รู้หรือไม่? มังคุดมีดีที่ เปลือก


        ศุกร์ต้นเดือนผู้เขียนนำเรื่องราวของทุเรียนมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อไม่ให้เกิดการน้อยใจจากผลไม้คู่ขวัญ และออกในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับเจ้าทุเรียน นั่นก็คือ มังคุด ในช่วงหน้าร้อนจนถึงเข้าหน้าฝนนี้ มังคุด จัดเป็นผลไม้ตามฤดูกาล ถูกบ้าง แพงบ้างตาม สภาพอากาศและปริมาณผลผลิตที่ออกมาในแต่ละปี หลายต่อหลายคนคงชื่นชอบผลไม้รสหวานอมเปรี้ยว ที่ทานแล้วจะรู้เย็นของเจ้ามังคุดนี้ มาดูกันว่า ผลไม้ลูกเล็ก ๆ นี้ จะมีประโยชน์อะไรกับร่างกายเราบ้าง

มังคุดมีฉายาในแถบเอเชียด้วยความภาคภูมิใจในผลไม้ชนิดนี้ว่า “ราชินีแห่งผลไม้, the queen of fruits” มีฉายาในแถบ French Caribbean ว่า “อาหารของพระเจ้า” “the food of the Gods” คนไทยรู้จักมังคุดเป็นอย่างดี รู้ว่ามังคุดเป็นยาเย็นหรือตามการแพทย์จีนเรียกว่ามีฤทธิ์ “หยิน” หลังจากกินทุเรียนที่มีรสร้อน หรือมีฤทธิ์เป็น “หยาง” แล้วต้องกินมังคุดตาม เพื่อทำให้ร่างกายเกิดความสมดุล ที่สำคัญคือ มังคุดเป็นผลไม้อร่อยมาก มีรสหวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นหอม เป็นที่นิยมของทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลไม้ส่งออกที่สำคัญของไทยไปยังต่างประเทศ

มังคุดเป็นผลไม้ยอดนิยมที่สุดชนิดหนึ่งของคนไทย จะมีออกมาให้เราบริโภคเพียงปีละครั้ง คือช่วงย่างเข้าฤดูฝนด้วยเอกลักษณ์ของผลกลมขนาดไม่ใหญ่ไปกว่ากำมือมีกลีบเลี้ยงของดอกสีเขียวเป็นกระจุกด้านบน และกลีบดอกสีแดงแข็งเหลือติดอยู่ด้านล่างของผล สีของเปลือกสีม่วงอมแดงหรือม่วงอมน้ำตาลอันเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่ง หากเสื้อผ้าหรือสิ่งของมีสีม่วงแดงหรือน้ำตาลก็จะเรียกว่าสีเปลือกมังคุด เมื่อบิเปลือกของผลมังคุดออกสองซีก และพบเมล็ด 6 - 8 เมล็ดที่มีเนื้อนุ่มฉ่ำน้ำสีขาวสะอาดเบียดกันอยู่ภายในวงล้อมของเปลือกหนาสีม่วงเมล็ดที่มีเนื้อนุ่มสีขาวนี้แหละที่มีรสอร่อยหวานอมเปรี้ยว ได้กินแล้วก็แสนจะชื่นใจ


หากเป็นคนสังเกตสักหน่อยก็จะพบว่า จำนวนของเนื้อสีขาวภายในผลมังคุดนี้จะมีจำนวนเทากับกลีบ ดอกสีแดงที่เหลือติดอยู่ด้านล่างภายนอกของผล ผู้ใหญ่ที่ทราบเรื่องนี้ก็มักจะเล่นทายจำนวนเนื้อภายใน ของผลมังคุดกับ เด็ก ๆ โดยจะแอบดูจำนวนกลีบดอกที่ติดอยู่ภายนอกของผล อันเป็นความเพลิดเพลินเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อนที่จะได้ลิ้มรสอันแสนอร่อยของเนื้อในมังคุด

การบริโภคมังคุด ทำให้เราได้กากใยจากเนื้อของมังคุดที่ช่วยในการขับถ่าย และยังได้สารอาหาร วิตามินและเกลือแร่อื่นๆ อีกหลายชนิด เช่น น้ำตาล กรดอินทรีย์ แคลเซียม ฟอสฟอรัส และเหล็ก ประโยชน์ของมังคุดมิได้มีอยู่แค่เนื้อในของมังคุดที่เราใช้เป็นอาหารเท่านั้น เปลือกของมังคุดกับมีประโยชน์มากมายที่สามารถนำมาใช้เป็นยารักษาโรคอย่างได้ผล


รู้หรือไม่? มังคุดมีดีที่ เปลือก



คนไทยรู้จักการใช้ประโยชน์จากเปลือกมังคุดมาเป็นยารักษาโรคมานานแล้ว เพราะคนไทยสมัยโบราณค้นพบว่าเปลือกมังคุดรสฝาดสมาน จึงนำเปลือกมังคุดมาใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย แก้ท้องร่วงเรื้อรัง ถ่ายเป็นมูกเลือด โดยการใช้เปลือกสดหรือเปลือกแห้งฝนกับน้ำรับประทาน หรือจะใช้เปลือกแห้งต้มกับน้ำรับประทานก็ได้ผลเช่นเดียวกัน

เปลือกมังคุดยังมีสรรพคุณในการสมานแผล ช่วยให้แผลหาเร็ว เช่นใช้รักษาบาดแผลผุพอง แผลเน่าเปื่อย แผลเป็นหนอง โดยการใช้เปลือกมังคุดฝนกับน้ำปูนใสทาบริเวณแผล น้ำต้มเปลือกมังคุดแห้งต้มน้ำล้างแผลใช้แทนการด้วยน้ำยาล้างแผลหรือด่างทับทิมได้ด้วย

ด้วยเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้าในปัจจุบัน กระบวนการทางวิทยาศาสตร์สามารถทำการศึกษาถึงประโยชน์จากสารสำคัญที่มีอยู่ในเปลือกมังคุด คือ แทนนินและแซนโทน สารแซนโทนมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) จึงมีการศึกษามากมายที่ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของสารแซนโทนที่มีในเปลือกมังคุด แซนโทนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่แรง (potent antioxidants) พบได้มากในเปลือกมังคุด และมีผลของการศึกษาฤทธิ์ในการจับอนุมูลอิสระโดยวิธี ORAC (Oxygen Radical Absorbance Capacity) Brunswick Laboratories ทำการเปรียบเทียบระหว่างน้ำผลไม้อื่นๆและมังคุด พบว่า มังคุดมีฤทธิ์ในการจับอนุมูลอิสระมากกว่า แครอท ราสเบอรรี่ บลูเบอรรี่ ทับทิม อนุมูลอิสระ (free radicals) เป็นโมเลกุลที่เกิดขึ้นจากกระบวนการลูกโซ่ (chain reaction) ของปฎิกิริยาออกซิเดชัน (oxidation) ที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย ดังนั้นร่างกายจึงต้องหาทางป้องกันการโดนทำลายจากอนุมูลอิสระ โดยสิ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อป้องกันตนเอง คือระบบแอนติออกซิแดนท์ (antioxidants)

อย่างไรก็ตามภาวะที่ปริมาณอนุมูลอิสระมีมากเกินกว่าระบบแอนติออกซิแดนท์จะจัดการได้ จะเกิดภาวะเครียดขึ้น (oxidative stress) ก่อให้เกิดผลเสียต่อเซลล์ และการทำลายเซลล์ ซึ่งเป็นสาเหตุ ของการแก่ (aging) และรุนแรงไปถึงการเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เช่นการกระตุ้นให้เกิดไขมันสะสมในหลอดเลือดนำไปสู่ภาวะเส้นเลือดตีบ โรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน(autoimmune disease) รวมไปถึงโรคมะเร็ง (cancer) เป็นต้น

สารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) ทำลายฤทธิ์ของอนุมูลอิสระโดยป้องกันการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันในส่วนต่างๆ ของร่างกาย นอกจากร่างกายสามารถสร้างสารต้านอนุมูลอิสระได้เองตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว ในวิตามิน แร่ธาตุ และสารจากผักและผลไม้ก็พบสารต้านอนุมูลอิสระอยู่ด้วย แซนโทนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่แรง (potent antioxidants) พบได้มากในเปลือกมังคุด

ปัจจุบันมีการศึกษาถึงประโยชน์ของสารแซนโทนจากเปลือกมังคุดในเรื่องต่างๆดังนี้ผลจากฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารแซนโทน จึงป้องกันการเกิดออกซิเดชันของLDL ซึ่งเป็นคลอเลสเตอรอลตัวร้าย จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ (cardiovascular disease) ทั้งยังมีงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่พบว่า สารสกัดจากเปลือกมังคุดนี้ช่วยในเรื่องของการยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์อีกด้วย ในปัจจุบันจึงมีผลิตภัณฑ์ออกมามากมายในท้องตลาดที่ผลิตจากสารสกัดของเปลือกมังคุด ทั้งน้ำมังคุดสกัด ไปจนถึงนำไปเป็นส่วนผสมเครื่องสำอางค์ทั้งหลาย จะเลือกซื้อ เลือกบริโภค ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากมังคุดชนิดใด ก็ควรจะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ผลงานวิจัยรองรับ บอกแหล่งผลิตชัดเจน ดูเชื่อถือได้ มีเลข อย. ที่สามารถตรวจเช็คได้กัน




โดย “PrincessFangy”

Twitter @Princessfangy

ข้อมูลบางส่วนจาก http://www.vcharkarn.com/


รู้หรือไม่? มังคุดมีดีที่ เปลือก

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์