รพ.เด็กแนะวิธีป้องกันภัยที่มาจากน้ำท่วม

รพ.เด็กแนะวิธีป้องกันภัยที่มาจากน้ำท่วม


ช่วงนี้หลายจังหวัดของประเทศไทยประสบกับปัญหาน้ำท่วมอย่างรุนแรง เนื่องจากฝนที่ตกหนักต่อเนื่องกันมาหลายสัปดาห์

 
ปัญหา การจมน้ำเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปีเสียชีวิตสูงเป็นอันดับหนึ่ง และสูงกว่าการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรถึง 2 เท่า โดยในแต่ละปีมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตถึงเกือบ1,500คนหรือเฉลี่ยวันละ 4 คน

พญ.พิมพ์ภัค ประชาศิลป์ชัย ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก)กรมการแพทย์  กระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า  น้ำเพียงระดับ 1-2 นิ้ว ก็สามารถทำให้เด็กเล็กๆจมน้ำได้แล้ว และเด็กส่วนมากมักจมน้ำบริเวณแหล่งน้ำใกล้บ้านผู้ปกครองควรดูแลเด็กๆอย่างใกล้ชิด ไม่ควรปล่อยให้เด็กไปเล่นน้ำ จับปลา พายเรือ หรือว่ายน้ำตามลำพังและควรให้เด็กๆยืนห่างจากขอบแหล่งน้ำเพื่อป้องกันการลื่นตกด้วย รวมถึงไม่ควรให้อยู่ในน้ำเป็นเวลานานเพราะความเย็นของน้ำจะทำให้เด็กเป็นตะคริวจมน้ำได้โดยเฉพาะในสถานการน้ำท่วมแบบนี้ต้องระวังเป็นพิเศษและถ้าต้องเดินทางทางเรือก็ควรสวมเสื้อชูชีพให้เด็กๆตลอดเวลาที่เดินทาง

นอกจากนี้ยังมีโรคต่างๆที่ระบาดมากในช่วงน้ำท่วมดังนี้  คือโรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร หรือที่เรียกกันทั่วๆ ไปว่า โรคอุจจาระร่วง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค การป้องกันคือ ดื่มและใช้น้ำที่สะอาด ควรระวังอย่าให้น้ำที่ท่วมขังอยู่เข้าปากและไม่ควรนำมาล้าง ภาชนะ ต้องล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังจากเข้าห้องน้ำ ไม่ถ่ายลงในน้ำ เก็บภาชนะ

ที่ใส่อาหารให้มิดชิด

โรคที่สองคือโรคตาแดง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดได้ทั้งจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส มักจะติดต่อด้วยการสัมผัสจากมือ ผ้าเช็ดหน้าหรือผ้าเช็ดตัว เด็กๆจะมีอาการที่สำคัญคือ คันตา มีน้ำตาไหลมากผิดปกติ มีขี้ตามาก เยื่อบุตาขาวอักเสบแดง การป้องกันคือ สอนให้เด็กๆล้างมือให้สะอาดบ่อย เมื่อน้ำสกปรกเข้าตาเด็กๆ ผู้ปกครองควรรีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดและถ้าเด็กๆมีอาการปวดตาหรือมองแสงไมได้ควรรีบพาไปปรึกษาแพทย์

และโรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อรา  ซึ่งเกิดจากการย่ำน้ำหรือแช่น้ำที่มีเชื้อโรคหรือเท้าอับชื้นอยู่เป็นเวลานานอาการจะเริ่มด้วยตุ่มใสบริเวณง่ามเท้า คันตามซอกนิ้วเท้าผิวหนังลอกเป็นขุย มีอาการคันมากจนแตกเป็นแผล การป้องกัน คือ ควรล้างเท้าให้สะอาด เช็ดให้แห้ง รักษาได้โดยใช้ยาทารักษาเชื้อรา แต่ถ้ามีอาการรุนแรงและเรื้อรังทายาไม่ได้ผล อาจต้อง ไปปรึกษาแพทย์

โรคสุดท้ายคือ โรคฉี่หนู หรือเรียกอีกชือหนึ่งว่าโรคเลปโตสไปโรสิส ส่วนมากพบในผู้ใหญ่ แต่ก็สามารถเกิดในเด็กได้ด้วย โดยเฉพาะในช่วงน้ำท่วม โรคนี้เป็นโรคที่ติดต่อมาจากสัตว์ เชื้อโรคจะอยู่ในปัสสาวะของสัตว์เช่น หนู โค กระบือ ตลอดไปจนถึงสัตว์เลี้ยงในบ้านอย่างสุนัขหรือแมว โดยคนจะสามารถรับเชื้อเข้าไปทางบาดแผล หรือผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน ๆ รวมถึงเยื่อเมือกอย่างตาและปากอีกด้วย
 
อาการสำคัญ คือ จะมีไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ และศีรษะมาก เด็กๆบางคนจะมีอาการตาแดง เจ็บคอ เบื่ออาหาร ตัวเหลือง ตาเหลืองปัสสาวะน้อย  ซึม และท้องเดินร่วมด้วย จำเป็นต้องรีบพบแพทย์ เนื่องจากทำให้มีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเสียชีวิตได้ การจะป้องกันโรคนี้ถ้ามีแผลในบริเวณที่สัมผัสกับน้ำได้ง่าย ควรหลีกเลี่ยงการเดินหรือเล่นน้ำ ในบริเวณที่มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทางน้ำ และการป้องกันโรคเหล่านี้เป็นเรื่องที่ง่ายกว่าการแก้ไข หรือรักษา เพราะฉะนั้น อย่าลืมใส่ใจความปลอดภัย และสุขภาพอนามัยของเด็กๆ ในช่วงน้ำท่วมด้วย พญ.พิมพ์ภัค กล่าวสรุป


ขอบคุณบทความจาก : สสส

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์