รู้เท่าทันโรคที่มากับหน้าหนาว

รู้เท่าทันโรคที่มากับหน้าหนาว



เข้าหน้าหนาวทีไร คงปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพบรรยากาศลมพัดเย็นๆ แดดอุ่นๆ กับเทรนด์เสื้อผ้ากันหนาวที่งดงาม

เลือกสวมใส่ตามแบบแฟชั่น เป็นเหมือนสิ่งที่มาคู่กับหน้าหนาว เช่นเดียวกับโรคภัยไข้เจ็บที่มาตามได้ทุกฤดู ทุกสภาวะอากาศ ไม่ต่างกันกับหนาวนี้ เราก็ยังต้องเฝ้าระวังโรคภัยที่จะตามมา

 

นายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการเพื่อต้านภัยหนาวหรือวอร์รูมเพื่อต้านภัยหนาว เปิดเผยถึงโรคที่มากับหน้าหนาวว่า จากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่าโรคที่มากับหน้าหนาว มีดังนี้ โรคไข้หวัด ถือเป็นโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยในช่วงอากาศหนาว และโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 H1N1 ก็ยังไม่สงบ โดยยังคงมีการระบาดเป็นจุดๆ ที่ยังต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไตวาย และโรคหัวใจ เป็นต้น โรคปอดบวม และปอดอักเสบ ที่เป็นโรคต่อเนื่องจากโรคไข้หวัด หากดูแลรักษาไข้หวัดได้ไม่ดี ก็จะส่งผลให้เกิดอาการแทรกซ้อนเกิดปอดบวมตามมาได้


นอกจากนี้ยังพบโรคอีสุกอีใส โรคหัด สำหรับโรคไข้หวัดนกนั้น ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้อย่างดี แม้จะมีการย้ายถิ่นฐานที่อยู่อาศัยของนกก็ตาม ส่วนโรคอื่นๆ อาทิ โรคผิวหนัง ผิวแห้ง ในส่วนนี้ก็อาจจะใช้ครีมทาผิว ทาเพื่อไม่ให้ผิวแห้งเป็นขุยได้


สำหรับการป้องกันดูแลรักษาร่างกายให้ห่างจากโรค คือการดูแลรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ รวมทั้งการสวมเสื้อผ้ากันหนาว และผ้าห่มที่เพียงพอ ขณะเดียวกันก็ยังคงมีกลุ่มเสี่ยงคือคนยากไร้ และผู้ที่อยู่อาศัยบนเขาซึ่งมีอากาศหนาวเย็น ในส่วนนี้ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ประสานไปยังผู้ว่าราชการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดูแลกลุ่มเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ สิ่งสำคัญอีกประการคือการพักผ่อนให้เพียงพอ รวมทั้งรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่


รู้เท่าทันโรคที่มากับหน้าหนาว



ที่ผ่านมาที่เคยเกิดเหตุการณ์ถึงขั้นเสียชีวิต รองปลัด สธ.เล่าให้ฟังว่า พบกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยที่นิยมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะความเชื่อที่ทำให้ร่างกายอบอุ่น ซึ่งความจริงแล้วเป็นเพียงการช่วยให้ร่างกายอบอุ่นได้เพียงชั่วคราว แต่กลับมีอันตรายตามมา เพราะเมื่อดื่มจนหมดสติ บางรายที่เคยพบมีการเสียชีวิต จากการนอนหลับตากน้ำค้างที่หนาวเย็น เพราะอาการหมดสติจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแม้แต่กลุ่มที่นิยมกางเต็นท์นอนตามยอดเขาสูงในช่วงหน้าหนาว แต่ขาดเครื่องกันหนาวที่เพียงพอ ทำให้ต้องสุมไฟในเต็นท์ ขาดการระบายอากาศซึ่งก็ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตได้เช่นกัน


ตลอดจนการก่อไฟสร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย แม้จะไม่พบการเสียชีวิต แต่ก็เกิดจากการประมาทเมื่อง่วงนอนงีบหลับไป ไปโดนกองไฟที่สุมก็เกิดแผลจากไฟไหม้ได้เช่นกัน ดังนั้นการก่อไฟต้องมีความระมัดระวังให้มาก โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก ผู้พิการ และผู้ที่มีความผิดปกติทางสมอง เป็นต้น


อีกสิ่งหนึ่งที่มาพร้อมกับบรรยากาศหนาวๆ แบบนี้ที่เรามักพบเห็นเป็นประจำ คือการเลือกซื้อเสื้อกันหนาวมือสองมาสวมใส่ ซึ่งเรื่องที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับเสื้อผ้ามือสอง คือความสะอาด นายแพทย์ศิริวัฒน์ ได้ให้คำแนะนำในส่วนนี้ไว้ว่า การเลือกซื้อเสื้อกันหนาวมือสองมาสวมใส่ก็ถือเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้มีรายได้น้อย เพราะราคาถูก ซึ่งก่อนจะนำมาสวมใส่ ก็ควรซักให้สะอาดด้วยผงซักฟอกตามปกติ และที่สำคัญคือการตากแดด ถ้าเป็นไปได้ควรกลับเสื้อตากทั้งด้านในและด้านนอก เพื่อขจัดกลิ่นอับ โดยไม่จำเป็นต้องซักด้วยน้ำร้อนก็ได้ เนื่องจากเสื้อกันหนาวบางประเภททำจากเส้นใยที่เมื่อโดนความร้อนอาจทำให้เส้นใยของผ้าเสียหายได้


ล่าสุดทาง สธ.ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อต้านภัยหนาว เพื่อทำหน้าที่ให้ข้อมูลและนำประชาชนในการป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยในช่วงหน้าหนาวนี้ พร้อมทั้งได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ และโรงพยาบาลทุกระดับเตรียมเฝ้าระวังโรคที่เกิดจากภัยหนาว และให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคได้ง่าย โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ โดยมีการลงพื้นที่แนะนำการปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง ขณะเดียวกันก็มีการประสานร่วมกับทางกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และองค์กรเอกชน หาเสื้อกันหนาวให้กับกลุ่มเสี่ยงต่างๆ อีกด้วย อย่างไรก็ตามศูนย์นี้ไม่เพียงแต่ดูแลเรื่องของการดูแลตนเองในหน้าหนาวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเฝ้าระวังโรคระบาดหลังน้ำลด การจัดทำความสะอาด สุขลักษณะต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการควบคู่กันไปจนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ปกติ


รู้เท่าทันโรคที่มากับหน้าหนาว



ด้าน นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม หัด หัดเยอรมัน สุกใส เป็นโรคที่ติดต่อกันได้ทางการไอจาม โดยเชื้อโรคจะอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย และอาจติดจากการใช้ภาชนะ และสิ่งของร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น โดยโรคไข้หวัดใหญ่ อาการจะเริ่มด้วยการมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ไอ เมื่อเริ่มมีอาการ ควรนอนพักผ่อนให้มากๆ ดื่มน้ำบ่อยๆ ถ้าตัวร้อนมากควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตัว หรือกินยาลดไข้ อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 2-7 วัน


แต่หากมีอาการไอมากขึ้นหรือมีไข้สูงนานเกิน 2 วันควรไปพบแพทย์ โดยเฉพาะเด็กเล็กหากมีอาการเปลี่ยนแปลงคือหายใจเร็วขึ้น มีอาการหอบ หรือหายใจแรงจนชายโครงบุ๋ม หรือหายใจมีเสียงดัง อาจเกิดโรคแทรก ที่สำคัญคือ โรคปอดบวม ซึ่งมีความรุนแรง ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เนื่องจากเป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากที่สุดในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี รวมทั้ง เด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อย เด็กขาดสารอาหาร เด็กที่มีความพิการแต่กำเนิด เช่น โรคหัวใจ เป็นต้น สำหรับโรคหัดมักเกิดในเด็กโตและวัยรุ่น อาการจะเริ่มจากมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง และจะมีผื่นขึ้นภาย หลังมีไข้ประมาณ 4 วัน จากนั้นผื่นจะกระจายทั่วตัว โดยผื่นจะจางหายไปภายใน 2 สัปดาห์ เด็กที่ป่วยเป็นหัด ให้แยกออกจากเด็กอื่นๆ ประมาณ 1 สัปดาห์


ส่วนโรคหัดเยอรมันเป็นได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็กเล็ก มีอาการไข้ ออกผื่นคล้ายโรคหัด บางรายอาจไม่มีผื่นขึ้น หากเป็นหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการได้

ดังนั้น ควรพบแพทย์และหยุดงานหรือหยุดเรียนประมาณ 1 สัปดาห์ ขณะนี้สถานบริการสาธารณสุขของรัฐมีบริการฉีดวัคซีนรวมป้องกันได้ 3 โรค ทั้งโรคหัด หัดเยอรมัน และคางทูม ให้กับเด็กอายุ 4-6 ปี และเด็กอายุ 9-12 เดือน รวม 2 ครั้ง จะมีภูมิต้านทานโรคตลอดชีวิต


ส่วนโรคสุกใส มักจะเกิดในเด็ก เมื่อเป็นโรคนี้แล้วจะมีภูมิต้านทานโรคตลอดชีวิต อาการจะเริ่มด้วยไข้ต่ำๆ ต่อมาจะมีผื่นขึ้นที่หนังศีรษะ หน้า ตามตัว โดยเริ่มเป็นผื่นแดง ตุ่มนูน แล้วเปลี่ยนเป็นตุ่มพองใสหลังมีไข้ 2-3 วัน จากนั้นตุ่มจะเป็นหนอง และแห้งตกสะเก็ดหลุดออกเองประมาณ 5-20 วัน เด็กนักเรียนที่ป่วยควรหยุดเรียนประมาณ 1 สัปดาห์ เด็กเล็กที่ป่วยควรตัดเล็บให้สั้น เพื่อป้องกันการอักเสบจากการเกาที่ผื่น


รู้เท่าทันโรคที่มากับหน้าหนาว



นายแพทย์มานิต กล่าวต่อไปว่า สำหรับโรคอุจจาระร่วงในฤดูหนาว ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า โรต้าไวรัส (Rotavirus) มักจะเกิดขึ้นกับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ติดต่อโดยการดื่มน้ำหรือกินอาหารที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อนเข้าไป โดยเด็กจะถ่ายอุจจาระเป็นน้ำหรือถ่ายเหลวบ่อยครั้ง โดยทั่วไปอาการไม่รุนแรง แต่เด็กบางคนอาจขาดน้ำรุนแรง หากมีเด็กในบ้านถ่ายเหลว ควรให้กินอาหารเหลวบ่อยๆ เช่น น้ำข้าวต้ม น้ำแกงจืด ให้ดื่มนมแม่


สำหรับเด็กที่ดื่มนมผสม ควรผสมนมให้เจือจางลงครึ่งหนึ่งจนกว่าอาการจะดีขึ้น หากยังถ่ายบ่อย ให้ผสมสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ให้ดื่มบ่อยๆ อาการจะกลับเป็นปกติได้ภายใน 8-12 ชั่วโมง หากอาการไม่ดีขึ้นต้องรีบพาไปพบแพทย์ทันที


สำหรับการป้องกันโรคอุจจาระร่วงในเด็กเล็ก ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งสะอาด ปลอดภัย เด็กมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคต่างๆ ได้ดี ผู้ที่ดูแลเด็กต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนเตรียมอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ ให้เด็กกินอาหารที่สุกใหม่ๆ และดื่มน้ำต้มสุก โดยให้เด็กที่ป่วยถ่ายอุจจาระลงในภาชนะที่รองรับมิดชิด แล้วนำไปกำจัดในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจาย


คำแนะนำดีๆ ที่ต้องบอกต่อเหล่านี้ เป็นเรื่องง่ายๆ ที่เพียงดูแลตนเองให้ดีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรค
 
ไม่ใช่เป็นการดูแลรักษาหลังเกิดโรค เพื่อให้สอดคล้องกับคำโบราณที่ว่าเอาไว้เสมอว่า "กันไว้ดีกว่าแก้"


ที่มา : สุนันทา สุขสุมิตร Team content www.thaihealth.or.th


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์