วันสตรีสากล

วันสตรีสากล


ปัจจุบันสถานภาพและบทบาทของสตรีได้รับการยอมรับ ในระดับแทบทัดเทียมกับบุรุษ สังเกตได้จากหลายประเทศมีผู้นำสูงสุดเป็นสตรี และมีสตรีอีกจำนวนไม่น้อยได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในหน่วยงาน และองค์กรต่างๆ

แตกต่างจากในอดีต ที่สตรีมักตกอยู่ภายใต้อำนาจของชาย ถูกกดขี่ข่มเหง เอารัดเอาเปรียบ ไร้ซึ่งสิทธิและเสรีภาพอย่างที่ควรจะได้รับ นำไปสู่การลุกขึ้นสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรม และความเท่าเทียมกันในสังคม จนเป็นที่มาของ "วันสตรีสากล" 8 มี.ค.ของทุกปี

"คลาร่า เซตกิ้น" (Clare Zetkin) นักการเมืองหญิง สายมาร์กซิสต์ และอิตถีนิยม ชาวเยอรมัน คือหญิงผู้ได้รับการขนานนามว่า "มารดาแห่งการเคลื่อนไหวสตรีสากล" และเป็น "ผู้ให้กำเนิดวันสตรีสากล"

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 8 มี.ค. ค.ศ.1857 กลุ่มผู้ใช้แรงงานสตรีจากโรงงานทอผ้าและตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม พากันเดินขบวนประท้วงในกรุงนิวยอร์ก เพื่อเรียกร้องสิทธิในการทำงาน รวมถึงเรียกร้องให้เพิ่มค่าจ้างและปรับปรุงสภาพการทำงาน


แต่แล้วเหตุการณ์ก็จบลงด้วยการฆาตกรรมโหดคนงานหญิง 119 ราย โดยการเผาโรงเรียนในขณะที่คนงานหญิงกำลังประท้วงอยู่

ค.ศ.1866 ในการประชุมสมัชชาของบรรดาสมาคมผู้ใช้แรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 1 มีการออกมติรับรองอาชีพของสตรี นับเป็นการท้าทายต่อขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมในสมัยนั้น ที่กำหนดให้สตรีต้องอยู่แต่ในบ้าน

วันที่ 19 ก.ค. ค.ศ.1889 คลาร่า เซตกิ้น แสดงสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมผู้ก่อตั้งสภาคองเกรสสากล ครั้งที่ 2 ในกรุงปารีส เรียกร้องให้สตรีมีสิทธิในการทำงาน ให้มีการคุ้มครองสตรีและเด็ก รวมทั้งเรียกร้องให้สตรีมีส่วนร่วมในการประชุมระดับชาติ และระดับสากลเช่นเดียวกัน

ค.ศ.1899 มีการจัดประชุมกลุ่มสตรีผู้ต่อต้านสงครามขึ้นที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์

ต่อมาใน ค.ศ.1907 กรรมกรสตรีในโรงงานทอผ้าได้เดินขบวนประท้วงการเอาเปรียบจากนายจ้าง ที่เห็นผลผลิตสำคัญกว่าชีวิตคน และเรียกร้องให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย ณ เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา ครั้งนี้แม้จะมีแรงงานสตรีหลายร้อยคนถูกจับ แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากสตรีทั่วโลก และส่งผลให้วิถีทุนนิยมเริ่มสั่นคลอน

วันที่ 8 มี.ค. ค.ศ.1910 ในการประชุมสมัชชานักสังคมนิยมหญิงนานาชาติ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส คลาร่า เซตกิ้น ในฐานะเลขาธิการของสตรีสากล ได้เสนอให้วันที่ 8 มี.ค.ของทุกปีเป็นวันสตรีสากล เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ของคนงานหญิงโรงงานทอผ้าในกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่จบลงด้วยการฆาตกรรมหมู่

ข้อเสนอนี้ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นเอกฉันท์

การจัดงานวันสตรีสากลเกิดขึ้นครั้งแรกใน ค.ศ.1911 ที่ประเทศฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และสวีเดน และอีก 2 ปีต่อมารัสเซียก็จัดชุมนุมเนื่องในวันสตรีสากลขึ้น ที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

ตั้งแต่ ค.ศ.1914 เป็นต้นมา การฉลองวันสตรีสากลทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ สตรีในทวีปต่างๆ ทั้งแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกาต่างก็ร่วมมือกันต่อสู้ เพื่อสิทธิเท่าเทียมกัน และความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม

กระทั่ง ค.ศ.1957 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติประกาศเชิญชวนให้ทุกประเทศกำหนดให้วันใดวันหนึ่งเป็นวันฉลองแห่งชาติด้วยสิทธิสตรีและสันติภาพสากล

ทั้งนี้ ให้ขึ้นอยู่กับขนบธรรมเนียมประเพณี และประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่กำหนดให้วันที่ 8 มี.ค.เป็นวันสตรีสากล


วันสตรีสากล

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์