุสั้นและไม้ผล โครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงปลา และโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน

ผลการประกอบอาชีพเกษตรกรรมตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในการใช้น้ำที่ได้รับพระราชทานให้ผลสำเร็จเป็นอย่างดี เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถชดเชยความเสียหายจากน้ำท่วม เป็นการผ่อนคลายความเดือดร้อนของราษฎร


ย้อนวันเสด็จฯ...ทุ่งมะขามหย่อง ผืนแผ่นดินแห่งพระมหากรุณาธิคุณ



ในการเสด็จพระราชดำเนินเมื่อครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ "ทรงเกี่ยวข้าวในนา" ซึ่งเป็นการส่งเสริมการปลูกข้าวนาปรัง เพื่อสร้างขวัญกำลังใจแก่เกษตรกรที่ประกอบอาชีพทำนา รวมถึงทอดพระเนตรการเก็บเกี่ยวข้าว พร้อมทั้งทรงเยี่ยมและมีพระราชปฏิสันถารถึงสภาพความเป็นอยู่กับราษฎรอย่างทั่วถึง โดยพื้นที่ดังกล่าวยังมีการปลูกข้าวอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังทอดพระเนตรอ่างเก็บน้ำบริเวณพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย ที่ได้มีพระราชดำริให้ กรมชลประทาน กรมโยธาธิการ และกรมพัฒนาที่ดิน ปรับปรุงอ่างเก็บน้ำโดยขุดดินก้นอ่างให้มีความลึกโดยเฉพาะประมาณ 1 เมตร เพื่อกักเก็บน้ำให้มากกว่าเดิม โดยดินที่ขุดได้ส่วนหนึ่งให้นำไปทำทางสัญจรทางด้านทิศเหนือขนานไปกับคันกั้นน้ำให้ประชาชนให้เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างถนนริมแม่น้ำกับถนนสายใหญ่ ดินอีกส่วนหนึ่งให้นำไปทำถนนเสริมคันกั้นน้ำเดิมให้สูงถึงระดับ 6.2 เมตร กรณีที่มีน้ำไหลหลากมากเหมือนปี 2538 จะได้ระบายน้ำเข้ามาในอ่างเก็บน้ำ ทำให้มีน้ำกักเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้งมากขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริเวณพื้นที่ทุ่งภูเขาทอง ต.ลุมพลี และทุ่งมะขามหย่อง ต.บ้านใหม่ อ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพื้นที่แก้มลิงเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง และยังเป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระศรีสุริโยทัย

ดังนั้น ทางจังหวัดจึงตั้งชื่อพื้นที่ทั้งสองแห่งนี้ว่า "ผืนแผ่นดินแห่งพระมหากรุณาธิคุณ" เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่จะเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรความคืบหน้าและการรับมือการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และพื้นที่ใกล้เคียง

ด้วยเหตุนี้การเสด็จพระราชดำเนินทุ่งมะขามหย่อง วันที่ 25 พฤษภาคมนี้ ทางจังหวัดได้เตรียมนำ "เคียว" ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้เกี่ยวข้าวเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2539 ทูลเกล้าฯ ถวายให้พระองค์ได้ทอดพระเนตร ก่อนที่จะขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการที่จะนำไปประดิษฐานที่ พระบรมรูปหล่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเกี่ยวข้าว อนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดี ทุ่งหันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา แทนเคียวจำลองที่อยู่ในขณะนี้

ทั้งนี้ "เคียว" เล่มที่พระองค์ทรงใช้เกี่ยวข้าวเป็นเคียวสเตนเลส ด้ามมุก บนใบเคียวมีตราสัญลักษณ์ครองราชย์ครบ 50 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่วนที่ด้ามมีข้อความจารึกคำว่า "จังหวัดพระนครศรีอยุธยา" เก็บรักษาอยู่ที่ห้องทำงานผู้ว่าฯ พระนครศรีอยุธยา

ต้นธารแห่งพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ถือเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญให้พสกนิกรเจริญรอยตามแนวพระราชดำริ อย่างโครงการ "ปลูกข้าวกินเอง” โดยให้ประชาชนในอำเภอต่างๆ ทั้ง 16 อำเภอ หาที่ดินเพื่อร่วมโครงการ


.........

(หมายเหตุ : ย้อนวันเสด็จฯ...ทุ่งมะขามหย่อง 'ผืนแผ่นดินแห่งพระมหากรุณาธิคุณ')


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์