วันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา












          "มาฆะ" เป็นชื่อของเดือน 3 มาฆบูชานั้น ย่อมาจากคำว่า "มาฆบุรณมี" หมายถึง การบูชาพระในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะตามปฏิทินของอินเดีย หรือเดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย วันมาฆบูชาจึงตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 3 แต่ถ้าปีใดมีเดือน อธิกมาส คือมีเดือน 8 สองครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 และมักตกอยู่ในเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม

          วันมาฆบูชาเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในวันพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่มีการประชุมสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพุทธศาสนา ที่เรียกว่า"จาตุรงคสันนิบาต" โดยคำว่า "จาตุรงคสันนิบาต" แยกศัพท์ได้ดังนี้

          จาตุร แปลว่า 4
          องค์ แปลว่า ส่วน
          สันนิบาต แปลว่า ประชุม

          ฉะนั้น "จาตุรงคสันนิบาต" จึงหมายความว่า "การประชุมด้วยองค์ 4" ทั้งนี้ วันมาฆบูชา เป็นวันที่ระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นพร้อมกันในสมัยพุทธกาล 4 อย่าง จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าจาตุรงคสันนิบาต คือ

          1. พระสงฆ์ 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้มีการนัดหมาย

          2. ท่านเหล่านั้นล้วนเป็นเอหิภิกขุ คือได้รับอุปสมบทจากพระพุทธเจ้า

          3. ท่านเหล่านั้นเป็นอรหันต์ทั้งสิ้น

          4. วันที่ประชุมเป็นวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะ หรือเดือน 3

          ทั้งนี้ "วันมาฆบูชา" ยังเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดง "โอวาทปฎิโมกข์" แก่พระสงฆ์สาวกเป็นครั้งแรกหลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว 9 เดือน ณ เวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์ เพื่อให้พระสงฆ์นำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะยังพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป

โอวาทปาติโมกข์ คือ ข้อธรรมย่ออันเป็นหลักหรือหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา 3 ประการ ได้แก่

          1. ไม่ทำความชั่วทั้งปวง เว้นจากความชั่วด้วยกาย วาจา ใจ

          2. ทำความดีให้ถึงพร้อม ด้วยกาย วาจา ใจ

          3. ทำจิตใจให้หมดจดบริสุทธิ์ผ่องใส

          นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2549 รัฐบาลไทยประกาศให้ "วันมาฆบูชา" เป็น "วันกตัญญูแห่งชาติ" อีกด้วย

ประวัติการประกอบพิธีมาฆบูชา

          พิธีทำบุญวันมาฆบูชานี้ ไม่ปรากฎหลักฐานว่ามีมาในสมัยใด อย่างไรก็ตาม ในหนังสือ "พระราชพิธีสิบสองเดือน" อันเป็นบทพระราชนิพนธ์ของ "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" มีเรื่องราวเกี่ยวกับการประกอบราชกุศลมาฆบูชาไว้ดังนี้ 

          ในอดีตมาฆบูชานี้แต่เดิมไม่เคยทำกัน เพิ่งเกิดขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเห็นความสำคัญของวันมาฆะ จึงโปรดให้ให้มีพระราชพิธีประกอบการขึ้นในวัดพระศรีรัตรนศาสดาราม เมื่อปี พ.ศ. 2394 และกระทำสืบไปตลอดกาล

          ต่อมาพิธีในวันมาฆบูชาก็ได้แพร่หลาย และประกอบพิธีกันทั่วราชอาณาจักร ทางรัฐบาลจึงประกาศให้เป็นวันหยุดทางราชการด้วย เพื่อให้ประชาชนจากทุกสาขาอาชีพได้ไปวัด เพื่อทำบุญกุศลและประกอกิจกรรมทางศาสนา

กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันมาฆบูชา

          1. ทำบุญใส่บาตร

          2. ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม และฟังพระธรรมเทศนา

          3. ไปเวียนเทียนที่วัด

          4. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ

ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต

ข้อมูลจาก

- th.wikipedia.org

- dhammathai.org

- sunsite.au.ac.th

- http://www.banfun.com/buddha/maka01.html

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์