ร้อนอย่างนี้ เตือนตัวเองไว้ว่า อย่าปล่อยให้ร่างกายขาด..น้ำ!!

ร้อนอย่างนี้ เตือนตัวเองไว้ว่า อย่าปล่อยให้ร่างกายขาด..น้ำ!!


กำลังเข้าสู่เทศกาลวันหยุดยาวที่หลายคนรอคอย กับเทศกาลสงกรานต์ ที่ปีนี้อากาศสุดแสนจะร้อนอบอ้าว

กำลังเข้าสู่เทศกาลวันหยุดยาวที่หลายคนรอคอยกับเทศกาลสงกรานต์ ที่ปีนี้อากาศสุดแสนจะร้อนอบอ้าว บางพื้นที่อาจทะลุไปจนถึง 43 องศากันเลยนะคะ

อากาศร้อนขนาดนี้ อาจทำให้ร่างกายสูญเสียเหงื่อได้ง่าย อย่าลืมว่า น้ำในร่างกายเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ”เพราะร่างกายของมนุษย์เรา มีน้ำเป็นส่วนประกอบถึง 70%“ จากข้อความนี้ น่าจะทำให้เราเห็นว่า น้ำมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมีน้ำหล่อเลี้ยงอยู่ทุกหนแห่ง น้ำในร่างกายแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ น้ำที่ประกอบอยู่ในเซลล์ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ที่อยู่นอกเซลล์ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ และที่อยู่ในเนื้อเยื่อ หรือเลือดอีก 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทำให้มนุษย์ต้องการน้ำ วันละประมาณ 2–3 ลิตร โดยจะมีการขับน้ำออกจากร่างกายในลักษณะของปัสสาวะ เหงื่อ อุจจาระ และลมหายใจ ซึ่งจะขับออกทางปัสสาวะวันละประมาณ 0.5 - 2.3 ลิตร

หน้าที่ของน้ำในร่างกายนั้นมีมากมาย ทั้งช่วยย่อยอาหาร ละลายสารอาหารและออกซิเจน เพื่อขนส่งให้เซลล์ต่างๆ นับล้านๆ เซลล์ทั่วร่างกาย ช่วยให้หัวใจทำงานได้ปกติ ใบหน้าชุ่มชื้นดูมีเลือดฝาด ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงร่างกาย ละลายสารพิษเพื่อขับออกจากร่างกาย ทำให้ผิวพรรณสดใสไม่แห้งกร้าน ทำให้ข้อเคลื่อนไหวได้สะดวก

เมื่อน้ำสำคัญมากขนาดนี้แล้ว เรามารู้กันดีกว่าค่ะว่า เราจะดื่มน้ำกันอย่างไรให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายเรามากที่สุด

น้ำที่ดื่มต้องสะอาด: อันนี้สำคัญมากนะคะ น้ำที่เราจะดื่มต้องมั่นใจว่าสะอาดและบริสุทธิ์ เพราะหากเราดื่มน้ำที่ไม่ได้คุณภาพมาตารฐานแล้ว อาจส่งผลต่อร่างกายได้ เช่น น้ำที่ไม่สะอาดมีเชื้อจุลินทรีย์ปะปนมาในปริมาณมาก อาจส่งผลต่อการเกิดอุจจาระร่วง บิดและไทฟอยด์ได้ และหากน้ำที่ดื่มมีสารเคมีที่เป็นโลหะหนักต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น คลอไรด์, ไนเตรท, แมงกานีส, สังกะสี, ตะกั่ว และสารอื่นๆปะปนมา ก็อาจส่งผลต่อตับ ตับอ่อน ไต จนถึงกระเพาะปัสสาวะ และการเกิดโรคมะเร็งได้ ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงได้ออกกฏหมายเพื่อควบคุมมาตรฐานน้ำบริโภค ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 61 และ 135 ว่าด้วยเรื่องมาตรฐานของน้ำบริโภค ดังนั้นจะดื่มน้ำน้ำครั้งต่อๆไป อย่าลืมเลือกน้ำดื่มที่มีคุณภาพมาตรฐานกันนะคะ

ดื่มน้ำให้เพียงพอและถูกต้อง: โดยปกติเราควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6 -8 แก้ว หรือ 2 – 3 ลิตร โดยตอนเช้าควรดื่มน้ำอุ่นทันที 2 แก้ว เพื่อช่วยให้ถ่ายอุจจาระได้ดี ในระหว่างวันควรดื่มน้ำทันทีเมื่อเริ่มรู้สึกคอแห้ง และไม่ควรดื่มน้ำเกินครึ่งแก้วก่อนรับประทานอาหาร 15 นาที และภายใน 40 นาทีหลังมื้ออาหาร เนื่องจากทำให้น้ำย่อยเจือจางลง ส่งผลต่อระบบการย่อยอาหาร ทั้งนี้การดื่มน้ำก็ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวในขณะนั้นด้วย เช่น อากาศ สภาพอากาศที่ร้อนและแห้ง ร่างกายจะสูญเสียน้ำทางผิวหนังและลมหายใจมากกว่าปกติ ดังนั้นผู้ที่อยู่กลางแจ้งและในห้องปรับอากาศที่เย็นจัดจะต้องการน้ำมากกว่าคนที่อยู่ในที่ร่มหรือในห้องที่อุ่นสบาย หรือผู้ที่ออกกำลังกาย มีไข้ ท้องเสีย อาเจียนก็ควรดื่มน้ำเพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำด้วย ทั้งนี้ ควรดื่มน้ำทีละนิดระหว่างวัน จิบครั้งละ 2–3 อึก แต่จิบบ่อยครั้งไปตลอดทั้งวัน การดื่มน้ำครั้งละมาก ๆ ทำให้ร่างกายดูดซึมไม่ทัน และขับออกมาเป็นปัสสาวะ ดังนั้นถึงจะดื่มน้ำเป็นปริมาณมากก็ยังรู้สึกหิวน้ำ

การดื่มน้ำอย่างเพียงพอในแต่ละวันจะช่วยให้ไตทำงานได้ดี และช่วยให้ตับกำจัดไขมันได้อย่างเต็มที่ โดยไต คืออวัยวะที่หลายคนไม่ค่อยนึกถึง แต่มันกลับต้องทำหน้าที่สำคัญในการกำจัดสารพิษต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเกิดจากกระบวนการทำงานภายในเซลล์ เช่น ยูเรีย และกรดยูริก ดูดสารอาหารที่มีประโยชน์กลับคืนเข้าสู่ร่างกาย เช่น กลูโคส กรดอะมิโน ฯลฯ

นอกจากนี้ ไตยังช่วยควบคุมระดับความเป็นกรด ด่าง ของของเหลวในร่างกาย สามารถกำจัดส่วนเกินของแร่ธาตุบางตัว เช่น โพแทสเซียมไอออน, โซเดียมไอออน, รวมทั้งสังเคราะห์กลูโคสจากกรดอะมิโนหรือจากสารชนิดอื่น ๆ โดยกำจัดของเสียเหล่านี้ออกทางปัสสาวะ และยังทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนในการกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง และวิตามินดีที่มีหน้าที่รับแคลเซียมในเลือดเพื่อช่วงป้องกันโรคกระดูกเสื่อม ดังนั้น ถ้าไตไม่สามารถทำงานได้ดีถ้าร่างกายได้รับน้ำไม่เพียงพอ อาจส่งผลทำให้ตับต้องทำงานหนักขึ้น และเผาผลาญไขมันได้น้อยลง ทำให้ร่างกายมีการสะสมไขมันมากขึ้นอีกด้วย (หน้าที่หลักของตับ คือช่วยเร่งการเผาผลาญไขมันในร่างกายให้เกิดเป็นพลังงาน)

ดังนั้นถ้าร่างกายขาดน้ำ หรือดื่มน้ำไม่เพียงพอจะส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา เพราะร่างกายต้องดึงน้ำจากส่วนต่าง ๆ มาใช้โดยที่เราไม่รู้ตัว ส่งผลให้เลือดข้น ระบบไหลเวียนของเหลวในร่างกายผิดปกติ ผิวพรรณหยาบกร้าน ไตทำงานหนัก ส่งผลให้ปวดศีรษะ เป็นตะคริว ความดันสูง เกิดอาการบวมน้ำ ฯลฯ

อย่างไรก็ตามมีข้อควรระวังในการดื่มน้ำอยู่บ้าง เช่น ในผู้ป่วยโรคไต โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการบวมน้ำ จะต้องควบคุมปริมาณน้ำดื่มในแต่ละวันตามแพทย์กำหนด เพราะไตของผู้ป่วยไม่สามารถขับน้ำออกจากร่างกายได้ตามปกติ น้ำปริมาณมากจึงคั่งอยู่ภายใน ส่งผลให้เกิดอาการแขนขาบวม ความดันโลหิตสูงได้

ไม่ควรดื่มน้ำเย็นจัด: เพราะอวัยวะภายในร่างกายต้องปรับอุณหภูมิของน้ำที่เย็นจัดให้เท่ากับอุณหภูมิของร่างกายก่อนนำไปใช้งาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบย่อยอาหาร เป็นผลให้ร่างกายอ่อนแอ ทางที่ดีควรดื่มน้ำอุ่นเป็นประจำเพื่อช่วยขับเหงื่อ ที่สำคัญไม่ควรดื่มน้ำระหว่างรับประทานอาหาร เพราะจะทำให้น้ำย่อยเจือจาง ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เต็มที่

ควรดื่มน้ำทุกครั้งที่รู้สึกกระหาย: และควรค่อย ๆ ดื่ม อย่าดื่มทีละมากๆ เพราะจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับระบบขับถ่ายอย่างไต ปอด ม้าม และระบบย่อยอาหาร

ควรดื่มน้ำหลังตื่นนอน: ถ้าจะดื่มน้ำให้ได้ประโยชน์ต่อร่างกายจริงๆ ควรดื่มน้ำทันทีหลังจากตื่นนอน ก่อนรับประทานอาหาร 1 ชั่วโมง และหลังจากอิ่มอาหารแล้วครึ่งชั่วโมงจะดีต่อสุขภาพ

ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีรสจัดเกินไป: เพราะจะทำให้รู้สึกกระหายมากกว่าปกติ การดื่มน้ำมากเกินไปจะทำให้ร่างกายทำงานหนักและทรุดโทรมก่อนวัย

ทราบกันอย่างนี้แล้วก็ปรับวิธีการดื่มน้ำให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อร่างกายของเรากันนะคะ เพื่อสุขภาพของเราเอง และคนที่เรารัก อย่าลืมประโยคสำคัญที่ว่า You are what you eat กันล่ะ สุขสันต์วันปีใหม่ไทย เดินทางไปไหนปลอดภัยกันทุกๆท่านนะคะ

โดย “PrincessFangy”

Twitter @Princessfangy

ข้อมูลางส่วนจาก thaihealth และ e-magazine


รูปภาพประกอบจาก doyouknowรูปภาพประกอบจาก doyouknow

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์