ระวังโฆษณาบ้านเก่าแลกบ้านใหม่

ระวังโฆษณาบ้านเก่าแลกบ้านใหม่



ลักษณะพิเศษของการใช้ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่คือ มันจะเป็นที่สะดุดตาของผู้คนที่ผ่านสัญจรไปมาบนท้องถนน แต่แน่นอนว่าคุณจะไม่สามารถอ่านหรือใช้เวลานาน ๆ เพื่อพิจารณาป้ายโฆษณานั้นได้ นอกจากความรู้สึกสะดุดใจและนั่นอาจเป็นที่มาของปัญหา


คุณอัจฉรา ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องเตือนใจนี้เล่าว่า วันหนึ่งดิฉันขับรถผ่านไปทางบางใหญ่ - นนทบุรีเผอิญได้เห็นป้ายโฆษณาขายบ้านของโครงการหนึ่งเข้า มีข้อความตัวเป้งบนป้ายว่า บ้านเก่าแลกบ้านใหม่ แหมน่าสนใจน้อยเสียที่ไหน คุณอัจฉราจับปากกาจดเบอร์โทรศัพท์ได้ก็รีบติดต่อสอบถามรายละเอียดทันที

คุณอัจฉรา : สวัสดีค่ะ โครงการฯ ขึ้นป้ายว่าบ้านเก่าแลกบ้านใหม่ได้ ใช่ไหมคะ

พนักงานโครงการฯ : ค่ะ เงื่อนไขก็คือ คุณต้องนำบ้านมาฝากขายกับบริษัทฯ มีค่าบริการฝากขายและหากสนใจบ้านในโครงการฯ ของเรา คุณสามารถจองและดาวน์ได้ทันที

คุณอัจฉรา : อ้าวไม่เห็นเหมือนที่บอกในโฆษณาเลย บ้านเก่าแลกบ้านใหม่ ก็ต้องหมายถึงเราเอาบ้านเก่าของเรามาแลกกับบ้านใหม่ในโครงการฯ ของคุณซิ อาจต้องจ่ายเพิ่มหรืออะไรก็ว่าไป แต่นี่คุณรับฝากขายแค่นั้น ทำไมไม่โฆษณาว่ารับฝากขายบ้านล่ะ

พนักงานโครงการฯ : ..

อย่างนี้ไม่ชอบมาพากลแล้วคุณอัจฉราเลย ร้อง ให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยจัดการให้ด้วย อย่างนี้เข้าข่ายโฆษณาหลอกลวงนะคะ ทางมูลนิธิฯ น่าจะได้เตือนให้คนอื่นไม่ไปหลงเชื่อโฆษณานี้

เพื่อให้เกิดความกระจ่าง มูลนิธิฯ ได้ทำหนังสือถึงบริษัทบ้านดังกล่าว ทำให้ทราบว่า บริษัทมีการรับแลกบ้านเก่ากับบ้านใหม่จริง แต่เงื่อนไขค่อนข้างซับซ้อนไม่ง่าย ๆ ตรงไปตรงมาเหมือนบนป้ายโฆษณานัก รายละเอียดคือ

1.บ้านที่บริษัทจะให้เข้าร่วมโครงการจะต้องอยู่ในทำเลที่บริษัทเป็นผู้พิจารณาความเป็นไปได้ในการตัดสินใจซื้อ (หมายความว่าไม่ได้กำหนดพื้นที่ไว้ สุดแล้วแต่บริษัทจะพิจารณา)

2.ในด้านราคาของบ้านที่จะนำมาแลก จะไม่ใช่ราคาที่ผู้เป็นเจ้าของบ้านผู้กำหนดเอง แต่เป็นราคาที่บริษัทพิจารณาต่อรองแล้วเห็นว่าสามารถรับซื้อได้ ซึ่งหากเจ้าของบ้านตกลงก็จะทำการซื้อ แต่หากไม่ตกลงบริษัทมีบริการเพิ่มคือ รับฝากขาย ไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ แต่หากขายได้บริษัทจะคิดค่านายหน้าร้อยละ 3 ของราคาขาย

3.บ้านที่ทางบริษัทตกลงซื้อและเจ้าของบ้านมีความประสงค์ที่จะซื้อบ้านในโครงการของบริษัท บริษัทจะตรวจสอบภาระหนี้ที่มีอยู่กับธนาคารของเจ้าของบ้านและตรวจสอบเครดิตของเจ้าของบ้านว่ามีความสามารถที่จะกู้สถาบันการเงินได้เท่าไหร่

หากเจ้าของบ้านผ่านการตรวจสอบสามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้เมื่อรวมกับเงินที่ได้จากการรับซื้อบ้านเดิมเพียงพอที่จะซื้อบ้านในโครงการของบริษัท บริษัทจึงจะตกลงซื้อบ้าน(เก่า) แต่หากเจ้าของบ้านไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ หรือกู้ได้น้อยไม่พอกับราคาบ้านใหม่ บริษัทจะแนะนำให้ขายฝากดีกว่า

สนใจโฆษณาแล้ว ก็ต้องใส่ใจเรื่องรายละเอียดด้วยนะคะ โฆษณาที่ดูง่าย ๆ ตรง ๆ แบบนี้แหละ เงื่อนไขซับซ้อนวุ่นวายจริง ๆ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์