รู้จักโรค ‘ไอบีดี’ ท้องเสียเรื้อรัง ระวังเข้าข่าย!

รู้จักโรค ‘ไอบีดี’ ท้องเสียเรื้อรัง ระวังเข้าข่าย!


ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่พัฒนาไม่หยุด ส่งผลให้มีอุปกรณ์หรือเครื่องมือทันสมัยช่วยให้แพทย์ตรวจเจอสาเหตุความผิดปกติที่แท้จริง ดังเช่นกรณีโรคไอบีดี ที่แพทย์ได้ใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์การแพทย์บวกกับความเชี่ยวชาญ จนทำให้ทราบว่า ผู้ป่วยเป็นโรคไอบีดี

ไอบีดี อาจเป็นชื่อโรคที่ไม่คุ้นหูในบ้านเรา เนื่องจากที่ผ่านมา โรคนี้มักเกิดกับชาวตะวันตกและตะวันออกกลาง แต่ปัจจุบัน นายแพทย์รุจาพงศ์ สุขบท’ หัวหน้าศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เผยระหว่างการเสวนาความรู้ใหม่ โรคไอบีดี ว่า มีคนไทยป่วยเป็นไอบีดีมากขึ้น เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และชัดเจนมากในประเทศญี่ปุ่นเพราะมีการรวบรวมสถิติชัดเจนก็พบยอดพุ่งป่วยเป็น 3 เท่าตัว

หมอรุจาพงศ์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับไอบีดีว่า มาจากชื่อเต็ม คือ Inflammatory Bowel Disease (IBD) ใช้ชื่อเรียกทับศัพท์จากคำย่อว่า ไอบีดี เนื่องจากถ้าแปลอาจทำให้เข้าใจโรคผิด ส่วนความหมายของโรคนี้ คือ กลุ่มโรคที่มีการอักเสบของระบบทางเดินอาหารโดยไม่ทราบสาเหตุ จึงแตกต่างจากกลุ่มลำไส้อักเสบเฉียบพลันที่เกิดจากการติดเชื้อ ทว่าหากจะสันนิษฐาน อาจเกี่ยวกับพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม พฤติกรรมการรับประทานอาหารหรืออาหารที่ปนเปื้อนวัตถุกันเสีย แม้กระทั่งควรผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย

กลุ่มโรคไอบีดี พบได้ทุกเพศ แต่เป็นกันมากช่วงวัย 20-40 ปี จัดเป็นโรคเรื้อรังที่มีช่วงอาการสงบและกำเริบ หากรักษาไม่ตรงจุดและทิ้งไว้นานๆ โอกาสกลายเป็นมะเร็งสูง

ในเบื้องลึกยังสามารถแบ่งโรคออกเป็น 2 ชนิดย่อยๆ คือ Ulcerative Colitis (UC) หมอจะเรียกว่า ยูซี เป็นโรคที่เกิดเฉพาะลำไส้ใหญ่เท่านั้น หากเป็นระยะเฉียบพลันจะท้องเสียรุนแรง ถ่ายปนมูกหรือเลือดสด ยิ่งถ้ามีการอักเสบบริเวณลำไส้ส่วนปลายสุด อาจทำให้มีอาการปวดถ่ายตลอดเวลา

และอีกโรค ชื่อ โครห์น (Crohn’s Disease) พบได้ทุกส่วนของระบบทางเดินอาหาร ถ้าเพิ่งเริ่มต้นป่วยมักไม่มีอาการท้องเสียแต่จะรู้สึกปวดท้อง ที่สำคัญโรคโครห์น มักพบร่วมกับภาวะซีด น้ำหนักตัวลด กระทบโภชนาการ เกิดฝีกับอวัยวะใกล้เคียง

ทั้งโรคยูซีและโรคโครห์น ยังมีลักษณะอาการบางอย่างคล้ายกัน เช่น การถ่ายอุจจาระผิดปกติ ถ่ายบ่อย อุจจาระปนมูกเลือด ท้องเสียรุนแรง ปวดท้อง เบื่ออาหาร มีไข้ เหนื่อยล้า ไม่สบายตัว ทั้งนี้ ร้อยละ 25 ของผู้ป่วยกลุ่มโรคไอบีดี ยังพบความผิดปกตินอกเหนือจากอาการระบบทางเดินอาหาร อาทิ ข้ออักเสบบริเวณกระดูกสันหลังหรือกระดูกเชิงกรานส่งผลให้บวม ปวด และเคลื่อนไหวร่างกายได้จำกัด มีลักษณะทางผิวหนังที่หยาบกร้าน โดยเฉพาะที่แขนและขา ผิวพรรณมีสีม่วงอมแดง ที่ปุ่มข้อศอกหรือตาตุ่มนูนแข็งหนาเป็นปื้น มีอาการผิดปกติบริเวณดวงตา โดยเฉพาะม่านตาและเยื่อตา และมีอาการตับอักเสบร่วมด้วย

กรณีที่สงสัยว่าเป็นไอบีดี การตรวจวินิจฉัยของแพทย์จะเน้นตรวจพิเศษบริเวณช่องท้องและทวารหนัก มีการส่งตรวจตัวอย่างเลือดและอุจจาระ ทำอัลตราซาวนด์ช่องท้อง การส่องกล้องเพื่อมองผนังลำไส้ได้โดยตรงและสามารถนำเนื้อเยื่อออกมาจากบริเวณที่อักเสบเพื่อส่งตรวจ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และการใช้กล้องแคปซูล ขณะที่การรักษามีอยู่ 4 กลุ่มทางเลือก ประกอบด้วย การใช้ยา การจัดการด้านอาหาร เนื่องจากอาหารบางอย่างอาจทำให้อาการกำเริบหรือแย่ลง การดูแลให้คำแนะนำพร้อมการประคับประคองอารมณ์ และการผ่าตัด ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการมากหรือน้อยและคำวินิจฉัยของแพทย์

อย่างไรก็ตาม ในการเสวนาฯ มีกรณีตัวอย่างผู้ป่วยของหมอรุจาพงศ์ อย่าง ‘ชัชวาล นักดนตรี’ วัย 65 ปี เล่าประสบการณ์จากการป่วยโรคดังกล่าวว่า ราว 20 ปีที่แล้ว มีอาการท้องเสียเป็นประจำ ช่วงที่รุนแรงต้องถ่ายท้องแทบทุก 10 นาที ร่วมกับการถ่ายเป็นเลือด น้ำหนักลดลงเรื่อยๆ เพราะรับประทานอะไรไปก็ถ่ายออกหมด โลหิตจาง มีอาการอยู่นานจนรู้สึกท้อแท้เพราะกระทบกับการใช้ชีวิต กระทั่งได้รับการส่องกล้องตรวจ ร่วมกับประเมินอาการต่างๆ โดยหมอรุจาพงศ์ จนทราบว่า ป่วยเป็นไอบีดี ชนิดโรคยูซี มีแผลอักเสบในลำไส้ ทำให้ต้องรับยาแก้อักเสบและหยุดการถ่าย ใช้เวลารักษาเป็นปี อาการทุเลาเรื่อยๆ จนกลับมาใช้ชีวิตปกติได้

ทราบแล้วอย่างนี้ ใครท้องเสียหรือปวดท้องไม่รู้สาเหตุมาเป็นระยะเวลานาน ต้องลองปรึกษาหมอกันแล้ว.

ทีมเดลินิวส์ออนไลน์


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์