“ร้าน 0 บาท” ขายอะไร ? ทำไม”ร้านสะดวกซื้อ”ยักษ์ใหญ่ต้องสะดุ้ง !!


เรามักได้ยินเพื่อนร่วมงาน คนรอบข้าง ถามว่า มีงานพิเศษอะไรให้ทำบ้าง


โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือน ที่มักมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ด้วยค่าครองชีพที่ทะยานไม่หยุด


หลายคนอยากหารายได้เสริมด้วยการตั้งร้านขายของชำเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชุมชนที่อยู่อาศัย


แต่เมื่อหันกลับไปพบ”ร้านสะดวกซื้อ”ที่ชื่อเหมือนกันตั้งเรียงรายอยู่ทั่วทุกหัวระแหง หากตั้งเองคงแข่งขันลำบาก



แต่วันนี้หลังจากสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิล เพื่อสิ่งแวดล้อม(TIPMSE) ที่ร่วมผนึกพลังภาคีเครือข่าย ทำโครงการต้นแบบ “ร้าน 0 บาท”สอดรับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของศูนย์วัสดุรีไซเคิลกลุ่มอาชีพซาเล้ง ชุมชนอ่อนนุช เขตประเวศ


“ร้าน 0 บาท” ขายอะไร ? ทำไม”ร้านสะดวกซื้อ”ยักษ์ใหญ่ต้องสะดุ้ง !!


ด้วยการให้ชาวบ้านรวมตัวกันตั้งร้านค้าขึ้นมาในชุมชน แต่แทนที่จะซื้อของด้วยการจ่ายเป็นเงินสดกลับให้เก็บ”ขยะ”ที่สามารถนำกลับไปผลิตใหม่ได้”หรือรีไซเคิลมาจ่ายแทนการใช้เงินสด โดยรูปแบบของร้านใช้แนวคิดลักษณะเดียวกับร้านค้าสหกรณ์ ทุก 6 เดือนมีเงินปันผลให้สมาชิก



“แม้จะไม่มีเงินสดก็สามารถซื้อสินค้าได้ด้วยการหาวัสดุรีไซเคิลมาแลกเปลี่ยน”ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ ขวดแก้ว ขวดพลาสติก กระป๋องเครื่องดื่ม กล่องกระดาษ กล่องเครื่องดื่ม โดยมีบริษัทใหญ่ ๆ เข้ามาร่วมสนับสนุน เช่น บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด เข้ามาช่วยรับซื้อเศษแก้ว ,บริษัท เอสซีจี จำกัด(มหาชน) ช่วยรับซื้อถุงพลาสติกที่ขายไม่ได้ วัสดุพิษ เช่น หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย เป็นต้น

โดยนายสมพงษ์ ตันเจริญผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)และประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิล เพื่อสิ่งแวดล้อม ส.อ.ท.กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้นในทุกด้าน สิ่งของอุปโภคบริโภคพร้อมใจกันปรับตัวขึ้นราคา ในขณะที่รายรับไม่สมดุลกับรายจ่าย ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบถึงคนไทยทั่วประเทศ


“ร้าน 0 บาท” ขายอะไร ? ทำไม”ร้านสะดวกซื้อ”ยักษ์ใหญ่ต้องสะดุ้ง !!



TIPMSE ได้พยายามหาทางออกในบทบาท และขอบเขตที่มีความเชี่ยวชาญ คือ การจัดการวัสดุรีไซเคิล ซึ่งมีมูลค่าเป็นเงินสด สามารถนำมาจับจ่ายใช้สอย ช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนได้ ในรูปแบบร้านค้าต่าง ๆ เช่น ร้านของชำ ร้านข้าวแกง ร้านรับแลกสินค้าเคลื่อนที่ ตามความต้องการของแต่ละชุมชน โดยมีแนวคิดในการใช้วัสดุรีไซเคิลแทนเงินสด เพื่อแลกสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในชุมชน และลดปริมาณขยะในประเทศ รวมทั้งเป็นการสร้างวัฒนธรรมการคัดแยกขยะให้กับคนไทย

นายยุทธพงษ์ วัฒนะลาภา ผู้อำนวยการสถาบัน TIPMSE กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการทำโครงการ”ร้าน 0 บาท”มี 3 ประการ ได้แก่ 1.เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยการใช้วัสดุรีไซเคิลแทนเงินสด 2.เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนมองเห็นมูลค่าของวัสดุรีไซเคิล ก่อนทิ้งเป็นขยะ และ 3.เพื่อรณรงค์ให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ที่คนรุ่นใหม่ ร่วมใจคัดแยกวัสดุรีไซเคิล ซึ่งคาดว่าจะทำให้สร้างวัฒนธรรมที่คนในชุมชนจะสามารถจัดการคัดแยกขยะจากต้นทาง จะช่วยให้ปัญหาขยะในชุมชนลดลง ทั้งยังสามารถลดค่าครองชีพของคนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ทาง TIPMSE พยายามจะขยายร้าน 0 บาทออกไปยังชุมชนต่าง ๆ ที่มีความพร้อม เพราะจะให้ทางชุมชนบริการจัดการกันเอง


“ร้าน 0 บาท” ขายอะไร ? ทำไม”ร้านสะดวกซื้อ”ยักษ์ใหญ่ต้องสะดุ้ง !!



นางบัวรินทร์ เสรีย์วงศ์ ผู้จัดการร้าน 0 บาท กล่าวว่า เดิมชาวบ้านเก็บของเก่าขายจะนำของที่เก็บได้ไปขายให้กับร้านรับซื้อของเก่านอกชุมชน ทำให้เสียค่ารถค่าน้ำมันในการเดินทาง พอมีร้าน 0 บาทขึ้น ซาเล้งส่วนหนึ่งจะนำของมาขายเพื่อแลกสินค้าอุปโภคบริโภคไปใช้ในครัวเรือน ส่วนราคาการรับซื้อจะขึ้นลงตามตลาดจะไม่แตกต่างจากร้านรับซื้อด้านนอก เพราะส่วนหนึ่งทางร้าน 0 บาทจะนำขึ้นรถไปขายให้กับร้านรับซื้อของเก่ารายใหญ่ทั่วไป แต่คนในชุมชนที่มาขายประหยัดค่าเดินทางและเวลาไม่ต้องนำไปขายไกล ส่วนบริษัทใหญ่ที่มารับซื้อมีเพียง 2-3 รายที่ให้ราคาดีกว่า ทั้งนี้ หากรวมรายได้จากการขายขยะรีไซเคิลทุกอย่างต่อเดือนได้ประมาณ 20,000 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ส่วนหนึ่งจะแบ่งเป็นเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 10,000บาท ในการซื้อสินค้ามาขายภายในร้าน แบ่งเป็นค่าบริหารจัดการภายในร้าน ที่เหลือเป็นกำไรเก็บไว้จ่ายเป็นเงินปันผลคืนให้สมาชิก

ขณะเดียวกันทางกลุ่มได้รวมตัวกันนำขยะที่ได้มาเพิ่มมูลค่า เช่น นำกระป่องน้ำอัดลมมาทำเป็นกระเป๋า กล่องใส่ดินสอปากกา กล่องใส่กระดาษทิชชู่ ถังขยะ เป็นต้น ทำให้เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้านที่ทำอาชีพเก็บของเก่าในชุมชน

นอกจากนี้ ทางชุมชนได้ร่วมตัวกันทำกิจกรรมร่วมกันในหลายด้าน ทั้งการทำห้องสมุดชุมชน การปลูกพืชผักสวนครัวรับประทานกันเอง โดยให้เก็บขยะมาแลกเปลี่ยนในการเก็บพืชผักสวนครัวไปรับประทาน รวมทั้งมีการร่วมกันเลี้ยงหมูหลุมด้วย

นางพิศมัย พันธเสน อาชีพเก็บของเก่าหนึ่งในสมาชิกร้าน 0 บาท กล่าวว่า การร่วมกลุ่มกันของชาวบ้านในชุมชนทำให้เกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในหลาย ๆ ด้านทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ขึ้น ขณะเดียวกันยังช่วยปลูกฝังให้ลูก ๆ ในหลาย ๆ ด้านทั้งรู้จักค่าของเงิน การคัดแยกขยะว่า อะไรมีมูลค่าเท่าไหร่ อะไรขายได้ไม่ได้ เช่น ตัวเองจะให้เงินค่าขนมลูกวันละ 10 บาท หากต้องการซื้อขนมที่ราคาสูงกว่านั้น หรืออยากกินขนมหลายอย่าง เงินที่ให้ไว้ไม่พอ เด็ก ๆ จะช่วยกันไปเก็บขยะบริเวณรอบชุมชน เพื่อนำไปแลกขนมที่ร้าน 0 บาท ซึ่งทำให้ชุมชนเองสะอาดขึ้น

ใครที่ได้อ่านแนวคิดนี้ หากจะลองนำไปทำบ้างเป็นการส่วนตัว ก็คิดว่าน่าสนใจไม่น้อย เพราะนอกจากจะช่วยเสริมรายได้ให้ตัวเองแล้ว ยังได้ช่วยเหลือสังคม ช่วยลดปริมาณขยะในประเทศไทย ซึ่งสำนักจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ พบว่า ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ปริมาณขยะในแต่ละวันของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี จากเดิมในปี 2548 มีปริมาณขยะโดยรวมจำนวน 39,221 ตันต่อวัน แต่ในปี 2553 เพิ่มเป็น 41,532 ตันต่อวัน

หากเปลี่ยนปริมาณขยะเหล่านี้เป็นเงิน จะมีมูลค่ามหาศาลเพียงใด ลองคิดดูเอาเองแล้วกัน !!


เรื่องโดย: กฤษณา ไพฑูรย์



เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์