ฤๅทางช้างเผือกจะมี ดาวเหมือนโลกเต็มไปหมด


ฤๅทางช้างเผือกจะมี ดาวเหมือนโลกเต็มไปหมด

ในวันที่เรารู้สึกว่า "โลก" เป็นดาวดวงเดียวบนจักรวาลนี้ที่เต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตที่แสนจะยุ่งเหยิง 

หากแต่ยังมีข้อมูลการสำรวจอวกาศบางชิ้นที่บ่งชี้ว่า กาแล็กซี่ทางช้างเผือกของเรานั้น อาจจะเต็มไปด้วยดาวเคราะห์ที่มีความเหมือนกับโลกเรา ซึ่งอาจจะมีมากถึง 4,500 ล้านดวงทีเดียว

ผลการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์ดาราฟิสิกส์ฮาร์วาร์ด-สมิธโซเนียน สหรัฐอเมริกา ที่ศึกษาข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐ พบว่า 6 เปอร์เซ็นต์ของดาวแคระสีแดงที่อยู่บนทางช้างเผือกอาจจะเป็นดาวที่มีลักษณะเหมือนกับโลก คือมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ 

ทั้งนี้ จากการที่มาตรฐานบนห้วงอวกาศมีความหลากหลาย และการกำหนดมาตรฐานของดาวแคระสีแดง ทำให้ดาวแคระสีแดงกลายเป็นดาวที่มีอยู่มากถึง 3 ใน 4 ของดาวทั้งหมดบนกาแล็กซี่ และทำให้มีความเป็นไปได้มากว่า โลกเราอาจจะไม่ได้เป็นดาวดวงเดียวที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ โดยนักดาราศาสตร์ระบุว่า ดาวคล้ายโลกที่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างจากโลกออกไปราว 13 ปีแสง แม้ว่าจะดูไกลเกินกว่าที่เราจะเดินทางไปถึง เพราะ 1 ปีแสงคิดเป็นระยะทางก็กว่า 9 ล้านล้านกิโลเมตร หากแต่มันก็ยังอยู่ใกล้กว่าดาวที่คล้ายดวงอาทิตย์มากโข

คอร์ทนีย์ เดรสซิ่ง นักดาราศาสตร์จากศูนย์ฮาร์วาร์ด-สมิธโซเนียน เปิดเผยว่า "ที่ผ่านมาเรามัวแต่ไปค้นหาดาวเคราะห์ที่เหมือนโลกจากสถานที่อันห่างไกล แต่ตอนนี้เรารู้แล้วว่า โลกอีกดวงอาจจะอยู่ใกล้แค่หลังบ้านเรา ที่กำลังรอให้คุณค้นพบอยู่

เดวิด ชาร์บอนโน ผู้ร่วมศึกษา กล่าวว่า "ตอนนี้เราได้รู้ถึงสัดส่วนของการเกิดของดาวที่น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ว่ามีอยู่ทั่วไปบนกาแล็กซี่ของเรา ซึ่งสัดส่วนเหล่านี้เป็นการบ่งชี้ว่าเราสามารถค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกระบบสุริยจักรวาลได้ง่ายขึ้นกว่าที่เคยคิดเอาไว้"

ดาวแคระสีแดงจะมีอายุมากกว่า มีขนาดเล็กกว่าและสว่างน้อยกว่าดวงอาทิตย์ แต่การที่มันโคจรอยู่ใกล้กับดาวเคราะห์สักดวง จะส่งผลให้ดาวแคระสีแดงมีความอบอุ่นเพียงพอที่จะมี "น้ำ" อยู่บนดาว

โดยจากการตรวจสอบของกล้องเคปเลอร์ ที่ถูกส่งออกไปยังอวกาศตั้งแต่ปี 2552 เดรสซิ่งและเพื่อนร่วมงานพบว่ามีความเป็นไปได้ที่จะพบดาวเคราะห์ที่มีความคล้ายกับโลกมนุษย์อย่างน้อย 3 ดวง โดยหนึ่งในดาว 3 ดวงนี้ มีขนาดประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของดาวโลก และโคจรอยู่รอบดวงอาทิตย์ของมันเองราว 20 วัน

แต่หากเอาตามมาตรฐานของนักวิทยาศาสตร์ที่คำนวณและคาดการณ์มวล และการโคจรของดาวเหล่านี้ เท่ากับว่ากล้องเคปเลอร์พบดาวที่คล้ายโลกมากกว่า 2,700 ดวง ภายในพื้นที่แคบๆ พื้นที่หนึ่งที่อยู่ในการเฝ้าสังเกตเท่านั้น ดวงดาวที่มีอยู่บนกาแล็กซี่ทางช้างเผือกทั้งสิ้นประมาณ 200,000-400,000 ล้านดวง 

เดรสซิ่งกล่าวทิ้งท้ายว่า "ดาวดวงนี้อาจจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่หรือไม่ เป็นสิ่งที่เราไม่มีทางรู้ แต่สำหรับนักวิทยาศาสตร์ด้านอวกาศ ถ้าหากมีส่วนประกอบที่เหมาะสม คือขนาดของดาว อุณหภูมิที่เหมาะกับการเกิดน้ำ โมเลกุลอินทรีย์ และโอกาสในการเกิดกำลังดี แม้ว่าจะไม่ได้เป็นดาวเคราะห์ที่เหมือนกับโลก เราก็ไม่ต้อง "โคลนนิ่ง" โลกขึ้นมาอีกดวงเพื่อสร้างสิ่งมีชีวิตแล้ว"

ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์ :: prachachat.net


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์