วันวิสาขบูชา...ที่คุณอาจไม่เคยรู้?!

วันวิสาขบูชา (บาลี: วิสาขปูชา; อังกฤษ: Vesak) เป็นวันสำคัญสากลทางพระพุทธศาสนาสำหรับชาวพุทธทุกนิกายทั่วโลก ทั้งเป็นวันหยุดราชการในหลายประเทศ และวันสำคัญในระดับนานาชาติตามข้อมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ[1]เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา 3 เหตุการณ์ด้วยกัน คือ การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธโคดม โดยทั้งสามเหตุการณ์ได้เกิด ณ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะ (ต่างปีกัน) ชาวพุทธจึงถือว่า เป็นวันที่รวมเกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ยิ่ง และเรียกการบูชาในวันนี้ว่า "วิสาขบูชา" ย่อมาจาก "วิสาขปุรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ"

อันเป็นเดือนที่สองตามปฏิทินของอินเดีย ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติของไทยและมักตรงกับเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนตามปฏิทินจันทรคติของไทย โดยในประเทศไทย ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 7 แต่ประเทศอื่นที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท และไม่ได้ถือคติตามปฏิทินจันทรคติไทย จะจัดพิธีวิสาขบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 แม้ในปีนั้นจะมีเดือน 8 สองหนตามปฏิทินจันทรคติไทยก็ตาม[2] ส่วนในกลุ่มชาวพุทธมหายานบางนิกายที่นับถือว่า เหตุการณ์ทั้ง 3 นั้นเกิดในวันต่างกันไป จะมีการจัดพิธีวิสาขบูชาต่างวันกันตามความเชื่อในนิกายของตน ซึ่งไม่ตรงกับวันวิสาขบูชาตามปฏิทินของชาวพุทธเถรวาท[3]

วันวิสาขบูชานั้นได้รับการยกย่องจากพุทธศาสนิกชนทั่วโลกให้เป็นวันสำคัญสากลทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นวันที่บังเกิดเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้าและจุดเริ่มต้นของศาสนาพุทธ

ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดได้เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน ณ ดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล โดยเหตุการณ์แรก เมื่อ 80 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ" ณ ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในพระราชอุทยานลุมพินีวัน (อยู่ในเขตประเทศเนปาลในปัจจุบัน) และเหตุการณ์ต่อมา เมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันที่เจ้าชายสิทธัตถะได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ณ ใต้ร่มโพธิ์พฤกษ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม (อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน) และเหตุการณ์สุดท้าย เมื่อ 1 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันเสด็จดับขันธปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า"

ณ ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในสาลวโนทยาน พระราชอุทยานของเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา (อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน) โดยเหตุการณ์ทั้งหมดล้วนเกิดตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 หรือเดือนวิสาขะนี้ทั้งสิ้น ชาวพุทธจึงนับถือว่าวันเพ็ญเดือน 6 นี้ เป็นวันที่รวมวันคล้ายวันเกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของพระพุทธเจ้าไว้มากที่สุด และได้นิยมประกอบพิธีบำเพ็ญบุญกุศลและประกอบพิธีพุทธบูชาต่าง ๆ เพื่อเป็นการถวายสักการะรำลึกถึงแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบมาจนปัจจุบัน

วิสาขบูชา มีการนับถือปฏิบัติกันในหลายประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งมหายานและเถรวาททุกนิกายมาช้านานแล้ว ในบางประเทศเรียกพิธีนี้ว่า "พุทธชยันตี" (Buddha Jayanti) เช่นใน อินเดีย และศรีลังกา ในปัจจุบันมีหลายประเทศที่ยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการ เช่น ประเทศอินเดีย ประเทศไทย ประเทศพม่าประเทศศรีลังกา สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เป็นต้น (ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรที่นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทมากที่สุด) ในฝ่ายของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ได้รับคติการปฏิบัติบูชาในวันวิสาขบูชามาจากลังกา (ประเทศศรีลังกา) ในประเทศไทยปรากฏหลักฐานว่ามีการจัดพิธีวิสาขบูชามาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

วันวิสาขบูชา ถือได้ว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล เพราะชาวพุทธทุกนิกายจะพร้อมใจกันจัดพิธีพุทธบูชาในวันนี้พร้อมกันทั่วทั้งโลก[4] (ซึ่งไม่เหมือนวันมาฆบูชา และวันอาสาฬหบูชา ที่เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่นิยมนับถือกันเฉพาะในประเทศไทย, ลาว, และกัมพูชา) และด้วยเหตุนี้ ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติจึงยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็น "วันสำคัญสากล" (International Day) ตามข้อมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 54/112 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2542

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการ โดยพุทธศาสนิกชนทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์ และประชาชน จะมีการประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียน เป็นต้น เพื่อเป็นการบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ดังกล่าว ที่ถือได้ว่าเป็นวันคล้ายวันที่ "ประสูติ" ของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ซึ่งต่อมาได้ "ตรัสรู้" เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงกอปรไปด้วย "พระบริสุทธิคุณ", "พระปัญญาคุณ" ผู้ซึ่งได้ทรงสั่งสอนประกาศพระสัจธรรม คือ ความจริงของโลก แก่ชนทั้งปวงโดย "พระมหากรุณาธิคุณ" จวบจนทรง "เสด็จดับขันธปรินิพพาน" ในวาระสุดท้าย ทั้งสามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องในวันเพ็ญเดือน 6 นี้ทำให้พระพุทธศาสนาได้บังเกิดและสืบต่อมาอย่างมั่นคงจนถึงปัจจุบัน

วันวิสาขบูชา...ที่คุณอาจไม่เคยรู้?!

ที่มา: wikipedia


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์