รู้เรา รู้เขา...ไม่เศร้า ไม่หมอง

รู้เรา รู้เขา...ไม่เศร้า ไม่หมอง


“ปีหนึ่งผ่านไปไวจริงๆ”

คนที่รู้สึกเช่นนี้ เขาว่ากันว่าเป็นคนมีความสุข ส่วนคนที่มีความทุกข์จะรู้สึกว่า วันเวลาผ่านไปช้าน่ารำคาญ...

ไม่ว่าจะรู้สึกว่า วันเวลาผ่านไปเร็ว หรือ ช้า ไม่ว่าปุถุชนหรือกัลยาณชนหรือชนใดๆ ก็คงต้องเป็นไปตามธรรมดาของโลก ตามที่พ่อพราหมณ์สอนศรีสุวรรณในวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณีว่า
 
“อันกำเนิดเกิดมาในหล้าโลก สุขกับโศกมิได้สิ้นอย่าสงสัย”

เรามักคิดกันว่า ที่รู้สึก สุข หรือโศก เพราะมีสาเหตุมาจากสิ่งแวดล้อม จากสังคมที่มีปัญหา  ความยากจน ความฉ้อฉลทุจริต ยาเสพติดทุกชนิด... มลพิษในสิ่งแวดล้อม สมยอมต่อความไม่ถูกต้อง จ้องทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ขาดการปฏิบัติตามวัฒนธรรมประเพณี      ความเป็นมิตรไมตรีหายไป ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ภูมิปัญญาท้องถิ่นถูกละเลย เมินเฉยต่อคำสอนในศาสนา เกิดปัญหา สุขยาก ทุกข์ง่าย กันถ้วนหน้า

สภาพแวดล้อมที่เป็นปัญหา ทำให้มีความทุกข์

คงจะเป็นจริงอยู่บ้างแต่ไม่ใช่จริงไปเสียทั้งหมด เราคงไม่อาจพึ่งพาใคร ให้ปรับสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว ตามที่เราต้องการได้ทุกเรื่อง เราจะยอมแบกทุกข์อยู่อย่างนั้นหรือ ...เราจะยอมให้ความเศร้าหมอง ครองใจเราอยู่อย่างนั้นหรือ เราจะไม่หาทางสร้างสุข ปลดทุกข์ให้เบาบางลงด้วยตัวเราเองบ้างหรือ

พุทธศาสนาสอนว่า

สุข หรือ ทุกข์ ผ่องใส หรือเศร้าหมองขึ้นอยู่กับใจหรือจิตของเราเองทั้งสิ้น พระท่านสอนว่า

"สุขหรือทุกข์ อยู่ที่ใจ มิใช่หรือ

ถ้าใจถือ ก็เป็นทุกข์ ไม่สุขใส

ถ้าไม่ถือ ก็เป็นสุข ไม่ทุกข์ใจ

เราอยากได้ ความทุกข์ หรือสุขนา”


คงไม่มีใครสักคน ที่ตอบว่า อยากได้ความทุกข์ ใจถือ คือใจที่ปรุงแต่ง ปรุงแต่งไปจนได้ทุกข์ ถ้าฝึกจิตหรือใจ ไม่ปรุงแต่ง ก็จะไม่ทุกข์มาก โชคดีที่มนุษย์ถูกฝึกได้ และฝึกตนเองได้ 

ที่ปรึกษาของพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ปฐมนิเทศสมาชิกพรรคเพื่อเตรียมการเลือกตั้ง โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า“การรณรงค์เลือกตั้ง ก็เหมือนการเข้าสู่สนามรบยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ ต้องรู้ข้อมูลของฝ่ายตรงข้ามให้มากที่สุด”

 “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ก็ชนะร้อยครั้ง”  รู้เขา เอาชนะศึกภายนอกได้ แต่ชนะศึกภายในต้องรู้เราเสียก่อน รู้เรา คือ รู้อาการ ที่ทำให้จิตของเราไม่ผ่องใส 

พระพุทธเจ้าตรัสว่า

“ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ประภัสสรผ่องใสแต่เศร้าหมองไป เพราะมีอุปกิเลสจรมา”

อุปกิเลส เป็นอาการของจิต แจกแจงรายละเอียดกว่ากิเลส 3 กองใหญ่ คือ โลภ โกรธ หลง รู้เรา ใครๆ ก็อยากทำได้ แต่ไม่ง่าย รู้เรา มักรู้แต่เรื่องดีๆ ของเรา เรื่องเราที่ไม่ดีมักไม่รู้  รู้เขา มักรู้แต่เรื่องไม่ดีของเขา เรื่องเขาที่ดีๆ มักไม่รู้ ถึงรู้ก็มักไม่พูดวงสนทนาในครอบครัว ในหมู่บ้าน ในที่ทำงาน ในสังคม ไม่เว้นแม้แต่ในวัดมักพูดถึงคนนั้นคนนี้

      - พ่อคนนั้น แม่คนนี้ เป็นคนโลภ โมโหร้ายกาจ โกรธง่าย

      - อิจฉาริษยา ตระหนี่ขี้เหนียว มารยาสาไถย คุยโม้โอ้อวดดื้อรั้น ดึงดัน แข่งเด่นแข่งดี

      - มานะถือตน ดูหมิ่นเหยียดหยาม มัวเมาในลาภยศและประมาท เลินเล่อมักง่ายโทษสมบัติเหล่านี้มีทั้งหมด ๑๖ ประการ เรียกว่า อุปกิเลส

      - มีมากเท่าไร จิตก็ไม่ประภัสสรส่องสว่างมากเท่านั้น

      - สว่างก็จะ มองเห็นอะไรได้ มืดเกินไป จะมองอะไรเห็นมีแต่คนพูดถึงอาการคนอื่น

ใครเคยได้ยินใครพูดอย่างนี้ บ้างไหม
ฉันเป็นคนขี้โลภ ฉันเป็นคนขี้โกรธ
ฉันเป็นคนขี้ตระหนี่ ฉันเป็นคนขี้อิจฉา
ฉันเป็นคนขี้โม้ ฉันเป็นคนขี้เมา

อุปกิเลส ต้องเป็นอาการที่ไม่ดีแน่นอน เพราะเติม “ขี้” ไว้ข้างหน้าได้อย่างเหมาะเจาะ รู้ว่าอะไรไม่ดี ไปทู่ซี้ทำอยู่ทำไม รู้โลกภายนอกมามากมาย รู้โลกภายในกันบ้างหรือยัง 

พระท่านสอนว่า

โลกภายนอก กว้างไกล ใครๆรู้ 

โลกภายใน ลึกซึ้งอยู่ รู้บ้างไหม

อยากรู้โลก ภายนอก มองออกไป

อยากรู้โลก ภายใน มองใจตน

พระท่านไม่ได้สอนให้ท่องเท่านั้น แต่สอนให้ทำด้วยไม่ว่าปีหนึ่งจะผ่านไปไวหรือช้า ฝึกสติ ตั้งสมาธิ สร้างปัญญาใช้เมตตา ให้อภัย ใจบริสุทธิ์ หยุดคิดปรุงแต่ง

เอาใจเขา มาใส่ใจเรา

รู้เรา รู้เขา

จักไม่เศร้า ไม่หมอง


รู้เรา รู้เขา...ไม่เศร้า ไม่หมอง


ขอบคุณที่มา :

รศ.บุญนำ ทานสัมฤทธิ์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์