ระวัง! มะเร็งตับจากสมุนไพรแห้ง

สมุนไพรแห้ง ไม่ว่าจะจีนและไทย ยังจัดว่าเป็นยาโบราณที่ทรงคุณค่า มีผลในการช่วยบำรุง ตลอดจนฟื้นฟูร่ายกาย ตามสรรพคุณที่แพทย์แผนโบราณได้ศึกษาและบอกต่อกันมา แต่หลายต่อหลายคนอาจลืมไปว่า ของที่มีคุณ อาจกลายเป็นภัยแฝง ที่ส่งผลร้ายต่อร่างกายได้ 

หากกระบวนการผลิต และสภาวะการจัดเก็บที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่ได้ช่วยปกป้องสมุนไพรแห้งที่แสนจะมีประโยชน์นี้ ให้ปลอดภัยจากสารพิษที่เกิดจากเชื้อรา ที่มีชื่อว่า “อะฟลาทอกซิน (aflatoxin)” หากสมุนไพรแห้งที่นำมาใช้นั้น มาจากกระบวนการผลิต และการจัดเก็บที่ไม่ถูกสุขลักษณะ จนมีเชื้อราที่สร้างสารพิษปะปนมากับสมุนไพร ก็จะเกิดผลร้ายกับร่างกายเราได้ ที่เรียกว่าภัยแฝงนั้น นั่น

เพราะ สารพิษชนิดนี้ ไม่ได้ก่อให้เกิด มะเร็งหรือโรคต่างๆกับร่างกายในทันที จนบางทีเราอาจไม่รู้ว่า ถึงเวลาที่ป่วยด้วยโรคที่เกิดจากสารพิษชนิดนี้ นั่นมีที่มาจากสมุนไพรแห้งที่เราเคยทานเป็นยาเข้าไปเมื่อนานมาแล้วนั่นเอง

ปัจจุบันองค์การ IARC ( International Association Research Cancer ) ได้จัดสารอะฟลาทอกซิน เป็นสารก่อมะเร็ง Class I ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ตับ และอาจก่อมะเร็งในอวัยวะอื่นๆ เช่น ไต ระบบหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท ระบบสืบพันธุ์ และระบบภูมิคุ้มกัน สารพิษอะฟลาทอกซิน เป็นสารพิษ ที่ผลิตโดยเชื้อราในกลุ่มราในโรงเก็บ (storage fungi) เชื้อราตัวสำคัญที่สร้างสารพิษนี้ได้ ได้แก่ Aspergillus flavus, A. parasiticus, Penicillium citrinum เป็นต้น ได้มีการศึกษาการสร้างอะฟลาทอกซินของ A. flavus ในห้องปฏิบัติการพบว่า A. flavus บางสายพันธุ์สร้างอะฟลาทอกซินในปริมาณสูงมาก บางตัวก็ไม่สร้าง ดังนั้นการที่พบเชื้อราเหล่านี้บนผลิตผลเกษตรจึงไม่สามารถสรุปว่าผลิตผลนั้นมีสารพิษ ในทำนองเดียวกันก็อาจมีการปนเปื้อนของอะฟลาทอกซินในผลิตผล 

โดยที่เราไม่เห็นเชื้อราเนื่องจากเชื้อราอาจถูกกำจัดออกไป โดยผู้ผลิตคิดว่าเมื่อไม่มีเชื้อราปรากฏให้เห็น ผลิตผลนั้นก็สะอาดปลอดภัย บริโภคได้ แต่ไม่ทราบว่าเชื้อราได้สร้างสารพิษและยังตกค้างอยู่ในผลิตผลนั้น ๆ การกำจัดอะฟลาทอกซินก็ทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากสารพิษชนิดนี้ทนความร้อนได้ถึง 250 องศาเซลเซียส เป็นสารพิษที่ก่อมะเร็งที่ตับ และตับอักเสบทั้งในมนุษย์และสัตว์ที่บริโภคอาหารที่มีสารพิษนี้เข้าได้จึงเห็นได้ว่าเป็นสารพิษที่อันตรายมาก ๆ

สมุนไพรและผลิตผลเกษตรอื่น ๆ ที่พบแอฟลาทอกซิน

เชื้อราสร้างสารพิษแอฟลาทอกซินได้ในสมุนไพรเกือบทุกชนิด ตัวอย่างสมุนไพรที่รู้จักกันดีและใช้กันอย่างแพร่หลายที่ตรวจพบแอฟลาทอกซินได้แก่ ข้าวเย็นเหนือ อบเชยเทศ โป๊ยกั๊ก ฟ้าทะลายโจร ขิง มะขามแขก บอระเพ็ด กานพลู ขมิ้นชัน มะตูม ขี้เหล็ก แสมสาร แห้วหมู พิกุล สารภี ระย่อม อบเชยญวน เกสรบัวหลวง สมอไทย มะขามป้อม เป็นต้น 

โดยที่บางชนิดตรวจไม่พบเชื้อราเจริญบนสมุนไพร แต่พบสารพิษในปริมาณที่สูงกว่ามาตรฐาน เช่นในอบเชยเทศ โป๊ยกั๊ก ฟ้าทะลายโจร และกานพลู เป็นต้น นอกจากในสมุนไพรแล้วผลิตผลเกษตรที่พบแอฟลาทอกซินส่วนใหญ่เป็นผลิตผลตากแห้ง และอาหารแปรรูป เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวสาร (ที่เก็บนาน ๆ) ข้าวเหนียว ลูกเดือย งา ข้าวสาลี กระเทียม หอม พริกไทยป่น พริกป่น ปลาป่น และในผลิตภัณฑ์แปรรูปเช่น ถั่วตัด งาตัด น้ำมันถั่วลิสง (ที่นำถั่วลิสงที่ไม่มีคุณภาพมาแปรรูป) และนมสด (จากการที่นำข้าวโพด ถั่วหรืออื่น ๆ ที่มี แอฟลาทอกซิน ชนิด B1 ปนเปื้อนอยู่ เป็นส่วนผสมในอาหารเลี้ยงสัตว์ แอฟลาทอกซิน จะเปลี่ยนจากชนิด B1 เป็น M1) 

จึงเห็นได้ว่าแอฟลาทอกซินอยู่ใกล้ตัวเรามาก ๆ ในต่างประเทศก็มีรายงานการตรวจพบแอฟลาทอกซินในสมุนไพรเช่นกัน เช่น ในประเทศศรีลังกาพบว่าสมุนไพร 6 ชนิดที่นิยมใช้ในการรักษาโรคนั้นตรวจพบสารพิษทั้ง 6 ชนิด ส่วนในประเทศอินเดียพบว่าสมุนไพรหรือเครื่องเทศที่พบว่ามีการปนเปื้อนของ แอฟลาทอกซิน มากที่สุดคือพริกไทย

ขั้นตอนใดในการผลิตสมุนไพรที่ตรวจพบอะฟลาทอกซิน

เชื้อราสามารถเข้าทำลายและสร้างสารพิษได้ดีในสภาพที่มีความชื้นสัมพัทธ์ไม่ต่ำกว่า 80% อุณหภูมิระหว่าง 28-35 องศาเซลเซียส และเกิดได้ในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตสมุนไพรหลังจากเก็บเกี่ยวมาแล้ว คือในขั้นตอนของการหั่น การตากแห้ง การบด การบรรจุ และการเก็บรักษา หรือแม้แต่ช่วงที่ผู้บริโภคซื้อมา และรับประทานไม่หมดแล้วไม่ปิดเก็บให้มิดชิดในที่แห้ง ความชื้นจากบรรยากาศก็สามารถเข้าไปทำให้สมุนไพรที่ตากแห้งแล้วมีความชื้นมากขึ้น เชื้อราจึงเจริญได้ 

โดยปกติเชื้อรา Aspergillus spp. อาศัยได้ทั่วไปในอากาศ ดิน เศษซากพืช สปอร์ปลิวกระจายทั่วไป โดยอาจมีปริมาณไม่มากนัก เมื่อมาสัมผัสกับสมุนไพรที่อยู่ระหว่างการตากแห้ง ที่ตากที่ลานบ้าน หรือช่วงที่รอการนำไปบดที่ร้านขายยา หรือในช่วงที่นำมาบรรจุใส่ซองหรือใส่แคปซูล ซึ่งเป็นช่วงที่มีโอกาสปนเปื้อนเชื้อและเชื้อสร้างสารพิษได้ดี 

เนื่องจากสมุนไพรที่บดมีขนาดเล็ก มีพื้นที่ผิวในการดูดความชื้นได้มาก จึงมีความชื้นสูงกว่าช่วงตากแห้ง การเจริญของราและการสร้างสารพิษจึงสูงกว่าในขั้นตอนอื่น ๆ กระบวนการผลิตที่ผลิตอย่างมีมาตรฐานตามข้อกำหนด GMP (Good Manufacturing Practice) จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง

ประเทศไทยยังไม่มีข้อกำหนด กฏหมาย ที่กำหนดปริมาณสารแอฟลาทอกซิน ในสมุนไพร มีกำหนดเฉพาะในอาหารสำหรับบริโภคเท่านั้น ที่กำหนดให้มี อะฟลาทอกซินได้ไม่เกิน 20 ไมโครกรัม/ กิโลกรัม จึงยังเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคต้องระมัดระวังและดูแลตัวเอง ในอดีตคนไทยรับประทานสมุนไพรเป็นยาโดยรับประทานสด แม้ว่าคุณสมบัติของสารออกฤทธิ์จะลดน้อยกว่าสมุนไพรตากแห้ง 

ดังนั้นถ้ามีโอกาสและสามารถบริโภคสมุนไพรสดก็ควรบริโภคแบบสด แต่หากปฏิบัติไม่ได้ควรเลือกบริโภคสมุนไพรที่มีการบรรจุดี สะอาด มิดชิด ความชื้นจากบรรยากาศไม่สามารถเข้าไปได้ ควรมีทะเบียนยารับรอง ระบุวันเดือนปีที่ผลิตและวันหมดอายุ มีการควบคุมคุณภาพตามมาตรฐานขององค์การอาหารและยา การเลือกซื้อสมุนไพรที่ผลิตโดยโรงพยาบาลและบริษัทที่มี อย. รับรองจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดีที่สุด

หลายท่านอาจคิดว่า ก่อนนำไปดื่มหรือบริโภค ก็ต้องนำไปผ่านความร้อนโดยการต้มให้เดือด ก็น่าจะทำลายสารพิษชนิดนี้ได้ แต่อย่าลืมนะคะว่า เจ้าสารพิษชนิดนี้ทนความร้อนได้ถึง 250 องศาเซลเซียส ซึ่งอุณหภูมิน้ำเดือดทั่วไปไม่สูงถึงขั้นจะทำลายสารพิษชนิดนี้ได้


ระวัง! มะเร็งตับจากสมุนไพรแห้ง

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์