วันนี้เมื่อ 41 ปี ที่แล้ว ย้อนเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516


วันนี้เมื่อ 41 ปี ที่แล้ว ย้อนเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516


ย้อนลำดับเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 วันมหาวิปโยค

14 ตุลาคม 2516 นับ เป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองยุคใหม่ของไทยที่มีนัยสำคัญอย่างยิ่งเพราะเป็นการลุกฮือ ของประชาชนนับแสนๆ คน เพื่อต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร เป็นการเปิดประวัติศาสตร์บทบาทใหม่ทางการเมืองไทย ในยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475

สภาพสังคม ในช่วง พ.ศ.2503-2513 ประเทศไทยมีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรมากถึงร้อยละ 38.4 หรือเฉลี่ยปีละ 1 ล้านคน ซึ่งถือว่าสูงมาก การเพิ่มขึ้นของประชากรส่งผลกระทบทางสังคมหลายประการ เช่น การอพยพย้ายถิ่นเข้ามาอาศัยอยู่ในเขตเมืองมากขึ้น เกิดกลุ่มอาชีพและกลุ่มชนชั้นกลางทางเศรษฐกิจมากขึ้น อันรวมไปถึง การเพิ่มของชนชั้นแรงงาน ยิ่งรัฐมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนได้รับการศึกษามากขึ้นเท่าไร ปัญหาที่ตามมาก็คือ การเกิดภาวะคนว่างงานมากขึ้นเท่านั้นเหตุเพราะรัฐบาลไม่สามารถหาแหล่งงานรองรับผู้จบการศึกษาได้เพียงพอแม้จะมีการลงทุนทางอุตสาหกรรมอยู่ในระดับสูง แต่โรงงานที่เกิดขึ้นมักมีความต้องการแรงงานในระดับต่ำเพราะเป็นโรงงานที่ใช้เครื่องจักรกลเป็นส่วนใหญ่ การเพิ่มขึ้นของประชากรประกอบกับการส่งเสริมการศึกษา และมีการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ทำให้เกิดชนชั้นใหม่ที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง กล่าวคือ

กลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มนักธุรกิจทั้งในภาคการธนาคาร สถาบันการเงินและอุตสาหกรรมการบริการ เป็นผลสืบเนื่องมาจากรัฐเน้นการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ ผนวกกับการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ ประกอบกับการใช้จ่ายเงินของสหรัฐอเมริกาในสงครามเวียดนาม ทำให้เกิดภาวะพลวัตในระบบเศรษฐกิจไทย และนำไปสู่การเกิดชนชั้นกลางและเศรษฐีใหม่ขึ้นแม้อำนาจทางการเมืองจะอยู่ในกลุ่มของผู่บริหารบ้านเมือง

กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มผู้ใช้แรงงานทั้งในภาคอุตสาหกรรมและบริการ เพราะรัฐมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนทางด้านอุตสาหกรรมทำให้แรงงานในชนบทหลั่งไหลเข้ามาทำงานในเขตเมือง ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม

กลุ่มที่สาม คือ กลุ่มนิสิตนักศึกษาและนักเรียนอาชีวะ ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย เนื่องจากนโยบายขยายการศึกษา อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำให้มีผู้สำเร็จการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย และอาชีวศึกษาเป็นจำนวนมาก ผลที่ตามมาก็คือ การไม่สามารถรองรับผู้จบการศึกษาเข้าทำงานได้อย่างเพียงพอ จนเป็นสาเหตุของการว่างงาน และกลายเป็นกระแสความไม่พอใจในหมู่ผู้ที่กำลังศึกษาและผู้ที่ว่างงาน

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้สูญเสียอำนาจทางการเมืองภายหลังการปฏิวัติตัวเองของจอมพลถนอม เช่น กลุ่มที่สนับสนุนพลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิวงค์ ที่รอเวลาและโอกาสในการโค่นล้มกลุ่มของจอมพลถนอม

สภาพเศรษฐกิจ
การพัฒนาเศรษฐกิจตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่รัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมา รัฐส่งเสริมเศรษฐกิจแบบเกษตรกรรมที่เน้นการส่งออกสินค้าเกษตรกรรม ซึ่งก็คือ เกษตรกรหันไปปลูกพืชไร่เพื่อส่งออก แต่พืชไร่มีความไวต่อระบบราคา และต้องใช้ความรู้ในการผลิตการจัดการและการตลาดมากกว่าการเกษตร เพื่อยังชีพ เศรษฐกิจแบบเกษตรกรรมมีผลกระทบต่อโครงสร้างอำนาจทางการเมือง ประกอบกับภาคอุตสาหกรรมที่มุ่งส่งเสริมการลงทุน ในรูปแบบอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า โดยรัฐบาลให้สิทธิพิเศษกับ นายทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศ เช่น การยกเว้นภาษี การอนุญาตให้นายทุนต่างชาติสามารถถือครองที่ดินได้ เป็นต้น ทำให้ประเทศไทยเริ่มมีการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมโรงงานเพื่อส่งออกและเพิ่มปริมาณมากขึ้น ยิ่งเมื่อประเทศไทยมีนโยบายการพัฒนาจากอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้าสู่อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็คือ การอพยพแรงงานจากชนบทเข้าสู่เมือง อันส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองในระยะต่อมา

สภาพการเมือง
จอมพลถนอม กิตติขจร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ ๑๐ ของประเทศไทยเมื่อ วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๐๑ บริหารประเทศได้เพียงเก้าเดือนเศษก็ลาออกจากตำแหน่งเพื่อเปิดทางให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการปฏิวัติ เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๑ เพื่อขึ้นเป็นนายยกรัฐมนตรีคนที่ ๑๑ ของประเทศเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ ไม่เรียบร้อย จอมพลสฤษดิ์ อยู่ตำแหน่งนายกฯ นานสี่ปีกว่าจึงถึงแก่อสัญกรรม ถือเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวของประเทศ ที่เสียชีวิตในขณะที่อยู่ในตำแหน่ง เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ถึงแก่อสัญกรรม จอมพลถนอม กิตติขจร ก็ได้รับการแต่งตั้ง ให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง

ปัจจัยการเกิดเหตุการณ์รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร รับช่วงบริหารประเทศตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๐๒ สืบต่อจากรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๐๖ มาจนถึงปี ๒๕๑๑ จึงประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งร่างมาตั้งแต่สมัย รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์เมื่อปี ๒๕๐๒ นับเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาร่างยาวนานมาก และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการร่างมาก ที่สุดยิ่งกว่าธรรมนูญฉบับใด ๆ ที่เคยมีมาในประเทศไทย ( จ่ายเป็นเงินเดือนสมาชิกสภาร่าง ฯ )

เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว จึงกำหนดให้วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒ เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จอมพลถนอมตั้งพรรค "สหประชาไทย" เพื่อส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. โดยตัวเองรับตำแหน่งหัวหน้าพรรค มีจอมพล ประภาส จารุเสถียร ซึ่งขณะนั้นยังมียศเป็นพลเอก และนายพจน์ สารสินเป็นรองหัวหน้าพรรค พล.อ.อ. ทวี จุลละทรัพย์ เป็นเลขาธิการพรรค ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคของจอมพลถนอมได้ที่นั่งในสภา ๗๕ ที่นั่งขณะ ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ ๕๐ กว่าที่นั่ง นอกนั้นเป็น ส.ส. สังกัดพรรคเล็กพรรคน้อย และ ส.ส.อิสระที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองใด

หลังการเลือกตั้ง จอมพลถนอม กิตติขจร ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เข้าบริหารประเทศในบรรยากาศ"ประชาธิปไตยครึ่งใบ" ที่นายกรัฐมนตรีไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอยู่นานสองปีกว่า จึงตัดสินใจปฏิวัติรัฐบาลของ ตัวเองเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ โดยอ้างเหตุผลถึง ภัยจากต่างชาติบางประเทศที่เข้ามาแทรกแซงและยุยง ส่งเสริมให้ผู้ก่อการร้ายกำเริบเสิบสานในประเทศ นอกจากนั้นสถานการณ์ภายในประเทศก็เต็มไปด้วยความยุ่งเหยิงนานาประการ ซึ่งคณะปฏิวัติเห็นว่าหากปล่อยให้มีการแก้ไขไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญแล้ว จะเป็นการล่าช้า จึงตัดสินใจปฏิวัติเพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ของประเทศได้ผลอย่างรวดเร็ว

เมื่อทำการปฏิวัติแล้ว จอมพลถนอมได้จัดตั้งสภาบริหารคณะปฏิวัติขึ้นเพื่อปกครองประเทศ โดยจอมพลถนอม ดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาบริหารคณะปฏิวัติ มีผู้อำนวยการสี่ฝ่ายคือ
๑. พล.อ. ประภาส จารุเสถียร เป็นผู้อำนวยการ ฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ
๒. นายพจน์ สารสิน เป็นผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจและ การคลัง
๓. พล.อ.อ. ทวี จุลละทรัพย์ เป็นผู้อำนวยการฝ่ายเกษตรและคมนาคม
๔. พล.ต.อ. ประเสริฐ รุจิวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจขณะนั้น เป็นผู้อำนวยการฝ่ายศึกษาและสาธารณสุข

ในการปฏิวัติ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ นี้ พ.อ. ณรงค์ กิตติขจร ลูกชายจอมพลถนอมและเป็นลูกเขย จอมพลประภาส ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเลขาธิการคณะปฏิวัติ เมื่อการปฏิวัติเสร็จสิ้นลง เขาได้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการตรวจและติดตามผลการปฏิวัติราชการ ( กตป. ) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจมากมาย ในการตรวจตราการปฏิบัติงานของข้าราชการ

ในช่วงที่คณะปฏิวัติขึ้นบริหารประเทศนั้น ตลอดเวลาได้มีเสียงเรียกร้องจากประชาชนอยู่เสมอ ให้คณะปฏิวัติ รีบประกาศใช้รัฐธรรมนูญและจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศให้ถูกต้องตามขั้นตอน ประจวบกับในปี ๒๕๑๕ เป็นปีที่สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ฯ ซึ่งมีพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษาขึ้น สมเด็จพระบรมโอรสสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารฯ จึงจำเป็นต้องมีรัฐบาลให้ถูกต้อง ตามธรรมเนียมนิยม เพราะจะจัดให้มีพระราชพิธีในขณะที่ประเทศชาติบ้านเมืองยังอยู่ในระหว่างการปกครองของคณะปฏิวัติไม่ได้

ด้วยเหตุนี้จึงมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักรเมื่อ วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๑๕ ซึ่งมีบทบัญญัติทั้งสิน ๒๓ มาตรา รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้มี " สภานิติบัญญัติแห่งชาติ" เพียงสภาเดียวโดยประกอบด้วยสมาชิกมีสิทธิ์ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลได้ แต่ห้ามอภิปรายหรือซักถามเพิ่มเติม ที่สำคัญคือ สมาชิกไม่มีอำนาจเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี ส่วนรัฐมนตรีนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดว่าห้ามเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ

สภานิติบัญญัติแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญการปกครองฉบับนี้มีมติเลือก พล.ต.ศิริ สิริโยธิน เป็นประธานสภา นิติบัญญัติแห่งชาติ และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า แต่งตั้งจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี

แม้จอมพลถนอม จะเปลี่ยนฐานะจากหัวหน้าคณะปฏิวัติมาเป็นหัวหน้ารัฐบาลที่มีประกาศพระบรมราชโองการ แต่งตั้งก็ตาม ก็ไม่ได้ช่วยให้วิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นคลายความตึงเครียดลงไปแต่อย่างใด ในทางการเมืองเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอำนาจต่าง ๆ โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจ กับกลุ่มของจอมพลถนอมและจอมพลประภาส ซึ่งเหตุการณ์ที่ชี้ให้เห็นความขัดแย้งกัน อย่างรุนแรงก็คือ กรณีการบุกพังป้อมตำรวจ ซึ่งข่าวลือระบุว่าเป็นการกระทำของคนของ พ.อ. ณรงค์ กิตติขจร นอกจากนั้นยังไม่มีการต่ออายุราชการให้ พล.ต.อ. ประเสริฐเมื่อครบเกษียณแล้วทั้งที่ก่อนหน้านั้นได้มีการต่ออายุราชการให้จอมพลถนอม

ในทางเศรษฐกิจ สิ่งที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจอมพลถนอมไม่สามารถ " บำบัดทุกข์บำรุงสุข " ของประชาชนได้ คือ การขาดแคลนข้าวสาร จนถึงขนาดประชาชนต้องเข้าแถวรอคิวกันอย่างยาวเหยียดตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อซื้อข้าวสารปันส่วนที่ทางราชการนำมาจำหน่ายในราคาควบคุม และซื้อได้คนละไม่เกิน ๑๐ กิโลกรัม มิหนำซ้ำตามมาด้วยขาดแคลน น้ำตาลทรายอีก

นอกจากนี้ได้เกิดกรณีเฮลิคอปเตอร์ตกที่ทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี คณะนายทหารและนายตำรวจ ชั้นผู้ใหญ่พากันเข้าไปล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่ฯ โดยใช้อาวุธในราชการสงครามทั้งปืน เอ็ม. ๑๖ รถจี๊ป แม้กระทั่งเฮลิคอปเตอร์ เป็นอุปกรณ์ในการล่าสัตว์ ความได้แตกขึ้นในเที่ยวกลับ เฮลิคอปเตอร์หนึ่งในสองลำเกิดอุบัติเหตุตกลงกลางทุ่งนา อำเภอบางเลน จังหวัด นครปฐม ซากสัตว์ป่าที่บรรทุกมากระจายเกลื่อนทุ่ง เรื่องจึงเป็นข่าวฉาวโฉ่ขึ้น มีการวิพากษ์วิจารณ์ ให้มีการสอบสวนเอาผิดกับคณะบุคคลดังกล่าว แต่เนื่องจากในระยะนั้นนายพลเนวิน ประธานสภาปฏิวัติของ ประเทศพม่า เดินทางมาเยือนประเทศไทย จอมพลประภาส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น จึงพูดใน ทำนองว่าคณะบุคคลดังกล่าวไม่ได้เข้าไปล่าสัตว์ หากแต่เข้าไปราชการลับเพื่อให้การอารักขาแก่ นายพลเนวิน

เหตุการณ์ล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่ฯนี่เอง ที่ทำให้เรื่องราวเลยเถิดออกไปจนถึงการคัดชื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงจำนวนเก้าคนออกจากบัญชีนักศึกษา เหตุเพราะพวกเขาได้รวมกลุ่มกันออกหนังสือของชมรมคนรุ่นใหม่ชื่อ มหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีคำตอบ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยรามคำแหงตั้งข้อหาพวกเขาว่า ตั้งชมรมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากมหาวิทยาลัย ใช้สถานที่ในมหาวิทยาลัยเป็นชุมนุมเป็นครั้งคราวโดยพลการ เขียนหนังสือก้าวร้าวผู้อื่นด้วยถ้อยคำอันหยาบคาย กล่าวถึงมหาวิทยาลัยรามคำแหงในทางที่ทำให้ผู้อื่นเกลียดชัง ตำหนินักศึกษาที่ตั้งหน้าเล่าเรียน ว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว

ด้วยเหตุนี้ ดร. ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหงขณะนั้น จึงสั่งลบชื่อนักศึกษาจำนวนเก้าคนออก ทั้ง ๆ ที่สาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้นักศึกษาเก้าคนถูกลบชื่อออก ก็ คือข้อความลอย ๆ สี่บรรทัดในหน้า ๖ ของหนังสือที่ว่า

" สภาสัตว์ป่าแห่งทุ่งใหญ่ฯ มีมติให้ต่ออายุสัตว์ป่าอีก ๑ ปี เนื่องจากสถานการณ์ภายในและภายนอกเป็นที่ไม่ไว้ใจ"

ข้อความลอย ๆ ดังกล่าวนี้เองที่ถือว่าเป็นการถากถางรัฐบาล ขณะนั้น ต่อกรณีล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่ฯ และการต่ออายุราชการ ของจอมพลถนอม ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด และจอมพลประภาส ในฐานะผู้บัญชาการทหารบกอีกคนละหนึ่งปี โดยที่จอมพลถนอมนั้นเคยได้รับการอายุมาก่อนหน้านั้นครั้งหนึ่งแล้ว

จากกรณีลบชื่อนักศึกษาออกนี่เอง ที่ทำให้นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงรวมตัวประท้วงคำสั่งของ ดร. ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ อธิการบดี และศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้เข้าร่วมสนับสนุนด้วย การประท้วงจึงมีนิสิต นักศึกษาทุกสถาบันประมาณ ๕ หมื่นคนเข้าร่วมขบวนประท้วงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ ๒๑-๒๒ มิถุนายน ๒๕๑๖ การเรียกร้องในระยะแรกเพียงต้องการให้ มหาวิทยาลัยรามคำแหงรับนักศึกษาทั้งเก้าคนเข้าเป็นนักศึกษาดังเดิม และเรียกร้องให้อธิการบดีลาออก แต่ต่อมาได้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลคืนอำนาจการปกครองแก่ประชาชน และเรียกร้องให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายในหกเดือน

ผลลงเอยที่ฝ่ายนักศึกษาชนะ โดยนักศึกษาทั้งเก้าคนได้กลับเข้าเรียนตามปกติ ดร. ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ ลาออกจากตำแหน่งอธิการบดี แต่ข้อเรียกร้องของศูนย์ฯ ที่ต้องการให้มีรัฐธรรมนูญ ภายในหกเดือนนั้นไร้ผล

จากเหตุการณ์นี้เองที่ทำให้กลุ่มผู้นำของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ ตลอดจนอาจารย์มหาวิทยาลัยและผู้สนใจ ร่วมกันก่อตั้ง " กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ" ขึ้น นำทีมโดย นายธีรยุทธ บุญมี โดยแบ่งระดับของสมาชิกกลุ่มไว้สองระดับ
ระดับที่ ๑ เรียกว่า ผู้เห็นด้วยกับการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ซึ่งขั้นต้นมีอยู่ ๑๐๐ คน
ระดับที่ ๒ เป็นกลุ่มปฏิบัติการ ซึ่งมีตัวเขาเองเป็นผู้ประสานงาน

และในวันศุกร์ที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๑๖ กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญได้นัดสื่อมวลชน เพื่อแถลงข่าวเกี่ยวกับวัตถุประสงค์การดำเนินงานของกลุ่ม ว่าต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญ โดยเร็วที่สุดด้วยสันติวิธี ให้การศึกษาทางการเมืองเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยแก่ประชาชน และเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความสำนึกและหวงแหนในสิทธิเสรีภาพของตน โดยจะใช้เวลาติดต่อกันสองเดือน ในการรณรงค์ และในระยะแรกจะแจกหนังสือและใบปลิวตามย่านชุมชนต่าง ๆ ตลอดเวลาสองวัน

พล.ต.ท. ประจวบ สุนทรางกูร รองอธิบดีกรมตำรวจ ฝ่ายกิจการพิเศษ ได้แถลงว่า "หากการเรียกร้องครั้งนี้ ทำให้เกิดการเดินขบวนขึ้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการจับกุมทันทีเพราะเป็นการผิดกฎหมาย คณะปฏิวัติที่ห้ามการชุมนุมทางการเมืองในสาธารณะเกินห้าคน " ในขณะเดียวกัน พ.อ. ณรงค์ กิตติขจรได้ให้ สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า "มีอาจารย์มหาวิทยาลัยและนักการเมืองบางคนกำลังดำเนินการให้นักศึกษาเดินขบวนในเร็ว ๆ นี้ และหากมีการให้นักศึกษาเดินขบวนแล้วไม่ผิดกฎหมายอีก ผมก็จะนำทหารมาเดินขบวนบ้าง เพราะทหารก็ไม่อยาก จะไปรบเหมือนกัน"


ลำดับเหตุการณ์

วันเสาร์ที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๖ จงปลดปล่อยประชาชน
๐๙.๑๕ น.กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญประมาณ ๒๐ คน นัดพบกันที่ลานอนุสาวรีย์ทหารอาสา เพื่อนำใบปลิวเรียกร้องให้ ประชาชนร่วมกันต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ และหนังสือเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยมาแจกกับประชาชน หนังสือดังกล่าวได้อัญเชิญพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้บนปก ซึ่งมีความว่า " ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าแต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้า ไม่ยินยอมยกอำนาจ ทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดย ไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร"

นอกจากนี้ยังมีโปสเตอร์ข้อความต่าง ๆ อีก ๑๖ แผ่น เช่น " น้ำตาเราตกใน เมื่อเราไร้รัฐธรรมนูญ " "จงคืนอำนาจแก่ปวงชนชาวไทย" "จงปลดปล่อยประชาชน" เป็นต้น

๑๐.๐๐ น.
เมื่อซักซ้อมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญก็ถือโปสเตอร์เดินเข้าสู่สนามหลวง เริ่มแจกใบปลิว และหนังสือแก่ประชาชนที่มาตลาดนัด โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและช่างภาพตามติดไปอย่างกระชั้นชิด หลังจากที่ ตระเวนแจกใบปลิว และหนังสือ บริเวณสนามหลวง กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญได้กลับมาพักเหนื่อยและรอหนังสือ ซึ่งพิมพ์มาเพิ่มเติมที่ลานอนุสาวรีย์ทหารอาสาอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นก็เดินแจกที่บริเวณร้านขายต้นไม้ริมคลองหลอด ด้านรูปปั้นแม่พระธรณีบีบมวยผมข้ามฟากไปหน้ากรมประชาสัมพันธ์สู่ตลาดบางลำพู ถนนสิบสามห้าง

๑๕.๐๐ น.
ขณะที่กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญกำลังแจกใบปลิวและเอกสารแก่ประชาชนบริเวณตลาดประตูน้ำ เจ้าหน้าที่ ตำรวจซึ่งได้ติดตามกลุ่ม ฯ มาจากตลาดนัดสนามหลวง เข้าจับกุมกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ หลายคนหลุดพ้นการจับกุม ไปได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงจับกุมได้เพียง ๑๑ คน คือ
๑.นายธีรยุทธ บุญมี อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
๒.นายประพันธ์ศักดิ์ กมลเพชร อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตนักการเมืองแห่งขบวนการรัฐบุรุษ
๓.นายนพพร สุวรรณพานิช ประจำกองบรรณาธิการนิตยสาร มหาราษฎร์
๔.นายทวี หมื่นนิกร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๕.นายมนตรี จึงศิริอารักษ์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ปี ๑ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
๖.นายปรีดี บุญซื่อ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ปี ๔ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๗.นายชัยวัฒน์ สุระวิชัย วิศวกรสุขาภิบาล (จุฬา) อดีตกรรมการบริหารศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
๘.นายบุญส่ง ชเลธร นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ปี ๒ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
๙.นายวิสา คัญทัพ นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ ปี ๓ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
๑๐.นายบัณฑิต เองนิลรัตน์ นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ ปี ๔ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๑๑.นายธัญญา ชุนชฎาธาร นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ปี ๔ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญทั้ง ๑๑ คน ถูกนำตัวไปสอบสวนที่สันติบาล กอง ๒ กรมตำรวจ ปทุมวัน ตกเย็นยกกำลัง เข้าค้นบ้านและสถานที่ที่ผู้ถูกจับกุมมีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมทั้งตั้งข้อหา " มั่วสุ่มชักชวนให้มีการชุมนุมทางการเมือง"

วันอาทิตย์ที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๑๖๐๐.๓๐ น.
หลังจากถูกสอบสวนเสร็จแล้ว ผู้ถูกควบคุมทั้ง ๑๑ คนก็ถูกนำตัวขึ้นรถไปกักกันไว้ที่โรงเรียนพลตำรวจ นครบางเขนและนำตัวไปควบคุมไว้ร่วมผู้ต้องหาในคดีมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และผู้ต้องหาเนรเทศ เมื่อผู้ถูกควบคุมทั้ง ๑๑ คนไปถึง ก็ถูกแยกห้องขังเพื่อป้องกันมิให้ปรึกษากัน เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อหาแก่ผู้แก่ผู้ถูกจับกุม ว่า "ขัดขืนคำสั่งคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๔" และเพิ่มข้อหา "ขบถภายในราชอาณาจักร" ตามกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๖

๑๓.๐๐ น.
ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์คัดค้านการจับกุมของรัฐบาลเผด็จการ " ถนอม - ประภาส" นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เลขาธิการศูนย์ฯ ได้ แถลงว่า การจับกุมครั้งนี้เป็นการแสดงว่า รัฐบาลไม่ต้องการ ให้ประชาชนรู้เรื่องประชาธิปไตย มุ่งสร้างอาณาจักรแห่งความกลัวให้แก่ประชาชนและได้แถลงต่อไปว่า "ทางศูนย์ฯ จะยืนหยัดร่วมกับประชาชนในการพิทักษ์รักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพอันชอบธรรม"

๑๔.๐๐ น.
เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหัวหมากได้ไปจับกุมตัว นายก้องเกียรติ คงคา นักศึกษา คณะนิติศาสตร์ ปี ๓ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จากหอพักไปสอบสวนที่กองกำกับการตำรวจสันติบาล ๒ เพิ่มอีกคนหนึ่ง โดยตั้งข้อหาเช่นเดียวกับกลุ่มผู้ต้องหา ๑๑ คน จากกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ นายก้องเกียรติไม่มีชื่อปรากฎ ในเอกสารของกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และไม่ได้ไปร่วมแจกใบปลิวและหนังสือร่วมกับกลุ่มฯ ในวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๖ แต่อย่างใด

๒๑.๐๐ น.
กลุ่มอิสระ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพื่อนและผู้ร่วมงานกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญได้เข้าติดต่อกับ นายพีรพล ตรียะเกษม นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ( อมธ. ) และสมาชิกสภาธรรมศาสตร์ เพื่อเสนอแผน การประท้วงการกระทำของรัฐบาลโดยฉับพลัน กลุ่มอิสระเสนอว่า อมธ. ควรชักชวนให้นักศึกษาธรรมศาสตร์หยุดสอบ และชุมนุมเพื่อทำการประท้วง โดยเรียกร้องให้สถาบันอื่น ๆ ร่วมมือด้วย แต่เนื่องจากในวันรุ่งขึ้นเป็นวันสอบ กลางปีมหาวิทยาลัย ซึ่งนักศึกษามาที่มหาวิทยาลัยน้อย และนักศึกษาส่วนใหญ่อาจลังเลเพราะเป็นห่วงเรื่องสอบ

กลุ่มอิสระจึงเสนอให้ อมธ. ปิดตึกเรียนโดยใช้โซ่ล่ามประตูเหล็กทุกประตู เอาลวดและปูนปลาสเตอร์อุดรูกุญแจ แผนการนี้นายก อมธ. ยังไม่เห็นด้วย เพราะเกรงปฏิกิริยาจากนักศึกษาส่วนใหญ่ซึ่งต้องการจะสอบ แต่มีสมาชิก อมธ. บางคนเห็นด้วยกับแผนการนี้ อมธ. และกลุ่มอิสระจึงตกลงกันว่า นักศึกษาธรรมศาสตร์จะต้องทำการประท้วง โดยเริ่มปิดโปสเตอร์โจมตีการกระทำของรัฐบาลก่อน เพื่อดูท่าทีของนักศึกษา ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย และสถาบันอื่นได้เสนอให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พยายามตรึงเหตุการณ์จนถึงวันที่ ๑๒ ตุลาคมให้ได้ แล้วสถาบันอื่น ที่สอบเสร็จจะนำกำลังเสริม ถ้าตรึงไม่ถึงวันที่ ๑๒ ตุลาคม อาจจะพ่ายก็ได้

วันจันทร์ที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๑๖สันติบาลออกหมายจับ นายไขแสง สุกใส อดีต ส.ส. นครพนม ทั่วประเทศ เนื่องจากการค้นสำนักงาน " ธรรมรังสี" ได้พบเอกสารส่อว่า นายไขแสง มีส่วนชักใยในการเรียกร้องรัฐธรรมนูญครั้งนี้
๐๘.๐๐ น.
ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปรากฏแผ่นโปสเตอร์โจมตีการกระทำของรัฐบาลอย่างรุนแรงหลายแผ่น ติด ทั่วมหาวิทยาลัย โดยชักชวนให้นักศึกษารวมกลุ่มกันไปเยี่ยมผู้ที่ถูกคุมขังที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒปัจจุบัน ) มีนักศึกษาจำนวนนับพันก่อปฏิกิริยาต่อเนื่อง ชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญอย่างเปิดเผยภายในรั้ววิทยาลัย

ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีรายงานแจ้งว่า มี "มือมืด" โปรยใบปลิวทั่วเมืองเชียงใหม่ รวมทั้งปิดโปสเตอร์ไว้ ตามถนนสายต่าง ๆ มีข้อความกล่าวสนับสนุนเพื่อนนักศึกษาที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญและกล่าวโจมตีรัฐบาล นายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่แถลงว่า กำลังติดตามข่าวและจะส่งผู้แทนนักศึกษามาร่วมหารือกับศูนย์ฯ ที่กรุงเทพฯ

๑๕.๐๐ น.
ที่กระทรวงมหาดไทยได้มีการประชุมข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงโดยมีจอมพล ประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในที่ประชุม การประชุมนี้ จอมพลประภาส ได้พยายามบิดเบือนต่อพลังอันบริสุทธิ์ใจของประชาชนในการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ นับตั้งแต่กรณีนิสิตนักศึกษาประท้วง ดร. ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ ขับนักศึกษาเก้าคนออกจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง จนถึงการเรียกร้องรัฐธรรมนูญของกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญในวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๖ ว่ามีพวกคอมมิวนิสต์จากต่างประเทศเข้าแทรกแซงจึงจำเป็นต้องหาทางกำจัดนิสิตนักศึกษาร้อยละ ๒ จากจำนวนแสนคนเพื่อความอยู่รอดของบ้านเมือง

ขอบคุณข้อมูลจาก :: chantrawong.blogspot.com



วันนี้เมื่อ 41 ปี ที่แล้ว ย้อนเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516


วันนี้เมื่อ 41 ปี ที่แล้ว ย้อนเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์