รู้หรือไม่? พระพุทธรูปกำเนิดครั้งแรกที่ใหน?

พระพุทธรูป หรือ รูปเคารพแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเหล่าพุทธศาสนิกชนทั่วโลกนั้น ในสมัยพุทธกาล และในช่วงหลังต้นพุทธกาลยังไม่มีการก่อสร้าง เริ่มมีการสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 500 สมัยคันธาราฐ ซึ่งเป็นแคว้นที่อยู่ทางตอนเหนือของอินเดียโบราณ ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศปากีสถาน 

แต่เดิมนั้นพุทธศาสนาไม่มีรูปเคารพแต่อย่างใด หลังจากพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พุทธศาสนานิกชนก็ได้แต่นำเอาสิ่งของจากสังเวชนียสถาน ๔ แห่ง คือ สถานที่ประสูติ (ลุมพินีวัน) ,ตรัสรู้ (พุทธคยา),ปฐมเทศนา (พาราณสี) และปรินิพพาน (กุสินารา) บางครั้งก็ได้เก็บ ดิน น้ำ และใบโพธิ์เก็บมาไว้เป็นบูชาคุณพระพุทธเจ้าแทน

ต่อมาชาวพุทธก็ได้มีการทำดวงตราสัญลักษณ์ ประจำสถานที่ต่าง ๆ ขึ้น ด้วยดินเผาบ้าง ด้วยแผ่นเงินบ้าง ซึ่งสามารถอยู่ได้นานทนทานกว่า อย่างเช่น ที่เมืองกบิลพัสดุ์ทำตราดอกบัว หมายถึงว่า เป็นสิ่งบริสุทธิ์ที่เกิดขึ้น, ตราช้าง หมายถึง พระสุบินของพระพุทธมารดาในเมื่อพระมหาโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์, ตราโค หมายถึง โคตมโคตร ซึ่งเป็นพุทธวงศ์องค์ปัจจุบัน, ตราราชสีห์ หมายถึง สิงโตสัญญลักษณ์แห่งวรรณกษัตริย์, ตราม้า หมายถึง ม้ากัณฐกะ หรือ ที่เมืองพุทธคยา ทำตราพุทธอาสน์ และตราต้นโพธิ์ , เมืองพาราณสี ทำตรารูปพระธรรมจักร, เมืองกุสินารา ทำตราพระสถูป ฯลฯ เป็นต้น

ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดีย กษัตริย์ชาวพุทธที่ยิ่งใหญ่พระองค์นึ่ง ที่เป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภ์ ก็ยังไม่มีรูปเคารพแทนพระพุทธเจ้า เพราะพระองค์เองแม้มีพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธเจ้ามาก ก็มิอาจหาญกล้าจักสร้างพระพุทธรูป เพราะเกรงไม่เหมือนองค์จริงจักเป็นบาปแก่พระองค์ยิ่ง ทรงได้โปรดให้สร้างสัญลักษณ์ ขึ้นมาแทนโดยเฉพาะหลักศิลาจารึกหรือเสาหิน ลวดลายที่สลักยังคงใช้เครื่องหมายสังเวชนียวัตถุและสัญญลักษณ์แทนศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่น พระธรรมจักร สิงห์โต ม้า วัว ล้วนแต่เป็นสัตว์ที่สื่อถึงความเกี่ยวของต่อพระพุทธเจ้า จนหลังสมัยพระเจ้าอโศกมาถึง 100 ปี จึงได้เกิดมีลวดลายเครื่องประดับเป็นรูปคน เช่น ที่สาญจิเจดีย์ และพาหุเจดีย์ คือ สลักเป็นเรื่องชาดก เป็นเรื่องปฐมสมโพธิ ตลอดจนเรื่องตำนานพระพุทธศาสนา ภายหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานมากมาย แต่ก็ยังไม่ทำเป็นรูปพระพุทธเจ้า ยังคงใช้เครื่องหมายสังเวชนียสถานทุกแห่งแทนอยู่

ส่วนการสร้างพระพุทธรูปนั้น ชาวโยนก หรือ ชาวกรีก ที่มาครอบครองคันธาราฐเป็นผู้สร้างขึ้นก่อน โดยถ่ายแบบอย่างเทวรูปที่พวกชาวโยนกนับถือกันในยุโรปมาสร้าง ก่อให้เกิดการผสมผสานกันระหว่างอารยธรรมตะวันตกและตะวันออก ในด้านสถาปัตยกรรมและประติมากรรมมากมาย กล่าวคือ เมื่อปี พ.ศ. 217 พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชของกรีก ได้ยกทัพมาตีเมืองตักกศิลา ซึ่งเป็นเมืองสำคัญของแคว้นคันธาราฐ ที่อยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียโบราณจนยับเยิน ถึงกับต้องสร้างเมืองขึ้นใหม่ และยังสร้างเมืองต่าง ๆ อีก 21เมือง ตามแบบกรีก ครั้นเมื่อพระองค์ยกทัพกลับ ก็ได้ให้ทหารกรีก และผู้คนเชื้อสายกรีกที่อพยพตามกองทัพ มาอยู่ตามเมืองเหล่านั้นสืบต่อมาอีกนาน จึงได้ก่อให้เกิดการผสมผสานระหว่างอารยธรรมของกรีกกับอินเดียข้างต้น

ต่อมา ได้มีอาณาจักรเมารยะ แคว้นมคธ แผ่อำนาจเข้ามาปกครองเมืองตักกศิลา และเมืองต่าง ๆ ทางภาคเหนือของอินเดีย จนถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ได้ทรงส่งสมณะทูต จำนวน 500 รูป ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังแคว้นคันธาราฐ เมืองตักกศิลา จึงมีชื่อเสียงในฐานะเป็นเมืองที่ประสิทธิประสาทวิทยาการต่าง ๆ นับว่า "เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกทางพระพุทธศาสนา" มีการก่อสร้างสถูปเจดีย์อย่างมากมาย ปรากฎเป็นซากให้เห็นจนทุกวันนี้

ณ ที่เมืองตักกศิลานี้ ปัจจุบันได้ขุดพบเศียรพระพุทธรูป รูปพระพุทธรูป รูปพระโพธิสัตว์ ซึ่งมีลักษณะเหมือนเทวรูปกรีก คือ มีใบหน้าเป็นฝรั่ง ไม่ใช่หน้าคนอินเดีย เศียรพระพุทธรูปดังกล่าว ทำพระเกศาเป็นเส้นยาวเหมือนผมคน ส่วนรูปพระโพธิสัตว์ ไว้พระเกศายาวปรกพระศอ เส้นพระเกศาเหมือนคนธรรมดาเช่นกัน เครื่องนุ่งห่มมีริ้วรอยเหมือนผ้าจริง ๆ การสร้างพระพุทธรูปดังกล่าว สันนิษฐานว่า เริ่มเมื่อในสมัยพระเจ้าเมนันเดอร์ หรือ พระเจ้ามิลินท์ กษัตริย์เชื้อสายกรีก ซึ่งครองอำนาจแคว้นคันธาราฐ หลังจากที่กษัตริย์วงศ์เมารยะเสื่อมอำนาจลง

พระเจ้ามิลินท์ ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เช่นเดียวกับพระเจ้าอโศกมหาราช พุทธศาสนาจึงเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกสมัยหนึ่ง ได้มีการสร้างสถาปัตยกรรม และประติมากรรมทางพุทธศาสนามากมายในแคว้นคันธาราฐ สำหรับลักษณะของพระพุทธรูปสมัยคันธาราฐ จากหนังสือ "ลักษณะของพระพุทธรูปสมัยต่างๆ โดยสังเขป " ของ นายกฤษณ์อินทโกศัยอดีตรองอธิบดีกรมศิลปากรได้กล่าวว่า

พระพักตร์ เป็นแบบเทวรูปกรีก พระเกศาเป็นเส้นยาว เป็นลอนคลื่นแล้วกระหมวดมุ่นเป็นเมาฬี เป็นรุ่นแรก, รุ่นต่อมาทำพระเกศาเป็นก้นหอย ระหว่างพระขนงมีอุณาโลม ด้านหลังพระเศียรมีรัศมีเป็นประภามณฑลกลม จีวรมีทั้งห่มคลุมและห่มดอง จีวรเป็นริ้วเหมือนเครื่องนุ่งห่มของเทวรูปกรีก ผ้าครองหนาเป็นสมัยแรก ผ้าครองบางเป็นสมัยหลัง พระพุทธรูปนั่งปางสมาธิ ผ้าคลุมพันแข้งมาถึงฐาน ผ้าห่มคลุมซ่อนอยู่ที่ใต้แข้งก็มี รวบชายจีวรพันเข่าทั้งสองข้าง เป็นรุ่นแรก ฐาน มีรูปสิงห์ หรือ รูปสาวกประกอบ

ครั้นเมื่อพวกทางเหนือสร้างพระพุทธรูปขึ้น พวกทางใต้ที่นับถือพุทธศาสนา ซึ่งอยากจะสร้างพระพุทธรูปอยู่แล้ว แต่ไม่กล้าทำ เพราะผิดธรรมเนียมโบราณ ก็เอาอย่างทำขึ้นมาบ้าง จึงทำให้เกิดมีพระพุทธรูปแพร่หลายออกไปตามลำดับ เมื่อแรกสร้างพระพุทธรูป ทำปางพระพุทธรูปตามสังเวชนียสถานทั้ง 4 คือ ที่ประสูติ ทำเป็นรูปพระมหาโพธิสัตว์, ที่ตรัสรู้ ทำเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย, ที่ปฐมเทศนา ทำเป็นรูปยกพระหัตถ์เป็นวงธรรมจักร, ที่ปรินิพพานทำเป็นพระพุทธรูปไสยาสน์ ต่อมาเกิดปูชนียสถานขึ้นในมัชฌิมประเทศอีก 4 แห่ง คือ อ้างเหตุพุทธปาฏิหาริย์ เช่น ที่เมืองสาวัตถี อ้าง ยมกปาฏิหาริย์ ทำพุทธรูปนั่งปางสมาธิบนดอกบัว, เมืองสังกัสสะ อ้างเทวาวตาร คือ ปางเมื่อพระพุทธองค์เสด็จจากดาวดึงส์ ทำพระพุทธรูปเดิน , เมืองเวสาลี อ้างเมื่อพระพุทธองค์ทรงทรมานพระยาวานร ทำพระพุทธรูปปางประทานพร , เมืองราชคฤห์ อ้างตอนทรงทรมานช้างนาฬาคีรี ทำพระพุทธรูปประทานอภัย เป็นต้น

อ้างอิง :http://www.oknation.net/blog/mylifeandwork/2009/.../04/entry-1
ร้อยเรื่องราว ไปกับ เจ้าประคุณปราบสุราพินาศFB
เครดิตภาพ เพจ : รับแกะสลักหินศิลปะโบราณ

รู้หรือไม่?  พระพุทธรูปกำเนิดครั้งแรกที่ใหน?

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์