วัยทองแล้วหรือนี่!

วัยทองแล้วหรือนี่!



วัยทองวัยงาม
วัยทอง วัยงาม หรือวัยหมดประจำเดือน เมื่อมาเรียกคำนี้กำกับแล้ว ไม่ค่อยมีใครอยากเข้าสังกัดเป็นสมาชิก ถ้าแสลงใจนักอย่าไปเรียกมันเลยค่ะ ทดไว้ในใจขอให้รู้เท่าทันก็พอ ใครๆ ก็ยังอยากสาวอยู่เสมอ มากบ้างน้อยบ้างไม่เป็นไรใช่ไหมคะ จะว่าไปผู้หญิงสมัยนี้เหี่ยวย่นหดหู่กันซักกี่คนกัน ส่วนใหญ่แล้วยังดูดีตามวัยเพราะรู้จักเลือกแต่งอย่างชาญฉลาด ความเต่งตึงของผิวหนังที่เสียไป แลกมากับ บุคลิกดีๆ มีความสามารถ ความคิดอ่านที่ลึกซึ้งขึ้น รวมทั้งความมั่นคงในแง่วัตถุและจิตใจ หลายคนยังคงความสดชื่นแจ่มใสโดยไม่มีตัวเลขมาเป็นอุปสรรค
จะว่าไป ผู้หญิงเราเหมือนได้เกิด 3 หน หนแรกเกิดจากท้องแม่ หนที่ 2 เปลี่ยนแปลงเป็นวัยรุ่น ธรรมชาติเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับดำรงเผ่าพันธุ์มนุษย์ สร้างครอบครัวมีลูกเต้า ต้องเป็นช่วงนี้ละค่ะ ถึงจะเหมาะกับสภาวะร่างกายของเราส่วนการเกิดหนที่ 3 ผู้หญิงเราจะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ธรรมชาติบอกว่าร่าง- กายควรหยุดพักเสียที เพราะเหน็ดเหนื่อยมานาน นึกดูสิคะถ้าเราสามารถมีลูกไปถึงอายุ 70 พอเขาโตได้ไม่กี่ขวบแม่ก็ม่องไปซะแล้ว จะไหวหรือคะ
วัยทองจึงเป็นเพียงอีกช่วงวัยที่ต้องก้าวผ่านพ้นไปเท่านั้นเอง เราจึงน่าจะเตรียมพร้อมเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ดูกันค่ะ
เลือดจะไป...ลมจะมา...อาการประมาณนี้
1.ร้อนวูบวาบ มีเหงื่อออกง่าย 
 
  คุณผู้หญิงต้องเข้าใจนะคะว่าคุณไม่ได้มีอาการทุกอย่าง เดี๋ยวจะตกอกตกใจกันไปใหญ่ บางคนมี  อาการเพียงอย่างเดียว บางคนไม่มีเลย บางคนมีหลายอาการประกอบกัน จำเป็นต้องยกมาให้ดูกัน  หลายข้อเพื่อว่าคุณจะได้บอกกับตัวเองได้ว่า อ้อ! อาการที่เป็นอยู่เนี่ยเข้าข่ายอาการประจำวัยค่ะ มี  การมองว่าวัยทองเป็นโรค เพราะฉะนั้นต้องรักษา
2.บางครั้งใจเต้นเร็ว
3.หัวใจสูบฉีดเลือดน้อยลง เพราะมีไขมัน คอเลสเตอรอล แคลเซียมที่สะสมในร่างกาย ไปเกาะตัวอยู่บนผนังชั้นในของหลอดเลือด

4.อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย วิตกกังวล หดหู่ ซึมเศร้า
5.รู้สึกฉุนเฉียวง่าย
6.สับสนวุ่นวายใจ จึงมีสมาธิจดจ่อในเรื่องต่างๆ ยากขึ้น ความจำไม่ค่อยดี
7.หลับยากหรือนอนไม่หลับ
8.ประจำเดือนเริ่มมาระยะสั้นลง หรือยาวขึ้น มามากหรือน้อยกว่าปกติ
9.ช่องคลอดขาดความชุ่มชื้น เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์
10.ความต้องการทางเพศลดลง  
11.เหนื่อยง่าย
12.ปัสสาวะกระปริบกระปรอย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่เวลาจาม
13.ผิวเป็นผื่นแพ้ง่าย ผิวแห้งและคัน ขนลุก ตกกระ
14.มีอาการแพ้ง่ายขึ้น
15.กล้ามเนื้อลีบเล็กลงและตึงตัวขึ้นทำให้เกิดปวดเมื่อย
16.ทรวงอกขาดความเต่งตึง
17.ปวดศีรษะ วิงเวียน หน้ามืดตาลาย
18.มีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหารและลำไส้
19.น้ำหนักตัวขึ้น  
20.ผมบางลง ขนตามร่างกายรวมทั้งอวัยวะสืบพันธุ์บางลง แต่อาจจะมีขนขึ้นบริเวณใบหน้า
21.กลิ่นตัวเปลี่ยนไป
22.ผิวหนังและบริเวณศีรษะกระตุก
23.ปวดแปลบๆ ซ่าๆ  
24.มีปัญหาเกี่ยวกับเหงือก
25.มีปัญหาในปาก ลิ้น เป็นแผลเพดานปาก ปากมีรสแปลกไป กลิ่นลมหายใจเปลี่ยน
26.กระดูกเปราะบางลง กระดูกข้อมือเริ่มบางก่อนส่วนอื่น แขนขาหักง่าย เล็บมือ เปราะแตกง่าย
27.หูอื้อ  
28.ผิวพรรณลดความเปล่งปลั่งนวลเนียนลงไป




วัยทองแล้วหรือนี่!



วัยทองไม่ใช่โรค
 
อิฉันขอบอกวัยทองไม่ใช่โรค การเข้าใจผิดอย่างจังเช่นนี้ ทำให้ผู้หญิงเราเกิดความกลัวไม่อยากเผชิญหน้ากับช่วงเวลาหมดประจำเดือน หรือไม่ก็ตั้งหน้าตั้งตาหาหมอรักษาลูกเดียว
วัยหมดประจำเดือน เป็นวัยที่รังไข่ของเราหยุดผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือฮอร์โมนเพศหญิง ร่างกายไม่ผลิตไข่ออกมาอีกหมดหน้าที่สืบพันธุ์ประจำเดือนหมดไปด้วย การขาดฮอร์โมนนี้ละค่ะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่างๆ
ความเข้าใจผิดอีกประการหนึ่งของผู้หญิงส่วนใหญ่ก็คือ ไปหาหมอ หมอให้ฮอร์โมนมารักษาแล้วทุกอย่างจะเรียบร้อย บางรายอาจคิดว่าซื้อฮอร์โมนมากินเองได้ง่ายๆ ขนาดนี้ไม่มีหรอกค่ะ
การที่หมอให้บางคนกินฮอร์โมน ก็ต้องให้อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของหมอ เนื่องจากบางคนกินแล้วจะมีผลข้างเคียงอันตราย ร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนไม่เหมาะกับการใช้ฮอร์โมนเลย การใช้จึงจำเป็นต้องระมัดระวัง แต่อย่างไรก็ตามค่ะ ฮอร์โมนนี้จำเป็นสำหรับบางคนที่ร่างกายต้องการฮอร์โมนทดแทน เช่นป้องกัน โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการที่หลอดเลือดไปเลี้ยงหัวใจตีบตัน หรือหมออาจจะให้ฮอร์โมนชนิดครีมทาช่องคลอดในรายที่มีปัญหาเวลามีเพศสัมพันธ์
เตรียมตัวเข้าสู่วัยทอง
เราน่าจะเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่วัยทองกันค่ะ ก่อนอื่นเตรียมความรู้สึกนึกคิดของเราให้พร้อมจะทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลง แล้วเตรียมตัวดูแลตัวเอง มาแต่เนิ่นๆ การดูแลตัวเองเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เลือกกินอาหารที่มีคุณค่า ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และหาวิธีทำจิตใจให้แจ่มใสเป็นวิธีพื้นฐาน ถ้าต้องไปหาหมอ ก็ไป เพื่อปรึกษาหาคำแนะนำที่ละเอียดลงไปว่า ควรดูแลตัวเองอย่างไร และหมอมีคำแนะนำใดสำหรับเราบ้าง
ดูแลตัวเองด้วยการไปตรวจมะเร็งปากมดลูก 2 ปีครั้ง ตรวจเต้านมตัวเองทุกเดือน ชั่งน้ำหนักดูว่าอ้วนขึ้นมากหรือยัง ตรวจความดันโลหิต ไขมันในเส้นเลือด และเบาหวานปีละครั้ง กินอาหารที่มีแคลเซียมเพื่อกระดูกของเรา (ความจริง ควรสะสมมาตั้งแต่ยังสาวๆ ค่ะถึงจะมีทุนไว้ใช้ในวันนี้ )
หากมีอาการปวดเมื่อยส่วนไหน ออกกำลังกายส่วนนั้นด้วย แต่อย่าทำเกินกำลัง ส่วนเรื่องอาหารการกิน มีหนังสืออาหารของคนวัยทองออกมาไม่น้อย แต่ตรงนี้ ขอแนะนำเรื่องการเคี้ยวอาหารช้าๆ และละเอียดจะช่วยให้ย่อยได้ดีขึ้น สมองก็ควรฝึกใช้เสมอ ลองทบทวนเหตุการณ์ต่างๆ ย้อนหลังบ่อยๆ ป้องกันปัญหาสมองเสื่อม นอกจากนี้ อาการปัสสาวะกะปริบกะปรอยจะทำให้เกิดเชื้อโรคสะสมบริเวณนั้นได้ง่าย จึงต้องรักษาความสะอาดเรื่องความอับชื้นในร่มผ้าด้วย
เรื่องอาหารการกินนอกจากกินอาหารมีประโยชน์แล้ว ควรลดอาหารไขมันลง เครื่องดื่มกาแฟและแอลกอฮอล์ทำให้เราปัสสาวะบ่อย เป็นสาเหตุให้การดูดซึมแคลเซียมลดลง มีโอกาสกระดูกพรุนได้มากกว่าคนไม่ดื่ม ส่วนวิตามินดีจะเป็นตัวช่วยให้ร่ายกายดูดซึมแคลเซียมได้ดีค่ะ
สุขภาพของผู้หญิงคนหนึ่ง เมื่อก้าวล่วงเข้าวัยทอง จะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเองมาตั้งแต่เด็กเชียวค่ะ ถ้าดูแลตัวเองดีมาสม่ำเสมอแล้ว วัยทองหรือวัยไหนๆ ก็ไม่เป็นปัญหาค่ะ
จาก: นิตยสาร Life & Family

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์