รักสู้โรค แม่นุ่น ไอดอลนักสู้มะเร็ง!!


"มะเร็งอาจดูร้ายแรง หากเราสร้างกำลังใจให้ตัวเอง อย่าท้อแท้ อย่าท้อถอย อย่างนุ่นเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย..ก็ไม่คิดว่าตนเองเป็นมะเร็ง คิดว่าป่วยเป็นหวัดแต่ว่ารักษานานหน่อยเท่านั้นเอง (หัวเราะ) หากเราคิดว่ามันไม่แย่ เรามีทางแก้ ก็จะมีแรงสู้กับมัน"

เป็นคำกล่าวให้กำลังใจของ แม่นุ่น-สุพัฒชา ศรีสุวรรณ ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมชนิด Her2 Positive ระยะสุดท้าย ในวันสบายๆ ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม น้ำเสียงเบิกบาน ระหว่างยืนขายเค้กแห่งความรักซึ่งเป็นธุรกิจหลักของครอบครัวร่วมกับสามี ตุลย์-วิทวัส โลหะมาศ ลูกสาวคนโต "ซิดนีย์" ลูกชายคนเล็ก "บอสตัน" ที่เซ็นทรัล พระราม 3

แม้วันนี้แม่นุ่นจะหลงเหลือก้อนมะเร็งที่สมอง 8 จุด แต่ถือว่าดีขึ้นมากจากเมื่อ 2 ปีก่อนที่มะเร็งลุกลามไปทั่วทั้งตับ โดยมีก้อนเนื้อร้ายที่ตับขนาดใหญ่สุด 7x7 เซนติเมตร และยังแพร่กระจายไปยังกระดูกสันหลังและต่อมน้ำเหลือง ก่อนจะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งซึ่งรักษาโดยให้ยาเคมีบำบัดสูตร Docetaxel (Taxotere) + Herceptin การให้ครั้งแรกแม่นุ่นตอบสนองกับยาดี ก้อนเนื้อที่เคยคลำได้เริ่มยุบลง จากนั้นให้เคมีบำบัดเป็นครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ซึ่งร่างกายตอบสนองกับยาดีมาก

แต่เธอเลือกจะยุติการรักษาด้วยวิธีนี้ลง

"การให้เคมีทั้ง 3 ครั้ง นุ่นมีอาการหนักแทบปางตาย เพราะยาที่ให้ไปสะสมที่ตับ ขณะที่หมอก็ยอมรับว่าไม่เคยเจอผู้ป่วยที่แพ้เคมีขนาดนี้ เพราะเล็บหลุดหมดเลยทั้งมือและเท้า แผ่นมือแดงและลอก หนังตาห้อย และหน้าแดงลอก กินไม่ได้เลยเพราะช่องปากเป็นร้อนในไปถึงลำคอ ปากก็เปื่อยไปหมด จะอาหารบดหรือน้ำก็กินไม่ได้เลย ตอนนั้นรู้สึกไม่ไหวแล้ว คิดว่าเมื่อเรากินอะไรไม่ได้แล้วจะเอาอะไรไปต่อสู้กับมัน"


รักสู้โรค แม่นุ่น ไอดอลนักสู้มะเร็ง!!

"จนตอนให้ยาเข็มที่ 3 และน้ำเกลือเสร็จ ตอนนั้นรู้สึกท้อ นุ่นก็นั่งร้องไห้อยู่หน้าห้องยา ตอนนั้นไม่ใช่จะไม่สู้ต่อ ก็บอกสามีว่า จะไม่ไหวแล้ว หากเป็นอย่างนี้ต้องตายแน่ๆ ขอเปลี่ยนสูตรยาได้ไหม"

ในความมืดมน หากมี "สติ" ก็จะพบแสงสว่างได้ไม่ยาก ขณะนั้นสามีแม่นุ่นเริ่มทำเพจเฟซบุ๊กแม่นุ่น โดยถ่ายทอดเรื่องราวตั้งแต่เริ่มเจ็บป่วย หนทางการรักษา ต่อสู้และฝ่าฟัน ก็มีคนในโลกออนไลน์เข้าไปให้กำลังใจมากมาย รวมถึงอาสาให้ความช่วยเหลือ หนึ่งในนั้นคือ "คุณเหมียว" ซึ่งเธอทิ้งข้อความไว้ว่า "มีสามีเป็นหมอ นพ.ชินวัตร วิสุทธิแพทย์ มีอะไรบอกได้นะ"

เมื่อวิทวัสติดต่อขอความช่วยเหลือไป จึงนำมาสู่จุดเปลี่ยนชีวิตแม่นุ่นจนถึงปัจจุบัน

"ตอนนั้นอาการแย่แล้ว เกล็ดเลือดเหลือ 400 จากคนปกติมีระดับแสน หมอชินบอกกับเราหลังเขาไปแอดมิทในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งว่า ผมรักษาคนด้วย ไม่ใช่แค่รักษาโรคเฉยๆ ให้โรคมันแซงเราไปก็ได้ ดีกว่าร่างกายจะแย่เอา ก็เป็นคำพูดที่ทำให้สามีนุ่นเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยการตัดสินใจหยุดให้ยาเคมีและปรับเปลี่ยนวิธีการรักษา โดยหมอชินก็รักษาอาการข้างเคียงจนหาย และพาไปหาอาจารย์หมอท่านหนึ่งที่โรงพยาบาลรามาธิบดี จนได้ปรับเปลี่ยนการให้ยา หยุดให้เคมี มาเป็นสูตรปัจจุบัน Herceptin + Tykerb

ยาสูตรใหม่ไม่ใช่ยาเคมีบำบัดที่ฆ่าทั้งเซลล์ดีและเซลล์ไม่ดี แต่เป็นยาวิวัฒนาการใหม่ไปฆ่าเซลล์มะเร็งแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งนั่นทำให้มะเร็งที่เคยลุกลามตามร่างกายของเธอเริ่มจางหายไป เหลือแต่ที่สมอง แต่นั่นก็แลกมาด้วยค่าใช้จ่ายมหาศาล แม้เธอจะใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ตัวยาที่ใช้เป็นยานอกบัญชี ทำให้เธอต้องจ่ายค่ายา 150,000 บาททุกๆ 3 สัปดาห์ ทำมาอย่างนี้แล้วกว่า 2 ปี

 

แม้จะได้รับยาดีจากโรงพยาบาลทำให้มะเร็งที่ลุกลามค่อยๆ หายไป แต่แม่นุ่นมียาที่ดีกว่าซึ่งหาซื้อที่ไหนไม่ได้ เป็นยาที่ประเมินค่าไม่ได้ แต่สรรพคุณเหลือร้ายนัก อาจจะบอกได้ว่า ที่เธออยู่รอดถึงทุกวันนี้ ผ่านวิกฤตชีวิตหลังจากให้ยาเคมีมาได้ก็เพราะยาดีที่เรียกว่า "ความรัก"

"ด้วยความที่อยากอยู่กับลูก ลูกยังเล็ก เรายังเป็นอะไรไปไม่ได้ หากเขาขาดแม่ไปสักคนเขาจะอยู่อย่างไร ก็คิดถึงลูกเป็นหลักทำให้ผ่าน 2 ปีนี้มาได้ ขณะเดียวกันลูกยังสร้างกำลังใจ แม้จะป่วย แต่เวลาที่ได้เห็นหน้าเขาเราก็มีความสุข ไม่เครียด ยิ่งเวลาที่เขาพูดอะไรด้วยความไร้เดียงสา ก็ทำให้นุ่นคิดว่าจะเป็นอะไรได้ยังไง เวลาที่อยู่กับลูก ได้ดูแลลูก เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของชีวิตนุ่น แค่นี้ชีวิตก็ไม่ต้องการอะไรแล้ว"

เริ่มต้นด้วยความรัก ความสุขก็ตามมา

"ทำทุกวันให้มีความสุข ทุกๆ อย่างจะราบรื่น นุ่นไม่ค่อยนั่งจมปลักกับความทุกข์ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง อย่างช่วงที่ขี้เหร่จัดๆ ก็ไม่ได้ห่วงสวยอะไร ก็คิดแค่ว่าที่เส้นผมมันร่วงเดี๋ยวมันก็ขึ้นได้ ก็พยายามคิดบวก ส่วนวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไรค่อยว่ากัน เพียงแต่ทำวันนี้ให้ดีที่สุดเท่านั้นพอ"

หากใครได้ติดตามเพจแม่นุ่นหรือได้พูดคุยตรงๆ จะสัมผัสถึงออร่าแห่งกำลังใจและความเป็นนักสู้เต็มเปี่ยม ซึ่งเธอก็ยังแบ่งปันไปถึงผู้ป่วยคนอื่นๆ ด้วย อย่างวลีเด็ดล่าสุดของแม่นุ่นคือ "ระยะสุดท้ายจะหายให้ดู" ซึ่งเรียกกำลังใจไม่น้อย

"อยากให้กำลังใจทุกคนให้สู้ ท้อได้ แต่อย่าถอย โรคมะเร็งอาจไม่ได้ร้ายแรงที่สุด อย่างใครตอนนี้ที่เพิ่งรู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง อยากให้เตรียมตัว เตรียมใจ และเตรียมพร้อมสู้กับมันให้ได้ อย่าไปตกใจเสียใจกับมันมาก เพราะหากยอมรับความจริงให้ได้ คิดว่าจะดีขึ้นเอง รวมถึงผู้ป่วยโรคอื่นๆ เช่นกัน"

 

วันนี้ นุ่นวัย 31 ปี ยังฝากให้คอยสังเกตสัญญาณร่างกาย หรือการตรวจร่างกายเป็นประจำสม่ำเสมอ โดยยกประสบการณ์ตัวเองที่ละเลยสัญญาณร่างกายจนมาพบเมื่ออาการหนัก และโรคดำเนินไปถึงระยะสุดท้ายแล้ว

"นุ่นไม่เคยคิดว่าตนเองจะเป็นโรคนี้ เพราะไม่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรมหรือพฤติกรรมใดเลย เพียงแต่ตอนนั้นทำงานหนัก พักผ่อนน้อย กินข้าวไม่เป็นเวลา ซึ่งร่างกายส่งสัญญาณมาตั้งแต่เดือนมกราคม แต่ก็ไม่ได้คิดอะไร เพียงซื้อยามากิน จนมารู้เบื้องต้นว่าตับโตและมีจุดสิ้นเดือนมีนาคม และผลตรวจทางการแพทย์ยืนยันชัดเจนปลายเดือนเมษายน"

"อยากให้ทุกคนตรวจร่างกายสม่ำเสมอ อย่าคิดไปก่อนว่าไม่เป็นอะไร เพราะบางทีเราไม่รู้ว่าเป็นแค่นี้ แต่ข้างในร่างกายเป็นอะไรบ้าง หากตรวจพบเร็วก็เจอหนทางการรักษาที่ดีกว่า มีโอกาสรักษาหาย แต่หากละเลยไม่ได้ตรวจจนอาการหนักแล้วไปตรวจเจอปึ้งเลย ก็อาจทำให้ท้อแท้ท้อถอยได้" สุพัฒชากล่าว


รักสู้โรค แม่นุ่น ไอดอลนักสู้มะเร็ง!!

คนรอบข้างผู้ป่วยสำคัญกว่าหมอ
นอกจากต้องได้รับยารักษาโรคที่ดีเข้าสู่ร่างกายเพื่อทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคได้สำเร็จแล้ว ยังต้องมียาดีที่เรียกว่า กำลังใจ ความสุข ซึ่งหาได้จากคนรอบข้าง แม่นุ่นก็เช่นกัน สามีคอยดูแลไม่ห่างเสมือนแขนขา ลูกๆ เสมือนดวงใจ ไหนจะมีพ่อแม่ หลาน แฟนเพจมาเสริมอีก เป็นส่วนผสมยาที่ลงตัวและสำคัญมาก

ตุลย์-วิทวัส โลหะมาศ กล่าวว่า "คนรอบข้างผู้ป่วยสำคัญมาก อาจจะมากกว่าหมอด้วยซ้ำ เพราะหากคนรอบข้างป่วย กำลังไม่เข้มแข็ง เวลาจะไปหาหมอจะเอาเงินที่ไหนไปรักษา หมอไม่ได้จ่ายค่ายาให้ ฉะนั้นคนดูแลผู้ป่วยนี่แหละ ไม่ว่าใครก็แล้วแต่ ก็ต้องขวนขวายหากำลังทรัพย์เพื่อให้มีเงินรักษา ส่วนกำลังใจก็เช่นกัน ต้องประคบประหงม ดูแลคนป่วยก็เหมือนดูแลเด็ก กำลังใจ กำลังกาย การสรรหาอาหารมากิน พาไปเที่ยวพักผ่อน หรือการทำอยู่ทุกวันนี้ที่ผมอาจสรุปได้รวดเดียวคือ ผมแบกรับความทุกข์ทั้งหมดของนุ่นไว้ที่ผม"

ผู้นำครอบครัววัย 34 ปี เป็นหัวเรือหลักดูแลแม่นุ่นในทุกมิติ ตั้งแต่หาหนทางรักษา ดูแลการใช้ชีวิตหลังการรักษา หาเงินมารักษา 150,000 บาท ทุกๆ 3 สัปดาห์ และดูแลครอบครัวตั้งแต่ลูก พ่อแม่ของนุ่น หลานที่ภายหลังย้ายมาอยู่บ้านเดียวกัน เพราะไม่อยากให้ภรรยามีห่วงเพื่อเพิ่มความสุข

"ผมทำงานหนักทุกวัน ขายเค้กตามห้างต่างๆ ขายส่งตามไปรษณีย์ ส่งเดลิเวอรี่ขายส่งตามร้านกาแฟ ตรงนี้เป็นอาชีพหลัก ส่วนอาชีพเสริมก็เขียนหนังสือคุณแม่สู้มะเร็ง หรือเตรียมเขียนหนังสืออาหารอีกในเดือนตุลาคมนี้ รวมทั้งหนังสือธรรมะ ตอนนี้อะไรทำแล้วได้เงินทำหมด พยายามใช้ความสามารถที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ ได้เงินมาก็เก็บไว้ เพราะนอกจากคนป่วยที่ต้องดูแลก็ยังมีลูกเล็กอีก 2 คนต้องเรียนหนังสือ เหล่านี้ผมไม่สามารถหยุดนิ่งได้ แต่อีกส่วนหนึ่งคือการได้รับความช่วยเหลือจากสังคม ตั้งแต่เงินบริจาค บริจาคสิ่งของมาประมูล ทั้งที่ไม่เคยเอ่ยปากขอแต่เขาก็ช่วยเหลือมา"

วิทวัสยังเป็นผู้หาหนทางรักษาแม่นุ่น หรือจะบอกได้ว่า ที่มีทุกวันนี้ได้หลักใหญ่คือวิทวัส ที่คอยค้นคว้าค้นหาแนวทางการรักษา สถานที่รักษาในอินเตอร์เน็ต ทว่าในประเทศที่สมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมเขาถึงไม่เลือกใช้สมุนไพรรักษาแม่นุ่น

"ที่เราไม่เลือกรักษาแพทย์ทางเลือกนั้น ตรงนี้ไม่ใช่ไม่เชื่อหรือไม่สนใจ จริงๆ ผมศึกษามาพอสมควร แต่การตัดสินใจอะไรก็แล้วแต่ มันต้องตั้งอยู่บนเหตุและผล หมายความว่าเรารู้จริงหรือเปล่าว่าสิ่งที่เราจะกินมันช่วยเราได้จริงๆ หรือแค่คนอื่นบอกมาว่าดีก็เลยจัดไป จริงๆ แม้ยามะเร็งสมัยใหม่ก็เถอะ คนเป็นมะเร็งปอดกินแล้วดี ก็ไม่ได้หมายความคนเป็นมะเร็งเต้านมจะกินได้ เพราะอาจไปทำลายอะไร ฉะนั้นไม่ใช่ไม่เชื่อแพทย์แผนไทยหรือสมุนไพร เพียงแต่เชื่อในสิ่งที่ผมสามารถไปค้นคว้า มีเหตุและผลรองรับ มีการทดลองและผลทดลองแล้ว

"อย่างเดี๋ยวนี้ดังเรื่องทุเรียนเทศรักษามะเร็ง ก็อยากให้ลองเอาทุเรียนเทศมาเปรียบเทียบกับยาตัวหนึ่ง มีคนทดลองจำนวนหนึ่ง หากผลออกมาว่าคนกินทุเรียนเทศปรากฏว่ารอดหมดหรือดีขึ้น ตรงนี้ผมไปทางนี้แน่นอน แต่อย่างน้อยๆ ระยะเวลา 2 ปีที่เรารอดมาบอกอะไรได้บางอย่างว่า เราไม่ได้เลือกทางผิด เพราะหากเราทำอะไรไม่ดีไม่ถูกตั้งแต่แรก ก็อาจไม่มาถึงจุดนี้ก็ได้ เพราะคนที่ติดตามเพจเฟซบุ๊กแม่นุ่น ก็จะพบว่าช่วงแรกๆ ที่แม่นุ่นรับยา หลายๆคน จะบอกว่าไม่น่ารอดมาถึงทุกวันนี้ จากการที่เล็บหลุด ท้องโต ปากเปื่อย ปอดติดเชื้อ ซึ่งหากเปรียบเทียบภาพเก่าๆ ก็ถือว่าวันนี้ดีขึ้นเยอะ ถึงแม้จะมีมะเร็งหลงหลือในสมองให้ต้องแก้ไขก็ตาม"

วิทวัสยังมองหนทางรักษาไปไกลถึงขนาดว่า ถ้าที่สุดแล้วการรักษาในเมืองไทยทำไม่ได้ก็ไปรักษาเมืองนอก อาจสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ซึ่งที่จะไปนี่ยืนยันว่าเราไม่ได้รวย แต่เราเป็นนักสู้ เรามีทุกวันนี้ได้เพราะการต่อสู้ ไม่ใช่ความร่ำรวย ตราบใดที่หนการรักษายังมีในโลก ไม่ว่าจะมุมใดก็จะพยายามก่อน ลองทำก่อน หากทำแล้วไม่ได้จริงๆ ก็ไม่ว่ากัน

คนรอบข้างสำคัญและมีผลต่อผู้ป่วยมาก แล้วมุมมองโรคมะเร็งกับคนรอบข้างผู้ป่วยเป็นอย่างไร

วิทวัสกล่าวว่า โรคมะเร็งหากดูแลกันดีๆ บางคนอยู่ได้หลายปี หรือบางคนที่รู้จักกันอยู่ได้เป็นสิบกว่าปี มันบอกไม่ได้ว่าใครจะอยู่ได้มากได้น้อย แต่สิ่งที่เราต้องเข้าใจคือ ความตายมันเป็นธรรมดา แต่เราก็พยายามยื้อให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่าไปคิดว่าเราเป็นคนโชคร้ายมากนัก เพราะยังมีบางคนโชคร้ายกว่าเราตามหน้าหนังสือพิมพ์ทุกวัน บางคนอยู่ดีๆ ก็โดนฆ่าตาย อยู่ดีๆ แผ่นดินไหวตายเป็นพัน ส่วนเราต่อให้เป็นมะเร็งแล้วในเมื่อเรายังสามารถใช้ชีวิตได้ปกติอยู่ จะหายหรือไม่หายคิดว่าไม่แตกต่างกันมากนัก แต่หากไม่สามารถควบคุมจิตใจอารมณ์ตัวเองได้ ต่อให้หมอบอกว่าหายแล้วคุณก็ยังกลัวอยู่ทุกวัน อาบน้ำก็คอยจับและกลัวว่าจะเป็นอะไรอีกไหม จิตใจมีแต่ความทุกข์ ฉะนั้นสำคัญสุดไม่ว่าป่วยหรือไม่ป่วย จิตใจนี่แหละต้องต่อสู้

"ต้องไม่ทำให้ความทุกข์มาท่วมความสุขในตัวเรา เรายังสามารถมีความสุขได้ โรคมะเร็งไม่ใช่คำสั่งประหารชีวิตเรา ไม่ได้หมายความว่าเราจะตายวันนี้พรุ่งนี้" วิทวัสกล่าว



รักสู้โรค แม่นุ่น ไอดอลนักสู้มะเร็ง!!

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์